คุยกับสถาปนิก ผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่และก้อนดิน แห่ง CLC

          เราทำความรู้จักกับ ‘มาร์คูส โรเซลีบ’ สถาปนิกหนุ่มผู้ก่อตั้ง Chiangmai Life Construction หรือ CLC ผ่านบทสนทนาซึ่งดำเนินไปภายใต้ผลงานสถาปัตยกรรมที่รังสรรค์จากดินและไม้ไผ่ ผ่านแพตเทิร์นและรูปทรงที่งดงาม คงความยั่งยืนและเสน่ห์ตามธรรมชาติแบบไม่ต้องปรุงแต่ง แม้แต่แสงแดดเปรี้ยงของเชียงใหม่ในวันที่ร้อนระอุก็ไม่สามารถทำลายอากาศเย็นสบาย ภายใต้สิ่งปลูกสร้างอันน่าตื่นตาตื่นใจที่เรียกได้ว่าเป็น Earth Architecture แห่งนี้ได้เลย

“ผมเติบโตบนเทือกเขาในประเทศออสเตรีย ซึ่งต้องเรียนรู้ที่จะซ่อมแซมสิ่งต่างๆ รวมไปถึงการสร้างบ้านที่ผมชอบและรู้สึกสนุกที่จะทำ จนย้ายมาอยู่เมืองไทยผมก็ยังคงสร้างบ้านเรื่อยๆ ก็เห็นว่าวัสดุที่ใช้ที่ไทยมันไม่ค่อยเวิร์ก อย่างวัสดุมุงหลังคา ถ้าเราใช้กระเบื้องลอนซึ่งทำจากปูน เราต้องใส่วัสดุเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด ทำให้ต้องปูฝ้าเพดานเพื่อความสวยงาม ทีนี้บ้านก็จะเป็นกล่อง อากาศหมุนเวียนไม่ดี ก็ต้องติดเครื่องปรับอากาศ เป็นเรื่องที่ทุกคนไม่เข้าใจ ผมเลยมีแนวคิดที่จะนำวัสดุจากธรรมชาติ บวกกับเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ ซึ่งเพิ่มคุณสมบัติตรงจุดนี้ เมื่อประมาณปี 2009 มี Bamboo World Congress ที่กรุงเทพฯ ผมซึ่งชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะ Earth Architecture จึงได้แรงบันดาลใจในการนำไม้ไผ่และดินมาเป็นวัสดุหลักในการสร้าง ‘โรงเรียนปัญญาเด่น’ ซึ่งตอนนั้นผมมีเวลาหนึ่งปีในการทำโปรเจ็กต์นี้ ผมเชิญผู้เชี่ยวชาญจากยุโรป อเมริกาใต้ และทั่วโลก มาเรียนรู้ผ่านการก่อสร้างไปด้วยกัน (ยิ้ม)”

“ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่อเนกประสงค์มาก สวยด้วย แล้วก็ดีต่อสิ่งแวดล้อม เราเลือกใช้ไม้ไผ่เพราะเห็นว่าเป็นวัสดุที่ functional จริงๆ เพราะเวลาสร้างบ้านจะต้องมีวัสดุสองประเภท คือวัสดุที่รับน้ำหนัก และวัสดุที่รับแรงดึง ส่วนมากเขาจะใช้ปูนและเหล็กกัน เราเห็นว่าสามารถใช้ดินกับไม้ไผ่แทนได้ ซึ่งจริงๆ แล้วไม้ไผ่สามารถรับแรงดึงได้มากกว่าเหล็กเสียอีก ถ้าเรารู้ว่าจะต้องทำอย่างไร จะประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเหล่านั้นอย่างไร เราอยากใช้วัสดุธรรมชาติมาสร้างสถาปัตยกรรมสำหรับคนยุคปัจจุบัน ที่ต้องสะอาด สว่าง ร่วมสมัย และมีคุณภาพ”

“ไม้ไผ่ที่ชาวบ้านนิยมใช้จะเป็นสีเขียวๆ เพราะเขาว่าสีสวย ซึ่งเป็นไม้ไผ่อายุน้อยที่ยังมีน้ำตาลอยู่ในเยื่อไม้เยอะ ช้างชอบกิน หมีก็ชอบกิน (หัวเราะ) มันจึงเหมาะกับการเป็นอาหารมากกว่าวัสดุสร้างบ้าน ต้องใช้ไม้ไผ่อายุเยอะนิดหนึ่งถึงจะมีไฟเบอร์สูง น้ำตาลน้อย เทคนิคการเลือกวัสดุและการก่อสร้างที่ดีจะสามารถยืดอายุการใช้งานให้ทนทานนานนับสิบปี อย่างไม้ไผ่ด้านในอาคารที่ไม่โดนแดดโดนฝน จะอยู่ได้ร่วม 80 ปี แต่ส่วนหลังคาด้านนอกก็ยังไม่แน่ใจนะครับ เพราะอาคารชุดแรกที่สร้างอายุร่วมสิบปีแล้วยังอยู่ดี (หัวเราะ) ผมเลือกใช้ organic form เพราะไม้ไผ่มีความยืดหยุ่นและมีความโค้งที่สวยงามอยู่แล้ว ยิ่งถ้าทำให้โมเดิร์นก็จะยิ่งน่าตื่นเต้น น่าสนใจ ดูไม่น่าเบื่อ”

 

“ตอนนี้ผมรู้สึกว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของไม้ไผ่มันยังมีแค่ประมาณ 10-20% จากทั้งหมด เรายังต้องศึกษาอะไรอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ อย่างตอนนี้ผมได้โปรเจ็กต์ที่เมืองจีน เป็นการก่อสร้างสะพานใหญ่ ผมจะหาทางผสมผสานไม้ไผ่ ปูน และเหล็ก เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการออกแบบที่แปลกใหม่และน่าสนใจยิ่งขึ้น ถ้าเราศึกษาดูจะเห็นว่าเงินวิจัยที่ใส่ให้กับการวิจัยเหล็กเป็นเงินหลายร้อยล้าน แต่งบประมาณการวิจัยของไม้ไผ่ยังแค่แสนเดียว (หัวเราะ) โอกาสในการหาความรู้ทางการก่อสร้างและขยายความสามารถของไม้ไผ่ยังมีอีกมากมายไม่รู้จบ คนยุคปัจจุบันใช้ชีวิตเร็วมาก ปัญหาอยู่ที่สปีดในการใช้ชีวิตของเรา ทุกสิ่งที่สวย จริงๆ ต้องใช้เวลา เราต้องนั่งดู เราต้องเปิดใจ การเปิดใจนั่นแหละคือสิ่งที่ต้องใช้เวลา แค่ช้าลง ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแล้วอยู่กับธรรมชาติ ความรู้สึกของใจจะเปลี่ยน แล้วคุณภาพชีวิตจะเกิดขึ้นเอง”