สืบ นาคะเสถียร: วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว…

ชายร่างโปร่ง ใส่แว่น สูบบุหรี่จัด ถือสมุดและกล้องถ่ายรูปเข้าป่า และอุทิศตนในฐานะนักอนุรักษ์มาตลอดชีวิต เกียรติประวัติและผลงานมากมาย รวมทั้งเสียงปืนนัดนั้น ส่งผลให้หลายคนยกย่องว่าเขาเป็นฮีโร่ แต่เมื่อเราค้นคว้าทำความเข้าใจชีวิตของผู้ชายคนนี้ ในอีกมุมหนึ่ง สืบก็คือคนที่ตั้งใจทำงานและรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง รวมทั้งมุ่งมั่นตามปณิธานของตัวเองจนวินาทีสุดท้ายของลมหายใจ

        เราคิดว่าสิ่งที่น่าจะสะท้อนออกมาได้ดังกว่าเสียงปืนในวันที่ 1 กันยายน 2533 คือการไม่พูด และปล่อยให้ข้อมูลความตั้งใจในการทำงานของ สืบ นาคะเสถียร เป็นฝ่ายถ่ายทอดความละมุนและจริงจังในการช่วยเหลือสัตว์และป่าไม้ที่เปรียบเสมือนลมหายใจของเขาแทน

        ประโยค “วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว” ที่สืบใช้พูดในการเคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนและการอภิปรายต่างๆ ยังฟังแล้วสะท้อนใจมาจนทุกวันนี้ และน่าสงสัยว่าพี่สืบพูดมันออกมาด้วยแววตาแบบไหน ในฐานะคนที่หายใจร่วมกับป่า ทำงานในประเด็นการอพยพสัตว์ และการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้

 

2492: Seub was Born

        สืบ นาคะเสถียร เกิดวันที่ 31 ธันวาคม 2482 ที่จังหวัดปราจีนบุรี มีพี่น้องสามคน พ่อของเขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สืบจบการศึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่กลับไม่ยอมเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเพราะคิดว่ายังไม่มีความรู้มากพอที่จะรับปริญญาได้ทั้งๆ ที่พี่น้องและเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘นี่คือเด็กเนิร์ด’

        “สืบเรียนหนังสือเก่ง เป็นคนตัวสูงกว่าเพื่อน แต่เวลานั่งฟังเล็กเชอร์มักไปนั่งข้างหน้าห้อง เขาจดงานลงสมุดอย่างละเอียดเป็นระเบียบเรียบร้อย บางทีก็วาดรูปประกอบด้วย ตอนอยู่ปี 4 ผมเคยพักห้องเดียวกัน มีเพื่อนอยู่ด้วยกันสามสี่คน ทุกวันกลับจากกินข้าวเย็น พวกเราก็นั่งคุยกันเฮฮา แต่สืบจะอ่านหนังสือทุกวัน อ่านจนกระทั่งพวกเราต้องเงียบเสียงกันไปเอง จนพวกเราเข้านอนแล้วก็ยังเห็นสืบอ่านหนังสืออยู่” นพรัตน์ นาคสถิตย์, เพื่อนสนิทร่วมรุ่น วน. 35

        “พี่สืบกลับบ้านมาก็อ่านหนังสือ แกจะหามุมของแกเองและเอาหนังสือมาวางเรียงเป็นระเบียบเรียบร้อยว่าวันนี้จะอ่านเล่มไหน หนังสือนี้ห้ามใครมาหยิบ” กอบกิจ นาคะเสถียร, น้องชาย

        ความจริงจังในการเลือกใช้ชีวิตฉายแววตั้งแต่สืบเป็นเด็กชายแดง (ชื่อเล่นของเขา) ที่ชอบยิงนกตกปลาล่าสัตว์ตามประสา เขาชอบไปยิงนกกับกอบกิจ โดยที่กอบกิจบอกเล่าเองว่าพี่สืบยิงนกแม่นมาก เหยียดหนังสติ๊กสุดมือก่อนจะยิง แต่หลังจากที่ยิงแม่นกตายไปและเห็นรังของลูกน้อย สืบก็เลิกยิงนกถาวร และหันไปเล่นปืนเถื่อนแทน แล้วก็ต้องเลิกอีกครั้งทั้งพี่ทั้งน้องเพราะพ่อขู่ว่าจะจับเข้าคุก

        สืบเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่จริงจังกับการใช้ชีวิตธรรมดา ละเอียดอ่อน แต่เอาจริงเอาจังกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต เป็นเหมือนหนังสือที่ยับเยินจากการอ่านแล้วอ่านอีก แต่เนื้อหาครบถ้วนชัดเจน

 

ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมันผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้

2510-2528: Eternal Sunshine on the Honest Mind

        แม้แต่ตอนที่ศึกษาอยู่คณะวนศาสตร์ สืบก็ยังไม่ชอบคนทำงานป่าไม้ในแง่ที่ว่าร่ำรวยจากการคดโกงป่า “ผมไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปโกงกับมัน ถ้าผมไม่โกงกับมันผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้”

        หลังจากเรียนจบ สืบจึงเลือกไปประจำอยู่ที่หน่วยเล็กๆ อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2518 ทั้งๆ ที่สอบเข้ากรมป่าไม้ได้เป็นอันดับสาม แม้จะอยากทำงานอนุรักษ์ของตัวเอง ไม่ไปปะทะกับคน แต่สุดท้ายก็ต้องงัดข้อกับผู้บุกรุกป่าจากทุกทิศทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

        เขาเป็นข้าราชการที่เถรตรง จับนายพรานล่าสัตว์และผู้กระทำผิดเข้ารับโทษตามกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าใครจะใหญ่มาจากไหน รับรู้ในตอนนั้นเองว่าการเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ซื่อสัตย์ต้องแบกรับความเจ็บปวดมากมายในหน้าที่ สืบทำงานอยู่ประมาณ 3-4 ปี ก็ได้ทุนจากบริติช เคานซิล ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร แล้วกลับมาทำงานอนุรักษ์ป่าต่อ จดจ่อกับการเป็นนักวิจัยในทุกช่วงวัยของชีวิต

        “พี่สืบ ท่านไม่ใช่คนดุ เป็นคนเฉยๆ เงียบขรึม ค่อนข้างตั้งใจทำงานเสียส่วนมาก หนักไปทางอ่านหนังสือ ชอบส่องกล้องดูนก อดทนมาก” ฉกรรจ์ ปิ่นแก้ว, อดีตลูกน้องคนสนิท

        “พี่สืบมีความผูกพันกับป่าห้วยขาแข้งมาก การเดินทางที่เราจดจำได้ดีก็คือการเดินทางจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรข้ามมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พี่สืบใช้เวลาเดินป่าครั้งนี้นานกว่าสองสัปดาห์ เราได้เห็นธาตุแท้ของความทรหด แม้ว่าเท้าทั้งสองจะเจ็บ เดินล้มลุกคลุกคลานถูกหนามเกี่ยวตามลำตัวและหู ดูเหมือนว่าพี่สืบจะไม่สนใจกับสิ่งเหล่านี้ แคมป์ที่พักนอนในป่าก็ใช้ผ้าพลาสติกปูลงบนพื้นดิน และมุงผ้าพลาสติกผืนใหญ่เพื่อกันน้ำค้าง อาหารที่เตรียมไปแม้ว่าจะไม่พอเพียง ความลำบากต่างๆ ที่ประสบ แต่พี่สืบก็ไม่เคยปริปากบ่นด้วยคำพูดใดๆ เลย” รุ่นน้องคนหนึ่งกล่าวไว้

        ใครๆ ต่างก็บอกว่าเขาไม่เคยบ่นถึงปัญหาและความทุกข์ที่ต้องเผชิญเลยสักนิดเพราะเขาเอาเวลาที่ต้องบ่นนั้นไปแก้ปัญหาหมดแล้ว

        “ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่าเราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม… มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่าการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ มีทั้งทางตรงทางอ้อม ป่าที่เก็บไว้ในรูปของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม” สืบ นาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 64 เดือนกรกฎาคม 2533

        แต่ทว่าในตอนนั้น สืบ นาคะเสถียร เป็นเพียงนักอนุรักษ์ในชุดสีเบจหม่นๆ ธรรมดาที่ไม่มีหน้ามีตาในสังคมเสียเท่าไหร่ และเหมือนว่าเขาจะไม่ได้ใส่ใจในจุดนั้น

 

เราจะต้องคำนึงถึงทรัพยากรสัตว์ป่า เราคงจะต้องมองลึกลงไปอีกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เราแก้ได้ไหม แก้ได้แค่ไหน

2529: Unbreakable Soul

        ที่ละเอียดได้ขนาดนี้เพราะทำงานหนัก จากบทความและการบอกเล่าของคนใกล้ตัวให้ย้ำอีกสิบรอบก็คงหนักแน่นไม่เท่ากับการทำงานของเขา สืบมักจะแบกกล้อง จดบันทึก เขียนวิจัย ถ่ายภาพ ลงเรือ เดินป่า หิ้ววิดีโอเทปมาตัดต่อเอง ทำงาน และทำงาน และทำงานไปเรื่อยๆ

        ในโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลานเมื่อปี พ.ศ. 2529 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้้นที่กว่า 100,000 ไร่ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและอุทยานแห่งชาติเขาสกต้องถูกน้ำท่วม สัตว์ป่ากว่า 227 ชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเพราะไม่มีที่อยู่อาศัย มันจะหนีน้ำไปทุกทิศทางเท่าที่ทำได้และพลัดหลงติดเกาะ อดอาหารจนผอมโซหรือจมอยู่กลางอ่างเก็บน้ำ บ้างแห้งตายอยู่ตามซากกิ่งไม้เพราะต้นไม้ถูกน้ำท่วมจนต้องทิ้งใบ สัตว์ไม่สามารถอาศัยร่มเงาได้ ทุกวินาทีจะมีสัตว์ที่เดินหลงอยู่ในป่าใหญ่เพื่อหาทางรอดจากน้ำท่วมกะทันหัน

        ‘จอบ’ – วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รุ่นน้องที่ทำงานอยู่นิตยสาร สารคดี ที่ได้ลงพื้นที่ไปด้วยเล่าว่า “พี่สืบและคณะต้องนั่งเรือออกไปช่วยเหลือสัตว์ทุกวันเพราะต้องแข่งกับเวลาที่สัตว์จะเสียชีวิตลงไปทีละตัวๆ ถ้าเจอชะนีหรือค่างที่ติดอยู่ตามต้นไม้สูงก็จะช่วยมันลงมาด้วยสารพัดวิธี”

        “ในโครงการอพยพสัตว์ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน มีการช่วยเหลือโดยการออกไปกับเรือหลายลำ จับย้ายมาอนุบาล แล้วก็อย่าลืมว่าต้องต่อสู้กับพวกที่เข้าไปล่าสัตว์ด้วย เพราะว่าสัตว์มันติดตามต้นไม้ จะล่าได้ง่ายขึ้น เราก็ได้เห็นปัญหาว่ามันกระทบกับสัตว์ป่าอย่างมาก คนทำงานก็เหนื่อยมาก อยากจะพักสักวันก็ไม่ได้ สัตว์จะตายไปแล้วส่วนหนึ่ง ก็ต้องชมในความเป็นนักวิชาการของแก ถ่ายภาพ เขียนเป็นรายงาน แล้วเย็บเป็นเล่ม ถ้าไม่มีรายงานเล่มนี้ออกมาคนคงไม่เชื่อ เพราะว่าตอนที่เราตัดสินกรณีเขื่อนน้ำโจนนี่ไม่รู้ว่าเอกสารจะเสร็จทันเวลาไหม แต่พอสำเร็จแล้วคนเห็นว่าไม่ควร จึงถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของแกที่ทำให้คนรู้ว่าการสร้างเขื่อนมันมีผลกระทบกับความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า” นริศ ภูมิภาคพันธ์, รุ่นน้องคณะวนศาสตร์บอกเล่าประสบการณ์

        สัตว์ 1,364 ตัวได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลา 2 ปี แต่คำถามคือมันคุ้มค่ากันหรือเปล่า สุดท้ายแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีใครรอดชีวิตอยู่บ้าง

        “เป็นคำถามใหญ่เลยที่ผมยังตอบไม่ได้ว่าสัตว์ป่าที่ผมช่วยเหลือในงานอพยพสัตว์ป่าครั้งแรกในเมืองไทย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 586 ตัวนั้นมันไปอยู่ที่ไหน มันตายหรือเปล่า อยู่ได้ไหม ปรับตัวเข้ากับพื้นที่ใหม่ได้หรือเปล่า มันคงจะไม่เกิดประโยชน์อะไรที่อยู่ๆ เรามาสร้างเขื่อนแล้วเราก็เอาน้ำมาท่วมป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ แล้วเราก็ย้ายมันไปไว้อีกที่หนึ่ง

        “ถ้ามันอยู่ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะช่วยมันออกไปจากที่นี่ เพราะถึงยังไงมันก็ตายอยู่ดี ในโอกาสต่อๆ ไป โครงการใหญ่ๆ ที่จะสร้างเขื่อนหรือเปิดป่าต่อไป หรือทำอะไรก็ดี เราจะต้องคำนึงถึงทรัพยากรสัตว์ป่า ต้องมองลึกลงไปอีกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เราแก้ได้ไหม แก้ได้แค่ไหน ถ้าได้ผลเป็นที่พอใจผมว่าโครงการนั้นก็น่าทำ แต่ถ้าเรายังไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้ เราก็ยังรู้สึกไม่สบายใจ ตอนนี้ได้ช่วยสัตว์ป่าแล้วก็ยังรู้สึกไม่สบายใจว่าสัตว์รอดหรือเปล่า” สืบ นาคะเสถียร กล่าวไว้ในรายการสารคดี ส่องโลก

        นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 68 เดือนตุลาคม 2533 ถามสืบเกี่ยวกับประเด็นการสร้างเขื่อนว่า แล้วถ้าไม่สร้างเขื่อน การไฟฟ้าฯ จะเอาไฟฟ้ามาจากที่ไหน สืบตอบว่า

        “ผมคิดว่าการไฟฟ้าฯ น่าจะเป็นคนตอบคำถามว่าจะหาไฟฟ้าได้อย่างไร แต่ในแง่ของคนที่เกี่ยวข้องในเรื่องป่าไม้ สัตว์ป่า เรามองกันว่าในปัจจุบันทรัพยากรส่วนนี้มันเหลืออยู่พอหรือไม่ในการที่จะควบคุมสภาวะการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมต่างๆ

        “ถ้าเรามองว่าทรัพยากรมันจำกัด ป่าไม้เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 20 เราจะเก็บส่วนนี้ไว้ได้หรือไม่ แล้วก็พัฒนาพลังงานด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างอื่น ด้วยพลังงานอย่างอื่น ควบคุมให้เกิดมาตรการในการที่จะใช้พลังงานอย่างถูกต้อง หมายถึงการประหยัดพลังงาน ข้อแก้ตัวว่าต้องผลิตด้วยพลังน้ำอย่างเดียวโดยที่อย่างอื่นอาจมีราคาสูง หรือว่าอัตราเสี่ยงที่จะเกิดภัยอะไรต่างๆ นั้น ถ้าคิดถึงว่าในอนาคต สมมติอีก 30 ปีข้างหน้าไม่มีป่าเหลืออยู่แล้ว เราจะทำอย่างไร ทำไมเราถึงไม่คิดตั้งแต่วันนี้ว่าเราจะหาทางในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างไร โดยที่จะยังคงป่าธรรมชาติเอาไว้ให้สามารถอำนวยประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ที่ยังต้องอาศัยสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต”

        ‘คนจริง’ ที่เราเรียกกันมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 แล้ว และนี่คือบทสัมภาษณ์สุดท้าย ก่อนที่สืบจะหมดลมหายใจลงไปในโลกจริง

 

วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว

2530-2533: Because it Needs to be Done

        โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแควใหญ่ตอนบน (เขื่อนน้ำโจน) จะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดพื้นที่ 137 ตารางกิโลเมตร หรือ 85,625 ไร่ ที่ระดับความสูง 370 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้น้ำท่วมใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ คิดเป็นระยะทางยาวประมาณ 60 กิโลเมตร ส่วนที่กว้างที่สุดของอ่างเก็บน้ำประมาณ 9 กิโลเมตรเศษ ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 500 เมตร ใช้เวลาในการก่อสร้างและทำการตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำนานประมาณ 3 ปีครึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีแผนการแก้ไขผลกระทบ ใช้เงินประมาณ 360 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละประมาณ 3 เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2532′ ส่วนหนึ่งจากงานวิชาการเรื่องความสำคัญของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กับการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน

        ประสบการณ์จากการอพยพสัตว์ในเขื่อนเชี่ยวหลานทำให้สืบออกมาต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกครั้งร่วมกับ วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ เพื่อนสนิท และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในเวลานั้น

        เขาเดินเข้าป่าไปสำรวจสัตว์ทุกวัน ทำงานถึงดึกดื่นเที่ยงคืน คร่ำเคร่งกับข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานที่จะสามารถต่อกรกับการสร้างเขื่อนได้โดยไม่ได้รับทำงานอื่นเลย เขาพบกระทิงฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นในเมืองไทย เลียงผา เก้งหม้อ นก และปลาหายากชนิดต่างๆ รวมไปถึงช้างป่ากว่า 300 ตัวในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรรวมกับป่าห้วยขาแข้ง

        สืบเร่งประกอบข้อมูลกับนักวิชาการคนอื่นๆ ทำรายงานไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า และผลกระทบแสนรุนแรงที่สัตว์จะได้รับจากการสร้างเขื่อนน้ำโจน

        “วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว” การอภิปรายของชายพูดน้อย สูบบุหรี่จัดแบบมวนต่อมวน ดังขึ้นมาอย่างชัดเจนเมื่อเขาสามารถเขียนรายงาน ‘การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน’ และคัดค้านการสร้างเขื่อนของรัฐบาลได้สำเร็จ

        “เราชนะแล้ว” คือคำพูดง่ายๆ ที่เขาพูดออกมาในตอนนั้น

        ในเวลาต่อมา ตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คือตำแหน่งสุดท้ายที่สืบมีในฐานะนักอนุรักษ์ พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะมีสภาพป่าที่แตกต่างหลากหลาย มีความสำคัญในฐานะของป่าต้นน้ำและเชื่อมต่อกับทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 5,775 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

        ในวันแรกของการทำงาน เขาได้ไปดูป่าประดู่ที่ถูกโค่นเพื่อแปรรูปกว่า 200 ต้น สืบไม่พูดอะไรเลย ได้แต่สืบเท้าไปตามดูท่อนไม้ภายในป่าโดยไม่กลัวหลงหรือจะมีใครดักลอบทำร้าย

        พื้นที่ป่าห้วยขาแข้งในเวลานั้นเต็มไปด้วยการลักลอบล่าสัตว์และการตัดไม้ทำลายป่าที่ไม่ปรานีธรรมชาติ ชาวบ้านโดยรอบมีฐานะยากจน สืบที่มองเห็นตัวเองเป็นนักวิจัย ไม่ชอบตีรันฟันแทงกับมนุษย์คนใดตรงๆ เข้ามารับหน้าที่นี้ด้วยความมุ่งมั่นตามลักษณะนิสัยเดิมของเขา แล้วจึงพบเจอกับปัญหาการฝ่าฝืนกฎหมายมากมายของผู้มีอิทธิพลในท้องที่ ทั้งตำรวจ กำนัน หรือแม้แต่กรมป่าไม้เอง

        ซึ่งมันเกินกว่าที่คนคนเดียวจะเยียวยาได้

        “ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย จับมันได้ครั้งหนึ่งมันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดหลับอดนอนแบกข้าวสารไปกินในป่า มันหนีเราแต่เราต้องตามจับ อย่างเมษายนปีที่แล้ว ลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตาย 2 คน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้ว เราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”

       งบประมาณที่ใช้ในการดูแลป่าขนาด 6 แสนกว่าไร่ก็น้อยนิด ตกอยู่แค่ไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี สวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ต้องเสี่ยงชีวิตไปปราบปรามผู้บุกรุกก็ไม่มีเลย ไม่มีแม้กระทั่งประกันชีวิตหรือวิทยุตามตัวเวลาลงพื้นที่

        สืบรู้ปัญหายิบย่อยทุกอย่างที่เกิดขึ้น

        เขาทำงานและสูบบุหรี่ จุดเทียนหลังสี่ทุ่ม เขียนเอกสารเพื่อเสนอเรื่องคุณค่าและความสำคัญของป่าห้วยขาแข้ง เข้าหาผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงทั้งป่าไม้เขต ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ทหาร ข้าราชการท้องถิ่น และพบกับความนิ่งงันของระบบราชการ รูปร่างที่บิดเบี้ยวของการเอารัดเอาเปรียบ ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเขาไม่สามารถทำงานหนักไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว

        ปัง!

        เสียงปืน ณ เวลานั้นมันคงดังตามปกติ ตามวิสัยของสถานการณ์การลักลอบยิงสัตว์ป่าของห้วยขาแข้ง

        สืบ นาคะเสถียร จากไป แล้วประเทศไทยก็ได้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรและปรากฏการณ์การอนุรักษ์ธรรมชาติจากประชาชนจนถึงทุกวันนี้

 

เรื่อง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ


+ 20 เรื่องราวของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ จากวันแรกถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต

+ มองความงดงามของป่าไม้ที่รายล้อมตัว ผ่านสายตาของ ‘สืบ นาคะเสถียร’