“ในการที่จะใช้ชีวิตนี้ คนเราต้องเรียนรู้ที่จะทำอยู่สามอย่าง คือ รักแม้ในสิ่งที่รู้ว่าไม่เป็นนิรันดร, ประคองมั่นไว้แนบกายราวกับว่าทั้งชีวิตขึ้นอยู่กับรักนั้น และเมื่อถึงเวลาที่ต้องปล่อยมันไป — ก็ต้องปล่อยไป”
ตัวอักษรขนาดเล็กๆ บนผนังสีขาว ท่ามกลางข้าวของชิ้นเล็กชิ้นน้อย ตั้งแต่ตุ๊กตากระต่ายตัวมอมแมม ขนมปังขิงห่อพลาสติก กล่องไม้ขีดไฟ เสื้อบาสเกตบอล ไปจนกระทั่งรถสังกะสีเด็กเล่นคันเก่า ถูกจัดแสดงไว้กระจัดกระจายในห้องสีขาวเปล่าๆ พร้อมคำบรรยายใต้ภาพที่สั้นเป็นประโยคบ้าง ยาวเป็นจดหมายบ้าง ดูผ่านๆ คงไม่คิดว่าห้องแห่งนี้เรียกว่า ‘พิพิธภัณฑ์’
แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีอะไรคุ้นชินสักอย่างในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งแต่ชื่อ สิ่งของที่จัดแสดง วิธีการจัดวาง จะมีคุ้นอยู่บ้างก็เพียงเรื่องราวเบื้องหลังของสิ่งของเหล่านั้นที่มันช่างฟังดูคลับคล้ายคลับคลา ไม่ต่างจากเพลงรักดื่นดาษที่ต่างกันไปในเนื้อร้องและท่วงทำนอง ทว่าเนื้อนั้นหาวนเวียนไม่จบสิ้นระหว่างความรักที่สมหวัง หรือโดยมากคือผิดหวังในความรัก
Museum of Broken Relationships เป็นพิพิธภัณฑ์ภายในอาคารชั้นเดียวที่ตั้งอยู่ในซาเกร็บ (Zagreb) เมืองหลวงของประเทศโครเอเชีย ช่างดูตลกร้ายเหมือนกันนะที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกรายล้อมไปด้วยโบสถ์ประจำเมืองสองสามแห่ง สถานที่ที่มักเป็นจุดเริ่มต้นพิธีความรักให้ใครต่อใคร ราวกับจะบอกกลายๆ ว่าทุกการเริ่มต้นล้วนมีปลายทาง
และก็เป็นตลกร้ายอีกเรื่องเช่นกันที่ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้ คือ Olinka Vistina และ Drazen Grubisic นั้นเป็นคู่รักกันมาก่อน แต่สุดท้ายความรักของพวกเขาก็จบลง เหลือไว้แต่ ‘ของแทนใจ’ ที่เคยให้กันก่อนจบความสัมพันธ์ จนพวกเขาตัดสินใจที่จะจัดแสดงสิ่งของเหล่านั้น ให้เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้ทำอะไรร่วมกัน
กลายเป็นว่าหลังจากไอเดียนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ผู้คนมากมายต่างทยอยส่งของมาให้พวกเขา ราวกับว่ามีคนจำนวนมากรอวันที่จะได้ระบายและหาจุดจบให้สิ่งของเหล่านั้นมานานเต็มที จนผู้ก่อตั้งทั้งสองพบว่า การได้หา ‘จุดจบ’ ให้กับความสัมพันธ์และสิ่งของที่ยังคงเหลืออยู่นั้น เป็นวิธีการเยียวยาความเสียใจที่ไม่ว่าใครก็เคยเผชิญมาแล้ว แนวคิดของพวกเขาจึงได้รับการบอกต่ออย่างรวดเร็ว และตอนนี้ Museum of Broken Relationships ก็มีสาขาอยู่หลายประเทศทั่วโลก ด้วยความเป็นสากลของความรัก และเหรียญอีกด้านในนามของความเจ็บช้ำ
ซาเกร็บในวันนั้นฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เสียงฝนข้างนอกดูจะทำให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งของและเรื่องราวทีละเรื่องๆ ตั้งแต่ตุ๊กตาหนอนที่ขาครึ่งหนึ่งถูกดึงไป สิ่งของแทนใจระหว่างอดีตคู่รักระยะไกลที่เคยสัญญากันไว้ว่าทุกครั้งที่ใครคนหนึ่งต้องเดินทางห่างกันจะดึงขาตุ๊กตาออกทีละขา และในวันที่เจ้าหนอนนั้นถูกดึงขาจนหมดพวกเขาจะแต่งงานใช้ชีวิตด้วยกัน ไม่จากกันไปไกลอีก และแน่นอน การที่มันมานอนนิ่งกลายเป็นหนอนขาด้วนในพิพิธภัณฑ์นี้ได้ ก็บอกได้ชัดว่าสุดท้ายแล้วรักของเขาก็ไปไม่สุดทาง
ถัดมาคือด้ามขวานที่ถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือเยียวยา’ ทำลายข้าวของทีละชิ้น ในวันที่อดีตคนรักเพิ่งจะย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันแต่เขากลับพบรักใหม่กะทันหันกับคนที่เพิ่งเจอกันได้สามสัปดาห์ เจ้าของเรื่องเล่าว่า บ้านที่เต็มไปด้วยข้าวของที่ถูกสับให้กลายเป็นซาก เป็นดั่งภาพสะท้อนจิตใจของเขาในตอนนั้น
ไปจนถึงกุญแจโบราณรูปหัวใจที่ดูจะไขอะไรไม่ได้เลย… “คุณพร่ำบอกฉันว่ารัก ดูแล ใส่ใจ คอยให้ของขวัญชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ขาด และนี่ก็เป็นแค่เพียงสิ่งหนึ่งในบรรดาข้าวของกองนั้น—กุญแจสู่หัวใจ—คุณเรียกมันว่าอย่างนั้น หากฉันไม่เคยรู้สึกว่าเข้าถึงคุณได้เลย จากการที่คุณปฏิเสธทุกครั้งที่เราจะร่วมรักกัน ฉันไม่เคยเข้าใจเลยว่านั่นคือการแสดงความรักของคุณที่มากแค่ไหน ในวันที่หมอบอกว่าคุณจากไปด้วยเชื้อเอชไอวี”
ถ้าใครจะบอกว่าก็แค่มนุษย์สองคนที่แยกทางไป ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่ โลกไม่ได้ถล่ม และฟ้าไม่ได้สลาย… ก็ไม่ผิดนัก แต่เอาเข้าจริงแล้วพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับรางวัลมาแล้วมากมายทั้งในแง่ความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ ไปจนถึงการเป็นหลักฐานสะท้อนให้เห็นว่าความเปราะบางทางสถานการณ์สังคม การเมืองในช่วงนั้นส่งผลโดยตรงต่อชีวิตผู้คนมากแค่ไหน ผ่านเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่ต้องจบไปในความไม่มั่นคงของโลก
เช่น ชุดแต่งงานของผู้หญิงตุรกีที่สูญเสียว่าที่สามีของเธอในวันที่พวกเขากำลังจะแต่งงานกัน หลังฝ่ายชายตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายที่สนามบินอิสตันบูลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา…
ฝนยังไม่หยุดตก ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบใดๆ เดินอ่านเรื่องราวไปเรื่อยในห้องสีขาวแห่งนี้ จนมาถึงสิ่งของชิ้นท้ายๆ ที่เป็นโหลแก้วใส่ชุดแต่งงานที่ครั้งหนึ่งคงเคยเป็นสีขาวหากในวันนี้สีเริ่มเทาขุ่นมัว “โหลนี้บรรจุช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดของความสัมพันธ์เราไว้ในวันแต่งงาน ฉันไม่รู้จะทำยังไงกับมันในวันที่ความสัมพันธ์จบลง มันไม่ควรที่จะถูกทิ้งไป ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ควรที่จะถูกจดจำ”
เดินมาเรื่อยเปื่อยจนถึงห้องสุดท้าย และหยุดยืนอยู่หน้าจดหมายฉบับเก่า ที่มีข้อความเขียนไว้เพียงว่า “Have a good life.” (ขอให้มีชีวิตที่ดี)
หรือความจริงแล้วในน้ำเสียงประชดประชัน ในความต้องการที่บอกโลกว่าอยากจะลืม ลึกๆ เราต่างล้วนอยากจะหาทางแช่แข็งความทรงจำนั้นไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าครั้งหนึ่งมันเคยเกิดขึ้น หรือให้เพียงพอที่จะไม่ต้องยอมรับความจริงว่า บางอย่างที่หายไปแล้วนั้น ไม่ได้หายไปตลอดกาล…