ความเชื่อมโยงระหว่างซูชิและงานออกแบบของ นาโอโตะ ฟุคาซาว่า ดีไซเนอร์แห่ง MUJI

“ผมชอบซูชิ… เพราะซูชิไม่ผ่านการแต่งรสใดๆ” นาโอโตะ ฟุคาซาว่า ผู้ดำรงตำแหน่ง Creative Advisor ของ MUJI อมยิ้มปนหัวเราะ แล้วบอกเราด้วยความสนุก

.

การไม่แต่งเติมรสชาติ หรือการแต่งรสแค่เพียงเล็กน้อย แสดงถึงการให้ความสำคัญกับแก่นแท้ของงานผ่านการแสดงออกอย่างเรียบๆ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทำให้คนทั่วโลกยอมรับในงานออกแบบของเขา

.

ยิ่งค้นพบสิ่งที่ไม่คาดคิดมากเท่าไหร่ เรายิ่งอยากรู้ถึงสิ่งที่อยู่ข้างในความคิดของเขามากขึ้นเท่านั้น นอกไปจากความละเอียดอ่อนต่อสิ่งรอบกายแล้ว เขามีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ อย่างไร ทั้งเรื่องการออกแบบ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ไปจนถึงการมองชีวิตผ่านคำถามจากบุคคลที่ทำงานในวงการออกแบบทั้งแปดคนนี้

Muji

หากมองว่าการออกแบบคือการทำอาหาร ในฐานะนักออกแบบ ผมมีหน้าที่ทำ ‘น้ำซุป’ ที่ยังไม่ได้ปรุงรส

สำหรับคุณ คำว่า good design คืออะไร และโปรดักต์ที่คุณเห็นแล้วร้องอุทานว่า สุโก้ย คือชิ้นไหน (เอกชัย กล่อมเจริญ, mink’s)

ผมมองว่ามนุษย์มีความรู้สึกและบางสิ่งบางอย่างเหมือนกันอยู่ภายในจิตใจ แต่มักไม่รู้ตัว หน้าที่ของนักออกแบบจึงเป็นการนำเสนอสิ่งที่มนุษย์จะชอบ เวลาที่ผมเห็นผู้คนมีปฏิกิริยาตอบรับ หรือเวลาที่มีใครอุทานว่า ‘นี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ!! คุณรู้ได้ยังไง?’ ผมถือว่าปฏิกิริยาในลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงการออกแบบที่ดี ผมจึงไม่ได้เริ่มต้นด้วยการออกแบบ good design แต่ผมออกแบบด้วยการนำความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์มาผสานให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสิ่งรอบตัว ซึ่งมันเป็น good design สำหรับผม

งานออกแบบที่ผมรู้สึกว่า ‘สุโก้ย’ คือรถสกูตเตอร์พลังงานไฟฟ้า ‘Gogoro’​ ของไต้หวัน ผมเองก็ซื้อมาคันหนึ่ง Gogoro เป็นสกูตเตอร์ที่แชร์กันในคอมมูนิตี้ ถ้าจะชาร์จแบตเตอรี่ก็แค่นำไปที่สถานีชาร์จเท่านั้น ผมว่า Gogoro จะต้องฮิตในประเทศไทยแน่ๆ นอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมและดีไซน์สวยแล้ว มันยังเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และความคิดของผู้คนอีกด้วย

ทำไมดีไซน์แบบญี่ปุ่นจึงน้อยและเรียบ เทียบกับไทยเราที่มีสีสันและความด้นสดอยู่ตลอด (พิม จงเจริญ, Teaspoon Studio)

เวลามีใครมองว่าดีไซน์ของญี่ปุ่นเรียบง่าย ผมจะอธิบายอย่างนี้… หากมองว่าการออกแบบคือการทำอาหาร ในฐานะนักออกแบบ ผมมีหน้าที่ทำ ‘น้ำซุป’ ที่ยังไม่ได้ปรุงรส ถ้าน้ำซุปของผมดี ปรุงรสแค่เพียงเล็กน้อย รสชาติก็อร่อยแล้ว งานออกแบบของ MUJI เองเป็นงานออกแบบที่ปรุงรสไม่มาก ส่วนงานออกแบบของไทยจะปรุงรสจัด (หัวเราะ) แต่ถ้าเราทำน้ำซุปที่ดีไว้ ไม่ว่าจะปรุงรสอ่อนหรือจัด มันก็อร่อยทั้งนั้น

MUJI ทำอย่างไรกับโปรดักต์ที่เหลือจากเชลฟ์ขายของในร้านที่หมดคอลเล็กชันของแต่ละรอบ (พิชาญ สุจริตสาธิต, ช่างภาพ และนักออกแบบผลิตภัณฑ์)

การที่ MUJI นำสินค้าของฤดูกาลก่อนมาย้อมสีใหม่ เกิดมาจากความรู้สึกเสียดาย ซึ่ง MUJI ไม่ได้ใช้วิธีนี้กับสินค้าทั้งหมด แม้เราจะคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มนุษย์ก็ยังมีกิเลส มนุษย์ยังต้องการสินค้าแฟชั่นใหม่ๆ ถ้าคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความจริงข้อนี้ สินค้าอาจจะขายไม่ออก และทำให้เหลือสินค้าในสต็อกมากกว่าเดิมอีก การคำนึงถึงทั้งสองเรื่องจึงเป็นแนวคิดของผม

เก้าอี้ที่คุณไม่ได้ออกแบบเอง แต่ประทับใจมากที่สุดคือตัวไหน (เดชา อรรจนานันท์, Thinkk Studio)

อืม… เก้าอี้ White Chair ของ ฮันส์ เวกเนอร์ ก็สวยนะ อีกตัวหนึ่งที่สวยก็คือเก้าอี้ Aluminium Chair ของอีมส์

Muji

โลกยุคดิจิตอลและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานโปรดักต์ของมนุษย์ไปในทิศทางไหน และจะส่งผลต่อแนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคุณหรือไม่ (ณัฐจรัส เองมหัสสกุล, Studio Dialogue)

ตอนที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้นมา ทุกคนให้ความสนใจ อยากนำมาใช้ แต่ไม่มีใครรู้หรอกว่าเทคโนโลยีนั้นดีหรือไม่ กว่าจะรู้จริงๆ ก็ใช้เวลานานพอสมควร แนวคิดในการออกแบบของ MUJI จึงไม่ได้วิ่งไล่ตามเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เป็นการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในแบบของเราเอง

ทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Sony, Panasonic และ Toshiba ในตอนนี้ถึงล้มเหลวในการการออกแบบผลิตภัณฑ์สมัยใหม่เมื่อเทียบกับบริษัทอเมริกันอย่าง Apple หรือแม้แต่บริษัทของเกาหลีอย่าง Samsung (กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล, Wrongdesign)

ผมว่าอาจเป็นเพราะสหรัฐอเมริกามีการใช้กระบวนการคิดที่เรียกว่า ‘design thinking’ เวลาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะคิดเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มที่ทุกๆ คนสามารถใช้งานได้ โดยเฉพาะ Apple ซึ่งคิดในเรื่องของความง่ายในการใช้งาน และการออกแบบ interface ที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย พอ Apple ประสบความสำเร็จในครั้งแรกก็ต้องพัฒนาให้สำเร็จอีกต่อไปเรื่อยๆ เพราะผู้คนเคยชินกับวิธีใช้งานในลักษณะนั้นแล้ว นี่เป็นวิธีคิดของ สตีฟ จอบส์ ซึ่งไม่ได้โฟกัสที่ผลิตภัณฑ์ แต่ให้ความสำคัญกับการทำให้มนุษย์ทุกคนสามารถใช้งานสิ่งเดียวกันได้ และผมมองว่าบริษัทอื่นๆ ยังคิดอย่างจอบส์ไม่ได้นะ

Muji
ภาพ : จักริน อินต๊ะวงค์

เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร (ภาณุวัฒน์ อู้สกุลวัฒนา, นักออกแบบตัวอักษร)

อืม… เป้าหมายในชีวิตของผมคือในวินาทีที่ผมหมดลมหายใจ ผมได้รู้สึกว่าผมมีชีวิตที่ดี… (หัวเราะเสียงดัง) ผมเป็นนักออกแบบ จึงคิดมาตลอดว่าสิ่งที่สวยงามคืออะไร ผมอยากพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างนั้นต่อๆ ไป มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขที่สุด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก คุณพอใจกับชีวิตของคุณไหม และคิดเห็นอย่างไรกับการที่คนญี่ปุ่นบางคนรู้สึกว่า เมื่อพอใจกับชีวิตแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลให้มีชีวิตอยู่อีกต่อไป…’ (จินนี่ สาระโกเศศ, บรรณาธิการเนื้อหา TCDC)

ผมพอใจกับชีวิตตัวเองนะ เพราะพยายามจะไม่ทำในสิ่งที่ตัวเองยอมรับไม่ได้ ผมชอบการออกแบบ และการออกแบบสร้างรายได้ให้กับผม แต่จะลงมือทำก็ต่อเมื่อตัวเองยอมรับมันได้ ผมคิดเสมอว่าจะต้องทำอะไร และก็พบกับทางแยกมากมายในแต่ละวัน แต่ผมจะเลือกทำในสิ่งที่ผมรู้สึกดีกับมันจริงๆ

ส่วนเรื่องความพอใจกับเหตุผลของการมีชีวิต ผมมองว่าเขาพูดไม่ผิดนะ แม้ผมจะตอบว่าผมพอใจกับชีวิต ผมกลับคิดว่าความรู้สึกนั้นไม่มีอยู่จริง (หัวเราะ) การยึดติดกับกิเลสก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีหรอก สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ว่าหนทางของเราคืออะไร ซึ่งชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปทั้งๆ ที่เรายังไม่รู้คำตอบ การเดินทางค้นหาคำตอบบนเส้นทางของชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมเชื่อว่าพอเราค้นพบหนทางของเราแล้ว ก็จะสามารถเดินไปสู่เส้นทางของเราได้ แล้วเมื่อนั้นชีวิตก็จะมีความสุขเอง

เรื่อง : จินนี่ สาระโกเศศ