มหากาพย์จักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ เมื่อดีซีแป้ก มาร์เวลปัง เกิดอะไรขึ้น? แฟนๆ ถึงกับงง

หลายคนคงได้ดูเทรลเลอร์ Avengers : Infinity War มหากาพย์ซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์จากค่ายมาร์เวลกันไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าแฟนๆ หลายคนคงรู้สึกไฮป์รอดูภาพยนตร์แบบเต็มๆ กันแทบไม่ไหว กลับกันภาพยนตร์รวมซูเปอร์ฮีโร่อีกค่ายอย่าง Justice League ที่เปิดตัวในอเมริกาไปได้แค่ $93,842,239 ต่ำที่สุดในบรรดาหนังในจักรวาลภาพยนตร์ของดีซี ในขณะที่ Thor: Ragnarok ที่เข้าฉายก่อนหน้าไม่นานทำรายได้ไปถึง $759,254,643 (อัพเดตล่าสุด วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560)

เป็นคำถามของแฟนๆ ดีซี ว่าอะไรที่ทำให้ภาพยนตร์จากค่ายตัวเองแป้กกว่าอีกค่ายแบบรุนแรงขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ย้อนไปในช่วงต้นปี 2000 ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ไตรภาคของค่ายดีซีอย่าง Batman Trilogy (ที่ได้เสด็จพ่อโนแลนมาเนรมิตร) ได้รับเสียงวิจารณ์และรายได้มหาศาล ขณะที่มาร์เวล เร่ขายลิขสิทธิ์ตัวละครหลักให้กับสตูดิโออื่นๆ อย่างเช่น สไปเดอร์แมน ซึ่งกระโดดไปมาระหว่างค่ายโคลัมเบียพิคเจอร์ และโซนี่พิคเจอร์ แต่มาร์เวลได้ส่วนแบ่งจากเค้กไปเพียงน้อยนิด

ซูเปอร์ฮีโร่

จุดเปลี่ยนของค่ายมาร์เวล มาจากโปรเจ็กต์อภิมหายักษ์ใหญ่ในการเชื่อมจักรวาลฮีโร่ในค่ายตัวเองในชื่อ Marvel Cinematic Universe (MCU) โดยปูรากฐานจักรวาลจากตัวละครทั้งเกรดเอและเกรดบีหลายเรื่อง Ironman (2008), The Incredible Hulk (2008), Thor 1 (2011) และ Captain America : The First Avengers (2011) รวมทั้งการดึงลิขสิทธิ์ตัวละครของตัวเองกลับมา จนสามารถสร้างรูปแบบการรับรู้ชวนให้ติดตาม เช่น การวางอีสเตอร์เอกต่างๆ ไว้ในเรื่อง ให้แฟนๆ เฝ้าติดตามและคาดเดา พร้อมกับมีเซอร์ไพรส์ที่สร้างวัฒนธรรมการนั่งดูเอนด์เครดิตให้เกิดขึ้น ก่อนพีกสุดๆ กับภาพยนตร์รวมฮีโร่อย่าง The Avengers (2012) ที่ทำสถิติเป็นภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่ทำเงินสูงที่สุดในโลกกว่า $1,518,594,910

ซูเปอร์ฮีโร่

จุดแตกต่างที่ชี้วัดความสำเร็จของทั้งสองค่ายมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ

1. ความละเอียดในการเชื่อมโยงจักรวาล ที่ผ่านมาค่ายดีซีไม่เคยมองการรวมจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของตัวเองเลย และเฉลิมฉลองความสำเร็จกับซูเปอร์ฮีโร่เป็นเรื่องๆ เท่านั้น (แถมจริงๆ ใช้งานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่ Bat man กับ Superman) การสตาร์ทจักรวาลของตัวเองแบบปุปปัปที่ใช้เวลาเพียง 4 ปี หลังเปิดจักรวาลเรื่อง Man of Steel (2013) และกระโดดสู่หนังใหญ่ของตัวเองแบบ Justice League กลายเป็นการวิ่งหาสูตรสำเร็จแบบตีหัวเข้าบ้านในเวลาที่สั้นเกินไป ทำให้ภาพยนตร์ของดีซีทำออกมาแบบประดักประเดิดมากๆ

2. ค่ายดีซีทิ้งจุดเด่นตัวเอง ในโลกของคอมมิก ข้อแตกต่างสำคัญที่เห็นได้ชัดของตัวละครสองจักรวาลคือมู้ดแอนด์โทนและความซับซ้อนของเนื้อเรื่อง ค่ายดีซีนั้นได้รับการยอมรับในเวอร์ชันคอมมิกว่าความเข้มข้นเป็นจุดเด่นหลัก ทำให้แฟนๆ ของสองค่ายมีลักษณะความชอบแตกต่างกันชัดเจน ค่ายหนึ่งเอนจอยกับความเกรียนตลกโปกฮาของ Deadpool ส่วนอีกค่ายหลงรักการด่ำดิ่งไปในความดาร์กของตัวละครอย่าง Batman ซึ่งแฟนๆ ดีซีคงจำความเจ็บปวดจากมุกตลกแบบฝืนๆ ใน Batman v Superman : Dawn of Justice (2016) กันได้ดี

อย่างไรก็ตามในธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งคอมมิก ภาพยนตร์ หรือแม้แต่กีฬา การมีคู่แข่งที่พอฟัดพอเหวี่ยงให้เปรียบเทียบนั้นสำคัญมากๆ การนั่งดูทีมฟุตบอลที่เก่งอยู่ทีมเดียวในลีก เชื่อเถอะว่าไม่นานคนดูก็เบื่อ การแข่งขันที่สูสีเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างสีสันให้วงการ หวังว่าค่ายดีซีจะกลับไปหาจุดเด่นและสร้างมาตรฐานในการแข่งขันในแบบของตัวเองได้อีกครั้ง

ซูเปอร์ฮีโร่

7 อันดับภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ทำเงินสูงสุดในโลก

1. Marvel’s The Avengers $1,518,800,000 (Marvel)

2. Avengers: Age of Ultron $1,405.400,000 (Marvel)

3. Iron Man 3 $1,214.800,000 (Marvel)

4. Captain America: Civil War $1,153.300,000 (Marvel)

5. The Dark Knight Rises $1,084.900,000 (DC)

6. The Dark Knight $1,004.600,000 (DC)

7. Spider-Man 3 $890,900,000 (Marvel)

ที่มา: www.boxofficemojo.com

_

FYI
_

Superman เป็นตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ตัวแรกของโลก ถูกสร้างในปี 1938 โดย นักเขียน เจอร์รี ชีเกล และวาดโดย โจ ชูสเตอร์ ที่ได้รับแรงบัลดาลใจการออกแบบตัวละครจากเทพนิยายอย่าง แซมชั่น และ เฮอร์คิวลิส ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดขึ้นของซูเปอร์แมนนั้นได้รับอิทธิพลมาจากสภาพของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสังคมอเมริกา ผู้สร้างตั้งใจให้ซูเปอร์แมนเป็นเสมือนตัวแทนของผู้คนในสังคมที่ต้องเผชิญกับพวกนักธุรกิจและนักการเมือง ที่จ้องจะเอาเปรียบประชาชนด้วยวิธีต่างๆ