พระอาจารย์ปสันโน

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ | โลกที่ต้องตะเกียกตะกายสู่ความสำเร็จ

พระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ เจ้าอาวาสวัดป่าอภัยคีรี มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี

ท่านมาเยือนเมืองไทยเพื่อปฏิบัติศาสนกิจ และเข้าร่วมงานอาจาริยบูชา ในช่วงสัปดาห์นี้ ที่วัดหนองป่าพง ถือเป็นวาระพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี ชาตกาล หลวงปู่ชา สุภทฺโท เราจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากการบรรยายธรรมของท่านที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับเรียนหนังสือหรือการทำงาน ได้นำมาปรับใช้เพื่อชีวิตและจิตใจที่ดีขึ้น

อย่าข้องเกี่ยวกับคนที่ใช้ชีวิตไปในทางที่ผิด จงให้ความสำคัญกับมิตรภาพและความสัมพันธ์กับคนดี

เด็กรุ่นใหม่ต้องตะเกียกตะกายสู่ความสำเร็จ เพราะโลกที่เราอยู่ตอนนี้คาดหวังให้เราประสบความสำเร็จเสียเหลือเกิน เราจะมามัวฝึกสติและวางเฉยกับโลกรอบตัวได้อย่างไรล่ะ?

โอ้… รอบตัวเรานี้ช่างเต็มไปด้วยความทุกข์เสียจริง สิ่งที่คุณควรตั้งคำถามคือ คุณลักษณะเช่นไรที่จะนำความสำเร็จมาสู่เรา คุณใช้คำอธิบายว่ามันเป็นการ ‘ตะเกียกตะกายดิ้นรน’ ใช่ไหม จึงแน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องที่ไม่น่าพึงพอใจ มีคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ไว้ว่าเป็นคุณลักษณะ 4 ประการสู่ความสำเร็จ นั่นคือ อิทธิบาท 4 คำสอนนี้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในเรื่องจิตวิญญาณ และความสำเร็จทางโลกได้เช่นกัน ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นคำสอนที่เราได้ยินได้เรียนกันทั่วไป

ฉันทะ คือแรงปรารถนา คุณอาจจะสงสัยว่า อ้าว ชาวพุทธเราไม่ควรมีปรารถนาไม่ใช่หรือ เพราะความปรารถนาคือเหตุไปสู่ทุกข์ทั้งปวง อาตมาจะบอกว่าคำนี้ใช้สับสนกับคำว่า ‘ตัณหา’ นั่นคือความปรารถนาที่เกี่ยวข้องกับความโลภและสิ่งลวงตา ซึ่งจะนำคุณไปสู่ทุกข์แน่ๆ ในขณะที่ฉันทะ เป็นปรารถนาที่มีความหมายกลางๆ เราสามารถนำไปอธิบายทั้งดีและร้าย เช่น

ถ้าเราบอกว่า ธรรมฉันทะ นั่นหมายถึงความปรารถนาที่จะพบสัจธรรม เป็นความปรารถนาไปในทางที่ดี อาตมามองว่าฉันทะในทางดีคือแรงบันดาลใจที่จะช่วยผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ ทำให้เราเริ่มเกิดความสนใจในเรื่องนั้น และรักษาความสนใจนั้นไว้ต่อเนื่องไป นี่คือหน้าที่ของความปรารถนา ถ้าคุณทำอะไรสักอย่างไปเรื่อยๆ แล้วเกิดเบื่อ หรืออิ่มตัวแล้ว นั่นคือคุณไม่มีความปรารถนาแล้ว

เมื่อได้อยู่ในแวดวงของคนดี คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ โลกรอบตัวของคุณก็จะเป็นโลกที่ดี

คุณลักษณะประการที่สองคือ วิริยะ หมายถึงความพยายาม ความมุ่งมั่น เป็นพลังงานที่เกิดขึ้นเมื่อคุณมีฉันทะในสิ่งใด มันช่วยให้คุณทำงานหรือเรียนหนังสือไปได้ ให้คุณผูกพันอยู่กับกิจกรรมนั้น

คุณลักษณะประการที่สามคือ จิตตะ เป็นความตั้งใจจดจ่อกับสิ่งหนึ่ง จิตใจของคุณไม่สับสนหรือว่อกแว่กไปกับเรื่องอื่น จนก่อให้เกิดความวุ่นวายในงานที่กำลังทำ เป็นจิตใจที่แจ่มกระจ่าง มั่นคง

และคุณลักษณะประการสุดท้าย วิมังสา คืออะไรที่คล้ายๆ กับการทบทวน ตรวจสอบ สะท้อนหรือวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้น นำมาทบทวนภายในใจ ว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราทำอะไรลงไป มันได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร แล้วเราจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร

จากคำถามของคุณ ที่บอกว่าเราทุกคนกำลังอยู่ในโลกที่ต่างก็ต้องตะเกียกตะกายสู่ความสำเร็จ นั่นคือคุณพุ่งความสนใจออกไปยังโลกรอบตัวและผู้คนมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณ ในขณะที่พระพุทธเจ้าได้สอนสิ่งสำคัญไว้ประการหนึ่ง เมื่อมีคนถามท่านว่า อะไรคือพรที่สำคัญที่สุดบนโลกนี้ พรใดที่ให้ผลดีที่สุดต่อชีวิต ท่านตอบแบบทันที ว่าอย่าคบคนพาล อย่าข้องเกี่ยวกับคนโง่ อย่าข้องเกี่ยวกับคนที่ใช้ชีวิตไปในทางที่ผิด จงให้ความสำคัญกับมิตรภาพและความสัมพันธ์กับคนดี คบกับผู้มีคุณธรรม ศีลธรรมจรรยา และความซื่อสัตย์

เมื่อได้อยู่ในแวดวงของคนดี คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ โลกรอบตัวของคุณก็จะเป็นโลกที่ดี คุณสามารถดำเนินชีวิตไปในทางที่ดี สามารถจัดการกับความคาดหวังจากสังคมรอบตัว และความคาดหวังที่คุณมีต่อตัวเอง ในที่สุด คุณก็ไม่ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกายอย่างที่คุณว่าไว้