เคยแหงนมองขึ้นไปบนฟ้า ตอนที่ฝนกำลังตกพรำๆ ไหม?
กลางดึกสงัดมืดมิด คุณจะมองไม่เห็นอะไร แม้กระทั่งหยดน้ำที่โปรยหล่นลงมาจากฟ้า นอกเสียจากจะได้ยินเสียงเปาะแปะของมันเมื่อกระทบเสื้อผ้า สัมผัสความเปียกชื้นเมื่อมันแผ่ซ่านบนผิวกาย และได้กลิ่นไอดินฉุนๆ ระเหยขึ้นมา เมื่อมันตกกระจายลงพื้นถนนที่อมความร้อนระอุมาตลอดวัน
ฝนเริ่มลงเม็ดมาตั้งแต่ตอนหัวค่ำและยังคงโปรยปรายอย่างต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ บนตึกใหญ่ยังมีแสงไฟเปิดอยู่อีกหลายชั้น คืนนี้มีเพื่อนในแผนกอื่นที่ต้องโหมงานของตัวเองต่อไป ส่วนตัวผมเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทนไหว ต้องขอกลับบ้านไปพักผ่อนก่อน ยามเฝ้าบริษัทละสายตาจากทีวีจอเล็กหันมากล่าวทักทาย ผมเร่งสาวเท้าก้าวออกไปที่ป้ายรถเมล์เงียบร้าง
ล้วงมือเข้าไปในเป้ กดปุ่มเครื่องเล่นเอ็มพีสามเพื่อเลื่อนเลือกเพลงที่ชอบไปเรื่อยๆ ร็อก, พ็อพ, บรรเลง, เพลงเก่า, เพลงไทย, …
เหม่อมองไกลไปถึงดาว ที่เคยจองเป็นดาวของเรา ก็ยังคงอยู่ที่เดิมให้พบเจอ…
เชื่อไหม? ว่าทุกเพลงจะฟังเพราะขึ้นเมื่อมีเสียงฝนแทรกเข้ามาประกอบ และมันจะยิ่งเพราะขึ้นไปอีกถ้ามีภาพบางสิ่งบางอย่างกำลังเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า ผมขยับหูฟังสองข้างให้กระชับแนบชิดรูหูเข้าไปอีกนิด แล้วแหงนหน้าขึ้นฟ้ามองโคมไฟส่องถนน ท้องฟ้าสีแดงก่ำฉ่ำโชกไปด้วยมวลเมฆ คืนนี้ไม่เห็นดาว ไม่เห็นแม้กระทั่งจันทร์
เม็ดฝนกำลังร่วงหล่นลงมาเป็นสาย ไฟสีเหลืองเมื่อสาดส่องไปบนพื้นผิวเงาวาวของหยดน้ำ ก็สะท้อนแสงพร่างพราวราวแสงดาวสุกกระจ่างอยู่เต็มท้องฟ้า …อยู่ตรงนี้มองเห็นดาว และดวงดาวคงมองเห็นเธอ อย่างน้อยเราอยู่ใต้ดาวดวงเก่าเดียวกัน
ละแวกนี้ถ้าดึกเกินสามสี่ทุ่มไปแล้วก็แทบจะไม่มีผู้คนสัญจร แต่ถ้าพอดีบังเอิญมีใครเดินผ่านมาในตอนนี้ เขาจะไม่รู้หรอกว่าบนใบหน้ากำลังเปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝนหรือน้ำตา เขาไม่มีทางรู้
ผมเองไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเพลงมากนัก และไม่ได้มีรสนิยมวิไลแปลกใหม่ในการฟังเพลง แต่พอมีคนมาถามว่าชอบเพลงอะไรมากที่สุด เพลงอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผมมากที่สุด เพลงนี้จู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาในหัวเป็นเพลงแรก มันไม่ใช่เพลงที่เก๋ เท่ หรือฮิปๆ คูลๆ วิเศษเลิศเลออะไร เป็นเพลงธรรมดาหาฟังได้ในยูทูบโดยไม่มีใครใส่ใจ แต่ผมนึกถึงประสบการณ์ฟังเพลงในคืนวันนั้น และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา
“
ให้คุณเปิดฟังเพลงคลอไปด้วยตอนเขียนหนังสือ
”
“ให้คุณเปิดฟังเพลงคลอไปด้วยตอนเขียนหนังสือ” – พี่แหม่ม วีรพร นิติประภา เชียร์ให้ผมเริ่มต้นเขียนนิยายของตัวเอง หลังจากที่เคยเขียนแต่บทความแห้งแล้งจินตนาการมาเนิ่นนาน
เธอเล่าว่าเพลงที่เธอเลือกมาฟังตอนเขียนหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นเพลงคลาสสิก เปิดบรรเลงคลอไปแบบไม่มีเนื้อร้องมาทำให้เสียสมาธิ อย่างที่ปรากฏรายชื่อเพลงในนิยายรางวัลซีไรต์ของเธอ มีบ้างบางครั้งที่เป็นเพลงพ็อพร็อก พังก์ร็อก วงโปรดของเธอ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเลือกใช้ถ้อยคำหรือประโยค
“เพราะเพลงจะช่วยกำกับอารมณ์ในการเขียนของคุณ” เธอสอน
ตอนเริ่มต้นเขียนนิยายของตัวเองเมื่อกลางปีที่แล้ว ผมก็เลยไปค้นกล่องซีดีเก่า หยิบแผ่นอัลบั้มต่างๆ มาทดลองเปิดฟังวนไปเรื่อยๆ ก็ยังหาเพลงที่ถูกใจไม่ได้ สุดท้ายก็หันมาเปิดคอมพิวเตอร์ กดเลือกเพลงเลื่อนไปเรื่อยๆ บนเว็บยูทูบ แล้วก็วนมาเจอเพลงนี้อีกครั้ง …มีแต่คิดถึง
เพลงเป็นเหมือนกล่องเก็บความทรงจำ มันเก็บบันทึกไว้ได้ทั้งหมด ทั้งเสียง ภาพ กลิ่น สัมผัส ฯลฯ ความคิดและความรู้สึกที่อยู่ภายในใจตอนนั้น พลันย้อนกลับมาในตอนนี้ เมื่อเสียงอิเล็กโทนกรุ๋งกริ๋งเหมือนเสียงจากกล่องดนตรีในช่วงอินโทรของเพลงนี้ดังขึ้นมาอีกครั้ง
สถานที่และเวลาในจินตนาการก็ก่อตัวขึ้น แล้วมันก็แผ่ขยายออกมาห้อมล้อมปกคลุมบรรยากาศในการนั่งเขียนงาน ตรงหน้าไม่ใช่ห้องนั่งเล่นที่บ้านและจอคอมพิวเตอร์อีกแล้ว แต่มันค่อยๆ กลืนกลายเป็นป้ายรถเมล์กลางดึกหลังเลิกงาน ใต้โคมไฟข้างถนนที่ส่องให้เห็นหยดฝนกำลังโปรยปราย หลากหลายชีวิตที่กำลังท้อแท้สิ้นหวัง มองหาทางกลับบ้านท่ามกลางความมืดสองข้างทาง มีเพียงแสงสะท้อนระยิบระยับจากหยดฝน ที่พวกเขาหลงคิดว่าเป็นแสงดาวพร่างพราว
ภาพหยดฝนสะท้อนแสงไฟถนนระยิบระยับมาปรากฏอยู่ในทุกฉากทุกตอนของนิยาย มันถูกบันทึกไว้ในเพลง และเมื่อเปิดเพลง มันก็แผ่ออกห่มคลุมบรรยากาศการเขียนของผมตลอดเวลา
บางทีผมก็นึกแปลกใจตัวเอง ว่าทำไมงานเขียนของตัวเองจึงมักจะเศร้า มันอาจจะมีที่มาจากเพลงนี้ก็ได้ หรือบางทีมันอาจจะมาจากความเศร้าของผมเอง ที่ทำให้ผมเลือกเพลงนี้
“
เพลงเศร้าทำให้เราเศร้า หรือว่าเราเศร้าจึงเลือกฟังเพลงเศร้ากันแน่?
”
นี่คือ Choose Music. Choose Life. ของผม ที่ตั้งใจว่าจะเล่าให้ฟังในงานอีเวนต์ BULLETIN TALK – Choose Music. Choose Life. ที่ผ่านมา แต่ไม่มีโอกาสและไม่มีเวลามากพอ จึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้มาเล่าให้ฟังกัน