คุยกับ ไบรอัน ยู มิวสิกโปรดิวเซอร์ชาวเกาหลี เมื่อ K-Pop คือวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่แนวเพลงอีกต่อไป

เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ไบรอัน ยู มิวสิกโปรดิวเซอร์ชาวเกาหลี ผู้ผ่านผลงานโปรดิวซ์เพลงให้กับศิลปินในวงการ K-Pop ชื่อดังมาแล้วมากมาย อาทิ GOT7, T-ara, Apink การพูดคุยในวันนั้นพาเราไปรู้จักเบื้องหลังวิธีคิด วิธีการทำงาน ที่เขานิยามว่า อาชีพมิวสิกโปรดิวเซอร์ต้องต่อสู้กับ ‘ความละโมภทางดนตรี’ ที่อยู่ในตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงดีๆ ออกมาได้มากมาย

 

K-Pop
ภาพ : กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร

ผมคิดว่าเพลงเคพ็อพไม่ได้เป็นแค่แนวเพลงอีกต่อไป แต่กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปแล้ว

 

โปรดิวเซอร์=ผู้จัดการโรงแรม

“ในการแต่งเพลงหรือทำดนตรี มีส่วนประกอบหลายๆ ด้านที่ผสมกันจนเป็นเพลงๆ หนึ่งออกมา ไม่ว่าจะเป็นทำนองเพลง จังหวะดนตรี ไปจนถึงเนื้อร้อง งานของมิวสิกโปรดิวเซอร์คือการเอาวัตถุดิบเหล่านั้นมาผสมให้ออกมาเป็นเพลงเดียวกัน และทำให้คนฟังรู้สึกดีกับเพลง งานของผมถ้าเปรียบเทียบกับโรงแรมก็เป็นเหมือนผู้จัดการที่ต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และทำให้งานทุกส่วนเดินไปได้ เพราะในโรงแรมของเราอาจจะมีห้องพักหลายๆ สไตล์ มีเมนูอาหารญี่ปุ่น อาหารยุโรป แต่เราก็ต้องเอามารวมกันให้เป็นเพลงเดียวกันให้ได้ ผมคิดว่าคนทำงานตรงนี้ต้องมีความเข้าใจในทุกๆ ด้านของดนตรีถึงจะทำงานสิ่งนี้ออกมาได้ดี และลักษณะการทำงานของโปรดิวเซอร์แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน อย่างผมถ้าต้องร่วมงานกับศิลปินที่อาจจะร้องเพลงไม่เก่งเท่าที่เราคาดไว้ ก็จะออกแนวปลอบใจมากกว่า กับบางคนอาจจะด่าออกมาก็ได้ (หัวเราะ)”

 

ความโลภในดนตรี

“ความยากในการทำเพลงผมว่ามันคือการเอาชนะความโลภในดนตรีมากกว่า การทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์พอฟังเพลงเดิมซ้ำๆ ทำไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความรู้สึกอยากจะเพิ่มเติมนู่นนี่เต็มไปหมด แม้จะมีเดดไลน์ มีเส้นตายให้ส่งเพลง หรือแม้จะส่งให้ไปแล้ว พอกลับมาฟังอีกทีก็อยากจะทำใหม่อีกเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้น่าจะเป็นความรู้สึกของคนที่เป็นโปรดิวเซอร์ทุกคน ที่จะมีความเสียดายทุกครั้งที่ทำเพลงออกมา ไม่มีใครประทับใจทุกอย่างที่ทำหรอก โปรดิวเซอร์ที่ผมรู้จักส่วนใหญ่จะเป็น Perfectionist อะไรที่มองข้ามได้แต่จะไม่ข้าม และจะยิ่งลงรายละเอียดลึกขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าตัวเองจะพอใจกันทั้งนั้น เสร็จพอมาฟังเพลงอีกทีก็จะยังไม่พอใจอีก (หัวเราะ)”

 

Collaboration คือเทรนด์ของยุค

“เทรนด์ของวงดนตรีเกาหลีในยุคนี้คือการ Collaboration อย่างที่ผมทำงานกับวง GOT7 สมาชิกในวงก็จะมาที่สตูดิโอของผมบ่อยมาก เพราะว่ามีกระบวนการทำงานด้วยกันเยอะ โดยเฉพาะยองแจที่รู้จักกับโปรดิวเซอร์ทุกๆ คน ผมว่ายุคนี้ศิลปินพยายามจะพัฒนาตัวเองในด้านการทำเพลงเอง การแต่งเนื้อเพลงเองมากขึ้น ก่อนหน้านี้เทรนด์การทำเพลงของวงการ K-Pop อาจจะเป็นการที่โปรดิวเซอร์มีเพลงอยู่เพลงหนึ่ง แล้วเลือกมอบให้ศิลปินสักคนร้อง แต่ตอนนี้นักดนตรีแต่ละคนก็มีแนวเพลงที่ชอบไม่เหมือนกัน และต่างหลงใหลการแต่งเพลงเอง ร้องเอง ซึ่งเป็นเทรนด์ในเวลานี้ และผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีในการร่วมสร้างเพลงออกมาด้วยกัน”

 

K-Pop คือวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่แนวเพลง

“ผมคิดว่าเพลง K-Pop ไม่ได้เป็นแค่แนวเพลงอีกต่อไป แต่กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งไปแล้ว อย่างการที่วง BTS ไปชนะรางวัล Top Social Artist ในงานประกาศรางวัลบิลบอร์ดปีนี้ ซึ่งชนะ จัสติน บีเบอร์ ด้วย มันสื่อว่าแนวเพลง K-Pop กำลังขยายตัวไปในอีกด้านหนึ่งทั้งในอเมริกา และละตินอเมริกาด้วย คือถ้าตีความคำว่า K-Pop อาจคิดว่าหมายถึงแค่แนวเพลง แต่จริงๆ ในนั้นยังมีเรื่องของแฟชั่น การใช้ชีวิต มันกลายเป็นวัฒนธรรมที่เห็นภาพได้กว้าง และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพลงเป็นเหมือนวัฒนธรรมของยุคสมัยนะผมว่า อย่างผมเองก็โตมากับเพลงพ็อพบนชาร์ตของบิลบอร์ด รวมทั้งเพลงฮิปฮอป ส่วนตอนยี่สิบกว่าๆ ผมก็หันมาฟังอีดีเอ็ม และปัจจุบันผมก็ได้รับอิทธิพลมาจากเพลง K-Pop เป็นหลายๆ อย่างที่หลอมรวมกัน”

 

วัฒนธรรมดนตรีเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีภาษา ทุกคนสามารถเข้าใจอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า การระลึกถึงอดีต หรือการย้อนคิดถึงความทรงจำที่เคยมีมาก่อน

ยืนระยะด้วยความทุ่มเท

“ในแต่ละปีมีศิลปินเกาหลีเกิดขึ้นเยอะมาก แค่คุณออกอัลบั้มหรือปล่อยซิงเกิลมาแป๊บเดียว ก็มีศิลปินหน้าใหม่ออกผลงานตามมาแข่งแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ศิลปินบางคนยืนระยะได้มากกว่าคือการที่ศิลปินมีความทุ่มเท ตั้งใจ และชื่นชอบงานตรงนี้จริงๆ แต่กับบางคนที่คิดว่าอาชีพนี้เป็นแค่ธุรกิจ เขาจะไม่สามารถทำงานตรงนี้ได้ยาวนาน คนที่อยู่ในวงการนี้ได้นานคือคนที่ทุ่มเทในการพัฒนาตัวเองเสมอ เช่น พักจินยอง เจ้าของค่าย JYP เขาเป็นทั้งซีอีโอ เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ แต่เขาก็ยังแต่งเพลงอาทิตย์ละสองถึงสามเพลงตลอด มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับโปรดิวเซอร์คนอื่นๆ เสมอ แม้งานจะยุ่งมากแต่เขาก็ไม่ลืมว่าเขาเป็นโปรดิวเซอร์ โปรดิวเซอร์ที่โด่งดังผมว่ามันต้องมีเหตุผล บางคนพอมีรายได้เข้ามาเยอะๆ ก็จะหลงลืมตัวเองไป คนที่อยู่ได้นานจริงๆ เขารู้ว่าตัวเองเป็นใครและมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ”

 

เบื้องหลังชีวิตศิลปินเกาหลี

“ผมนับถือศิลปินทุกๆ คนเลยนะ เพราะก่อนที่จะมีอัลบั้มหรือเพลงออกมาได้สักเพลง เขาต้องใช้ความอดทนและความพยายามสูงมาก บางทีต้องอัดเพลงเดียวซ้ำๆ ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง พออัดเพลงเสร็จก็ต้องไปฝึกเต้นตอนเย็นอีก และพออัลบั้มออกมาก็ต้องไปเดินสายโปรโมต เสร็จจากอัดรายการโปรโมตตีหนึ่งตีสองก็ต้องกลับมาอัดเพลง ชีวิตของศิลปินเกาหลีเป็นแบบนี้ ภายนอกอาจจะดูว่าชีวิตของพวกเขาดี แต่เบื้องหลังของศิลปินทุกคนคือความพยายามล้วนๆ  ถ้าไม่มีความพยายาม ไม่มีทางที่จะออกอัลบั้มดีๆ แบบนั้นมาได้”

 

ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความผิดหวังกับความสำเร็จ

“งานของผมคือการอยู่ตรงกลางของการเห็นศิลปินสมหวังและผิดหวัง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในวงการที่มีศิลปินออกอัลบั้มกันทุกวันๆ ผมเคยเห็นเหตุการณ์ที่ศิลปินทำอัลบั้มหนึ่งเสร็จแล้ว แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้อัลบั้มนั้นต้องหายไป หน้าที่ของผมคือต้องอยู่ตรงนั้น และให้กำลังใจพวกเขา นั่นคือสิ่งที่ผมทำได้”

 

ความฝันสุดท้าย

“ส่วนตัวผมอยากจะทำงานกับศิลปินหลายๆ คน และอยากจะลองทำเพลงหลากหลายแนวทั่วโลก และอีกอย่างผมอยากเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีให้ขยายกว้างมากขึ้น อันนี้เป็นความฝันสุดท้ายของผม เพราะวัฒนธรรมดนตรีเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมีภาษา ทุกคนสามารถเข้าใจอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า การระลึกถึงอดีต หรือการย้อนคิดถึงความทรงจำที่เคยมีมาก่อน ผมว่านี่คือสิ่งที่วัฒนธรรมดนตรีส่งผลกับผู้คน ผมรู้สึกโชคดีมากๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวที่คลุกคลีกับดนตรี และทุกวันนี้ได้มีโอกาสทำเพลง ผมมีความสุขและคิดว่านี่เป็นอาชีพที่จะทำไปตลอดชีวิต”