หลังจากที่ผู้คนในศตวรรษที่ 20 ได้รู้จักกับเซน (Zen) นิกายหนึ่งในศาสนาพุทธมหายาน การใช้ชีวิตแบบ ‘เรียบง่าย’ และ ‘สงบ’ ก็ดูจะกลายเป็นเป้าหมายชีวิตของคนยุคใหม่ไปโดยอัตโนมัติ เราต่างตามหาความสุขความสบายใจในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความเร็ว และปัญหาที่คลี่คลายไม่ได้ จนเมื่อปี 2016 แนวคิดการมีความสุขเรียบง่ายได้ย้ายจากทวีปเอเชียตะวันออกไปยังแถบสแกนดิเนเวีย ทำให้เราได้รู้จักกับฮุกกะ (Hygge) ความสุขแบบที่คนเดนมาร์กใช้ต่อสู้กับหน้าหนาวอันยาวนานของพวกเขา โดยคอนเซ็ปต์ของฮุกกะคือความสบาย (coziness) ที่ไม่ได้หมายถึงความสบายกายที่ได้กินอิ่มนอนหลับเท่านั้น แต่รวมไปถึงความสบายใจและสมดุลทางจิตใจที่ดีอีกด้วย
ในปีเดียวกัน ฮุกกะเดินทางจากประเทศเดนมาร์กไปทางตะวันตกจนเป็นที่ยอมรับทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก หนังสือเกี่ยวกับฮุกกะหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์และติดอันดับยอดขายอันดับ 1 สินค้านานาชนิดยึดแนวคิดนี้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เทียนหอม ผ้าพันคอ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ แต่ไม่ใช่สำหรับปีนี้ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมา ในขณะกระแสฮุกกะเริ่มแผ่วลงเรื่อยๆ เรื่องราวของลากอม (Lagom) แนวคิดความสุขของประเทศข้างๆ อย่างสวีเดนก็เริ่มได้รับการกล่าวขานมากขึ้น
ลากอมคือคำวิเศษณ์ภาษาสวีดิช มีความหมายว่า ไม่มากไม่น้อย หรือที่คนไทยอาจจะคุ้นเคยกันในคำจำกัดความว่า ทางสายกลาง ลากอมกับฮุกกะไม่เหมือนกัน ฮุกกะให้ความสำคัญกับความรู้สึก ส่วนลากอมเน้นความพอประมาณเป็นหลัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ชาวสวีเดนส่วนใหญ่จะเลือกดื่มนมที่มีไขมัน 1.5 เปอร์เซ็นต์ เพราะพวกเขามองว่ามีไขมันไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป มันอยู่ในปริมาณที่ ‘just right’
คอนเซ็ปต์นี้ไม่ได้อยู่ในสวีเดนที่เดียว มันเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปทั่วโลกผ่านโปรเจ็กต์ของอิเกีย บริษัทเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ ชื่อ Live Lagom เชิญชวนให้คนบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะเท่าที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร พลังงาน น้ำ หรือขยะ โดยเชื่อว่า ถ้าทุกคนเข้าใจลากอมอย่างแท้จริงจะช่วยให้ความคิดที่มีต่อความยั่งยืนของสรรพสิ่งในโลกเปลี่ยนไปด้วย
“
ในโลกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและความขัดแย้ง ลากอมอยู่ตรงกลาง มันทำให้คนมีความสุขและมีสุขภาพดีไปด้วยในเวลาเดียวกัน – Niels Eék, ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชัน Remente
”
นอกจากนี้ ลากอมยังเป็นแรงบันดาลใจให้สองสามีภรรยาจากเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งนิตยสารไลฟ์สไตล์ชื่อ Lagom เมื่อสามปีก่อน เน้นนำเสนอเรื่องความสมดุลของชีวิตจากมุมมองนักเขียนทั่วโลก หรือแม้แต่บริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Neo Technology ในแคลิฟอร์เนียก็ยังนำแนวคิดแบบลากอมไปใช้ในองค์กร โดยยกเลิกการประเมินผลรายเดือน เพราะเชื่อว่าความกดดันนี้จะบังคับให้คนทำงานหนักขึ้นอย่างไร้ประสิทธิภาพ หรืออย่างโครงการ Noble Ambience Sukhumvit 26 ในบ้านเราเองก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดลากอมเช่นเดียวกัน จากการนำความหมายของที่อยู่อาศัยมาปรับใช้กับนิยามความสุขแบบคนสวีเดน โดยลดทอนความไม่จำเป็นจากการดีไซน์ออกจนเหลือแต่ความพอดีที่ลงตัวที่สุด
Lagom ar bast สุภาษิตเก่าแก่ของสวีเดนที่แปลตรงตัวว่า Lagom is best หรือลากอมดีที่สุด จะจริงหรือไม่คงขึ้นอยู่แต่ละตัวบุคคล เพราะว่ากันตามตรงแล้ว ‘ความพอดี’ ของแต่ละคนก็มีปริมาณไม่เท่ากัน และการจะมีความสุขหรือไม่นั้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวคิดใดๆ เลยก็ได้