บันทึกเรื่องราวของกลุ่มช่างสิบหมู่ อีกหนึ่งกลุ่มคนสำคัญเบื้องหลังพระเมรุมาศ

หน้าที่สำคัญของสำนักช่างสิบหมู่ คือการสร้างสิ่งใหม่ให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ ทั่วประเทศ และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีแก่บุคลภายนอก โรงเรียนตามชนบท รวมถึงพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ เพื่อช่วยกันดูแลรักษางานศิลปะไทยที่อยู่ตามโบสถ์ให้สวยงามตลอดไป แต่สำหรับวันนี้ หน้าที่สำคัญที่ใหญ่หลวงของสำนักช่างสิบหมู่ คือการอยู่เบื้องหลังผลงานประติมากรรม จิตรกรรม ซึ่งใช้ประดับส่วนต่างๆ ของพระเมรุมาศ ในหลวงรัชกาลที่ 9

01

ประติมากรรมมหาเทพ เทวดา สัตว์ป่าหิมพานต์ สุนัขทรงเลี้ยง และงานปั้นแสนประณีตบรรจงอีกหลายรายการที่จะนำไปตกแต่งพระเมรุมาศ คืองานศิลปะชิ้นเอกที่หล่อหลอมขึ้นจากหัวใจของกลุ่มประติมากรและอาสาสมัครอีกหลายชีวิต โดย อาจารย์ประสพสุข รัตน์ใหม่ หัวหน้ากลุ่มประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และอาสาสมัครอีกกว่า 19 ชีวิต

“เราตั้งใจทำทุกชิ้นให้มีความสมจริง โดยศึกษาและออกแบบตามหลักกายวิภาคศาสตร์ เน้นส่วนของกล้ามเนื้อ และทำทุกสรีระให้ดูคล้ายมนุษย์มากที่สุด ทั้งยังผสมผสานลวดลายของความเป็นไทยที่มีความอ่อนช้อย ละเอียดลออ ซึ่งทำให้เป็นงานที่มีความร่วมสมัย สมกับเป็นศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 9”

อาจารย์ประสพสุขเล่าปิดท้ายด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ แต่แววตาเต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกว่า “ในงานปั้น เราปั้นได้หมดอยู่แล้ว แต่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนปั้นลงไปจนผู้เสพเกิดอารมณ์ร่วมนั้นเป็นเรื่องยาก ครั้งนี้ ผมเชื่อว่าช่างปั้นทุกคน รวมถึงตัวผมเอง พยายามทำทุกส่วนของงานประติมากรรมอย่างดีที่สุด เพื่อถ่ายทอดความรัก ความเคารพ และความภักดีที่มีต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 อย่างเต็มภาคภูมิ”

02

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ‘แจม’ – เจกิตาน์ โตนิติ อดีตนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในช่างปั้นจิตอาสาของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

“ตอนเข้ามาครั้งแรกยอมรับว่าค่อนข้างกดดัน เพราะถึงแม้เราจะจบด้านศิลปะมา แต่เราไม่คุ้นเคยกับการปั้นลายไทย บวกกับงานนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก เดินเข้ามาในห้องปั้นได้เห็นเทพหลายองค์ ทั้งมหาเทพ ครุฑยืน คชสีห์ ราชสีห์ ดูแล้วศักดิ์สิทธิ์จนเราไม่กล้าจับ ไม่กล้าทำ แต่แม่ก็ช่วยเตือนสติว่า เรามาถึงจุดนี้ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ตอบแทนพระองค์ท่าน เราจึงตั้งใจทำเต็มที่”

“ทุกอย่างฝึกฝนได้ ถ้าเราพยายามมากพอ” เจกิตาน์ กล่าวด้วยรอยยิ้มและสายตาที่บอกกับเราว่าเธอนั้นภูมิใจกับการตัดสินใจของตัวเองครั้งนี้ขนาดไหน

‘เนย’ – คุณัญญา พิบูลย์ไพร อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เริ่มเข้ามาเป็นอาสาสมัครเต็มตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม

“ตอนเข้ามาครั้งแรกได้รับหน้าที่ให้ปั้นรวงข้าว ซึ่งถึงแม้มันเป็นแค่ชิ้นเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วปั้นยากมาก เพราะมันต้องดูพลิ้วไหวและต้องดูออกด้วยว่าเป็นรวงข้าวหอมมะลิ ทำให้เรารู้เลยว่า ทุกอย่างมีรายละเอียดซ่อนอยู่ และกว่าจะปั้นขึ้นมาได้แต่ละชิ้นต้องใช้ความพยายามสูงมาก”

ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ที่อาจไม่ได้เห็นช่วงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงงานหนักเท่าเมื่อก่อน คุณัญญากล่าวความในใจต่อพ่อหลวงให้เราฟังว่า “เรายกให้ท่านเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต เพราะท่านเป็นผู้รู้รอบด้าน ทั้งศิลปะ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และการปกครอง เหมือนกับท่านแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราฝึกฝน เราก็จะทำได้ทุกอย่าง”

ความรัก ความมุ่งมั่น และความตั้งใจนี้ค่อยๆ เผยออกมาตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่เธอเข้ามาเรียนรู้ทักษะงานปั้นที่สำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งคุณัญญาบอกว่า เป็นประสบการณ์ล้ำค่าในชีวิตที่จะไม่มีวันลืมเลือน

03

“เราระดมทีมศิลปินแต่ละส่วน ไม่ว่าจะเป็นช่างปั้น ช่างเขียน ช่างฝีมือต่างๆ มาช่วยกันเตรียมความพร้อมในงานครั้งนี้ ทั้งบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักช่างสิบหมู่เอง และอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยจากการสมัครเข้ามา และคนที่เราทาบทามมาเอง” อาจารย์เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เล่าถึงเรื่องราวของกลุ่มคนที่มาช่วยการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมของฉากบังเพลิงในครั้งนี้

“แนวคิดในการวาดภาพจิตรกรรมของฉากบังเพลิงเราวางไว้ 4 ข้อใหญ่ๆ หนึ่ง งานจิตรกรรมเราต้องออกแบบ และจัดสร้างให้สมกับพระเกียรติของในหลวง รัชกาลที่ 9 สอง คือการศึกษางานจิตรกรรมฉากบังเพลิงของรัชกาลต่างๆ รวมถึงฉากบังเพลิงของเชื้อพระวงศ์ท่านอื่นๆ สาม เราต้องอ้างอิงความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่พระนารายณ์อวตารเป็นรูปลักษณ์ต่างๆ และสี่ ใช้ความหมายของพระนารายณ์อวตารแสดงถึงการแก้ปัญญาต่างๆ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ครบถ้วนทั้งในด้านของดิน น้ำ ลม และไฟ” อาจารย์มณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ ตามมาสมทบหลังจากที่เขาไปช่วยน้องศิลปินอาสาแต่งรูปดอกไม้ทิพย์สีชมพูที่อีกฟากหนึ่งของสตูดิโอ

ภาพ : รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล