a day BULLETIN เดินทางมาเยี่ยมชมชีวิตความเป็นอยู่และการฝึกซ้อม พร้อมกับนั่งสัมภาษณ์แบบเปิดใจกับ คุณวทันยา วงษ์โอภาสี หรือที่แวดวงสื่อกีฬาชอบเรียกชื่อเล่นว่า ‘มาดามเดียร์’ ผู้จัดการทีมที่กำลังฮอตที่สุดในวินาทีนี้
เราสงสัยจริงๆ ว่าสาวน้อยหน้าอ่อนเยาว์อย่างเธอแบกรับความคาดหวังมหาศาลจากคนทั้งชาติไว้ได้อย่างไร แถมไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอล เธอยังนั่งอีกหนึ่งตำแหน่งนายใหญ่แห่งสำนักข่าวสปริงนิวส์ กับภาวะแข่งขันอย่างรุนแรงในโลกสื่อสารมวลชนตอนนี้ งานของเธอหนักและกดดันขนาดไหน
“
อะไรที่เราสามารถควบคุมได้ เราก็เตรียมการเพื่ออนาคตได้ ทำให้พร้อมที่สุด เดียร์ไม่ชอบความรู้สึกว่า รู้งี้ทำแบบโน้น รู้งี้ทำแบบนี้ดีกว่า เวลาปัญหามันเกิดเราจะไม่ย้อนกลับไปนั่งเสียใจ ในเมื่อเราทำในส่วนที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่แล้ว
”
หนึ่งปีกว่าๆ ในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
สนุกมาก ได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ปกติชีวิตนี้แทบไม่เคยเจอมาก่อน จากคนทำงานข่าวมานาน พอเข้ามาอยู่ในแวดวงของคนกีฬา เขาพูดกันแต่เรื่องกีฬา ทั้งเรื่องจริงจัง ทั้งเรื่องแซวเล่น แม้แต่บนโต๊ะอาหารก็คุยกันแต่เรื่องกีฬา ตอนเข้ามาแรกๆ เหมือนเราอยู่คนละโลกกับพวกเขา หากไม่เข้ามาก็คงไม่ได้เจอคนเหล่านี้ ตลอดหนึ่งปีเราเจอกันบ่อยมากทีเดียว ทั้งน้องในทีมและโค้ช เราไปแข่งขันต่างประเทศกันมา 5 รอบ ถือว่าผูกพันสนิทสนมกันมากๆ ได้เห็นพัฒนาการของทีมและของน้องแต่ละคนมาโดยตลอด
แฟนฟุตบอลไทยพอเห็นว่าผู้จัดการทีมเป็นสาวสวยแบบนี้ ก็คิดว่าหน้าที่หลักคงไม่ต่างอะไรไปจากประชาสัมพันธ์ของทีม หรือไม่ก็แค่เป็นกระเป๋าตังค์คอยควักเงินให้
ไม่ใช่แค่นั้นแน่นอน เราทำงานแตกต่างจากโค้ช หน้าที่หลักของโค้ชคือทำอย่างไรให้ 90 นาทีในสนาม นักกีฬาสร้างผลการแข่งขันที่ดีที่สุด แต่พอออกมานอกสนาม ทั้งหมดนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้จัดการทีมนี่แหละ ทั้งประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ จะพาไปเก็บตัวกันที่ไหน เดินทางอย่างไร ค่าใช้จ่ายระหว่างทาง จะไปอุ่นเครื่องกับใครดี มีทัวร์นาเมนต์ไหนบ้างที่พวกเราควรไปลงสนามเพื่อสร้างประสบการณ์ วางแผนไปไกลๆ ให้เห็นเส้นทางสู่เป้าหมายใหญ่ที่วางไว้ คือแชมป์ระดับเอเชียและแชมป์ซีเกมส์ที่มาเลเชีย สรุปแล้วหน้าที่ของเดียร์คือทำให้น้องๆ มีความพร้อมที่สุด เพื่อให้พี่โย่ง (วรวุฒิ ศรีมะฆะ, อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ปัจจุบันเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทยชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 29) นำไปใช้ลงสนามได้
แล้วก็มีคนชอบมาถามว่า สมัยนี้ทีมฟุตบอลไม่ต้องมีผู้จัดการแล้วได้ไหม มันก็พอได้อยู่หรอก เพราะสมาคมฯ ก็จะทำหน้าที่ดูแลให้เป็นไปตามโรดแม็ปที่วางไว้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสมาคมฯ มีทีมที่ต้องบริหารเยอะมาก ทั้งเยาวชน 14 ปี 16 ปี 19 ปี ไหนจะทีมฟุตซอล ฟุตบอลชายหาด และยังมีฟุตบอลลีกอีก อาจจะไม่มีสมาธิโฟกัสกับทีมชาติ ยกตัวอย่างทีมฟุตบอลหญิงที่มี ‘คุณแป้ง’ – นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นผู้จัดการ พวกเขามีการเตรียมความพร้อมที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีเกมลงสนามอย่างสม่ำเสมอ ได้ไปเก็บตัวกันที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับทีม ซึ่งถ้าไม่มีผู้จัดการ เดียร์ตอบไม่ได้หรอกว่าน้องๆ จะมีโอกาสแบบนี้หรือไม่ อาจจะมี แต่จะทันท่วงทีหรือเปล่า ส่งให้ผลงานไปถึงจุดที่ตั้งเป้าหรือไม่ ที่เล่ามานี่ก็จะบอกว่าผู้จัดการทีมก็ยังมีส่วนสำคัญเหมือนกัน
สิ่งที่ได้รับคำชมมากสำหรับทีมซีเกมส์ชุดนี้คือผู้เล่นควบคุมอารมณ์ในสนามได้ยอดเยี่ยม มันเป็นนโยบายและแนวทางของคุณหรือเปล่า
เรื่องนี้เดียร์คุยกับโค้ช เราเห็นไปในทางเดียวกันตั้งแต่เริ่มงาน หากมีพวกพฤติกรรมไม่เรียบร้อย ออกแนวหัวโจก เราขอคัดออกเลย เพราะจะมาทำให้น้องในทีมคนอื่นๆ มีแนวโน้มจะเฮี้ยวไปด้วย เราไม่อยากให้ปัญหามาก่อตัวในแคมป์ ส่วนเรื่องความสามารถของแต่ละคน ก็ต้องสอดคล้องว่าทำไมถึงได้มาติดทีมชาติ คุณจะเห็นว่านักเตะชุดยู 23 ส่วนมากมีโอกาสลงสนามให้กับสโมสร บางคนเป็นตัวจริงตลอด นั่นเพราะพวกเขามีวินัย มีความรับผิดชอบทั้งในและนอกสนาม มีความเป็นมืออาชีพ พวกผู้เล่นที่ฝีเท้าดีแต่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมจะเป็นเรื่องตรงกันข้ามกันเลย พวกเขาแทบไม่ได้รับโอกาสในสโมสร เรื่องนี้พิสูจน์กันได้ ไม่มีทีมไหนอยากจะแบกรับความเสี่ยงพวกนี้หรอก
แต่สิ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์คือผลงานหลายนัดที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์มีการโพสต์กันรุนแรงมาก
ส่วนตัวแล้วเดียร์ไม่ชอบเล่นโซเชียลมีเดียเป็นทุนเดิม พอมารับงานทีมฟุตบอลก็เลิกขาดไปเลย แน่นอน คำวิจารณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรับฟัง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้จะนำไปสู่เป้าหมายด้วยแผนการที่วางกันเอาไว้ใช่ไหม มันคงไม่ดีหากเราจะเก็บเอาทุกคำด่าในโลกออนไลน์มาคิดไปมาจนเสียกำลังใจ เอาเข้าจริงๆ เวลามีใครมาวิจารณ์ถึงงานที่ทำอยู่ก็น้อมมาพิจารณาอยู่แล้ว แต่จะไม่ให้โซเชียลฯ มาครอบงำ และจะไม่ใช้โซเชียลฯ ในการตอบโต้ออกไป ถ้าเราต้องใช้โซเชียลฯ เพื่อเรียกเรตติ้งก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาจริงๆ เราไม่อยากไปติดกับดักเรื่องพวกนี้ มันดีกว่าหากเราจะมุ่งไปที่ผลงานในสนาม
“
ด้วยความที่อายุไม่มากนี่แหละ ทำให้เราไม่ยึดติดกับตำแหน่ง
”
การทำงานในบทบาทผู้นำ สิ่งที่ยากที่สุดคือการบริหารคน แล้วคุณเองเป็นผู้นำแบบไหน มีวิธีกระตุ้นให้พนักงานรวมทั้งนักฟุตบอลสร้างผลงานที่ดีที่สุดออกมาได้อย่างไร
ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียที่เดียร์ยังอายุน้อยแล้วต้องมาเป็นหัวหน้าทีม แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ตำแหน่งที่จะทำให้เพื่อนร่วมงานยอมรับเรา แต่ต้องมีผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ ด้วยความที่อายุไม่มากนี่แหละทำให้เราไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ดังนั้น ที่สปริงนิวส์ของเรา ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงานตำแหน่งอะไร ตั้งแต่คนขับรถทีมข่าว หรือผู้สื่อข่าว เดียร์ก็วางตัวเป็นกันเองได้โดยไม่มีระยะห่าง เหมือนกันกับการเป็นผู้จัดการทีมชาติ เดียร์คุยกับน้องๆ นักฟุตบอล เราไม่ได้วางตัวเป็นบอสของพวกเขา อย่างมากเต็มที่ก็วางตัวเป็นรุ่นพี่เท่านั้น
ที่สำคัญคือเวลามีเรื่องอะไรจะต้องบอกเขาตรงๆ ถ้าเป็นการบริหารแบบสมัยก่อนคงเคยจะได้ยินคำที่ว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้ผู้ใต้บังคับบัญชารู้ ไม่ต้องบอกเด็กหรอก เป็นเรื่องผู้ใหญ่จัดการ แต่ในยุคที่การสื่อสารมันรวดเร็วขนาดนี้ คำพูดดังกล่าวคงใช้ไม่ได้ เวลาที่องค์กรใดๆ เจอวิกฤตการณ์ ในตอนนี้ไม่มีแล้วที่จะแก้ปัญหาแบบผู้ใหญ่ปล่อยผ่านไป เดี๋ยวเรื่องก็เงียบหายไปเอง ทางแก้ในปัจจุบันคือเราต้องเอาความจริงออกมาชี้แจงอย่างโปรงใส และตอบให้ตรงประเด็นมากที่สุดกับทุกคนในองค์กร เฉียงไปหลบมาไม่ได้ ยิ่งบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 20-21 ปี เป็นวัยที่โตมากับสื่อโซเชียลฯ ด้วยแล้ว การสื่อสารในองค์กรด้วยความจริงใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อให้เราไม่บอก เขาก็รู้อยู่ดี
ในสปริงนิวส์ก็เช่นกัน ตอนนี้เรามีการเปลี่ยนแปลงกันเยอะ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องสื่อสารโดยตลอด เรื่องไหนยังไม่เสร็จ ยังไม่สรุป ก็บอกกันตรงๆ ส่วนคำถามที่ว่าเดียร์เป็นผู้นำแบบไหน ส่วนตัวมองว่าเป็นคนยืดหยุ่นมากพอสมควรเลย ชอบวิธีประชุมแบบเบรนสตอร์ม เดียร์เป็นผู้นำที่มีประชาธิปไตย แต่จะไม่ยกมือนับเสียงโหวตกันนะ
มันเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยแบบไม่นับโหวต
คือผู้นำที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นทั้งหมดจากทุกคน ทุกฝ่าย ทุกระดับ แต่จะขอว่าไม่ยกมือนับเสียงโหวต นั่นก็คือสุดท้ายต้องมีใครสักคนเป็นคนเคาะสรุปตัดสินใจออกมา ไม่อย่างนั้นมันไม่จบ ตัดสินใจไม่ทันการณ์
ระหว่างการบริหารงานองค์กรสื่อขนาดใหญ่ กับการดูแลทีมฟุตบอลที่จะต้องลงศึกทัวร์นาเมนต์สำคัญขนาดนี้ เรื่องไหนยากกว่ากัน
ทำสื่อนี่แหละยากกว่า มันเลยกลายเป็นว่าตอนนี้เดียร์มีแต่งานที่กดดันเข้ามาทุกๆ ด้าน สำหรับธุรกิจสื่อ ตอนนี้คือช่วงเวลาที่ท้าทายมาก ต้องปรับตัวให้เร็ว จับกระแสให้ได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครหรอกที่รู้ว่าหนทางข้างหน้าที่แท้จริงมันคืออะไร อย่างในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีโอกาสไปเทรนนิงที่ CNN แม้แต่ตัวซีอีโอของ CNN เองยังออกมายอมรับเลยว่าเราคาดเดาอะไรไม่ได้หรอกว่าโลกของสื่อจะเกิดอะไรขึ้น หากใครมาบอกคุณว่าเขารู้แล้ว นั่นคือเขาโกหกแล้ว โอเค ตอนนี้ทุกคนเห็นว่าช่องทางดิจิตอลมาแล้ว แต่ที่ไม่รู้คือมันจะอยู่ในบทบาทอย่างไร จะไปไกลแค่ไหน และจะมีเทคโนโลยีใหม่อะไรเข้ามาแทนที่อีกหรือเปล่า ดังนั้น สิ่งสำคัญขององค์กรสื่อคือต้องปรับตัวให้เร็ว มีแผนงานกลยุทธ์ที่ชัดเจน สื่อเก่าที่ล้มไป ปิดตัวไป เป็นเพราะไม่ปรับตัว อย่างในต่างประเทศก็เห็นตัวอย่างของสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่ยังรอดอยู่ได้ไม่ล้มหายไปไหน นั่นคือเขารู้ดีว่าจุดแข็งจุดแกร่งของตัวเองอยู่ตรงไหน แล้วจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร
จริงๆ แล้วคนหนุ่มสาวรุ่นคุณน่าจะเป็นกลุ่มคนที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญนำพาสังคมเราให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ก็ยังไม่น่าจะใช่นะ แปลกนะ เพราะสังคมรอบข้างที่เดียร์เจออยู่เป็นประจำ คนรุ่นใหม่ไม่มีใครสนใจการเมืองไทยเท่าไหร่เลย อย่างในช่วงปีที่แล้วที่จะร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเกิดการถกเถียงกันไปมา เดียร์พยายามทำรายการทีวีของสปริงนิวส์เพื่อจะเปิดเวทีให้มีการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญขึ้นมา แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เราสนใจการเมืองแค่ในระดับของความหงุดหงิด จุดเริ่มต้นจากความหงุดหงิด พอหงุดหงิดก็ออกไปก่อม็อบกันไม่ว่าจะฝ่ายไหน กลายเป็นแฟชั่นตามกันไป พอลองถามเข้าไปจริงๆ ว่าไปเรียกร้องอะไร เอาหรือไม่เอาอะไร และต้องการเนื้อหารัฐธรรมนูญจริงๆ อย่างไร น้อยคนจะตอบได้ แต่ก็เอาเถอะ ออกมาหงุดหงิดจนถึงขั้นเซตซีโร่กัน จนตอนนี้เราน่าจะมีเวทีที่พร้อมรับฟังว่าต้องการอะไรกันแน่ กลับไม่ค่อยมีใครแคร์ ไม่ค่อยมีใครใส่ใจ จะออกมาแสดงความคิดเห็นจากที่ต่อสู้เรียกร้องกันมา แล้วจะยังไงอีกล่ะ พอเวลาผ่านไปอีกสักพัก เราก็จะมีเรื่องไม่พอใจอีก หงุดหงิดใจกันอีก แล้วก็ออกมาเซตซีโร่กันอีกเหรอ ทุกครั้งที่มีการเริ่มใหม่มันจะต้องมีคนเจ็บตัวเสมอ เอกชนก็บาดเจ็บจากเรื่องนี้ อย่างธุรกิจสื่อเรามีรายได้มาจากค่าโฆษณา แล้วถ้าเศรษฐกิจไม่ดี สิ่งแรกที่ธุรกิจตัดก็งบโฆษณานี่แหละ มันเป็นผลกระทบกันหมด
แล้วถ้าไม่ใช่คนรุ่นพวกคุณ ต้องเป็นรุ่นที่เด็กลงไปกว่านี้อีกเหรอ
ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน วันก่อนเรายังคุยเล่นกัน น้องนักฟุตบอลยังถามอยู่เลย ทำไมช่องทีวีของพี่เดียร์ไม่ทำละครอย่าง นาคี บ้าง (หัวเราะ) เขาอาจจะแซวเล่น แต่เอาเถอะ เรื่องพวกนี้ยังไงก็ต้องมุ่งมั่นทำงานกันไป ต้องนำเสนอประเด็นนี้ต่อไป เหมือนกับทิศทางของสปริงนิวส์ที่ต้องการเสนอข่าวให้กระเตื้องสังคม ทำให้คนได้ฉุกคิด แม้ว่าตอนนี้กลุ่มเป้าหมายเราจะเป็นคนอายุมากหน่อย แต่ก็หวังว่าจะเกิดการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อยกระดับกันต่อไป คงเหมือนเรื่องการเมืองที่ตอนนี้กลุ่มเพื่อนๆ วัยของเดียร์หรือน้องๆ นักฟุตบอลยังไม่สนใจ แต่สักวันหนึ่งข้างหน้า หากปัญหาการเมืองไปกระทบตัวเขามากขึ้น ความสนใจความอยากมีส่วนร่วมคงมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แค่ตอนนี้เขายังไม่รู้สึก
แล้วคุณมีโรดแม็ปในชีวิตตัวเองไหม
จริงๆ แล้ว สำหรับตัวเองยังไม่ได้วางแผนเอาไว้ชัดเจน แค่ตอนนี้อยากจะทำงานที่ท้าทาย อยากได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่า นี่เป็นเหตุผลที่ทำงานข่าวและทำงานทีมชาติไปพร้อมกัน แม้จะหนัก เต็มไปด้วยความกดดัน แต่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า เดียร์ว่าสังคมจะดีขึ้นหรือแย่ลง สื่อมวลชนถือเป็นส่วนสำคัญ ยกตัวอย่างตอนน้ำท่วม หากเราเป็นคนทั่วไปก็คงได้แต่ตามข่าวขอบริจาคเงิน แต่ในฐานะคนข่าว เราสามารถเข้าไปช่วยได้โดยตรง และรู้ด้วยว่าพื้นที่ตรงไหนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เรื่องนี้สำคัญมากๆ ทำให้เรารู้ว่าทำไมต้องต่อสู้อย่างหนักในภาวะสื่อที่แข่งกันสูงลิบอย่างในปัจจุบัน นอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว การได้มีส่วนทำให้สังคมดีขึ้นนี่แหละคือคำตอบ สำหรับทีมฟุตบอลก็เช่นกัน อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตก็เคยได้เข้ามาทำอะไรเพื่อประเทศ เพื่อแผ่นดินของเรา
เรื่อง : พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์, วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
ภาพ : ภาสกร ธวัชธาตรี