อุดมการณ์และความเป็นจริง ในทัศนะของ ‘ฮิวโก้’ – จุลจักร จักรพงษ์

          ริ้วรอยที่ปรากฏบนใบหน้า และวิธีคิดของชายหนุ่มที่เอ่ยออกมาตลอดการให้สัมภาษณ์ บ่งบอกกับเราได้เป็นอย่างดีว่าที่เขาผ่านหลักไมล์ในชีวิตมาเป็นระยะทางยาวไกล ผ่านความผิดพลาดมาหลายครั้ง ทั้งการเป็นเด็กวัยรุ่นที่แสนแหลมคมและอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง หรือช่วงเวลาของการเชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่เขาพร้อมจะลุกขึ้นมาตัดสินผู้อื่นทุกเวลา จนมาถึงบทบาทของการเป็นพ่อที่ค่อยๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเขาให้เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในวัย 35 ปี ชีวิตของ ‘ฮิวโก้’ – จุลจักร จักรพงษ์

กระบวนการทั้งหลายเหล่านั้นทำให้ความหมายของความดีและความชั่วสำหรับเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกอย่างหดเล็กลงเข้าสู่การสำรวจในตัวตนมากขึ้น เช่นเดียวกับความคิดของเขาที่มีต่อ ‘สีดำ’ และ ‘สีขาว’ ที่ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความน่ากลัว และความสวยงามอย่างที่เราเคยคิด

ในช่วงเวลาสิบโมงเช้าที่บรรยากาศแสนร้อนอบอ้าว แต่เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าอุณหภูมิที่มีร้อนไปกว่าความรู้สึกอัดแน่นที่เร่าร้อนอยู่ภายใน จากการได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับผู้ชายคนนี้

‘การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์’ ความหมายของคำนี้คืออะไรกันแน่

ที่ผ่านมาผมใช้เวลาค่อนข้างเยอะในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม จากความผิดหวังว่าสังคมเราควรจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คาดหวังว่าผู้นำประเทศจะต้องเป็นอย่างนี้ จนถึงจุดที่เห็นว่าบางทีเราไปคาดหวังอะไรจากคนอื่นมากไป ในอีกทางหนึ่ง เราสามารถเริ่มต้นจากตัวเองหรือเปล่า สิ่งที่ถูกต้องคือทำอย่างไรให้เราเป็นคนที่ใช้ได้ ทำอย่างไรให้ชีวิตของคนรอบข้างเราดีขึ้น มีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องเป็นภาระใคร พอทำได้แล้วจากนั้นค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปจากตัวเอง ไม่ใช่เริ่มจากการไปเรียกร้องภายนอก แล้วค่อยๆ กลับเข้ามาโดยไม่ได้มองตัวเองก่อน นั่งวิจารณ์ผู้นำประเทศ พรรคการเมือง หรือขั้วอำนาจต่างๆ โดยที่ตัวเรายังเหลวแหลกอยู่ แบบนี้มันก็ไม่ใช่

ช่วงที่คุณสนใจเรื่องภายนอกมากกว่าภายในของตัวเองนี่อายุประมาณเท่าไหร่

ก็วัยรุ่น อายุ 17 ยัน 26-27 ช่วงนั้นแหละ ที่รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราเหลือเกินที่จะต้องชี้ให้เห็นว่าสังคมบกพร่องตรงไหน เราอาจจะหลงตัวเองเกินไป ว่าเราคิด ว่าเราเห็น เราถูกต้องอยู่คนเดียว แต่ในที่สุดเราก็พบว่าเรากำลังพูดเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้วนี่นา เขาแค่ไม่พูดกันเท่านั้นเอง

แล้วมันเริ่มคลี่คลายอย่างไร

มันไม่ได้คลี่คลายไปเองหรอกนะ เราต้องผิดหวัง ต้องทำสิ่งผิดพลาด อย่างผมมีกรณีช่วงเหตุการณ์รัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติด ช่วงจัดระเบียบสังคม ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลบังคับบิดเบือนสื่อ ผมก็ไปเข้าร่วมแสดงตัวต่อต้านกับคนอื่นๆ โดยที่ลืมคิดไปว่าคนอื่นเขาก็ต่อต้านด้วยเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เหตุผลเดียวกับตัวเรา เขาต่อต้านด้วยประเด็นของการอนุรักษ์นิยม ซึ่งถ้าใช้ภาษาการเมืองแบบเมืองนอกก็คือพวกขวาจัด แล้วเราเองไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นคนขวาจัดเลยนะ เป็นซ้ายด้วยซ้ำ จึงได้รู้ว่าการที่ออกไปต่อต้านอะไรก็ตาม บางทีอาจจะหลงเข้าไปอยู่ในเกมที่ใหญ่กว่าซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับตัวเราเลย และพวกเราอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือก็เป็นไปได้

ผมรู้สึกแบบนั้นอีกครั้งตอนที่ผมไปประท้วงรัฐบาลไทยรักไทย แล้วทุกคนตะโกน ‘ทักษิณออกไป ทักษิณออกไป’ แล้วไปๆ มาๆ อ้าว! เดี๋ยวก่อน นี่เราทำเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เหรอ ผมรู้สึกตรงนั้นขึ้นมาเลย แล้วก็ผิดหวัง รู้สึกผิด รู้สึกโง่ ทั้งที่เมื่อก่อนคิดว่าตัวเองเป็นคนฉลาด แล้วยิ่งพอหลังจากเราออกจากพันธมิตรฯ แล้วเห็นเขาไปยึดสนามบิน ก็ยิ่งรู้สึกว่าพลาดมาก ผิดหวังมาก ไม่ใช่เพราะว่าคนที่เราต่อต้านเขาดีกว่า แต่กลายเป็นว่าเราก็ไม่ได้ดีไปกว่าเขา แล้วอีกอย่างที่ผมได้เรียนรู้ คือการทำอะไรแตก มันไม่ได้การันตีว่าจะนำมาประกอบใหม่แล้วจะกลับไปดีเหมือนเดิม เพราะว่าสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับคนอื่นอีกเยอะแยะ

และบางทีเรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากประเด็นที่เราคิด และสิ่งที่ตามมาก็อาจจะโหดกว่าเดิมก็เป็นไปได้ และที่สำคัญก็คือความแตกแยก การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนหรือสังคมไหนก็ตามที่มีสองฝั่ง โดยที่ต่างมองอีกฝั่งหนึ่งไม่เป็นมนุษย์ แบบนี้ก็ถือว่าแพ้แล้ว ทุกคนแพ้ เพราะว่าเหตุผลไม่มี สาระไม่มีแล้ว ทีนี้ทุกเรื่องก็จะกลายเป็นเหมือนแมนยู-ลิเวอร์พูล คือเราแยกกันโดยไม่มีเหตุผลอะไรเลย แล้วไม่มีประโยชน์อะไรเกิดขึ้นตรงนั้น ไร้สาระ

อีกอย่างที่ผมได้เรียนรู้ คือการทำอะไรแตก
มันไม่ได้การันตีว่าจะนำมาประกอบใหม่แล้วจะกลับไปดีเหมือนเดิม

จากวันนั้น ความหมายของความดีความชั่วในทัศนคติของคุณเปลี่ยนไปแค่ไหน

ก็รู้สึกว่าตัวเราหดลงมา กลับมาอยู่ที่ตัวเองและคนรอบข้าง แล้วผมก็ได้เรียนรู้ว่าทุกคนคิดว่าตัวเองถูก แทบไม่มีใครเลยที่รู้ตัวว่ากำลังทำความผิดอยู่ ทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ แล้วหลังจากทำลงไปแล้วก็หาเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมฉันจึงทำเช่นนี้ ทำไมฉันต้องฆ่าเขา ก็เพราะว่าฉันเป็นคนด้อยโอกาส ฉันติดยา แม่ไม่รัก โดยไม่รับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำ

พอความคาดหวังต่อโลกรอบตัวหดเล็กลง ตัวตนข้างในของเราจะเป็นอย่างไร

ก็แค่รู้ว่าเราไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าใคร และผมก็พยายามมองคนเป็นแต่ละบุคคล แทนที่จะมองเป็นเหมารวมกลุ่ม ไม่มองอะไรกว้างๆ ซึ่งมันก็ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดเรื่องเจตนากับผล เจตนาในการกระทำไม่ค่อยสำคัญสำหรับผมอีกแล้ว เพราะทุกคนล้วนคิดว่าตัวเองเจตนาดี แม้ว่าเจตนาคุณอาจจะดี แต่ผลกระทบของสิ่งที่คุณพูดออกไปทำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าคุณดูถูกเขา ทั้งที่ทุกอย่างที่คุณพูดอาจจะถูกต้องก็ได้ แต่ผลของการพูดออกมาคืออะไร บางทีความจริงบางอย่างไม่จำเป็นต้องพูด เพราะว่าเจตนาของคุณคืออยากจะส่องแสงสว่างในที่มืดให้ทุกคนเห็น นั่นก็เป็นความคิดที่ดี แต่ผลที่เกิดขึ้นคืออะไร

สังคมนั้นกว้างใหญ่ และซับซ้อนเกินกว่าที่เราคนเดียวจะมาแบ่งทุกอย่าง
ออกเป็นแค่สองฝั่ง สองสี ขาว-ดำ แล้วทุกคนก็ห่วงแต่เจตนาตัวเอง
ทุกคนจะเอากฎหมายมาอ้าง ทั้งๆ ที่ไม่มีใครทำตามกฎหมายแม้แต่คนเดียว

เหมือนอุดมการณ์กับความเป็นจริงนั้นบางครั้งก็ไปด้วยกันไม่ได้

มันแทบจะไปด้วยกันไม่ได้เลยล่ะ ถ้าเรายอมรับว่าทุกคนล้วนมีเหตุผล หรืออย่างน้อยๆ ก็คิดว่าตัวเองมีเหตุผลในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือไปบอกว่า เราส่องดูในกะโหลกนายแล้ว นายเป็นคนเลว เลวตั้งแต่ความคิดเลย ซึ่งมันน่ากลัวตรงที่ประวัติศาสตร์ก็สอนเรามาตลอดอยู่แล้วว่าคนที่คิดว่าตัวเองเจตนาดี สามารถทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนมหาศาลได้ ความเชื่อมั่นในตัวเองบางครั้งก็แคบไป สังคมนั้นกว้างใหญ่ และซับซ้อนเกินกว่าที่เราคนเดียวจะมาแบ่งทุกอย่างออกเป็นแค่สองฝั่ง สองสี ขาว-ดำ แล้วทุกคนก็ห่วงแต่เจตนาตัวเอง ทุกคนจะเอากฎหมายมาอ้าง ทั้งๆ ที่ไม่มีใครทำตามกฎหมายแม้แต่คนเดียว บ้านเราเสียเปรียบตรงที่ไม่มีวัฒนธรรมหลักการตรงนี้ เราหยิบของเมืองนอกมาใช้ แล้วไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของเรา ไม่ได้เป็นสิ่งที่งอกมาโดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่เอามาปลูก บางอย่างที่เอามาปลูกที่นี่มันก็ไม่ขึ้น

เราขาดอะไร ทำไมถึงทำให้วัฒนธรรมการเคารพผู้อื่นงอกงามขึ้นมาไม่ได้

ผมว่ากฎหมายที่นี่มันไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ บางทีมันเป็นเรื่องวัฒนธรรมเลย คำว่า ‘Justice’ ในภาษาอังกฤษ กับคำว่า ‘ยุติธรรม’ แปลออกมาได้ แต่ความหมายกลับไม่เหมือนกัน ในต่างประเทศถ้าศาลตัดสินว่าคุณทำผิด คุณต้องโดนลงโทษ แต่สำหรับกฎแห่งกรรมของบ้านเรา วัฒนธรรมพุทธเราแตกต่างกันนิดหนึ่งตรงที่ยุติธรรมคือหยุด แล้วก็คืนสู่ธรรมะ หรือกลับสู่ธรรมชาติ ไม่ได้แปลว่าการตัดสินเด็ดขาดแบบนั้น อีกอย่างคือบ้านเรามันเสียหน้ากันไม่เป็น แพ้กันไม่เป็น เราต้องหัดแพ้ให้เป็น คนอังกฤษเขาได้เปรียบตรงนี้ ตรงที่เขาสบายใจกับการพ่ายแพ้ การพ่ายแพ้คือเรื่องปกติ การลดลงของอำนาจเป็นเรื่องที่เห็นกันมาเป็นร้อยปีแล้ว

คำว่าประเทศหรือชาติค่อยๆ สำคัญน้อยลง บางทีชาตินิยมหรือความหลงใหลในการแสวงหาอำนาจเป็นด้านมืดของจิตใจมนุษย์ เรายังหลงใหลในชาตินิยม ยังโบกธงแล้วก็มาร้องเพลงกันว่าเราเป็นคนไทย เราเจ๋ง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราเป็นประเทศที่ไม่มีประวัติศาสตร์ ถ้าไม่มีประวัติศาสตร์ เราก็ไม่มีอนาคต ประวัติศาสตร์ที่สอนๆ กันแทบจะเป็นนิยายแล้ว แล้วเรื่องจริงน่าสนใจกว่าเรื่องสร้าง นี่เป็นประเด็นที่ผมว่าอาจจะคลี่คลายได้ และอินเทอร์เน็ตก็อาจจะช่วยได้ ตรงที่ทุกคนก็มีแหล่งข้อมูลทั้งหมดของโลกอยู่ในมือ ก็ต้องรับผิดชอบกันเอง

เราต้องหัดแพ้ให้เป็น