บิตคอยน์

Future of World Currency | ทำไมบิตคอยน์จึงเป็นความหวังใหม่ของสกุลเงินโลก?

จากบิตคอยน์หมื่นหน่วยที่ใช้จ่ายค่าพิซซ่าได้เพียงสองถาดในปี ค.ศ. 2009 กลายมาเป็นบิตคอยน์ที่มีมูลค่าหน่วยละสองแสนกว่าบาท แซงหน้าราคาทองคำไปแล้วในปี ค.ศ. 2017 ด้วยมูลค่าที่สูงขึ้นมาก โดยใช้เวลาเพียงสิบปี และไม่ต้องซื้อขายผ่านธนาคาร ทำให้บิตคอยน์กลายเป็นสกุลเงินดิจิตอล หรือ Cryptocurrency ที่เนื้อหอมมากในขณะนี้ แม้จะเป็นสกุลเงินดาวรุ่งมาแรง แต่ยังคงมีการถกเถียงกันถึงเรื่องความปลอดภัย และความมั่นคงของบิตคอยน์อยู่ตลอดเวลา

     ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม โลกของเรายังไม่มีสื่อกลางที่ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของ จึงใช้ระบบ Barter System หรือที่เรียกว่า ‘ระบบยื่นหมู ยื่นแมว’ ยกตัวอย่างเช่น บ้านเรามีข้าวสารก็นำไปแลกกับเนื้อสัตว์ของอีกบ้าน เป็นการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต้องการภายในครัวเรือน เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดข้อจำกัดของการแลกเปลี่ยนขึ้น เช่น สัตว์โตไม่ทันกับความต้องการข้าว มนุษย์จึงหันไปหาสิ่งที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งก็คือ ‘ทองคำ’

     เกณฑ์ง่ายๆ ที่คนใช้เลือกสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้ามีอยู่ 3 ข้อ คือ 1. แบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ 2. ปลอมแปลงไม่ได้ และ 3. หายาก ซึ่ง ‘ทองคำ’ มีคุณสมบัติครบทุกประการ ผู้คนจึงเริ่มใช้ทองคำแลกเปลี่ยนสินค้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยุ่งยากที่ต้องพกทองคำไปซื้อของ คนเราจึงสร้างตั๋วทองคำขึ้นมา และเก็บทองคำไว้เป็นหลักประกันแทน

     ปี ค.ศ. 1935 ตั๋วทองคำได้พัฒนาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังประเทศต่างๆ ได้ทำข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods Agreements) ซึ่งใช้ทองคำเป็นหลักประกันเงินสด โดยทองคำ 1 ออนซ์ มีค่าเท่ากับ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่แล้วระบบเงินตราก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อสหรัฐฯ ล้มเหลวทางเศรษฐกิจอย่างมาก หลังเหตุการณ์สงครามเวียดนาม ทำให้ต้องมีนโยบายพยุงเศรษฐกิจของประเทศโดยการพิมพ์ธนบัตรออกมาเป็นจำนวนมาก เมื่อประเทศอื่นทยอยซื้อทองคำคืนจากสหรัฐฯ ทำให้มีทองไม่พอที่จะขาย สหรัฐฯ จึงยกเลิกการผูกทองคำกับเงินดอลลาร์ฯ ไปโดยปริยาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการใช้ธนบัตรเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอย่างเต็มรูปแบบ

     แม้ทุกวันนี้ระบบแลกเปลี่ยนจะค่อนข้างมีความมั่นคงแล้ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ เช่น ระบบไม่ได้ให้ความเสรีกับมนุษย์อย่างเต็มร้อย เนื่องจากมีรัฐบาลเข้ามาควบคุม มีธนาคารเป็นพ่อค้าคนกลางที่ได้ผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมต่างๆ จึงทำให้เกิดการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนเงินตราที่เรียกว่า Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิตอลขึ้นมา

     สกุลเงินดิจิตอลถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปลดแอกการแลกเปลี่ยนเงินตราจากอำนาจของรัฐและพ่อค้าคนกลาง เดิมทีการโอนเงิน ผู้โอนต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับธนาคาร แต่สกุลเงินดิจิตอลนั้นเอื้อให้เราสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างเสรี และเงินที่ควรจะเป็นของพ่อค้าคนกลางอย่างธนาคาร จะถูกกระจายไปในระบบดิจิตอลนั้นแทน
 
บิตคอยน์
 
     สกุลเงินดิจิตอลมีหลายสกุลมาก แต่ที่กำลังเนื้อหอมที่สุดในบรรดานักลงทุนเห็นจะเป็น บิตคอยน์ สกุลเงินดิจิตอลสกุลแรกที่ถูกสร้างโดย ชายปริศนาชื่อ ซาโตชิ นากาโมโตะ บิตคอยน์มีคุณสมบัติของการเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนทุกประการ คือ แบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ ปลอมแปลงไม่ได้ และหายาก

      แบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ บิตคอยน์มีหน่วยเป็น บิตคอยน์ (BTC) และมีหน่วยย่อยคือ มิลลิบิตคอยน์ (Millibitcoin) และซาโตชิ (Satoshi)

      ปลอมแปลงไม่ได้ คุณสมบัติข้อนี้ถือเป็นคุณสมบัติเด่นของบิตคอยน์เลยก็ว่าได้ แม้จะเป็นสกุลเงินออนไลน์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่บิตคอยน์นั้นถูกวางระบบมาอย่างแน่นหนา โดนแฮ็กได้ยากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบิตคอยน์จะมีระบบที่ชื่อว่า Blockchain ที่ให้ผู้ใช้แต่ละบัญชีทำหน้าที่เสมือนพยานในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนระบบ หรือที่ทางศัพท์เทคนิคเรียกว่า นักขุด (Miner) และผู้ใช้เหล่านี้จะได้ค่าตอบแทนเป็นบิตคอยน์

      หายาก หากต้องการได้บิตคอยน์มาครอบครองก็ต้องเริ่มต้นจากการสมัครบัญชีและใช้เงินซื้อบิตคอยน์ หรือจะสมัครบัญชีเพื่อไปเป็นนักขุดก็ได้

 

     แม้ Cryptocurrency จะมีการวางระบบที่รัดกุม เป็นอิสระจากพ่อค้าคนกลางและปลดแอกระบบจากรัฐบาล แต่การใช้เงินดิจิตอลแบบสมบูรณ์มีแนวโน้มเป็นอุคมคติสูงมาก แม้ในทางเทคโนโลยีจะสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นแทบเป็นไม่ได้เลย ถึงเป็นไปได้แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน เพราะเรายังมีรัฐบาลที่บริหารด้านการเงินและมีนโยบายที่คอยแก้ไขปัญหาต่างๆ หากทั้งโลกใช้สกุลเงินบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ อย่างเต็มรูปแบบ นั่นหมายความว่าเราจะไม่สามารถนำนโยบายทางเศรษฐกิจเหล่านั้นมาแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นได้เลย และประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจก็จะไม่สามารถพยุงตัวเองได้ นั่นเป็นสาเหตุที่หลายๆ ประเทศยังไม่อนุญาตให้ใช้บิตคอยน์อย่างถูกกฎหมาย

     การเปลี่ยนระบบสกุลเงินจากสกุลหนึ่งมาเป็นอีกสกุลหนึ่งต้องใช้ความเชื่อใจสูงมาก เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อไหร่เราสิ้นความเชื่อมั่นในสกุลเงินหนึ่ง เราจะย้ายไปพึ่งพาเงินอีกสกุลหนึ่งทันที ในตอนนี้ Cryptocurrency ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นอย่างเต็มร้อย โลกเรายังคงเชื่อมั่นในสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์ฯ อยู่ ข้อจำกัดข้อนี้จึงเป็นเหมือนกำแพงบางๆ ที่กีดกันการเจริญเติบโตของเงินดิจิตอล ปัจจุบันการใช้สกุลเงินเหล่านี้จึงอยู่ในรูปแบบการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน มากกว่าจะนำมาซื้อสินค้าโดยตรง

     “คนส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อในบิตคอยน์ แต่เข้ามาเก็งกำไรมากกว่า ผลดีคือมันทำให้สังคมเริ่มตระหนักว่ามีสิ่งนี้เกิดขึ้น แต่เราต้องเรียนรู้และเข้าใจว่าข้อเท็จจริงของมันคืออะไร มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันช่วยแก้ปัญหาได้ แต่มันก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมาได้เหมือนกัน ทุกวันนี้ปัญหาเยอะมาก เพราะค่าโอนแพง บิตคอยน์ก็เป็นแค่สกุลเงินหนึ่ง อนาคตอาจมีสิ่งอื่นเข้ามาเพิ่มก็ได้”

     ข้อมูลข้างอิงจากการบรรยายในหัวข้อ The New Wave that will change the way we live โดยคุณนิรันดร์ ประวิทย์ธนา ประธานบริหารและผู้ก่อตั้ง Ava Advisory บนเวที Creative Talk Live 2018 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2018

     ข้อมูลเพิ่มเติมงาน Creative Talk Live 2018 ที่ www.facebook.com/creativetalklive
 


เรื่อง: วิชิตา คะแนนสิน