ปรับวิธีคิดแบบเดิมๆ เมื่องาน ‘อนุรักษ์นก’ กลายเป็นตัวเชื่อมโยงเรื่องราวบนฟ้าและระบบนิเวศไว้ด้วยกัน

     เรื่องนกอาจไม่ได้แมสในสายตาคนทั่วไป จึงต้องมีคนอย่าง ‘ต้น’ – อายุวัต เจียรวัฒนกนก PR Manager สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand) คอยทำหน้าที่เชื่อมโยงเรื่องราวบนฟ้ากับชีวิตประจำวันของพวกเราเข้าด้วยกัน เปลี่ยนภาพจำเรื่องการอนุรักษ์นก ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ

นกก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ และมีหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศเอาไว้

 

01

สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยทำงานหลักๆ 3 ด้าน คือส่งเสริมด้านสำนึกเชิงสิ่งแวดล้อมให้กับคนทั่วไป, ทำโครงการเก็บข้อมูลเพื่องานวิจัยนกโดยเฉพาะ และอีกส่วนหนึ่งคือโปรเจ็กต์อนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของนก เพื่อที่จะให้นกดำรงอาศัยอยู่ในธรรมชาติได้

เราเอ่ยถามต้นว่า การมีอยู่ของนกสำคัญต่อชีวิตพวกเราอย่างไร

“ที่ผ่านมาคนเมืองอาจจะรู้สึกไม่เกี่ยวข้องเท่าไหร่ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปทุกวันนี้คนเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง ที่รุนแรงมากขึ้นจนหลายๆ คนน่าจะเริ่มเห็นแล้วว่ามีอะไรผิดปกติกับโลกของเรา

“ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงมาจากความไม่สมดุลในระบบนิเวศ ถ้าพูดถึงนกคนจะคิดว่าห่างไกลและจะไปเชื่อมโยงถึงน้ำท่วมได้ยังไง แต่ถ้าพูดในเชิงของระบบนิเวศ นกก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบ และมีหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศเอาไว้ ถ้าตัวแปรหนึ่งในระบบไม่ทำงานหรือหายไปก็จะทำให้ระบบรวน ส่งผลมาถึงสภาพอากาศและผลกระทบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติขึ้น”

02

“สถานภาพของนกจะสะท้อนออกมาว่าเรามีปัญหาอะไรกับสิ่งแวดล้อมกับพื้นที่นั้นๆ เช่น นกบางชนิดหายไปหรือลดน้อยลง นั่นอาจแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ตรงนี้สภาพเสื่อมโทรมหรือว่าแย่ ซึ่งเราควรจับตามอง นกสามารถเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมได้ นกบางประเภทอาจจะสะท้อนให้เห็นว่าบางพื้นทีมีสภาพแย่แล้วนะ เพราะมันชอบไปอยู่ในพื้นที่เสื่อมโทรม หรือว่าเจอกลุ่มนกที่กินผลไม้เยอะ แสดงว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์”

จากวันที่เรื่องบนฟ้าสื่อสารกับคนยาก ทุกวันนี้ฟ้าใสขึ้นบ้างหรือยัง? เราอยากรู้ความเห็นจากคนที่ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างเขา

“ดีขึ้นนะ ทุกวันนี้คนทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงกิจกรรมการดูนกมากขึ้น มีคนสนใจถ่ายรูปนกเยอะขึ้นมาก เป็นตลาดที่เติบโตค่อนข้างเร็วเลยแหละ เราก็จะได้ข้อมูลการพบเห็นนก ได้ข้อมูลเชิงวิชาการที่น่าสนใจมากขึ้น เมื่อก่อนอาจจะมีแค่ 50 คน เราก็จะรู้ข้อมูลแค่นั้น แต่ทุกวันนี้มันมีคนสนใจกระจายอยู่ทั่วประเทศ”

งานอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องอยู่บนฐานของ all or nothing เสมอไปแล้ว

 

03

ต้นเป็นคนที่คลุกคลีกับการดูนกมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ในมุมหนึ่ง เขาก็ให้เหตุผลว่าตัวเขาเองก็ไม่ใช่คนสายอนุรักษ์เต็มตัวและมีภาพของงานอนุรักษ์แบบเดิมๆ ที่ผู้ใหญ่มักเข้าใจกัน แต่สิ่งที่เขาทำคือการคิดว่าจะควบคุมความสมดุลของงานและส่งเสริมให้ชีวิตเขาดำเนินไปเสรีอย่างไร

“อาจจะเป็นวิถีคนละแบบกับสมัยก่อนแล้ว ผู้ใหญ่ชอบบ่นคนเจนวาย แต่คนยุคนี้สามารถทำงานอนุรักษ์แม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนมาก เพราะคนทุกวันนี้มีต้นทุนทางสังคมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น เขาอาจจะอยากทำเพราะงานตรงนี้มีคุณค่า ตอบโจทย์อะไรบางอย่างในจิตใจเขา เรามองว่าคนเราเติบโตแล้วมีทางเลือกมากขึ้น สามารถทำงานอนุรักษ์ไปด้วยและคอยจุนเจือเลี้ยงชีพเขาได้ด้วย งานอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องอยู่บนฐานของ all or nothing เสมอไปแล้ว”

ต้นชื่นชอบการดูนกตั้งแต่อายุ 11 ปี ศึกษาโดยการจดบันทึกและสเก็ตช์ภาพ เขาเดินทางไปศึกษาต่อด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี ในช่วงระหว่างปี 2551- 2557 นอกจากนี้ยังเคยเข้าแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้นกไทยรอบแรกตอนอายุราวๆ 14 ปีอีกด้วย

เรื่อง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ