ดอกเตอร์ สุรินทร์

ความหมายของชีวิตที่ไม่ยอมถูกผูกติดกับสิ่งเดิมๆ ของ ดอกเตอร์ สุรินทร์ พิศสุวรรณ

ดอกเตอร์ สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในชาวไทยมุสลิมไม่กี่คนที่ติดอันดับ 500 ชาวมุสลิม ที่มีอิทธิพลต่อโลก ท่านเติบโตมาจากชนบทในภาคใต้ แต่ได้รับการศึกษาขั้นสูงสุดในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นี่คือจุดเริ่มต้นของคนไทยธรรมดาคนหนึ่ง ที่ไม่เคยยอมให้ชีวิตถูกผูกติดไว้กับสิ่งเดิมๆ

เมื่อหลายสิบปีก่อน เด็กชายคนหนึ่งวิ่งหนีจากความเรียบง่าย แน่นอน เข้ามาแสวงหาความไม่แน่นอนให้กับชีวิต จนถึงวันนี้เขาได้รับการยอมรับ และอยู่บนยอดสุดของวงจรการเปลี่ยนแปลง วันนี้คนไทยทุกคนกำลังวิ่งอยู่ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับทุกคนในโลก คำถามคือใครจะอยู่ตรงไหน และจะทำอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาไม่ได้หยุดได้หย่อนเช่นนี้ บทสัมภาษณ์ที่ a day BULLETIN ได้คุยกับเขาเมื่อปี 2012 หลายอย่างยังคงปรับใช้กับประเทศไทยในวันนี้ได้เสมอ

ดอกเตอร์ สุรินทร์

เราต้องมี Sense of Urgency ตระหนักในความเป็นวิกฤตของกาลเวลา ณ ขณะนี้ เราตระหนักหรือไม่ หรือเรายังมีความรู้สึกโอ้เอ้ ไม่เดือดร้อน

ท่านคิดว่าทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย เรามองสิ่งต่างๆ เหมือนเดิมได้หรือไม่

เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว มันไม่มีอะไรที่จะไปแข่งขันกับตลาดโลกเขา ในขณะที่โลกเขาวิ่งเกียร์ 5 เกียร์ 6 เราวิ่งเกียร์ 2 ก็ไม่ทันเขาหรอก เกียร์ 3 ก็ไม่พอ ถ้าเกียร์ว่างก็เละเลย ต้องขึ้นเกียร์ 5 เกียร์ 6 เท่านั้น เราต้องมี Sense of urgency ตระหนักในความเป็นวิกฤตของกาลเวลา ณ ขณะนี้ เราตระหนักหรือไม่ หรือเรายังมีความรู้สึกโอ้เอ้ ไม่เดือดร้อน ยังไงพ่อแม่ก็ส่ง แต่พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเรานาน ทรัพย์สินก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน มันสูญเสีย สูญหายไปจากเราได้นะ สิ่งที่จะอยู่คู่กับเราได้ก็คือปัญญา ความรู้ และความสามารถในการที่จะวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญ และต้องเอาชนะมันให้ได้ ต้อง survive

ท่านมักสอนด้วยวิธีคิดแบบนี้เสมอหรือเปล่า

ไม่มีอะไรดีเท่ากับการเตรียมตัวให้ดีเพื่ออนาคตที่ไม่แน่นอน เพราะโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น มันจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนเราก็ไม่รู้ อะไรมันจะเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้ น้ำจะท่วม พายุจะพัดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สิ่งดีๆ ที่ติดตัวอยู่กับเราที่ใครทำอะไรไม่ได้ก็คือความรู้ ความพร้อม รวมทั้งทัศนคติที่เมื่อล้มแล้วก็พร้อมจะลุกขึ้นมาสู้ต่อ ไม่ยอมล้มนาน คือล้มไม่ใช่ปัญหา แต่ล้มแล้วคุณลุกอย่างไรนั่นคือสิ่งที่สำคัญกว่า ต้องลุกให้ได้ ลุกให้ไหว และลุกให้สง่า

ลุกให้สง่าที่ว่าหมายความว่าอะไร

ก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเรามีดีอยู่ในตัวเอง มีความรู้อยู่ในตัวเอง ชีวิตมันมีหลายภาค ดังนั้น มันก็ต้องมีภาคใหม่ มีการเริ่มใหม่ ซึ่งเราสามารถที่จะทำได้ด้วยการสั่งสมประสบการณ์และความรู้ที่ผ่านมาเพื่อที่จะเริ่มใหม่ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าล้มแล้วลุกไม่ไหว นั่นแปลว่าเราไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ จำไว้เลยว่าสถานการณ์มันไม่ปรานีสำหรับคนที่ไม่พร้อม โอกาสจะมาถึงคนที่พร้อมที่จะรับโอกาส คนที่ไม่พร้อมจะไม่เห็นโอกาส เพราะฉะนั้น Opportunity will knock the door of those who are ready ใครก็ตามที่พร้อมอยู่ตลอดเวลา มีสติ นี่คือช่องทางที่คุณสามารถเดินได้ แต่ถ้าคนที่อยู่แบบบัวใต้น้ำ ใครจะมาใครจะไปไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ก็อดที่จะหาประโยชน์จากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ดังนั้น สิ่งที่ลูกหลานเราในอนาคตต้องมีก็คือความสามารถทางด้านภาษา ความสามารถที่จะออกไปวิสาสะกับคนอื่น แลกเปลี่ยนกับคนอื่น ดีเบตกับคนอื่น นำเสนอ แล้วก็ปกป้องสิ่งที่เราเสนอ จนกระทั่งมันกลายเป็นประเด็นที่คนอื่นยอมรับ จะขายอะไรเขาก็ต้องเชื่อ เสนออะไรเขาก็ต้องรับ

ดอกเตอร์ สุรินทร์

ตอนนี้เรื่องของการวิเคราะห์ปัญหา ความสามารถในการดีเบตกับต่างชาติ แล้วก็ Defend ในสิ่งที่ตัวเองเชื่ออย่างที่ท่านว่า เป็นสิ่งที่น่าจะต้องสนับสนุนให้มีมากขึ้นในคนรุ่นใหม่ใช่ไหม

เรื่องนี้มันน่าจะขึ้นอยู่กับระบบการศึกษา ต้องสอนให้คิด ให้วิเคราะห์ ไม่ใช่สอนให้จำ ถ้าสอนให้จำ เราจะไม่มีอะไรไปแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เพราะเราจำแต่ข้อมูล อะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่ วันไหน ปีไหน ที่ไหน แค่นี้คนอื่นเขาก็รู้เหมือนเรา สิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องวิเคราะห์ปัญหาที่มันเกิดขึ้นแล้วก็หาทางออกร่วมกับคนอื่น ไปแสดงความคิดเห็นให้คนอื่นเขายอมรับได้ คนไทยยังขาดการแสดงออกที่มีประสิทธิภาพ การแสดงออกที่น่าเชื่อถือ การนำเสนอที่มีน้ำหนัก อันนั้นยังขาดอยู่ ยิ่งไปบวกกับภาษาที่ไม่ถนัด มันก็เป็นผู้นำทางความคิดของคนอื่นเขาไม่ได้ ซึ่งมันน่าเสียดาย เพราะจริงๆ แล้วประเทศไทยต้องเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับคนอื่น ต้องเป็นไข่แดงที่อยู่บนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใครไปไหนจะต้องผ่านประเทศไทย เขาจะสร้างรถไฟไปคุนหมิงก็ต้องผ่านตรงนี้ เขาจะสร้างถนนจากดานังไปทวายก็ต้องผ่านประเทศนี้ พูดง่ายๆ ว่าในแง่ของภูมิศาสตร์ เราเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเยี่ยม แต่จุดยุทธศาสตร์นี้จะดีเยี่ยมก็ต่อเมื่อเราใช้ประโยชน์เป็นกับสิ่งที่เรามีอยู่ ก็คือการเปิดกว้าง ต้อนรับขับสู้ แลกเปลี่ยน ร่วมมือ ร่วมลงทุน ร่วมค้า ร่วมขาย แต่ถ้าเราไม่มีทักษะที่จะทำจุดยุทธศาสตร์นี้ ก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่กับประเทศไทยและกับคนไทย

 

นอกจากในเรื่องของภูมิศาสตร์แล้ว ท่านคิดว่ายังมีอะไรอีกไหมที่คนไทยไม่ได้ตระหนักว่าตนเองมีความแข็งแกร่งด้านนี้อยู่

ผมคิดว่าคุณค่าด้านวัฒนธรรมเรามีอยู่สูง หรือที่เรียกว่า cultural capital ค่านิยมความมีน้ำใจ ความมีไมตรีกับคนแปลกหน้า คนต่างแดน เราต้อนรับ เรามีเมตตา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สามารถมารวมกันแล้วเป็นส่วนผสมในการสร้างความพร้อมที่จะแข่งขันกับคนอื่นในหลายด้าน ถ้าถามนักธุรกิจญี่ปุ่นว่าในภูมิภาคนี้เขาอยากลงทุน อยากอยู่ที่ไหนมากที่สุด เขาจะบอกว่าประเทศไทย ถามว่าทำไม การเทรนคนในแง่ของเทคโนโลยีไทยอาจจะสู้คนอื่นเขาไม่ได้ แต่วัฒนธรรมที่จะให้ความอบอุ่น ให้การต้อนรับ ความเป็นกันเอง แล้วก็ความสะดวกสบาย การให้เกียรติ ประเทศไทยน่าจะทำได้ดีที่สุด อันนี้คือสิ่งที่เรามีอยู่ แล้วก็เป็นทุนทางสังคม ทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ แต่ที่ขาดก็คือทักษะทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปสู่ตลาดแรงงานที่เขาต้องการทักษะที่สูงกว่า เทคโนโลยีที่สูงกว่า อันนี้คนบ่นกันมากๆ ว่าสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมทางเทคโนโลยีสูงไป คนไทยยังตามไม่ทัน ยิ่งถ้าเทคโนโลยีมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยก็เสี่ยงที่จะติดกับดัก middle income trap คือคุณอยู่ได้แค่นี้ คุณไปไหนไม่รอดแล้ว

เป็นเพราะคุณภาพของการศึกษารึเปล่า

ถูกต้อง เพราะการศึกษาและการจัดการมันพัฒนาไปไกลกว่านี้ไม่ได้ คือสมัยหนึ่งเรามัวแต่คิดแค่เอาทรัพยากรมา เอาแรงงานถูกๆ มา เอาการจัดการมาจากข้างนอก เอาเทคโนโลยีมาจากข้างนอก เอาทุนมาจากข้างนอก มันก็พัฒนาประเทศไปได้ดีพอสมควร แต่พอถึงจุดหนึ่งทรัพยากรมันก็หมด แรงงานมันก็ไม่ถูกอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ทักษะก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีก็ต้องอิมพอร์ตเขาตลอดเวลา เขาตัดท่อหายใจเมื่อไหร่เราก็ตาย เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีของเราเอง เราไม่ได้ทำวิจัย เราไม่ได้ค้นคว้า ถึงได้บอกว่าอย่าคิดไปขายกับยุโรปอีกต่อไป อย่าคิดไปขายกับอเมริกาอีกต่อไป เราต้องสร้างตลาดของตัวเอง ต้องสร้างดีมานด์ของตัวเอง สร้างอุปทานของตัวเองขึ้นในภูมิภาค แทนที่จะขายออกนอกอย่างเดียว การจะผลิตเพื่อให้มีการบริโภคกันเพียงแค่ภายในประเทศ มันได้รายได้ไม่มากนักหรอก เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะติดอยู่กับ Middle income trap จะโตไปกว่านี้ก็ไม่ได้ รายได้ก็จะได้แค่ 4,000-5,000 ดอลลาร์ฯ ต่อหัวต่อปี จะไปถึงหมื่น ถึงสองหมื่น ก็ไปไม่ได้ และที่น่าห่วง ก็เพราะคุณภาพของการศึกษา ทำให้คนของเรามีความรู้สึกว่าไม่ต้องดิ้นรนไปไหนหรอก ในที่สุดเราก็จะตกอยู่ในกับดักของความรู้สึกว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก

ดอกเตอร์ สุรินทร์
ภาพ : กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร

ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่?

ไม่ใช่ เพราะคนอื่นเขาดิ้นรน เขาแสวงหา เขาจัดรูปแบบการจัดการสังคมของเขาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำอุตสาหกรรมของเขาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การจัดการบริการ การศึกษา สาธารณสุข ทุกสิ่งทุกอย่างทำอย่างเป็นระบบระเบียบ ทั้งหมดทั้งหลายขึ้นอยู่กับคุณภาพของคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาเซียนสร้างขึ้นมา 45 ปี ไม่ได้สร้างเพื่อคนยุคนั้น แต่สร้างเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป คนรุ่นพ่อแม่เขาไม่ตื่นเต้น คนรุ่นครูบาอาจารย์ไม่ตื่นเต้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่รู้สึกตื่นเต้น ไม่เห็นโอกาส และไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจ ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ก็น่าเสียดาย

ท่านพูดเรื่องคนรุ่นใหม่ สอนคนรุ่นใหม่มาเยอะ อยากทราบว่าอย่างตัวท่านเอง ทำงานมาจนถึงอายุขนาดนี้ ยังมีเรื่อง หรือกระแสโลกอะไรที่ท่านยังตื่นเต้นอยู่เสมอไหม หรือเรื่องที่ให้ความสำคัญกับมันมากๆ

ผมยังตื่นเต้นอยู่กับความเร็วของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม มันเปลี่ยนเร็วมาก ยังตื่นเต้นอยู่กับทุกวันที่ตื่นขึ้นมามันมีอะไรใหม่ให้เห็น ผมคิดว่าชีวิตที่จะมีชีวิตชีวาได้มันต้องสามารถจะเห็นอะไรใหม่ในแต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมา ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมันซ้ำเดิมเหมือนเมื่อวาน ชีวิตก็ไม่มีความหมาย ชีวิตจะไม่มีแรงกระตุ้น ชีวิตจะไม่มีแรงบันดาลใจ ทีนี้ถามว่ากระตุ้น บันดาลใจ ตื่นเต้นขึ้นมาเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะเผื่อแผ่ให้คนอื่นที่เขายังไม่ตระหนัก ยังไม่ตื่น ยังไม่มีโอกาส ยังไม่เท่าเทียม เพราะทุกวันนี้โอกาสของคนในประเทศไทยยังห่างกันเยอะ คนในเมืองกับคนต่างจังหวัด คนมีการศึกษากับคนไม่มีการศึกษา คนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมกับคนที่อยู่ในภาคเกษตร ความแตกต่างเหลื่อมล้ำมันยังมีสูงอยู่มาก

ปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างมันเกิดขึ้นเพราะนโยบายที่อาจจะไม่เกื้อกูลให้เกิดความเสมอภาค ไม่เกิดการแบ่งปันกัน เฉลี่ยกัน แต่บางเรื่องมันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของคน ของตนเอง เพราะว่าไม่มีการศึกษามากพอ เนื่องจากไม่มีโอกาสในการศึกษา หรือกระทั่งปัญหาที่เกิดจากความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ที่ทำให้ตัวเองไม่สามารถเปิดกว้างที่จะปรับตัว กล้าเผชิญ รับความเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรอบที่ถูกกำหนด ถูกบังคับ ไม่สามารถที่จะก้าวตามคนอื่นไปได้ ผมคิดว่ามันต้องเฉลี่ยกันรับผิดชอบ ผมได้มีโอกาสไปเห็นความเป็นเลิศในหลายๆ ด้านจากภูมิภาคเอเชีย จากทั่วโลก ผมว่าคนไทยก็ไม่ไร้ความสามารถที่จะมีโอกาสลิ้มรสความเป็นเลิศเหล่านั้น แต่เราต้องมาจัดระบบสังคมของเราให้เป็นระเบียบ ให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และพร้อมที่จะมาร่วมสังฆกรรมด้วย มีบทบาทร่วมที่จะแสวงหาความเป็นเลิศในสังคมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ วัฒธรรม

 

ผมคิดว่าชีวิตที่จะมีชีวิตชีวาได้มันต้องสามารถจะเห็นอะไรใหม่ในแต่ละวันที่เราตื่นขึ้นมา ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมันซ้ำเดิมเหมือนเมื่อวาน ชีวิตก็ไม่มีความหมาย ชีวิตจะไม่มีแรงกระตุ้น ชีวิตจะไม่มีแรงบันดาลใจ

 

ที่ท่านพูดว่า ตื่นมาทุกวันและตื่นเต้นที่จะเผื่อแผ่ความรู้ไปสู่คนอื่น น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบเห็น เพราะว่าคนอายุระดับนี้หรือว่าคนที่ทำงานมามาก อาจจะคิดว่าเจอมาเยอะแล้ว พอ เบื่อ ซึ่งทำให้ชีวิตไม่มีความเคลื่อนไหวสักเท่าไหร่

ผมยังหนุ่มอยู่ (หัวเราะ) ผมเองได้แรงบันดาลใจจากการได้ช่วยคน การได้แนะนำ การได้เขียน recommendation ให้เด็ก ที่ถ้าหากว่าไม่ให้โอกาส ไม่สนับสนุน ไม่ให้กำลังใจ เขาอาจจะไม่มีโอกาสได้ประสบความสำเร็จเต็มที่ตามศักยภาพที่เขาพึงมี ผมเชื่อว่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เกิดมา ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดของเขา โอกาสบางครั้งสังคมเป็นคนกำหนด หรือบางครั้งสังคมก็เป็นคนสกัดเช่นกัน สังคมที่ว่านี้รวมถึงองค์กร สถาบัน วิธีการ มาตรการ นโยบาย หลายสิ่งหลายอย่างที่มันทำให้เราไม่สามารถที่จะถึงจุดสูงสุดของเราในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

ผมคิดว่าสังคมที่ดีคือเด็กเกิดขึ้นมาคนหนึ่ง ใครอยากเป็นหมอควรจะได้เป็นหมอ ใครอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ควรจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ สังคมไหนก็ตามแต่ที่สามารถที่จะจัดระบบเพื่อให้แต่ละคนในสังคมถึงจุดสูงสุดของตนเองตามศักยภาพที่ตนมี ไม่ว่าจะเป็นความฉลาดที่มาตามธรรมชาติ ความพร้อมที่มาตามธรรมชาติ เช่น ร่างกายแข็งแรง พร้อมสำหรับการเป็นนักกีฬาที่ดีเยี่ยม สติปัญญา พร้อมสำหรับเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ผมว่าสังคมไหนก็ตามที่จัดระบบทางสังคมให้ทุกคนได้ประสบกับความเป็นเลิศสูงสุดของตนเอง สังคมนั้นถือว่าเป็นสังคมที่ประสบความสำเร็จและประเสริฐ สังคมใดก็ตามที่สกัดกั้นไม่ให้ศักยภาพของแต่ละมนุษย์ในสังคมพัฒนาไปถึงสุดยอดของเขาได้ สังคมนั้นคือสังคมที่บั่นทอนตัวเอง สิ่งที่อยากเห็นก็คือสังคมไทยสามารถจัดระบบระเบียบกลไกต่างๆ ให้ทุกคนมีโอกาสเท่าที่ขีดความสามารถของตนพึงมี อยากเป็นอะไรเป็นได้ อยากทำอะไรทำได้ ภายใต้กรอบของกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส ทุกคนเข้าใจ แล้วก็ยอมรับ ถ้าคุณจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณจะเป็นแพทย์ ถ้าคุณไม่เก่งคุณจะไปผ่าตัดเขาได้อย่างไร คุณจะไปวินิจฉัยโรคเขาได้อย่างไร คุณจะไปสั่งยาเขาได้อย่างไร

อย่างท่านที่บอกว่ามาจากครอบครัวที่ยากจน และประเทศของเราก็ยังมีเรื่องของช่องว่างในเรื่องของความยากจนอยู่สูง ในฐานะที่ท่านสามารถยกระดับชีวิตขึ้นมาได้ขนาดนี้ ท่านมองความยากจนว่าคืออะไร

ความยากจนเกิดขึ้นเพราะ หนึ่ง ทัศนคติของตัวเราเองที่ถูกจำกัด ถูกบังคับ ถูกกดขี่ ถูกล้อมกรอบอยู่ตรงนั้น แล้วเราไม่มีความกล้าพอที่จะปลีกตัวเองออกมาจากข้อจำกัดตรงนั้น ดังนั้น ถ้าอยากหลุดออกมา ตัวเองก็ต้องสู้ด้วย สอง มันอาจจะมีกฎเกณฑ์เงื่อนไข กฎหมาย นโยบาย ที่อาจจะทำให้เราต้องอยู่ในสภาพนั้น ซึ่งก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง มีการแก้ไข ขยับขยายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น มีพื้นที่ให้ทุกคนได้แสดงออกมากขึ้น และ สาม การศึกษา ซึ่งก็ต้องดูว่าการศึกษาอย่างไรที่ทำให้คนมีความรู้มากขึ้นแล้ว ต้องมีสติ แล้วก็มีจริยธรรม มีค่านิยมที่ถูกต้อง ไม่อ่อนแอและอ่อนไหว พร้อมที่จะหาทางลัด ตัดทางสั้นอยู่เรื่อย อะไรที่โกงได้ก็โกง อะไรที่หลบเลี่ยงได้ถือว่าเก่ง แบบนี้สังคมจะอยู่ไม่ได้ ต่างคนต่างก็แข่งขันกันเพื่อที่จะเอาประโยชน์ โดยวิธีการที่เอาเปรียบคนอื่น โดยวิธีการที่กีดกันคนอื่น โดยวิธีการที่ไม่แบ่งปัน

ผมคิดว่ามันต้องหาวิธีการแก้ไขนะ ซึ่งเรื่องแบบนี้มันต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ต้องมีการวิเคราะห์เรื่องนโยบาย เรื่องกฎหมาย เรื่องการศึกษา เรื่องทัศนคติ เรื่องความพร้อม หลายสิ่งหลายอย่าง การที่จะพัฒนาสังคมไปในทิศทางที่สูงขึ้น ดีขึ้น มันต้องใช้ทั้งองคาพยพทั้งหมด คนเดียวทำไม่ได้ องค์กรเดียวทำไม่ได้ ดังนั้น กระทรวงที่น่าสนใจที่สุดในประเทศไทยก็คือกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศชาติจะอยู่รอดหรือจะล้มเหลวอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ หลายพรรคการเมือง หลายคนสนใจกระทรวงศึกษาธิการด้วยเหตุผลที่ผิด สนใจเพราะงบประมาณเยอะ สนใจเพราะคนเยอะ สนใจเพราะคิดว่ามันจะเป็นฐานทางการเมือง แต่ไม่เคยมีใครสนใจเพราะมันเป็นอนาคตของประเทศ น้อยคนที่เข้ามาที่กระทรวงศึกษาธิการแล้วบอกว่านี่คืออนาคตของประเทศ หรือมาเพื่อที่จะปรับ มาเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มาเพื่อที่จะให้แรงบันดาลใจกับเด็ก กับครู เพื่อที่จะให้เขาเตรียมพร้อมเพื่ออนาคตที่ค่อนข้างจะไม่แน่นอน และมีการแข่งขันสูงมาก ไม่ใช่เข้าไปเพื่อที่จะดูงบประมาณว่าอะไรอยู่ตรงไหน ควรจะให้บริษัทใดมาประมูล การทำงานในกระทรวงศึกษาธิการมันเหมือนกับการเข้าไปอยู่ในเหมืองเพชร เหมืองเพชรในที่นี้คือสมองเล็กๆ ของเด็กๆ ทั้งหลายเป็นล้านๆ คน แต่สิ่งที่เข้าไปเก็บก็คือ เศษๆ อะไรก็ไม่รู้ ไม่มีใครได้พัฒนา ได้เจียระไนเพชรเหล่านี้ กลับไปเก็บอะไรไม่รู้ที่ด้อยค่ากว่า เพราะว่ามันเก็บง่ายกว่า