จังหวะหัวใจหยุดเต้นแบบในละครมีอยู่จริง! เมื่อชายหนุ่มร่างสูงโปร่งตรงหน้าก้าวเท้าเข้ามาหาในระยะประชิด “สวัสดีครับ คุณพักห้องนี้หรืเปล่า” เขาเอ่ยปากถามกลางโถงทางเดินในโฮสเทลแห่งหนึ่ง ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เรายิ้มตอบกลับไป เขาจึงร่ายยาวถึงชื่อเสียงเรียงนาม และจุดประสงค์ของการมาเยือนมหานครแห่งนี้ พร้อมเอ่ยปากชักชวนเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง หากเราท่องเที่ยวตัวคนเดียวเหมือนกัน
เฮ้ย! ชวนกันง่ายๆ แบบนี้เลยหรือ เรานิ่งอึ้งไปชั่วขณะ แล้วจึงตอบกลับไปด้วยประโยคแสนสั้น “ตกลงค่ะ”
แน่ล่ะว่าใครๆ ก็รู้ว่า ‘เบอร์ลิน’ นั้นเต็มไปด้วยร่องรอยความบอบช้ำจากความสูญเสียมากมาย บนเส้นทางอันโหดร้ายในอดีต ทันทีที่ม่านหมอกแห่งสงครามค่อยๆ จางหาย เรื่องราวมากมายถูกถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ไว้เป็นอุทาหรณ์ เป็นเสมือนคำบอกเล่าเลือนรางที่เคยอ่านผ่านตามานับครั้งไม่ถ้วน ยกเว้นครั้งนี้ที่เศษเสี้ยวประวัติศาสตร์ที่เคยดูเหมือนไกลตัว กลับกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างเหลือเชื่อ เมื่อเรามีเพื่อนร่วมทางเป็นหนุ่มชาวยิวจากกรุงเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล
“
แม้จะเต็มไปด้วยอดีตอันขมขื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบอร์ลินในวันนี้
โอบกอดรอยแผลเป็นจากความสูญเสียเหล่านั้นไว้ด้วยความสัตย์
โดยไม่พยายามบิดเบือนความโหดร้ายอันเยือกเย็น
ที่ถูกก่อขึ้นโดยบรรพบุรุษของตนเองแม้แต่น้อย
”
แม้จะเต็มไปด้วยอดีตอันขมขื่น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบอร์ลินในวันนี้โอบกอดรอยแผลเป็นจากความสูญเสียเหล่านั้นไว้ด้วยความสัตย์ โดยไม่พยายามบิดเบือนความโหดร้ายอันเยือกเย็นที่ถูกก่อขึ้นโดยบรรพบุรุษของตนเองแม้แต่น้อย เห็นได้จากอนุสรณ์สถานใจกลางเมือง หรือ Memorial to the Murdered Jews of Europe ที่เราได้ไปเยี่ยมเยือน แท่งคอนกรีตมากมายนับพันจัดวางเรียงรายลดหลั่นความสูงกันไปจนสุดลูกหูลูกตา เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและรำลึกถึงเหยื่อชาวยิวกว่า 6 ล้านชีวิตที่สูญสิ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
บรรยากาศชวนหดหู่และอึดอัดใจทำให้เราลอบมองชายหนุ่มแปลกหน้าที่มาด้วยกันเป็นระยะ “คุณโอเคไหม” เราถามออกไปอย่างเป็นกังวล เพราะสิ่งที่ปรากฏเรียงรายอยู่ตรงหน้า ครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่แห่งโศกนาฏกรรมของบรรพบุรุษแห่งชาติพันธุ์ยิว เขาเพียงส่งรอยยิ้มน้อยๆ มาเป็นคำตอบ แม้จะอยู่ใจกลางเมือง แต่บรรยากาศโดยรอบกลับนิ่งสงัด เต็มไปด้วยความเงียบงันที่ทรงพลัง เพื่อย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงร่องรอยความสูญเสียจากความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ ซึ่งนำไปสู่การแบ่งแยกและความเกลียดชัง
‘คนยิวฉลาดเป็นกรดแถมยังเห็นแก่ตัว เดี๋ยวก็โดนหลอกหรอก’
‘คนชาตินี้เหลี่ยมจัดไม่น่าไว้ใจ น่ากลัวจะตาย ไปเที่ยวด้วยทำไม’
และอีกหลายข้อความถูกส่งมาทันทีที่เราโพสต์ภาพเพื่อนร่วมทางแปลกหน้าคนนี้ลงบนโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนว่าหลายคนจะมีประสบการณ์อันเลวร้ายกับชาวยิว ทั้งที่อาจจะยังไม่เคยพูดคุยหรือแม้แต่พบเจอกับชาวยิวตัวเป็นๆ เลยด้วยซ้ำ
ทำให้เรานึกย้อนไปถึงบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) คุณอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ในนิตยสาร a day BULLETIN ฉบับที่ 452 ว่าโลกไร้พรมแดนที่มนุษยชาติแสวงหาอาจไม่ได้มาง่ายดายอย่างที่เราคิด จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย ทั้งการได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ เรื่อยมาจนถึงการถอนตัวออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘โลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการชะลอตัวของวัฒนธรรมสากล’ พูดง่ายๆ ก็คือ เรากำลังกลับสู่วังวนของการแบ่งแยกชาติพันธุ์เป็นฝั่งฝ่ายที่มี ‘พวกฉัน’ และ ‘พวกเธอ’ อีกครั้ง
“
ทุกวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่ปัญหาผู้ลี้ภัย
ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากสงครามและความขัดแย้งอีกต่อไป
แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นมาก
นั่นคือสันติภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกใบนี้
”
และเมื่อไม่นานมานี้ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ปู’ – ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ซึ่งเธอให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “ทุกวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่ปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากสงครามและความขัดแย้งอีกต่อไป แต่เรากำลังพูดถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นมาก นั่นคือสันติภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของโลกใบนี้”
ในวันที่โลกกำลังเดินไปข้างหน้า เรามีเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กที่สามารถเชื่อมโยงคนนับพันล้านคนไว้ได้แค่ปลายนิ้วคลิก โลกไร้พรมแดนที่มนุษยชาติแสวงหานั้นจะมีอยู่แค่บนโลกออนไลน์หรือไม่ คนตัดสินใจไม่ใช่ใคร แต่คือ ‘พวกเรา’ มิตรภาพสามารถเริ่มต้นที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่กลางโถงทางเดินในโฮสเทลเล็กๆ สักแห่งหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับคุณจะมองเห็นเขาเป็น ‘เพื่อนใหม่’ หรือ ‘คนแปลกหน้า’ …ก็เท่านั้นเอง