ทำความเข้าใจผืนป่า ผ่านบทสนทนากับ 3 ชายหนุ่มผู้ใกล้ชิดธรรมชาติ

          น้ำที่คุณใช้ล้างหน้าแปรงฟันเมื่อเช้า อาจมีหยดหนึ่งไหลมาจากแม่น้ำในภาคเหนือ กาแฟแก้วที่คุณชงวางไว้หน้าคอมพิวเตอร์ อาจมาจากเมล็ดกาแฟที่เติบโตงอกงามในผืนป่าใกล้ๆ กัน ดังนั้น เวลาเห็นข่าวไฟป่าหรือภัยแล้ง นั่นคือสิ่งที่เราทุกคนต้องเผชิญร่วมกันแม้เราจะเป็นคนเมืองที่แทบจะไม่ได้ใกล้ชิดป่ามากนักก็ตาม ฉบับนี้เราจึงอยากพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ป่า ผ่านสายตาของผู้ชายที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ 3 คน ที่จะมาบอกเล่าจากประสบการณ์จริง และเสนอแนะว่าเราในฐานะคนเมืองจะสามารถมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาในผืนป่าของไทยได้อย่างไรบ้าง

_

DOCUMENTARY  PHOTOGRAPHER
ภาคิณ สุขขี (ช่างภาพสารคดี)

_

ภาคิณ สุขขี เป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ทำงานเกี่ยวกับป่าในรูปแบบของการนำเสนอข้อมูลเชิงสารคดี ทั้งสารคดีเชิงข่าวอย่าง Voice of Nature หรือรายการเกาะติดสถานการณ์ปัญหาทางธรรมชาติเมืองไทยทางช่อง Now26 และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงของป่าในเมืองไทยหลากหลายแง่มุม บทสัมภาษณ์นี้อาจจะเป็นแค่มุมเล็กๆ ของคนทำงานเกี่ยวกับป่าในมุมของผู้บันทึกและนำเสนอ แต่ก็เป็นมุมเล็กๆ ที่น่าสนใจสำหรับข้อมูลป่าของเมืองไทย

“ผมเริ่มทำงานกับกลุ่มอนุรักษ์ที่ชื่อ Voice of Nature มาก่อน และด้วยตัวผมเองเป็นคนชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว ก็เลยมาทำส่วนของการถ่ายภาพและถ่ายวิดีโอ โดยงานแรกๆ ที่ทางกลุ่มทำก็คือการลงไปสำรวจพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย โดยเริ่มจากไปสำรวจพื้นที่ป่าโดยรอบเขาใหญ่ ดูการบุกรุกพื้นที่ และป่าที่ยังเหลืออยู่ หลังจากนั้นก็ลงไปสำรวจพื้นที่ป่าอื่นๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ โดยเป็นการไปทำสารคดีเรื่องป่าต้นน้ำ เพราะเราตั้งข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับป่าต้นน้ำในเมืองไทย และภาวะภัยแล้ง โดยเราทำหน้าที่เก็บข้อมูลมานำเสนอเป็นภาพ เป็นสารคดี และเผยแพร่ในสื่อเพื่อให้คนเข้าใจ

“จริงๆ ผมว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติและพื้นที่ป่าในเมืองไทยมันมีหลายปัจจัย อย่างแรกก็น่าจะเป็นปรากฏการณ์เอลนีโญ อีกเหตุผลหนึ่งก็คงเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ตัวอย่างที่ผมเห็นจากการไปทำสารคดีก็คือได้เห็นการลดลงของในน้ำในเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เราก็ขึ้นไปทำสารคดีที่ป่าต้นน้ำของจังหวัดตาก ที่ดอยสอยมาลัย ก็ได้เห็นร่องรอยของการทำการเกษตรและปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นพวกข้าวโพด เราก็เลยเข้าไปศึกษาว่าทำไมชาวบ้านจึงเลือกปลูกพืชเชิงเดี่ยว เราก็เข้าไปคุยกับชาวบ้าน ซึ่งก็พบว่าข้าวโพดคือสินค้าเกษตรที่สำคัญของเขา เรื่องนี้เราไม่ได้ตัดสินว่าชาวบ้านเขาผิด เพราะเขาทำเกษตรตรงนี้มานาน แล้วก็เป็นรายได้หลักของเขา แต่ผลที่มันเกิดก็คือป่าด้านบนไม่มีพื้นที่ซับน้ำที่คอยส่งต่อไปลำธารไปดูแลป่าที่อยู่ด้านล่าง ไม่มีป่าก็ไม่มีความชื้นที่ทำให้เกิดฝน พอฝนไม่ตกก็ไม่มีป่า พอฝนตกลงมาก็ไม่มีป่าคอยซับน้ำเอาไว้ พอน้ำไหลมาเยอะป่าไม่มีก็เกิดน้ำท่วม หรือน้ำท่วมก็ลงไปทำลายป่าข้างล่างได้ เป็นวัฏจักรที่มีปัญหาพอสมควร

“การรักษาป่าหรือเข้าไปปลูกป่าเพิ่มในพื้นที่ที่มีปัญหาโดยตรง สำหรับผมแล้ว จากประสบการณ์คิดว่าค่อนข้างยากลำบากพอสมควร แต่มันก็มีวิธีที่ทำได้ อย่างพื้นที่หนึ่งที่ผมเคยไปเข้าร่วมโครงการทำฝายชะลอน้ำ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่นั้นคือพื้นที่แห้งแล้งและส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถหาอาหารจากป่าได้อย่างที่เคย ก็เลยมีโครงการริเริ่มที่จะทำฝายชะลอ เพราะฝายชะลอทำให้พื้นที่แห้งแล้งอุ้มน้ำมากขึ้น แล้วในรัศมี 1-2 กิโลเมตร อุดมสมบูรณ์มากขึ้น หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือพยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชยืนต้น แต่โครงการแบบนี้ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐถึงจะยั่งยืน

“จริงๆ คนทั่วไปในเมืองใหญ่ก็สามารถรักษาป่าได้ง่ายๆ อย่างแรกต้องเริ่มจากตัวเอง ไปเที่ยวป่าก็อย่าไปเด็ดทำลายต้นไม้ ทิ้งขยะให้เป็นที่ มีการใส่ใจการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น ใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ทิ้งขยะลงคลอง และรักษาพื้นที่ป่าเล็กๆ หรือธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ไม่จำเป็นต้องเข้าป่าไปปลูกป่าก็ได้ อีกประการหนึ่งคือ เราควรที่จะต้องรู้ว่าน้ำที่เราใช้กันในเมืองใหญ่มาจากไหนบ้าง น้ำในเมืองมันเกิดจากความชื้นจากป่า จากเม็ดฝน จากลำธารเล็กๆ ไหลมารวมกัน ป่าก็เป็นทั้งพื้นที่ผลิตน้ำ และพื้นที่กรองของเสียบางส่วนจากน้ำไปด้วย เพราะกว่าที่เราจะได้ใช้น้ำ มันเป็นเส้นทางที่ยาวไกลมาก แล้วเราไม่รู้เลยว่าน้ำนั้นผ่านอะไรมาบ้าง ป่าและแม่น้ำลำคลองที่ใสสะอาดคือตัวช่วยสำคัญที่เราต้องดูแลรักษาเอาไว้ เหมือนเป็นเส้นเลือดที่เราไม่ควรทำลาย”

_

HEAD OF MEA PING RIVER BASIN MANAGEMENT PROJECT
นิคม พุทธา (ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำแม่ปิง)

_

จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ปัจจุบัน นิคม พุทธา เลือกเดินทางกลับมาอยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และมีบทบาทเป็นผู้นำเครือข่ายประชาชนผู้อนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงดาวซึ่งเป็นบ้านเกิดและเป็นเสมือนสวนหลังบ้านของเขาในปัจจุบัน

“เรารู้กันอยู่แล้วว่า เวลาฝนตกลงมา ผืนป่าเป็นเหมือนฟองน้ำที่ซับไว้ ระบบนิเวศของป่าที่สมบูรณ์จึงสามารถกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ได้ถึง 80% แล้วค่อยๆ ปล่อยให้ไหลลงมาตามลำน้ำและระเหยสู่ชั้นบรรยากาศ ปกป้องเราจากความร้อน และทำให้เรามีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้ง แต่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกจะเก็บน้ำเอาไว้ได้เพียง 20% อีก 80% จะกลายเป็นปัญหาน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันตามที่เห็นในข่าวบ่อยๆ และตอนนี้ไฟไหม้ทุกที่ทางภาคเหนือ ที่จริงความแห้งแล้งก็เริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และสามเดือนแรกของปีนี้ (2559) ฝนไม่ตกเลย ส่งผลให้พื้นที่ป่าแห้ง กิ่งไม้ใบไม้ก็เลยกลายเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็วและรุนแรง ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความแห้งแล้ง มิหนำซ้ำพื้นที่ราบเชิงเขาบางแห่งก็ยังมีการบุกรุกแผ้วถางป่าจนมองไปเหมือนเป็นทะเลทราย ซึ่งคนที่ไปถางไว้ตอนนี้ก็ยังปลูกอะไรไม่ได้เพราะฝนไม่ตก แล้วก็ออกมาวิงวอนขอฟ้าขอฝนจากเทวดากัน ทั้งที่ฝนไม่ตกก็เพราะได้แผ้วถางเขตพื้นที่ป่าไปแล้วมากมายนี่แหละ

“ในความคิดเห็นของผม การดูแลรักษาป่าหรือว่าการปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่าบ้านเราไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เคยดีขึ้นเลยมาหลายสิบปีแล้ว ระบบที่คนในเมืองมีหน้าที่ทำงานหาเงินแล้วก็เสียภาษี เพื่อให้กลายเป็นเงินเดือนจ้างข้าราชการกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ มาทำหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นโครงสร้างการบริหารทรัพยากรแบบเดิมที่ไม่ทรงประสิทธิภาพอีกต่อไป ดูได้จากพื้นที่ป่าที่เราสูญเสียไปทุกๆ ปีนี่แหละ และการแก้ปัญหาด้วยการปลูกป่าทดแทนนั้นไม่สามารถทดแทนระบบนิเวศของป่าสมบูรณ์ที่ถูกทำลายไปได้ภายใน 5 หรือ 10 ปี เพราะระบบนิเวศของป่าต้องใช้เวลาในการสั่งสมอย่างน้อยก็ 20-30 ปี และจากประสบการณ์ของผมที่เคยทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เขาแผงม้ามาตั้งแต่ปี 2537 จนทำให้ภูเขาหัวโล้นกลายเป็นป่าอีกครั้งได้แล้วในวันนี้ ผมพูดได้เลยว่า การปลูกป่าทดแทนนั้นช่วยได้เพียงสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาให้กับสังคมเท่านั้น ถึงแม้จะดีกว่าการไม่ทำอะไรเลยก็จริง แต่การรักษาพื้นที่ป่าดั้งเดิมนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและได้ผลดีกว่ามาก และเราต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆ ซึ่งก็คือความร่วมมือของภาคประชาชน กระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่ทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติมาเกือบ 30 ปี ผมพูดเลยว่า นี่เป็นงานที่ทำคนเดียวไม่ได้ เราทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือธรรมชาติ

“คนเมืองก็สามารถมีส่วนร่วมในการรักษาธรรมชาติได้แน่นอน ถ้าคนในเมืองคิดอย่างเชื่อมโยงมากขึ้นว่า สิ่งที่เรากิน สิ่งที่เราใช้ หรือแม้แต่อากาศหายใจ ล้วนแล้วแต่อาศัยธรรมชาติ เราก็เพียงแค่กินและใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น เดินเข้าไปซื้อไส้กรอกจากร้านสะดวกซื้อหนึ่งชิ้น ถ้าเรามองเห็นความเชื่อมโยงว่า ไส้กรอกชิ้นนี้ทำมาจากเนื้อสัตว์ ที่เลี้ยงด้วยข้าวโพดและปลาป่นซึ่งเป็นทรัพยากรทั้งจากภูเขาและทะเล ดังนั้น การกินไส้กรอกหนึ่งชิ้นจึงทำให้เรามีส่วนในการใช้ประโยชน์จากผืนดินและผืนน้ำ ถ้าตระหนักแบบนี้ได้ การกินการใช้ของเราก็จะไม่ฟุ่มเฟือย และเมื่อใดก็ตามที่มีโอกาสก็ให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติบ้าง ซึ่งผมว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินกว่าที่เราทุกคนจะทำได้แน่นอน”

_

SAGE OF AGRICULTURE
โชคดี ปรโลกานนท์ (อดีตเจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ และปราชญ์เกษตร)

_

โชคดี ปรโลกานนท์ มาใช้ชีวิตทำการเกษตรอยู่บริเวณวังน้ำเขียวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ต่อมาได้รับการชักชวนจากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ให้รับหน้าที่นักพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการเกษตรให้กับชาวบ้านในพื้นที่รอบป่าเขาใหญ่ โชคดีจึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติควบคู่กับการพัฒนาการเกษตรให้ชุมชนในพื้นที่รอบป่า ดังนั้น มุมมองของเขาในเรื่องการรักษาผืนป่าโดยให้คนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงอาจเป็นอีกหนทางในการอนุรักษ์ผืนป่าระยะยาวที่น่าสนใจ

“ผมได้เห็นว่าการจัดการทรัพยากรที่ผ่านมามันผิดพลาดทั้งในเชิงนโยบายและชุมชน ยกตัวอย่างปัญหาที่จังหวัดน่าน ผมว่าเรามองป่าในเชิงมูลค่ามากกว่าคุณค่า เราเอาผืนป่ามาให้สัมปทาน แล้วก็ส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเพื่อรายได้ที่มากขึ้น แต่ไม่ได้ตระหนักว่านั่นเป็นหลุมพรางในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น พื้นที่แนวกันชนรอบเขาใหญ่ตั้งแต่วังน้ำเขียว ปากช่อง คอนบุรี เสิงสาง จะมีการใช้ทรัพยากรบนพื้นที่ชิดขอบป่า บางส่วนรุกพื้นที่ป่าเข้าไป พอเราเห็นปัญหาเหล่านี้ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนแถบนี้เปลี่ยนวิธีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ปรับรูปแบบเป็นวนเกษตร ปลูกพืชที่หลากหลาย เน้นตอบสนองปัจจัย 4 เป็นหลัก เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

“ผมเข้าร่วมกับโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เขาแผงม้า เพราะเห็นว่ามีแนวคิดตรงกัน คือเน้นความหลากหลายทางชีวภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน การปลูกป่าถาวรนั้นไม่ใช่การปลูกสร้างสวนป่าอย่างที่เคยทำกันทั่วไป เราก็เลยไปสำรวจพื้นที่เขาแผงม้า จากนั้นเริ่มใช้กระบวนการทางสังคม ใช้ความเป็นนักพัฒนาชุมชนของเราทำความรู้จักชาวบ้าน สร้างความเข้าใจและความศรัทธาเกี่ยวกับการทำงานเชิงอนุรักษ์ของเรา ทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เรากำลังพยายามทำคือการคืนความสมบูรณ์ให้กับธรรมชาติใกล้ตัวเขา ซึ่งผมว่าตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูผืนป่าที่เขาแผงม้าประสบความสำเร็จ ไม่ใช่อยู่ๆ เดินเข้าไปปลูกป่าโดยที่คนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย

“การปลูกป่าอย่างที่ทำอยู่ไม่ใช่ว่าไม่ดี มันก็เป็นกระแสที่ทำให้คนเกิดความตระหนักถึงปัญหา แต่อย่างที่บอกว่าอย่าทำเหมือนไฟไหม้ฟาง ปีสองปีแล้วก็เลิก อย่างเขาแผงม้าซึ่งเริ่มต้นในปี 2537 นับเอาเองว่ากี่ปีมาแล้วจนวันนี้ระบบนิเวศของป่าเพิ่ง ‘เริ่ม’ ฟื้นคืนกลับมาบ้าง ซึ่งถ้าจะให้สมบูรณ์เหมือนตอนก่อนถูกทำลาย ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี ดังนั้น ผมว่าสิ่งสำคัญคือ อย่าปลูกป่าแค่ตามกระแส คุณต้องเรียนรู้ทั้งภูมิสังคม คือรู้จักว่าคนที่อยู่ในพื้นที่เป็นอย่างไร รู้จักภูมินิเวศของพื้นที่นั้นด้วยว่าพืชพรรณดั้งเดิมเป็นอย่างไร ร่องเขาที่สายน้ำไหลผ่านไปยังพื้นที่ไหนบ้าง เพราะชุมชนข้างล่างที่ใช้น้ำจากป่าต้นน้ำล้วนแต่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูระบบนิเวศนี้ทั้งสิ้น สายน้ำก็จะเป็นตัวเชื่อมให้คนเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ของเราได้ ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงคนเมืองซึ่งเป็นคนปลายน้ำด้วย

“เวลาคนเมืองมาจัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติที่เขาแผงม้า เราก็จะเชื่อมโยงให้เขาเห็นว่า ถ้าคุณปลูกต้นไม้หน้าบ้านหนึ่งต้น กว่าจะโตต้องใช้เวลานับสิบปี การดูแลรักษาก็ไม่ง่าย ดังนั้น เวลาจะใช้ทรัพยากรก็ควรคำนึงบ้าง ไม่ว่าจะไฟฟ้า ประปา หรืออากาศ การรักษาพื้นที่ป่าที่อยู่ห่างไกลจากบ้านคุณคงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตทันทีหรอก แต่มันส่งผลทางอ้อมแน่นอน เพราะผู้ผลิตออกซิเจนของคุณคือต้นไม้ น้ำจากก๊อกที่เราใช้ทุกหยดมันมีที่มาแล้วก็มีที่ไป ซึ่งมันก็ไม่ได้ไปไหนไกลว่าบนผืนโลกที่เราอยู่นี่แหละ ดังนั้น ความเกี่ยวข้องของคนเมืองกับผืนป่ามีแน่ อยู่ที่เราจะมองเห็นและตระหนักในคุณค่าของมันแค่ไหน สำหรับผม ป่าไม่ใช่แค่ที่อยู่ของต้นไม้และสัตว์ แต่ผมชอบใช้คำว่าเป็นที่รวมของพันธุกรรม เป็นที่มาของอาหาร ยารักษาโรค ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการมีชีวิตของเราทุกคน ดังนั้น สำหรับผม ป่าก็คือผู้ให้ชีวิต”