ปีที่แล้ว คนโด มาริเอะ สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ในการจัดการข้าวของต่างๆ ภายในบ้านของเราด้วยแนวคิด KonMari (คอนมาริ) ที่อยู่ในหนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว นั่นคือ การหยิบของขึ้นมา และใช้เวลาไม่นานในการตอบตัวเองว่า ของชิ้นนั้นในมือเราสามารถสร้างความรู้สึก Spark joy ได้ไหม ถ้าใช่เก็บไว้ ถ้าไม่ก็โยนทิ้ง
The Beginning
หลักการคร่าวๆ ที่บอกไว้ในหนังสือเล่มแรกทำให้เรามุ่งมั่น เข้มแข็ง และต้องจำยอมเป็นคนใจทมิฬ ซึ่งผลที่ได้คือ ถุงดำใส่ของที่ไม่ได้ไปต่อในจำนวนสี่ถุงใหญ่ ซึ่งนี่เฉพาะแค่เสื้อผ้าที่ไม่ก่อให้เกิดความสุขใจสำหรับเราอีกต่อไปแล้ว (ที่บอกว่าต้องใจทมิฬเพราะคุณคนโดแนะนำว่าให้เอาของเหล่านั้นทิ้งไปเลย ไม่เก็บเอาไว้ ไม่ต้องอ้างว่าจะเอาไปบริจาคหรือบอกว่าเผื่อวันหลังต้องใช้ เพราะนั่นจะทำให้ของเหล่านั้นกลับมาอยู่ในห้องของคุณอีกครั้ง) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เมื่อจัดการข้าวของทั้งหมดที่มีตามกระบวนการนี้ ทำให้ห้องเราโล่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
แต่… เรามักจะหลงดีใจกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นครึ่งๆ กลางๆ จนสุดท้ายก็ปล่อยปละละเลยให้บ้านกลับมารกอีกครั้ง
“คุณจัดบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้วหรือยัง” ประโยคนี้เหมือนกับ คนโด มาริเอะ มาสะกิดไหล่เราเมื่อเปิด ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว 2 เล่มนี้
ปัญหาจากการเรียนวิชาจัดบ้านเมื่อเทอมก่อนของเราคือ การทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ และไม่ต่อเนื่อง รวมถึงการไม่สามารถจัดการกับข้าวของในหมวดของ ‘ความทรงจำ’ ได้ ซึ่งเป็นปัญหายากสุดที่หลายคนเคยเจอ คุณไม่อยากจะทิ้งรูปภาพที่ถ่ายคู่กับแฟนเก่าในอดีต คุณทำใจไม่ได้ที่จะทิ้งแผ่นซีดีรวมเพลงรักที่เคยมีคนบันทึกมาให้ ดูแววตาของตุ๊กตาหมีที่ฉันเคยได้รับเป็นของขวัญวันรับปริญญาตัวนั้นสิ มันดูละห้อยเหลือเกินเหมือนรู้ว่าฉันจะเอามันไปทิ้ง สารพัดข้ออ้างที่ทำให้เรายังเก็บของเหล่านั้นไว้อยู่ และกำลังจะถูกปรับทัศนคติใหม่ด้วยบทเรียนที่ 2 จากหนังสือเล่มนี้
กฎเหล็กของคนโด มาริเอะ คือ การจัดเรียงข้าวของให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน และทิ้งของที่ไม่ปลุกเร้าความสุขอีกต่อไป
‘บ้านรก’ กับ ‘บ้านเกิดโยโย่เอฟเฟ็กต์’ ไม่เหมือนกัน หลายคนคิดว่าการที่บ้านกลับมารกอีกครั้งนั้นคือ บ้านเกิดโยโย่เอฟเฟ็กต์ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ คนโด บอกไว้ว่า ถ้าคุณกำหนดจุดตายตัวของข้าวของเหล่านั้นไว้แล้ว (จากบทเรียนในเล่มแรก) การปล่อยให้บ้านรกบ้างนิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ขอแค่คุณอย่าท้อใจในความรกของบ้านและบอกตัวเองว่า ‘แค่มีเวลาสักสามสิบนาทีก็ทำให้บ้านเป็นระเบียบได้แล้ว’ การกำหนดตำแหน่งตายตัวให้ข้าวของทุกชิ้นในบ้าน คุณจะประสบความสำเร็จในการจัดบ้านแน่นอน
เพิ่มแรงจูงใจด้วยการ ‘ถ่ายรูปก่อนเริ่มจัดบ้าน’ ลองใช้กล้องถ่ายรูปหรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ ถ่ายรูปสภาพห้องที่รกรุงรังเก็บไว้ แน่นอนว่ารูปที่ได้จะทำให้เรารู้สึกท้อใจแบบสุดๆ แต่พอเราเริ่มจัดบ้านไปสักพัก เราจะลืมความรู้สึกเหล่านั้น เมื่อกลับมาดูรูปที่ถ่ายตอนแรกไว้เราจะรู้สึกทันทีว่า ‘ตอนนี้บ้านเริ่มเป็นระเบียบ และดูดีกว่าตอนแรกตั้งเยอะเลย’ ดังนั้น การจัดบ้านให้สำเร็จต้องไม่หวาดหวั่น ไม่เลิกกลางคัน และไม่ถอดใจ
‘มาสร้างบ้านที่ปลุกเร้าความสุขกันเถอะ’ คนโด มาริเอะ บอกว่าให้คุณเลิกคิดว่าตัวเองไม่ใช่นักออกแบบ ไม่ใช่นักจัดบ้าน เป็นแค่คนธรรมดาแล้วฉันจะไปจัดบ้านให้สวยๆ ได้อย่างไร เพราะแนวคิดของเธอนั้น เธอเชื่อว่า ยิ่งเป็นคนจัดบ้านไม่เก่งก็ยิ่งประสบความสำเร็จในการจัดบ้านมากขึ้นอีกเท่าตัว เพราะเมื่อเรารู้วิธีจัดบ้านที่ถูกต้องแล้ว ก็เหมือนเราปรับความคิดในสมองของตัวเองให้มีลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปในตัว และที่สำคัญ ‘เทพแห่งการจัดบ้าน’ จะไม่มีวันทอดทิ้งใคร แม้กระทั่งคนที่คิดว่าตัวเองไม่มีวันจัดบ้านได้สำเร็จชั่วชีวิตก็ตาม
แต่เทพองค์นี้จะช่วยเหลือเฉพาะคนที่ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะลงมือจัดบ้านเท่านั้น
ข้าวของที่เต็มไปด้วยความทรงจำคือ สิ่งที่ยากที่สุดในการจัดเก็บบ้าน
ห้องที่เรียบง่ายแต่กลับไม่มีของที่ปลุกเร้าความสุขให้ผู้อยู่อาศัย ฉันคิดว่าคุณควรทำให้ห้องเต็มไปด้วยข้าวของที่ปลุกเร้าความสุขให้ตัวเองมากกว่า – คนโด มาริเอะ
The Conclusion
แค่การจัดบ้านจะเปลี่ยนชีวิตได้ขนาดนั้นเลยเหรอ โม้หรือเปล่า พูดให้โอเวอร์เพื่อที่จะได้ขายหนังสือได้สินะ เราก็เคยคิดแบบนี้ แต่เมื่อเรียนรู้ถึงแนวคิด KonMari แล้ว คุณจะพบว่าตัวเองเปลี่ยนไป เหมือนกับห้องที่เคยรกแล้วกลายเป็นห้องใหม่ที่น่าอยู่ เพราะการจัดบ้านก็คือการจัดระเบียบความคิดในหัวของเรา สอนให้เรากล้าตัดสินใจที่จะ ‘เลือก’ และ ‘ไม่เลือก’ อะไร ช่วยจัดการกับระบบความคิดที่ทำให้ชีวิตยุ่งเหยิง ในหนังสือเล่มแรกคนโดบอกไว้ว่าการเคลียร์เอกสารต่างๆ ทิ้งไปให้หมด ถึงแม้จะมีเอกสารสำคัญติดไปด้วยโดยไม่รู้ตัวก็ไม่เป็นไร
เพราะเราจะใช้ ‘เวลา’ในการแก้ปัญหาที่เอกสารนั้นหายไปน้อยกว่าการนั่งรื้อหาเอกสารแผ่นนั้นทั้งวัน หรือในเล่ม 2 นี้ ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บของที่ ‘ไม่แน่ใจ’ ว่าควรทิ้งดีหรือไม่ เพราะชีวิตไม่จำเป็นต้องซ้ายจัดหรือขวาจัด ถ้าของชิ้นนั้นมีพลังในการปลุกเร้าความสุขให้เราแต่ไม่รู้ว่าจะเอามันไปใช้ประโยชน์อะไรได้ บางทีการทิ้งก็ไม่ใช่คำตอบเสมอไป ส่วนจะจัดการกับของชิ้นนี้อย่างไร คงต้องตามไปศึกษากันเองในหนังสือเล่มนี้
แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าไม่มีการเรียนรู้ไหนที่มีทางลัด ถ้าคุณยังไม่เคยอ่าน ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว เล่มแรก เราขอแนะนำให้คุณไปอ่านเสียก่อน แล้วค่อยมาเรียนรู้ ‘วิธีการครอบครองบ้านในฝันและชีวิตที่มีความสุขหลังจากทิ้งของที่ไม่ปลุกเร้าความสุขไปแล้ว’ ด้วยกัน
FYI
หนังสือชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว 2
สำนักพิมพ์ WE LEARN ราคา 195 บาท