The Flower in My Mind เรื่องราวเล่าขานถึงพระมหากรุณาธิการและน้ำพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่แสนประทับใจเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดย รศ. ดร. โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
ดอกไม้นั้นจะเบ่งบาน สง่างาม และเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรงได้เพียงนี้ ไม่ได้อยู่ที่สายฝนหรือแค่ความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดินเพียงเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งมาจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้พัฒนาและขยายพันธุ์ไม้ดอกขึ้นในหลายๆ โครงการพระราชดำริทั่วประเทศ
เพื่อมอบให้กับราษฎรไว้ทำกิน โดยเฉพาะที่ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในโครงการพระราชดำริ ที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ท้องถิ่น อย่างต้นปทุมมา และต้นกระเจียว ที่ชูช่อออกดอกหลากสีในช่วงฤดูฝน ก่อนจะเก็บตัวเงียบในช่วงฤดูหนาวมาโดยตลอด
“
งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยงานกันให้มากขึ้น ช่วยให้เข้าถึงประชาชน
”
พระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แก่คณะผู้ปฏิบัติงานศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
01
พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเยี่ยมราษฎร
ทันทีที่ฝนแรกเริ่มตก เรื่องราวของต้นปทุมมาและต้นกระเจียวก็เริ่มต้นขึ้นที่ ‘ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวข้องกับพืชพันธุ์และดอกไม้
“ภาพนี้นานนานแค่ไหนคะ” เราเอ่ยถามดอกเตอร์ทันทีที่เราเห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งประดับไว้บนผนังด้านหนึ่งของอาคารรับรอง
รศ. ดร. โสระยา ร่วมรังษี ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มองตามสายตาของเรา ก่อนจะเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังว่า
“จากคำบอกเล่าของผู้อำนวยการศูนย์ฯ คนแรกและเป็นอาจารย์ของเรา ดอกเตอร์ พิศิษฐ์ วรอุไร ท่านเล่าให้ฟังเราอีกทีว่า ภาพนั้นคือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2527 พระองค์เสด็จมาเยี่ยมราษฎรในกลุ่มบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่ คณะทีมงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมดอกเตอร์พิศิษฐ์ จึงไปรับเสด็จพระองค์ที่นั่น พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับดอกเตอร์พิศิษฐ์โดยตรง สรุปใจความว่า งานนี้เป็นประโยชน์ถึงประชาชนอย่างแท้จริง อย่าได้หยุด ให้ทำต่อไป ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยให้มาช่วยงานกันให้มากขึ้น ช่วยให้เข้าถึงประชาชน…
“เราไม่ได้เข้ารับเสด็จพระองค์ในวันนั้นก็จริง แต่ท่านดอกเตอร์พิศิษฐ์ก็เล่าเรื่องราวความให้ฟังตลอดในช่วงที่เราช่วยท่านทำงานสมัยเรียนปริญญาโท เมื่อปี พ.ศ.2528 หลังจากพระองค์เสด็จมาเพียงปีเดียวเอง”
ถึงแม้ดอกเตอร์โสระยาจะไม่ได้รับพระราชกระแสรับสั่งจากพระองค์โดยตรง แต่ด้วยความเคารพรัก ดอกเตอร์โสระยาก็น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งมาด้วยความเต็มใจ พร้อมที่จะสานต่อพระราชประสงค์ของพระองค์ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาช่วยงานดอกเตอร์พิศิษฐ์ จนวันที่ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ กระทั่งทำงานจนถึงทุกวันนี้ ทั้งหมดกว่า 13 ปี
02
ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่
ดอกเตอร์อธิบายให้เราฟังด้วยรอยยิ้มน้อยๆ แต่สีหน้าเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ จนเราสัมผัสได้
“เราภาคภูมิใจค่ะ” ดอกเตอร์ตอบออกมาก่อนที่จะเราจะถามเสียอีก
“อาจารย์บอกว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในราษฎรของพระองค์ เราต้องนำพระราชดำริของพระองค์มาทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามที่พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่ง เราเห็นว่าพระองค์ทรงอุทิศพระวรกายเพื่อราษฎรมากมาย เราเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง ทำไมไม่ทำให้กับชาวบ้านบ้าง อาจารย์ของเราสอนแบบนี้เสมอ”
“แสดงว่าโครงการพระราชดำริแห่งนี้ ก่อตั้งหลังจากที่พระองค์ทรงเสด็จมาหรือเปล่าคะ” เราถามด้วยความไม่รู้
“ไม่ใช่ค่ะ ศูนย์บริการฯ แห่งนี้ก่อตั้งก่อนที่พระองค์จะเสด็จมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 แล้ว ซึ่งได้มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 80,000 บาท เพื่อศึกษาและทดลองวิจัยพืชพันธุ์ เพราะในสมัยก่อนเกษตรกรและชาวบ้านไม่รู้ว่าจะหาพันธุ์ดีๆ ได้จากที่ไหน พระองค์จึงทรงมอบหมายหน้าที่นี้ให้กับทางเราเพื่อขยายพันธุ์ และส่งต่อพืชพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ไม้ดอกที่ดีให้กับเกษตรกรไว้ปลูกเป็นรายได้เสริม โดยเฉพาะต้นปทุมมาและต้นกระเจียวซึ่งเป็นไม้ดอกท้องถิ่นที่มีความสวยงาม ทนทาน และยังเป็นที่ต้องการของตลาดดอกไม้ต่างประเทศ และมีมูลค่าส่งออกหลายล้านบาทอีกด้วยนะคะ”
03
ความแตกต่างของต้นปทุมมาและต้นกระเจียว
เราตาลุกวาวเมื่อดอกเตอร์กล่าวถึงมูลค่าส่งออก ดังนั้น ดอกเตอร์จึงหยิบดอกปทุมมาและดอกกระเจียวขึ้นมาวางคู่กัน พร้อมเอ่ยถามว่า สองดอกนี้เหมือนหรือแตกต่างกันหรือเปล่า เรามองด้วยสีหน้างุนงง ก่อนจะเปรยไปว่า ดูแล้วก็เหมือนกัน และนั่นเรียกว่า กระเจียว
“ซ้ายมือคือดอกปทุมมา ขวามือคือดอกกระเจียวค่ะ” ดอกเตอร์โสระยาเฉลย พร้อมอธิบายต่อถึงความแตกต่างแบบย่นย่อให้ฟังอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า ดอกของต้นปทุมมาจะมีช่อเล็กและสั้นลักษณะคล้ายดอกบัว ส่วนต้นกระเจียวช่อจะใหญ่กว่า และมีลักษณะคล้ายทรงกระบอก มีหลายสี หลากสายพันธุ์ ให้เลือกตามความชอบของผู้ปลูก
และมีความลับที่ซ่อนที่ดอกเตอร์อยากจะบอกอีกอย่างคือ ลักษณะดอกที่เป็นช่อๆ นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลีบประดับ ส่วนดอกจริงของปทุมมานั้นจะมีขนาดเล็กจิ๋วสีขาวปากม่วง ส่วนดอกจริงของกระเจียวจะมีสีเหลืองอ่อน อยู่ในซอกกลีบประดับสีเขียวด้านล่างอีกที
04
ระยะเวลาแห่งการปรับปรุงสายพันธุ์
แต่กว่าจะได้ดอกกระเจียวและดอกปทุมมาที่มีสีสันสวยงาม แข็งแรง และทนทานได้ขนาดนี้ คณะทำงานรวมทั้งดอกเตอร์โสระยาเองก็ต้องใช้ความอดทนและรอคอยความสำเร็จนั้นค่อนข้างนานเช่นกัน
“เห็นสวยๆ แบบนี้ เชื่อมั้ยว่า ในทุกๆ หนึ่งสายพันธุ์ ต้องใช้เวลาพัฒนาเกือบ 10 ปี และยังมีงานยากที่สุดรอเราอยู่เสมอ นั่นก็คือการเพาะไม้หัวช่วงวัยเยาว์ เพราะเขาไม่สามารถออกดอกจากเมล็ดโดยตรงได้” หากดอกเตอร์ไม่เล่าให้ฟัง เห็นท่าเราจะคิดไปเองว่า แค่ดินดี มีน้ำมีแสงแดด ดอกไม้ก็เบ่งบานได้ด้วยตัวเอง แน่ล่ะ! เราคิดผิด
และเพื่อให้เห็นภาพช่วงวัยเยาว์ชัดเจนขึ้นอีกนิด ดอกเตอร์โสระยาจึงพาเราไปชมต้นปทุมมาและต้นกระเจียวในหลอดทดลอง แต่ละหลอดมีต้นสีเขียวอ่อนไซซ์จิ๋วขนาดแตกต่างกัน เริ่มจากเมล็ดพันธุ์ผลเล็กๆ ถัดไปเป็นต้นที่เกิดรากอ่อนๆ และลำต้นขนาดใหญ่ตามระยะเวลาการเติบโต
“เราต้องทำงานอย่างต่อเนื่องแบบนี้ในทุกๆ ปี เพื่อให้มีพันธุ์ไม้อย่างต่อเนื่อง งานดอกไม้เป็นสิ่งละเอียดลออ เป็นงานยาก กินเวลานาน และต้องใช้ความอดทนสูงมาก” ดอกเตอร์โสระยายืนยัน
05
พื้นที่ทำงานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
“พื้นที่ศูนย์ฯ ทั้งหมด 33 ไร่ กับคนงานทั้งหมด 9 คน” ดอกเตอร์ชี้ชวนให้ดูพื้นที่การทำงาน ก่อนจะอธิบายต่อว่า
“เรือนอนุบาลพืชพันธุ์อยู่ด้านหลังสำหรับปลูกลงถุง เพื่อไม่ให้เน่าตาย ดูแลเขาให้แข็งแรงจนกลายเป็นหัวขนาดเล็ก ก่อนนำไปลงแปลงปลูกข้างๆ”
ที่นี่ทำงานกันทุกวัน แต่ก็มีความสุขที่ได้ดูแลพันธุ์ไม้ดอกให้ดีที่สุดตามพระราชกระแสรับสั่งเมื่อ 30 กว่าปีก่อน
“คนงานที่นี่เป็นคนท้องถิ่น และไม่ได้เป็นข้าราชการ เงินเดือนไม่สูง และเงินเดือนไม่ขึ้นเลยมานานกว่า 20 ปี ตอนนี้ปรับขึ้นมาบ้างแล้ว แต่เชื่อไหมว่า ทุกคนอยู่กันยาวนานมาก บางคนอยู่ก่อนเราด้วยซ้ำ”ดอกเตอร์ขอเป็นตัวแทนทุกคนในศูนย์ฯ เอ่ยถึงเรื่องนี้
ดอกเตอร์โสระยาเชื่อเสมอว่า ทุกคนที่ทำงานในที่แห่งนี้ รวมทั้งตัวดอกเตอร์เองก็รักและผูกพันกับงาน ที่สำคัญยังมีความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเห็นได้จากระยะเวลาที่อยู่กันมานาน และความสุขที่เกิดขึ้นภายในโครงพระราชดำริ
และไม่เพียงแค่ความสุขเท่านั้น ผลงานดีๆ ของทุกคนย่อมได้รับสิ่งดีๆ ตามมา โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงมอบกองทุนสำรองพระราชทาน และมีเงินขวัญถุงพระราชทานให้ทุกๆ สองปีสำหรับคนงานกลุ่มเงินเดือนไม่ขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนน้ำฝนที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้กับทุกคน
06
เสียงเล็กๆ จากเกษตรกรผู้ปลูกต้นปทุมมาและต้นกระเจียว
กลิ่นอายความสุขและความภาคภูมิใจเกิดขึ้นทุกอณูของพื้นที่ เบ่งบานสะพรั่งไม่ต่างจากกระเจียวที่ชูช่ออวดโฉม กลิ่นกรุ่นความผูกพัน ความภาคภูมิใจ และความสุข ลอยฟุ้งในทุกๆ รอยยิ้มจนเราสัมผัสได้
ไม่ต่างจากความรู้สึกของเกษตรกรผู้ปลูกดอกกระเจียวอย่าง ลัดดา ชัยภาภัย วัย 69 ปี ประธานกลุ่มปลูกดอกกระเจียวและทอผ้า บ้านแม่เตี๊ยะ จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในเกษตรกรผู้ได้รับหัวพันธุ์ไม้ดอกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากทางศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537
ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา รายได้จากการปลูกกระเจียว เมื่อรวมๆ แล้วทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเธอดีขึ้น สามารถส่งลูกเรียนจนปริญญาตรีและปริญญาโทได้ เธอแสนจะภูมิใจและดีใจที่ได้เป็นเกษตรกรภายใต้โครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และยังปฏิบัติตนตามแนวคำสอนที่พระองค์ให้ไว้ อย่าง อยู่อย่างพอเพียง จนทำให้ครอบครัวเล็กๆ ของเธอ มีความสุขแบบพอดีๆ มาโดยตลอด
“เฮาจะปลูกดอกไม้ที่พระองค์ให้ไว้ บ่ให้สูญหาย รักษาสืบต่อไป ไว้เป๋นอนุสรณ์ว่า เฮาเกิดมา เฮาอยู่ใต้พระบารมีพระองค์ท่าน เฮาจะบ่ลืมพระองค์ท่านเลยเจ้า” แม่ลัดดากล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่น
ปทุมมาจะออกดอกในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน และจะทิ้งดอกและใบเหลือแต่เหง้าหรือลำต้นไว้ใต้ดินตลอดฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์รอเวลาเมื่อฝนแรกมาก็จะออกดอกอีกครั้ง
_
a day BULLETIN ร่วมกับคอมมูนิตี้มอลล์ Brio ถวายความอาลัยในหลวง รั ชกาลที่ 9 กับกิจกรรม ‘ปลูกดาวเรืองให้เรืองรอง‘ รับต้นดาวเรืองที่ปลูกอย่างพิถี พิถัน วันละ 999 ต้น
_
วันที่ 21-23 ต.ค. 2560 เวลา 10.30-20.00 น. ณ บรีโอ้ คอมมูนิตี้มอลล์ พุทธมณฑลสาย 4
ติดตามรายละเอียดได้ที่ ปลูกดาวเรืองให้เรืองรอง