The Journey of IKIGAI | ตื่นเช้าๆ เพื่อไปทำสิ่งที่เรารัก

ในขณะที่ Buzzword คุ้นหูหลายคำในวงการสตาร์ทอัพของกลุ่มคนทำงานวัยหนุ่มสาว อย่างเช่น Disrupt, Lean, Pivot, Datification, Scalability ฯลฯ ส่วนใหญ่มักจะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและการโต้ตอบอย่างรวดเร็วฉับพลัน เพื่อการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ทันสมัย และสามารถแข่งขันได้ในโลกยุคเทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้คนรุุ่นใหม่มาต่อสู้กันอย่างน่าตื่นเต้นเร้าใจ

คาดว่าในปีนี้ Buzzword ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า Ikigai น่าจะเข้ามาครองใจคนหนุ่มสาวกันมากขึ้น เพราะมันไม่ได้ใช้แค่อธิบายคอนเซ็ปต์ด้านการทำงานในมิติของการต่อสู้แข่งขันกับโลกภายนอกเท่านั้น แต่มันหันกลับมาให้คุณค่าทางด้านจิตใจภายในมากขึ้น เป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ช่วยให้คนหนุ่มสาวได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ค้นหาเส้นทางต่อไปข้างหน้า เป็นภูมิปัญญาเก่าแก่ดั้งเดิมมาจากสังคมญี่ปุ่น ที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับโลกสมัยใหม่ได้อย่างเหมาะเจาะ

     เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นัทธินี แซ่โฮ หรือดอร่า ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษาและสตาร์ทอัพ เพิ่งจะจัดเวิร์กช็อปเล็กๆ ชื่อ The Journey of Ikigai – ทางที่ใช่ในแบบของเรา ที่ Learn Hub โคเวิร์กกิ้งสเปซแถวสยามสแควร์ ชวนคนรุ่นใหม่มานั่งแชร์ไอเดียและประสบการณ์ร่วมกัน ลองค้นหนหาอิคิไกของแต่ละคน เพื่อจะได้นำไปใช้ในการทำงานหรือริเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว ได้อย่างมีความสุขและความสำเร็จ

     ดอร่า เล่าถึงหนังสือสองเล่ม Ikigai: The Japanese secret to a long and happy life โดย Hector Garcia, Francesc Miralles และ The Little Book of Ikigai: The secret Japanese way to live a happy and long life โดย Ken Mogi ว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับคนสนใจในเรื่องอิคิไก และคนหนุ่มสาวทุกคนน่าจะได้อ่านกันตั้งแต่เมื่อเข้าสู่เริ่มต้นทำงาน เพื่อจะได้เรียนรู้ตัวเองได้เร็ว และค้นหาสิ่งที่ตนเองรักได้ก่อน

ikigai

ikigai

     อิคิไกเป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น แปลว่าเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ คำนี้ประกอบด้วย อิคิ แปลว่าชีวิต และ ไก แปลว่าเหตุผล คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คุ้นเคยและรู้จักคำนี้ดี และพวกเขาเองก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ได้สนใจหรือคิดถึงมันเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกเข้าไปในระบบความคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณี และกิจวัตรประจำวันของพวกเขาไปแล้ว เหมือนกับคำศัพท์ในแต่ละบริบททางสังคม เช่นคำว่า เกรงใจ ในสังคมไทย ที่เรารู้และเข้าใจมันอย่างดี ถือปฏิบัติกันเป็นพื้นฐาน ไม่ได้มองว่ามันพิเศษหรือแตกต่างจากชาติอื่น ทั้งที่จริงแล้ว คำศัพท์ที่ฝังรากอยู่ในวัฒนธรรมเหล่านี้มีความพิเศษและมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนอย่างลึกซึ้ง

     ตัวอย่างยอดนิยมเวลามีคนจะพูดถึงเรื่องอิคิไก ก็ต้องอ้างถึง จิโร่ โอโนะ เชฟซูชิระดับมิชลินสตาร์ 3 ดาวที่มีอายุมากที่สุดในโลก และเป็นที่รู้จักกันดีจากหนังสารคดี Jiro Dream of Sushi รวมถึงการที่เขาเป็นข่าวโด่งดังระดับโลก เมื่อปี 2014 ตอนที่ประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลจัดสถานที่เลี้ยงต้อนรับแบบสบายๆ ที่ร้านซูชิแห่งนี้ เชฟจิโร่ทำงานปั้นซูชิมาตั้งแต่วัยหนุ่ม และยังทำงานอยู่จนถึงอายุเก้าสิบกว่า เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะทำงานนี้ไปจนวันตาย

     การได้ทำงานที่เรารัก ทำให้เรามีความสุขภายในอย่างลึกซึ้ง จนแทบไม่ถือว่ามันเป็นการทำงาน ไม่ได้แยกพาร์ตของเวิร์กสไตล์ออกจากพาร์ตของไลฟ์สไตล์ แต่ผสานหลอมรวมกันอย่างแยกไม่ออก แทบไม่มีการแยกระหว่างวันหยุดเสาร์อาทิตย์กับวันทำงานจันทร์ถึงศุกร์ ไม่มีการแยกเวลาตอกบัตรเข้างาน-เลิกงาน ออกจากเวลาพักผ่อนหย่อนใจหลังเลิกงาน มันทำให้เราทำงานหนัก ฝึกฝน ขัดเกลา และทำงานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยความรักในงานจริงๆ

     นี่คือเหตุผลว่าทำไมการตื่นแต่เช้าทุกวันเพื่อเริ่มต้นการทำงานในวันใหม่ ไม่ใช่เรื่องยากของคนที่มีอิคิไกภายในใจ เทียบกับคนทำงานโดยทั่วไปที่ไม่ได้รักในงาน แค่ถือว่าเป็นการหาเลี้ยงชีพเท่านั้น เขามองเวลางานแยกขาดจากการใช้ชีวิต จึงทำให้รู้สึกอิดๆ ออดๆ กับเสียงนาฬิกาปลุกในตอนเช้า เหนื่อยล้ากลับมานอนแผ่หราหน้าจอทีวีที่บ้านในตอนค่ำ และรู้สึกหดหู่ซึมเซาในตอนเย็นวันอาทิตย์ ที่จินตนาการว่าจะต้องกลับไปทำงานในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

     หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งล่าสุดที่เทคโนโลยีดิจิตอลสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วไปจากเดิม คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่กำลังถูกดึงดูดเข้าไปทำงานในโลกธุรกิจแนวใหม่ ก็จำเป็นต้องมีอิคิไกเช่นเดียวกัน ไม่แตกต่างจากวิธีคิดของจิโร่ โอโนะ พวกเขาต้องทำความรู้จักตัวเอง และค้นหาสิ่งที่ตัวเองรัก เพื่อจะได้ทำงานในโลกยุคนี้ได้อย่างมีความสุข

     การค้นหาอิคิไก ถูกตีแผ่ออกมาเป็นแผนภาพที่เราหลายคนอาจจะเคยเห็นกันแล้ว มันคือวงกลมสี่วงที่วาดมาตัดกัน วงกลมของสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราทำได้ดี สิ่งที่เราทำแล้วได้เงิน และสิ่งที่เราทำแล้วเป็นประโยชน์ต่อโลก เมื่อเราคิดทบทวนภายในใจตัวเองอย่างลึกซึ้งเพียงพอ ก็จะเจอจุดตัดของวงกลมทั้งสี่ได้ และนี่คืออิคิไกของเรา – งานที่เรารัก งานที่เราทำได้ดี งานที่เราทำแล้วได้เงิน และงานที่โลกได้ประโยชน์

ikigai

     ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปีท้ายๆ ที่ใกล้จะเรียนจบ อีกส่วนหนึ่งเป็นคนหนุ่มสาวที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานมาเพียงไม่กี่ปี และมีอีกเล็กน้อยเป็นผู้ใหญ่อายุ 30-40 ปี มีประสบการณ์การทำงานมานาน แต่ก็ยังต้องการค้นหาสิ่งที่ตนรักต่อไปเรื่อยๆ นี่สะท้อนให้เห็นว่า อิคิไกเป็นคอนเซ็ปต์ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกวัย และในทุกรูปแบบการทำงาน

     ดอร่ามีความเห็นว่า กระบวนการค้นหาอิคิไกด้วยแผนภาพวงกลมสี่วง คล้ายกับกระบวนการ Self Reffllection คือทบทวนชีวิตตัวเองในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำมาประมวลหาสิ่งที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม กระบวนการ Self Reffllection นั้นทำได้ตลอดเวลา และทุกคนควรทำตลอดทั้งชีวิต เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามช่วงวัยและความสนใจในแต่ละยุคสมัย

     เธอเล่าถึงการ Connecting The Dots ของตัวเอง เริ่มที่เรียนมัธยมจากโรงเรียนนานาชาติ เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยของไทย ทำให้เธอเห็นถึงความแตกต่างกันของระบบการศึกษา ที่ลงรากลึกถึงไปถึงปรัชญาของการศึกษา และนั่นทำให้เธอในวัยสามสิบกว่าๆ หันมาเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพเป็นแนวธุรกิจเพื่อสังคม และเน้นหนักสินค้าบริการทางด้านการศึกษา

     ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปแต่ละคนสามารถเล่าเรื่องราวชีวิตและหาทาง Connecting The Dots ของตัวเอง เพื่อจะนำไปสู่อิคิไกได้เช่นกัน ด้วยการทำเวิร์กช็อปสนุกๆ หลายอย่าง

     Deep Listening – การเล่าเรื่องและรับฟังกันและกัน เพื่อสะท้อนว่าเราเห็นตัวเองอย่างไร และคนอื่นมองเราอย่างไร

     Why – การตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดว่า ‘ทำไม’ ถามว่าทำไมต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อหาที่มาของปัญหาที่ลึกที่สุดในใจ

     Gratitude Card Game – การกล่าวขอบคุณ ชื่นชมสิ่งรอบตัว เพื่อสร้างความคิดแง่ดี การมองโลกในมุมบวก

     ในท้ายที่สุด ดอร่ามีความเชื่อว่า อิคิไก เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตของเรา เราทุกคนอาจจะไม่โชคดีที่ค้นพบงานที่รักที่สุดในชีวิตเพียงงานเดียวตั้งแต่ตอนเป็นหนุ่มสาว โอกาสที่เราจะเป็นเหมือนจิโร่ โอโนะ ที่ทำงานปั้นซูชิตลอดทั้งชีวิตนั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก ถ้าเรามองว่าการค้นหาอิคิไกเป็นกระบวนการ Self Reffllection ที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถหาจุดตัดของวงกลมสี่วงนั้นได้หลายครั้ง หลายแบบ หลายงาน

     ขอเพียงเราหมั่นทบทวนตัวเอง ว่ากำลังมีความสุขอยู่กับสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้หรือไม่ ถ้าไม่ เป็นเพราะอะไร และเราจะค้นหาสิ่งที่รักต่อไปได้อย่างไร หรืออย่างน้อยที่สุด ก็มองหาแง่ดี มองมุมบวก แสดงความชื่นชม และขอบคุณสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อจะได้กลับมาตกหลุมรักมันอีกครั้ง