จากชีวิตคนเคยยี้ ‘iPhone’ สู่การเข้าใจศิลปะการตัดทอนที่อาจจะเป็นคำตอบของชีวิต

หลายคนคงตื่นเต้นไปกับการเปิดตัว iPhone X พร้อมทั้งรู้คุณสมบัติใหม่ๆ กันจนทะลุปรุโปร่งไปแล้ว เราเลยจะไม่ขอพูดถึงความล้ำ ซึ่งก็มีบางคนตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ที่ ทิม คุก เคลมว่าเป็น “สมาร์ตโฟนแห่งอนาคต” มันสมกับการรอคอยของแฟนบอยในวาระครบรอบสิบปีของไอโฟนหรือเปล่า เราจึงอยากชวนคุยถึงเรื่องราวเกี่ยวกับไอโฟน ในฐานะประจักษ์พยานของผลิตผลที่ได้รับแนวคิดการตัดทอนแบบมินิมอลิสม์ และเป็นสิ่งที่เข้ามาอยู่ในชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลก

 

01

ย้อนนึกไปถึงบทสนทนากับเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรามักจิกกัดเพื่อนที่ใช้ไอโฟนด้วยคำพูดติดตลกว่า “ซื้อก็บ้าแล้ว… มือถืออะไรวะ หน้าจอมีอยู่ปุ่มเดียว ไม่เห็นคุ้มเลย” วันนั้นเราหัวเราะกัน

ตัดภาพกลับมาปัจจุบัน…

เพื่อนผมคนนั้นมี iPhone 7+ ตัวท็อปสุด ส่วนผมมีรุ่นที่เก่ากว่าเขาหนึ่งปี ยอมรับว่าความเสถียรและระบบการใช้งานที่ง่ายแต่ทรงประสิทธิภาพ ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น (ใครเคยผ่านมือถือแอนดรอยด์ตกรุ่นคงเข้าใจดี)

ผมเริ่มสนใจเรื่องราวเบื้องหลังไอโฟนในมือ และคิดว่ามันเปลี่ยนทัศนคติผมไปพอสมควร

จุดเริ่มต้นของไอโฟนเกิดจากไอเดียของ สตีฟ จอบส์ หลังฉลองความสำเร็จของไอพอด (ที่เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมเพลงขนานใหญ่) ได้ไม่นาน เขาก็รู้ตัวว่าถ้าไม่กระโดดลงมาพัฒนาโทรศัพท์มือถือ ไอพอดจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เหมือนที่กล้องมือถือกำลังทำลายอุตสาหกรรมกล้องดิจิตอลอยู่ในเวลานั้น จอบส์จึงเริ่มพัฒนามือถือเครื่องแรกร่วมกับค่ายโมโตโรลา เกิดเป็นมือถือรุ่น ROKR E1 ที่ผสานคุณสมบัติการฟังเพลงของไอพอดเข้าไป แต่มือถือรุ่นนั้นกลับไร้ปรัชญามินิมอลิสม์แบบแอปเปิ้ลเจือปน หน้าตาของโทรศัพท์ที่ดูเทอะทะ และศักยภาพที่จุเพลงได้เพียง 100 เพลงเท่านั้น แน่นอนมันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

iPhone

02

หลังความล้มเหลวที่ทำให้จอบส์แตกหักกับโมโตโรลา เขากลับมาหารือกับทีมและเริ่มพัฒนามือถือเครื่องแรกของพวกเขาอีกครั้ง (พยายามลืมๆ ROKR E1 กันไปก่อน) ในหนังสือ Steve Jobs ที่เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน เล่าว่าแนวคิดสำคัญในการสร้างไอโฟนเวลานั้น มาจากที่จอบส์พร่ำบ่นตลอดเวลาว่าเกลียดโทรศัพท์ที่ใช้อยู่มากแค่ไหน “มันไร้สมอง” และที่สำคัญคือ “มันซับซ้อนเกินไป”

หลังจากจุดไอเดียนี้กับทีมงาน นำโดย จอนนี ไอฟ์ (หัวหน้าทีมวิศวกรที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์มากมายของแอปเปิ้ล ตั้งแต่คอมพิวเตอร์แมค ยันแอปเปิ้ลวอตช์) และไม่กี่เดือนต่อมาไอฟ์ก็เติมเต็มความคิดของจอบส์ด้วยเทคโนโยลี ‘มัลติทัช’ ที่เปิดโลกใหม่ ให้เราลากนิ้วควบคุมหน้าจอมือถือได้อย่างอิสระ ตัดความยุ่งเหยิงและความน่าเกลียดของปุ่มกดโทรศัพท์ออกไป แน่นอนหลักการสำคัญของแนวคิดมินิมอลิสม์ได้ถูกนำมาใช้ ‘จงตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก’

iPhone

03

หลังจากการเปิดตัว iPhone ในปี 2007 ถึงปลายปี 2010 ไอโฟนทำยอดขายไปได้กว่า 90 ล้านเครื่องทั่วโลก พร้อมส่วนแบ่งในตลาดมือถือครึ่งหนึ่งจากทั่วโลก ทำให้ทุกค่ายวิ่งเข้าหาคำว่าสมาร์ตโฟน และดิ้นรนคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาแข่งขันกันตลอดเวลา เทคโนโลยีในมือถืออัพเดตกันเป็นซีซันไม่ต่างกับสินค้าแฟชั่น และแน่นอนปุ่มมือถือถูกถอดออกไปจนแทบหมด

ใน iPhone X แนวคิดการตัดทอนถูกนำมาใช้อีกครั้ง ปุ่มกดเพียงปุ่มเดียวที่ผมเคยใช้จิกกัดคนอื่นถูกนำออกไป เหลือไว้เพียงหน้าจอเรียบๆ และเทคโนโลยีที่เราควบคุมทุกอย่างได้จากบนนั้น (แม้จะคุ้นๆ ว่ามือถืออีกค่ายเพิ่งใช้ไอเดียเดียวกันไปไม่กี่เดือนก่อน)

ผมย้อนนึกถึงตัวเองกับเพื่อนในวันนั้นอีกครั้ง ว่าสุดท้ายทำไมเราถึงยอมรับปรัชญาของแอปเปิ้ล เพราะอะไร?

พอมานั่งนึกดีๆ แล้ว สมัยเป็นนักเรียน ความยุ่งเหยิงในชีวิตของเราถูกตีกรอบให้อยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม ขอบเขตชีวิตที่เราสามารถวัดความกว้าง ความยาว ความสูงได้ ยังพอที่จะทำให้เรารับมือและเติมชีวิตด้วยความยุ่งเหยิงด้านอื่นๆ (เพื่อน-แฟน-และแฟนเพื่อน)

แต่มาถึงวัยทำมาหากิน เมื่อถึงจุดตัดในวันหนึ่ง เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่ามีสิ่งต่างๆ ที่ไม่แน่นอนพร้อมจะวิ่งเข้าเราหาตลอดเวลา และมักจะควบคุมมันไม่ได้ ชีวิตเลยอาจไม่ใช่การเพิ่มเติมความสุข แต่เป็นการตัดทอนความยุ่งยากออกไป เหมือนที่แอปเปิ้ลทำต่างหาก

แต่ติดอยู่ที่ตัวช่วยในการตัดปัญหาของแอปเปิ้ลครั้งนี้ สนนราคาอยู่ 999$ หรือประมาณ 35,000 บาทกว่าๆ เปรียบเทียบก็เหมือนเงินเดือนด็กจบใหม่ 2 เดือนเท่านั้นเอง…