เปลี่ยนวันหยุดที่ต้องเดินทางไกล ไปปักหมุดที่ชุมชนตลาดโบราณหัวตะเข้

เมื่อจินตนาการถึงบ้านไม้ริมคลอง ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านต่างจังหวัด หรือตลาดน้ำฮิตๆ ที่คนเมืองชอบขับรถไปเที่ยวในวันหยุด โดยไม่ทันนึกถึงชุมชนริมคลองที่อยู่ใกล้ตัว อย่าง ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ ที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟลาดกระบัง โดยการเดินทางก็มาง่าย ไม่ต้องขับรถมาหาที่จอดให้หงุดหงิด ด้วยแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลงสถานีลาดกระบัง แล้วต่อสองแถวเพียง 7 บาท มาลงตลาดหัวตะเข้ เดินเข้าซอยลาดกระบัง 17 ผ่านโรงเจเก่าจนสุดทาง เลี้ยวขวา ข้ามสะพานที่เป็นเหมือนเส้นแบ่งของโลกที่วุ่นวายกับความสงบของวิถีชีวิตริมน้ำ

“วันเสาร์อาทิตย์คึกคัก ส่วนวันธรรมดาจะค่อนข้างเงียบสงบ แต่ก็นี่แหละ บรรยากาศของชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้”

01 ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้

ภาพสายน้ำไหลเอื่อยๆ บ้านไม้เก่าแก่ติดริมคลอง โดดเด่นด้วยตัวบ้านยกสูง ด้านล่างเป็นลานพร้อมท่าน้ำให้นั่งเล่น ด้านบนทำเป็นชั้นลอย ในอดีตเป็นที่สำหรับเก็บของเพื่อการค้าขาย มีช่องรับลมไว้สำหรับสอดส่องพวกโจรที่ในอดีตมักเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการคมนาคมด้วยเรือนั้นปัจจุบันก็ยังเป็นพาหนะของคนที่นี่เป็นครั้งคราว โดยเราจะได้ยินเสียงเรือหางยาววิ่งแทนรถยนต์เป็นระยะ บางคนใช้การพายเรือข้ามคลองไปตลาดฝั่งตรงข้าม ซึ่งจะสะดวกกว่าการเดินอ้อมข้ามสะพาน

ระหว่างทางทั้งซ้ายขวา จะพบว่าบางบ้านเปิดเป็นขายอาหาร ทำขนม ขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและอุปกรณ์จับปลา มีบ้านที่เคยเปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน ก่อนจะปิดไปในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วเปลี่ยนมาขายอุปกรณ์เครื่องเขียนจีนต่างๆ จนปัจจุบันหันมาทำขนมขายแทน หรือถัดเข้าไปอีกนิดก็จะพบกับโรงเรียนศึกษาพัฒนา ที่คงอาคารไม้ดั้งเดิมขนาดย่อม และอีกหลากหลายเรื่องราวทั้งเรื่องอดีต และอนาคตที่กำลังลังจะเกิดขึ้นภายในชุมชมแห่งนี้

02 อดีต

“สมัยรัชกาลที่ 5 ชุมชนหัวตะเข้ถือเป็นศูนย์กลางของชานเมืองกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก” ‘ป้าอ้อย’ – อำภา บุณยเกตุ ผู้ประสานกลุ่มคนรักหัวตะเข้ เริ่มเล่าถึงวันวานที่แสนคึกคักของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งขณะนั้นมีการขุดคลองประเวศจากพระโขนงถึงฉะเชิงเทรา ทำให้มีความเจริญเกิดขึ้นทั้งสองริมฝั่งคลอง มีตลาดสด ร้านรวง และชุมชนริมน้ำที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย โดยชุมชนหัวตะเข้เป็นจุดที่ใหญ่ที่สุด เพราะเป็นจุดตัดของคลอง 3 คลอง ได้แก่ คลองจระเข้ คลองปลาทิว และคลองประเวศ

ด้วยจุดตัดของคลองสามคลองนี่เอง ทำให้เกิดสี่แยกคลองขนาดย่อม ที่คนดั้งเดิมพูดกันติดปากเวลาจะเดินทางมาย่านนี้ว่า ‘ไปสี่แยก’ แต่ที่มาของชื่อชุมชนนี้จริงๆ แล้วเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ขุดคลองบริเวณนี้บังเอิญขุดไปเจอกะโหลกจระเข้ตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง มีแค่ส่วนหัว แต่ไม่มีตัว จึงกลายเป็นชื่อชุมชน ‘หัวตะเข้’ ซึ่งกะโหลกนี้ก็ยังอยู่ที่ศาลเจ้าปึงเถ้ากงจนถึงปัจจุบัน

“เมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้เจริญรุ่งเรืองมาก ฝั่งทิศเหนือจะเป็นตลาดไม้ยาวเหยียดกว่า 150 ห้อง และอีกฝั่งหนึ่งราว 58 ห้อง ผู้คนค้าขายกันครึกครื้น มีโรงเจ ศาลเจ้า ร้านทอง ร้านหมอ มีขายทุกอย่างทั้งยาจีนและยาไทย เรียกได้ว่าเป็นเหมือนศูนย์การค้าชานเมืองเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เชิงตลาดน้ำ แต่เป็นตลาดเก่าแบบตลาดไม้มากกว่า” ป้าอ้อยเล่าย้อนอดีตอย่างออกรสออกชาติ “ที่นี่ยังเป็นสถานที่จอดเรือขายสินค้าและต่อเรือ มีโรงไม้และช่างไม้ฝีมือดีอยู่หลายแขนง จนกระทั่งเริ่มมีถนน มีสนามบินเข้ามา กลิ่นอายเก่าๆ ก็เริ่มหายไป” ป้าอ้อยเล่าพร้อมกับถอนหายใจอย่างช้าๆ

03 วิถีดั้งเดิมเจือจาง

เนื่องจากความเจริญของเมืองที่แทรกเข้ามา ผู้คนก็เริ่มหันไปใช้รถใช้ถนนมากขึ้น จนการเดินทางทางเรือไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป ตลาดไม้ริมฝั่งคลองที่เคยคึกคักก็กลับเงียบเหงา ไม่มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายซื้อของ จนพ่อค้าแม่ค้าเริ่มทยอยปิดกิจการกันไปทีละคนสองคน

“ในอดีต ภูมิปัญญาสำคัญของที่นี่คือช่างไม้ ทำให้เรามีโรงไม้เยอะมาก แค่ในตลาดอย่างเดียวก็ 7-8 โรงแล้ว เอาไว้ทำเรือ ซ่อมเรือ แต่เมื่อชาวบ้านใช้เรือน้อยลงเรื่อยๆ โรงไม้ก็ค่อยๆ ปิดตัวลง จนกระทั่งเหลือโรงสุดท้าย เป็นโรงไม้สำหรับสร้างระหัดวิดน้ำนาข้าว ซึ่งไม่นานก็ปิดกิจการตามไปด้วย อาชีพดั้งเดิมอย่างช่างไม้ ช่างตีมีด ตีเคียว ก็หายไป เหลือเพียงอาชีพค้าขายที่ยังพออยู่ได้ เพราะมีโรงก๋วยเตี๋ยวและโรงโม่แป้งที่ยังพอประคองกิจการไปได้บ้าง” ป้าอ้อยพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่แฝงไปด้วยความจริงจัง

04 ตลาดตาย

นอกจากอาชีพดั้งเดิมที่สูญหายไปแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ก็ถูกลบเลือนไปตามกาลเวลาด้วย “เมื่อก่อนเรามีประเพณีโกนจุก เพราะคนมอญเข้ามาอาศัยค่อนข้างมาก รวมถึงมีการแข่งเรือกันทุกปี เด็กๆ เขาก็จะสนุกสนานกันเป็นพิเศษ” วีระ ผลงาม เจ้าของร้านยศ บาร์เบอร์ หวนเล่าความหลังให้เราฟัง สภาพชุมชนที่เปลี่ยนไป ไม่ต่างอะไรจากร้านตัดผมอายุกว่าร้อยปีของคุณพ่อของเขา ที่ตอนนี้เปลี่ยนกิจการเป็นร้านโชว์ของเก่าสำหรับนักท่องเที่ยว

ป้าอ้อยเล่าต่อว่า “เรารู้สึกว่าชุมชนของเรามาถึงจุดที่เสื่อมโทรมที่สุดตอนปี 2551 เพราะมันถึงขั้นที่ว่าเราเดินออกมาจากบ้านแล้วเจอหมาอยู่แค่ตัวเดียว มองไปทางไหนก็แทบไม่มีคนอาศัยอยู่เลย คนค้าขายไม่ได้ เขาก็เซ้งกิจการและย้ายออก บ้านก็พัง ตลาดก็ตาย แถมมีคนเข้ามาค้ายา บ้านที่ยังสภาพดีหน่อยก็กลายเป็นบ้านเช่าของคนต่างด้าว

“แต่ตอนนั้นก็บังเอิญว่ามีนักศึกษาเข้ามาทำวิจัยท้องถิ่น โดยการสำรวจว่าชาวบ้านคิดอย่างไรกับชุมชนนี้ ผลคือทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครอยากเห็นบ้านเราเน่า ทุกคนอยากให้ที่นี่กลับไปมีชีวิตชีวาเหมือนเดิม เราจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงรวมตัวกลุ่มคนรักหัวตะเข้ขึ้นมาหลวมๆ เพื่ออย่างน้อยก็ได้เป็นแรงกระตุ้นให้ชาวบ้านอยากปกป้องรักษาบ้านของเขา” เธอพูดพลางมองไปที่บ้านหลังเก่าริมฝั่งคลอง “แน่นอนว่าทุกคนโหยหาอดีต แต่เราคงกลับไปหาอดีตไม่ได้ แค่อยากทำให้ปัจจุบันของเราไม่เน่า ไม่เสื่อมโทรม และร่วมกันฟื้นฟูให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นก็น่าจะดี”

05 พลิกชีวิต

“เราใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูชุมชนเป็นเรื่องหลัก ส่วนเรื่องเศรษฐกิจในชุมชน เรามองว่าเป็นเรื่องรอง” ป้าอ้อยบอกเช่นนั้น สิ่งที่ป้าอ้อยและทุกคนในกลุ่มตั้งใจทำ ทั้งหมดก็เพื่อหาวิธีการที่จะกระตุ้นให้คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของถิ่นอาศัยตัวเอง ก่อนที่จะลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลและช่วยพัฒนากันคนละไม้คนมือ การพลิกฟื้นให้ที่นี่กลับมามีชีวิตอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเริ่มต้นนั้นเป็นสิ่งที่ยากเสมอ

“แรกๆ ทุกคนก็ถามป้าว่า สิ่งที่เราพยายามทำอยู่นั้น เราต้องการอะไร จะลงสมัครอะไรเหรอ” ป้าอ้อยยอมรับว่า ช่วงแรกๆ ต้องคอยตอบคำถามนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ด้วยความสัตย์จริง ป้าอ้อยเป็นผู้สูงวัยที่ต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายให้เกิดคุณค่าและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมเท่านั้น แม้เธอจะไม่ได้เกิดในชุมชนนี้ แต่ก็ย้ายได้เข้ามาอยู่ที่ได้เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ช่วงวัยสาวแรกรุ่นเธอก็ปฏิเสธชุมชนแห่งนี้เหมือนกับคนอื่นๆ แต่พ่อแม่ของป้าอ้อยกลับเห็นความคึกคักและความสุขของคนที่นี่ ก่อนที่จะมาเห็นความงดงามที่ซ่อนอยู่ของชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ก็เข้าย่างสู่วัยชรา และภาพเก่าต่างๆ ย้อนคืน ทำให้เธอมีความหวังว่าที่นี่จะกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งเหมือนในอดีต

 06 ฟื้นฟู

“โชคดีที่มีคนคิดแบบเรา” ป้าอ้อยยิ้มและพยักพเยิดไปทาง ‘เปา’ – ชวลิต สัทธรรมสกุล เจ้าของสี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสต์เฮาส์ และหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนชุมชน โดยเขาเล่าว่า แม้ตัวเองจะไม่ใช่เด็กถิ่นหัวตะเข้ แต่ก็อยู่ไม่ไกล สมัยที่เรียนช่างศิลป์ลาดกระบังก็มักจะแวะเวียนมาสเกตช์รูปอยู่บ่อยๆ ความชินตาของย่านนี้ทำให้เขารู้สึกเฉยๆ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสกลับมาตอนที่ป้าอ้อยเริ่มมาทำตลาดนัดศิลปะ เขาจึงเริ่มมีไอเดียบางอย่างกับที่นี่

“เราคิดว่าแค่กิจกรรมไม่น่าจะทำให้ที่นี่ยั่งยืนได้ อาจจะต้องมีจุดเช็กอินบางอย่าง” เปาเริ่มต้นเห็นด้วยกับป้าอ้อย จากนั้นไม่นานเขาก็พบว่า บริเวณสี่แยกหัวตะเข้มีบ้านไม้ปิดทึบอยู่หนึ่งหลัง เป็นบ้านหลังมุมที่ดี เขาจึงเริ่มเจรจาต่อรองเพื่อขอเช่าและเริ่มต้นรีโนเวต โดยพยายามคงเอกลักษณ์ของบ้านไม้ริมคลองไว้ ปรับจากบ้านอาศัยให้เป็นร้านกาแฟ ก่อนจะเพิ่มเกสต์เฮาส์ตามลำดับ เขาปรับให้ประตูและหน้าต่างเปิดโล่งรับลมและแสงทุกทาง กั้นห้องให้กว้างขึ้น เพิ่มต้นไม้ในกระถางเล็กๆ ตามจุดต่างๆ และปรับให้มีท่าน้ำเป็นแนวยาวรอบตัวบ้าน ทำให้บรรยากาศที่นี่เปลี่ยนไป

“หลังจากที่เปิดมาได้เกือบสามปี เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของที่นี่ ผู้คนกลับมาเปิดร้านขายของกันมากขึ้น ทำให้วันเสาร์อาทิตย์คึกคัก ส่วนวันธรรมดาจะค่อนข้างเงียบสงบ แต่ก็นี่แหละ บรรยากาศของชุมชมเรา” เปายืนยัน

ชีวิตชีวาของที่นี่ค่อยๆ กลับมาทีละนิด กลุ่มคนรักหัวตะเข้จึงมีแรงใจจัดกิจกรรมต่างๆ ให้คนในและคนนอกอยู่เสมอ ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนช่างศิลป์เดิม หรือเด็กช่างศิลป์ที่กำลังเรียนอยู่ รวมทั้งชาวบ้านที่กลับมายิ้มและมีความสุขแบบพอดีๆ อีกครั้ง

07 คืนถิ่น

เท่าที่ป้าอ้อยและทีมได้ร่วมทำวิจัยจากการสำรวจความคิดเห็นของคนในชุมชม พบว่าทุกคนรักบ้านตัวเอง รักความเรียบง่าย และความสงบเงียบ ชอบเวลาช้าๆ ที่ไม่ต่างจากสายน้ำในลำคลอง หากมองข้ามเรื่องเศรษฐกิจในชุมชนไป ที่นี่คือลมหายใจที่สานต่อชีวิตให้กับผู้คนได้มากมาย

เช่นเดียวกับ ป้านาจากบ้านเก้าพี่น้อง บ้านไม้สามห้องที่เป็นทั้งร้านอาหาร ขนม และที่อยู่อาศัย ซึ่งตั้งแต่มีการฟื้นฟูชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ขึ้น บ้านหลังนี้ก็ไม่เคยปิดตายอีกเลย “ป้าคิดถึงที่นี่ คิดถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่นี่ทำให้ป้าได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพี่น้องและลูกๆ หลานๆ ที่นี่อากาศดี สงบ ไม่วุ่นวายมาก ไม่เหมือนตอนย้ายออกไปข้างนอก ที่นั่นวุ่นวาย เสียงดัง ป้าคิดว่าที่นี่แหละดีแล้ว” ไม่ต่างจากความรู้สึกของป้าสาหร่าย ช่างเย็บผ้าบ้านข้างๆ ที่ไม่ยอมย้ายออกไปไหน เพราะเหตุผลเดียวกัน ทั้งๆ ที่เมื่อสมัยก่อนบ้านหลังนี้มีอาชีพเป็นช่างตีมีด ตีเคียว ซึ่งอยู่ตั้งแต่ยุคเฟื่องฟู ล่มสลาย จนกระทั่งกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“ต่อจากนี้ที่นี่คงคึกคักน่าดู” ในขณะที่บ้านไม้หลายหลังกำลังรื้อและปรับใหม่ ก่อนเปลี่ยนให้เป็นอาร์ตแกลเลอรี สตูดิโอ และโฮสเทล คงกลิ่นอายสถาปัตยกรรมดั้งเดิม อารมณ์เดิมๆ “เพิ่มเติมคือความติสต์” ป้าอ้อยปิดท้ายอย่างอารมณ์ดี


ภาพ : ทรรศน หาญเรืองเกียรติ, ภาณุทัช โสภณอภิกุล

ตามเราไปเช็คอินตลาดเก่าแห่งนี้ ที่นี่