เนี้ยบแบบยุ่งเหยิงสไตล์ Berlin เมืองหลวงของเหล่าฮิปสเตอร์

          เบอร์ลินเมืองที่มีการแสดงออกทางความคิดอย่างอิสระตรงไปตรงมา ผ่านงานศิลปะที่เรียบเรียงตามท้องถนน ผลงานทั้งหมดล้วนมาจากสามัญชนคนธรรมดาไร้ซึ่งหน้าตาและชื่อเสียง สิ่งเหล่านั้นเต็มไปด้วยแรงขับเคลื่อนของความคิดมุมมองอันนับไม่ถ้วน ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์ของเมืองที่ถูกทำลายและกลับถูกสร้างใหม่ขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองที่มีสีสันอันไร้ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ผสมผสานเข้ากับแบบแผนได้อย่างลงตัว

ใน 40 ปีให้หลัง ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกยึดครอง โดยประเทศมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตร และแนวคิดความขัดแย้งทางการเมืองของสหภาพโซเวียต จึงแบ่งประเทศเยอรมนีออกเป็นเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนี ตะวันตกพร้อมกับสร้างกำแพงเบอร์ลินเพื่อปิดกั้นผู้คนให้ตัดขาดจากกัน ด้วยคอนกรีตอันหนาแน่น ที่มีขนาดยาวไกลสุดสายตา กว่า 155 กิโลเมตร

 

แต่ปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้เพื่อขวางกั้นอะไรอีกต่อไป แต่ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดง ความคิดเห็นในมุมมองของสันติภาพและความหวัง ผ่านการแต่งแต้มสีสันจากศิลปินนานาชาติจำนวนนับร้อย และหนึ่งในผลงานที่เป็นที่เรื่องลือที่สุด คือ ผลงานของดิมิทรี วารูเยล ศิลปินชาวรัสเซียผู้เล่าเรื่องตลกร้ายผ่านรอยจูบแห่งความเกลียดชังของสองนักการเมืองจากสหภาพโซเวียตและเยอรมันตะวันออก

คาแรกเตอร์ที่โดดเด่นของเบอร์ลิน
คือความหลากหลายอันไร้ข้อจำกัดของผู้คน

ทั้งสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ทำให้นึกถึงคนรุ่น Generation X ที่ผู้ผ่านประสบการณ์อันโชกโชน ลองผิดลองถูกบนเส้นทางที่ตนเองรัก จึงไม่แปลกใจที่ เบอร์ลินจะได้รับตำแหน่ง ‘เมืองหลวงของเหล่าฮิปสเตอร์’ โฉมหน้าค่าตาของเบอร์ลินในยุคปัจจุบันจึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและความยุ่งเหยิงกลายเป็นเสน่ห์สุดเท่ของที่นี่

ความเป็นฮิพสเตอร์ของเบอร์ลินไม่ใช่การนั่งจิบกาแฟ หรือการทำตัวสโลว์ไลฟ์แต่อย่างใด แต่คืออุดมการณ์ของการใช้ชีวิต เพื่อต่อต้านความเชื่อในเรื่องของกระแสหลักที่อาจทำให้โลกถูกกลืนกินไปทีละน้อย เบอร์ลินจึงเปิดรับทุกวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับทุกจังหวะของการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่

เบอร์ลินเป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมที่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกทั้งรถไฟ (S-Bahn) รถไฟฟ้าใต้ดิน (U-Bahn) รถราง (Tram) และนอกจากนี้คนเบอร์ลินรุ่นใหม่แทบจะไม่ใช้รถยนต์กันแล้ว เพราะมีการปรับปรุงโครงสร้างของถนนที่สามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ และยังให้ความสำคัญกับ Universal Design เพื่อให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทั้งสัญลักษณ์ในการบอกทางให้กับผู้พิการทางสายตาและทางลาดที่ช่วยให้ผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น สามารถสัญจรไปมาได้ด้วยตัวเอง

ภาพ : วีริศ วาณิชตันติกุล