‘ระบบการศึกษาไทย’ ปมปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด

ยอมรับว่าตื่นเต้นมากเมื่อรู้ว่าโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งเปิดภาคเรียนแรกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นโรงเรียนแนวใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ รวมถึงพยายามแก้ไขปัญหากระบวนการวัดเกรดแบบเก่าที่ทำให้เด็กต้องแข่งขันกันจนไม่สามารถค้นพบความถนัดของตัวเอง จึงอยากชวนคุณมามองย้อนถึงสถานการณ์ ‘ระบบการศึกษาไทย’ ในปัจจุบัน ท่ามกลางปัญหาที่ทับถมกันมานาน เราจะเริ่มแก้ไขมันอย่างไรได้บ้าง

 

การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก

เนลสัน แมนเดลา

 

จากผลการทดสอบ PISA (Program for International Student Assessment) ปี 2015 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 54 จากผู้เข้าร่วมโครงการราว 70 ประเทศ โดยคะแนนเฉลี่ยของเราอยู่ที่ 421 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 500 คะแนนของประเทศพัฒนาแล้ว หรือหากเทียบกับสิงคโปร์ที่ทำได้ 560 คะแนน เรายังตามหลังสิงคโปร์อยู่ราว 5 ปี

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิงคโปร์ครองอันดับหนึ่งในด้านการศึกษาคือ การลงทุนอย่างมากกับการสร้างบุคลากรครูที่มีคุณภาพ โดยจะคัดเลือกจากผู้ที่จบการศึกษาด้วยผลการเรียนที่ดีที่สุดและผ่านการอบรมจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติ

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าประเทศไทยจะทุ่มให้กับการศึกษาน้อยกว่าประเทศอื่นแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมา เราลงทุนกับการศึกษากว่า 4% ของ GDP แถมมีชั่วโมงเรียนกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี รวมถึงเพิ่มเงินเดือนครูและเพิ่มการคัดกรองครูอย่างเป็นระบบมากขึ้น แล้วทำไมเราถึงยังรั้งท้ายอยู่…

องค์กรยูเนสโกแนะนำว่า ชั่วโมงเรียนที่เหมาะสม แท้จริงแล้วอยู่ที่ประมาณ 800 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น หรือหากเทียบกับฟินแลนด์ที่เรียนแค่ปีละ 600-700 ชั่วโมง เราเรียนมากกว่าเขาถึง 500 ชั่วโมง!

 

ทั้งๆ ที่เราเรียนมากกว่า แต่ผลการเรียนกลับแย่ลง ไม่นานมานี้จึงมีการออกนโยบาย ‘ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้’ เพื่อให้เด็กไทยเลิกเรียนเร็วขึ้น และนำเวลานั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ในด้านอื่นๆ แต่สุดท้าย นโยบายนี้ก็เงียบไป เพราะนำไปปฏิบัติจริงได้แค่การลดเวลาเรียน แต่ไม่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบว่าจะเพิ่มเวลารู้อย่างไร ทำให้ถึงแม้ว่าเลิกเรียนแล้ว เด็กก็ยังถูกกักให้ทำกิจกรรมต่อ โดยเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนเป็นฝ่ายกำหนดอยู่ดี

 

นอกจากนี้ วัฒนธรรมการศึกษาที่ยกย่องเด็กเก่งยังทำให้เกิดช่องว่างที่ห่างออกไปเรื่อยๆ ระหว่างเด็กที่มีเกรดเฉลี่ยสูงและเกรดเฉลี่ยต่ำ ทั้งๆ ที่เด็กแต่ละคนอาจมีความถนัดที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งระบบการศึกษาที่อิงเกรดแบบนี้ นอกจากจะทำให้การศึกษาไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงแล้ว ยังทำให้เด็กนักเรียนมุ่งความสนใจไปที่คะแนนมากกว่าการพยายามหาความชอบและความถนัดของตัวเองอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ความหวังด้านการศึกษาไทยก็ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทีเดียว เห็นได้จากการเปิดตัวโรงเรียนทางเลือกใหม่ๆ และการพัฒนาความสามารถของครูที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งยังคงต้องรอดูกันต่อไปในระยะยาว

 

ที่มา:

www.bbc.com

www.nationmultimedia.com

www.bangkokpost.com

www.thairath.co.th

satit.tu.ac.th