ปกาเกอะญอ

เรียนรู้วิถีชีวิตแบบแนบอิงธรรมชาติของเผ่า ‘ปกาเกอะญอ’ และจิตวิญญาณแห่งการรักษาป่าไม้

ลึกเข้าไปกลางหุบเขาที่สลับซับซ้อนของอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มี หมู่บ้านสบลาน ที่เป็นชุมชนขนาดเล็กของชาวปกาเกอะญอ ซ่อนตัวอย่างเงียบเชียบและสันโดษ ด้วยจำนวนประชากร 106 คน ที่ใช้ชีวิตแนบอิงธรรมชาติ ผสมผสานกับแนวความเชื่อโบราณที่ปลูกฝังให้รักษาป่าไม้

 

การเดินทางครั้งนี้เราไม่ได้มาในฐานะนักท่องเที่ยว แต่เป็นการขออนุญาต พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้นำหมู่บ้าน และปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ วัย 69 ปี มาอาศัยในฐานะคนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่อยากกดปุ่ม Pause ชีวิตแสนวุ่นวายในเมืองใหญ่ มาเรียนรู้วิถีชีวิตเรียบง่าย อยู่อย่างชาวปกาเกอะญอ และกินอย่างชาวปกาเกอะญอ โดยขอทำงานเล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเขาเป็นการแลกเปลี่ยน

     ซึ่งนอกจากเขาจะให้การต้อนรับ ‘คนแปลกหน้า’ อย่างเราด้วยความเป็นกันเองแล้ว ยังพาเราสำรวจหมู่บ้าน เดินป่า สอนภาษา แถมยังแวะเวียนมาเล่านิทานปกาเกอะญอให้ฟังก่อนนอน ราวกับเราเป็นลูกหลานคนหนึ่งของเขา

     ตลอดระยะเวลาหลายวันที่เราใช้ชีวิตอยู่ที่หมู่บ้านกลางป่าแห่งนี้ ทำให้ตระหนักว่า ถึงแม้จะมีจำนวนประชากรชาวปกาเกอะญอที่มีมากถึง 1 ล้านคนในประเทศไทย แต่เรากลับรับรู้เรื่องราวของพวกเขาน้อยนิดเหลือเกิน การได้ลองใช้ชีวิตที่แสนธรรมดาและเรียบง่ายเช่นนี้ ยังค่อยๆ เผยให้เห็นถึงรายละเอียดของชีวิตที่เราเผลอทำหล่นหายโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

ปะกาเกอญอ

SOBLAN: A HOME OF KAREN’S SOUL

     ปกาเกอะญอ ในภาษาไทยแปลว่า ‘คน’ เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่กระจัดกระจายตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา มานานกว่า 200 ปี โดย พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ คือลูกหลานของคนปกาเกอะญอกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านสบลาน

     “เราอยู่ที่นี่กันมาร้อยกว่าปีแล้ว ช่วงที่มาปักหลักกันแรกๆ มีชาวบ้านทั้งหมดแค่ 3 ครอบครัว แต่ตอนนี้ก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ จนมีประชากรอยู่ทั้งหมด 106 คน” พะตี่ตาแยะเล่าให้เราฟังด้วยภาษาไทยสำเนียงปกาเกอะญอ

     ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นี่มักสื่อสารกันเองด้วยภาษาปกาเกอะญอดั้งเดิม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาพม่า แต่เด็กๆ รุ่นหลังที่เติบโตที่นี่ก็ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนสามารถอ่านออกเขียนได้และสื่อสารภาษาไทยได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ

     เราเดินมาหยุดอยู่หน้าบ้านของพะตี่ตาแยะ ซึ่งเป็นบ้านไม้ยกสูง ด้านล่างเปิดโล่งสำหรับเลี้ยงหมู ไก่ และควาย ส่วนด้านบนปูพื้นด้วยไม้ไผ่ มีเตาไฟอยู่กลางบ้าน เพื่อให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว พื้นที่ส่วนใหญ่เปิดโล่ง ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีของสะสม เป็นเพียงบ้านง่ายๆ ที่ใช้พักกายพิงใจของคนในครอบครัว

     “เดินขึ้นบันไดเบาๆ นะ” คำเตือนของพะตี่ตาแยะทำเอาเราสะดุ้งโหยง ในใจก็คิดไปต่างๆ นานาว่า ผู้หญิงตึงตังอย่างเรากำลังทำตัวไม่มีมารยาท เผลอขึ้นบันไดเสียงดังเกินไปหรือเปล่า แต่ก็ต้องโล่งใจด้วยประโยคที่เจ้าของบ้านพูดต่อมาติดๆ

     “เดี๋ยวไม้เขาจะเจ็บ”

     น้ำเสียงราบเรียบของเขาทำให้เรารู้ว่าพะตี่หมายความแบบนั้นจริงๆ ไม่ใช่มุกตลกแต่อย่างใด

ปะกาเกอญอ

MAN OF THE FOREST

     ชาวปกาเกอะญอมีชีวิตที่ผูกพันกับตันไม้และธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด เพราะเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ ผู้เป็นพ่อจะนำรกของเด็กใส่กระบอกไม้ไผ่และนำไปผูกไว้กับ ‘ต้นสะดือ’ หรือในภาษาปกาเกอะญอเรียกว่า ‘เดปอทู่’ ซึ่งมักเป็นต้นไม้ต้นใหญ่ที่อยู่บริเวณหมู่บ้าน

     “ตามความเชื่อของปกาเกอะญอ ขวัญของเด็กจะอยู่กับต้นสะดือต้นนั้นไปตลอดชีวิต ห้ามให้ใครไปตัดหรือทำลายต้นไม้ต้นนั้นเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะเกิดเรื่องร้ายกับเจ้าของรก” พะตี่อธิบายให้เราฟัง ทำให้เราอดยิ้มไปกับความเชื่อที่แสนเป็นมิตรกับธรรมชาติแบบนี้ไม่ได้

     ถ้าหากคนไทยทุกคนมีต้นสะดือเป็นของตัวเอง ตอนนี้ประเทศเราคงมีต้นไม้สูงใหญ่กันมากกว่า 65 ล้านต้นเลยทีเดียว

     “ส่วนต้นสะดือของพะตี่อยู่ทางนู้นแน่ะ” พะตี่ตาแยะชี้ไปทางหน้าหมู่บ้าน และยิ้มกว้างอย่างอารมณ์ดี
     นอกจากนี้ชาวปกาเกอะญอยังคอยปกป้องผืนป่าและแม่น้ำที่อยู่บริเวณโดยรอบ พวกเขามีป่าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นบริเวณที่ห้ามเข้าไปรุกรานหรือตัดไม้โดยเด็ดขาด

     “ชีวิตเราเกิดจากป่า ป่าคือบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง” พะตี่ตาแยะย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

ปะกาเกอญอ

ปะกาเกอญอ

SIMPLICITY AT ITS BEST

     ระหว่างที่เรากำลังเล่นกับเด็กๆ ก็เห็นชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งเดินผ่านไปพร้อมกับปืนกระบอกยาวและดาบสั้น จนอดถามไม่ได้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร และมุ่งหน้าไปไหนกัน

     “ไปล่าหมูป่า” คำตอบจากหนุ่มๆ ชาวปกาเกอะญอทำให้คนเมืองอย่างเราถึงกับอึ้งจนต่อบทสนทนาไม่ถูก

     ตกเย็น ทุกคนกลับมานั่งพื้นล้อมวง โดยมีสำรับข้าวอยู่ตรงกลาง แน่นอนว่าอาหารจานเด็ดมื้อนั้นก็คือ แกงหมูป่าที่ถูกล่าเมื่อตอนบ่ายนั้นเอง

     วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอมักอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย อาหารส่วนใหญ่มาจากการล่าสัตว์ เก็บของป่า และการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากไร่หมุนเวียน เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากการทำไร่ทำนาอันยาวนาน ผู้คนในหมู่บ้านจึงใช้เวลาไปกับการพักผ่อน ทอผ้า หาฟืน หรือบางคืนก็นั่งสังสรรค์รอบกองไฟพร้อมกับเหล้าขาวรสเข้มที่หมักเอง

ปะกาเกอญอ

HOW THEIR LOVE BEGAN

     อีกหนึ่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอที่พะตี่ตาแยะเล่าให้เราฟังอย่างออกรสออกชาติคือ พิธีแต่งงาน ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ฝ่ายหญิงจะเป็นคนเอ่ยปากขอฝ่ายชายก่อน แถมยังต้องเป็นคนเสียสละหมูที่ตนเองเลี้ยง 4 ตัว เพื่อนำไปทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาในงานแต่งด้วย ฟังดูเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีบทบาทมากทีเดียว

     “ในสังคมปกาเกอะญอ เราไม่ได้มาคิดหรอกว่าใครเป็นใหญ่ จะเป็นชายหรือหญิงก็มีหน้าที่สำคัญเหมือนกัน” พะตี่ตาแยะพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงจริงจัง และยังเล่าให้เราฟังถึงวันที่ภรรยาของเขาใส่ชุดยาวสีขาวเดินมาขอให้เขาเป็นคู่ชีวิต ส่วนขั้นตอนการขอแต่งงานจะยากหรือง่ายอย่างไรนั้น เขาก็เอ่ยขึ้นว่า “ต้องไปถามคนนู้น” พร้อมชี้ไปที่ภรรยาของเขาอย่างเขินๆ ทำให้เธอหัวเราะอย่างอารมณ์ดีและส่ายหัวเบาๆ “ไม่นะ ไม่ยากเลย”

ปะกาเกอญอ

WITH POWER, LOVE AND SPIRIT

     การเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมและความเจริญที่คืบคลานเข้ามาในหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว ทำให้พะตี่ตาแยะและชาวบ้านคนอื่นๆ เริ่มกังวลว่าธรรมเนียมประเพณีของตนจะค่อยๆ สูญหายไป เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาและ ‘ครูนิด’ – อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ อดีตคุณครูจากโรงเรียนรุ่งอรุณ จึงร่วมกันจัดตั้ง โรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า หรือโรงเรียนวิถีชีวิต เพื่อสืบทอดเรื่องราวและภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอให้เด็กรุ่นหลังได้เข้าใจและนำไปปรับใช้ได้จริงในอนาคต

     โรงเรียนแห่งนี้มีการเรียนการสอนที่สอดแทรกเนื้อหาทางทฤษฎีเข้าไปในการปฏิบัติจริง เช่น การเรียนเรื่องเรขาคณิต โดยการให้เด็กๆ ลองขุดบ่อปลาและวัดมุมต่างๆ เอง หรือการเรียนวิทยาศาสตร์ โดยการออกไปเดินสำรวจลำน้ำขาน เพื่อศึกษาระบบนิเวศของสัตว์น้ำ รวมถึงมีการสอนวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจวิถีชีวิตของตนเองอย่างลึกซึ้งขึ้น

     เราเอ่ยถามครูนิดว่า ทำไมเธอถึงเลือกทิ้งชีวิตที่สะดวกสบายในกรุงเทพฯ มาอยู่กลางหุบเขาที่ห่างไกลผู้คนแห่งนี้ เธอตอบทันทีเลยว่า

     “มนุษย์ไม่ได้ต้องการแค่ความสะดวกสบาย แค่กิน นอน เที่ยว มันไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่งั้นคนที่เขามีความสะดวกสบายมากๆ ทำไมเขายังไม่มีความสุขล่ะ” เธอหยุดคิดและพูดต่อ “มนุษย์ต้องการมากกว่านั้น เรายังต้องการความจริงใจ มิตรภาพ ความเข้าใจ การเคารพจากตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากหมู่บ้านแห่งนี้”

     เราพยักหน้าเห็นด้วยกับเธอ เพราะระยะเวลาเพียงไม่กี่วันที่ได้มาอยู่ในหมู่บ้านสบลานแห่งนี้ ก็ทำให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสิ่งสำคัญอาจไม่ใช่ความสะดวกทางกาย แต่เป็นความสบายทางใจ เสียงน้ำตกไหลเอื่อย ร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ และมิตรภาพจากพี่น้องชาวปกาเกอะญอ ช่วยเสริมและสอดประสานให้การเดินทางครั้งนี้กลายเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีคุณค่าอย่างมากในชีวิตเรา

ปะกาเกอญอ