ค่าแรงขั้นต่ำ

Minimum Wage | การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดีขึ้นจริงหรือ?

หนึ่งในหนทางที่จะช่วยให้ผู้ใช้แรงงานไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้จ้างงาน คือการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำอย่างเป็นธรรม ท่ามกลางค่าครองชีพที่นับวันก็ยิ่งสูงขึ้น

ล่าสุด คณะกรรมการค่าจ้างจึงได้ออกมาประกาศว่า จะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี พ.ศ. 2561 ทุกจังหวัด อยู่ที่ประมาณ 5-22 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป เราจึงอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจ กฏหมายแรงงานขั้นต่ำของประเทศไทยกันสักหน่อย เพื่อไม่ให้พวกเราเหล่าแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างอย่างไม่เป็นธรรม (อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว)

     ค่าแรงขั้นต่ำหรือ Minimum Wage คือผลตอบแทนขั้นต่ำสุดที่ลูกจ้างจะได้รับตามกฎหมาย ซึ่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ว่านี้ ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศหรือพื้นที่ ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ต่างๆ ในการพิจารณา เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่า ผู้ใช้แรงงานแต่ละจังหวัดของประเทศไทยเองก็ได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากัน โดยหลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำปี พ.ศ. 2561

ค่าแรงขั้นต่ำ

จังหวัดที่ได้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง โดยได้เพิ่มเป็น 330 บาท/วัน

จังหวัดที่ได้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี โดยได้เพิ่มเป็น 308 บาท/วัน

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้รับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 325 บาท/วัน

หลังจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ค่าเฉลี่ยของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศจะอยู่ที่ 315.97 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำ

1. ภูเก็ต     2. ชลบุรี     3. ระยอง     4. นราธิวาส     5. ยะลา     6. ปัตตานี
7. กรุงเทพฯ     8. นนทบุรี     9. ปทุมธานี     10. นครปฐม     11. สมุทรปราการ     12. สมุทรสาคร

 

     ที่เป็นเช่นนี้ พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึงเกณฑ์ในการพิจารณาปรับขั้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยยึดกรอบของแต่ละจังหวัด จากอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ โดยปกติอัตราค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยจะถูกกำหนด โดยคณะกรรมการค่าจ้างภายใต้ระบบไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง

     การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ของประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี พ.ศ. 2556) โดยปรับขึ้นเป็น 300 บาท/วัน เท่ากันทั่วประเทศ นับเป็นการปรับที่เฉียบพลันและสูงมากที่สุดเป็นประวัติการ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออก เพราะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ ที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าจ้างแรงงานเหมือนประเทศไทย

     เหตุผลดั้งเดิมของการมีอยู่ของแรงงานขั้นต่ำ คือเพื่อควบคุมให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างอย่างยุติธรรม ด้วยค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับแรงงานที่ได้ไปในภาคการผลิต และการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้น ก็เพื่อผ่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลง รวมถึงการันตีคุณภาพชีวิตของแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่แก้ได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยการให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเท่านั้น เช่น การเพิ่มสวัสดิการ ไปจนถึงความพร้อมสมบูรณ์ของระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น

     แต่ก็ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นประเด็นที่ผูกโยงกับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้มักเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ถูกถกเถียงกันมายาวนานนับสิบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราว่างงานต่ำ ช่วงหาเสียง ผลัดเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ไปจนถึงช่วงที่สังคมเริ่มระส่ำระส่ายกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ดังนั้นการปรับค่าแรงขั้นต่ำจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมทางการผลิตและกลไกตลาดของประเทศ
 
“ผมมองว่าเรายังมีหลักฐานน้อยเกินไปที่จะบุ่มบ่ามปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างฉับพลันและปรับในอัตราสูง และที่จริงแล้วมันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพราะเป้าหมายสูงสุดของเราไม่ใช่การบังคับแบบ command and control ให้เกิดงานทักษะต่ำจำนวนมากขึ้น เพียงเพื่อที่จะให้แรงงานไทยทักษะต่ำยังชีพได้ เราต้องการให้พวกเขามีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อที่เขาจะได้มีโอกาสได้งานที่สร้างผลิตผลมากขึ้น จำเจน้อยลง และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นไปตามลำดับต่างหาก” – ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com และคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

ค่าแรงขั้นต่ำ


ที่มา :
www.thairath.co.th
thaipublica.org
www.stock2morrow.com