นอนอยู่บ้านก็ปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ เรื่องน่ารู้ในการใช้ชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม

        ถ้าวันนี้เรายังนิ่งเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันต่อไป อนาคตข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบนี้อาจคาดเดาได้ไม่ยากแต่ถ้าอยากจะเห็นภาพมากขึ้น ลองดูการคาดการณ์สถานการณ์จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่มองว่าโลกในปี 2050 ปัญหาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission) จะเพิ่มขึ้นอีก 50% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 และความเข้มข้นของ GHGs (ก๊าซเรือนกระจก หรือ Greenhouse Gases) ในชั้นบรรยากาศจะเพิ่มขึ้นถึง 685 ppm CO2 เทียบเท่า ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 3 ถึง 6 องศาเซลเซียส สูงกว่าช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายในสิ้นศตวรรษนี้ ดังนั้นเราลองมาเริ่มต้นช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันแบบง่ายๆ จากการสังเกตกิจวัตรประจำวันของตัวเองกันว่า มีส่วนที่สร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ออกมามากน้อยเพียงใด และจะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันได้อย่างไร

การนอนตีพุงดูหนังดูซีรีส์อยู่บ้านก็ปล่อยคาร์บอนออกมาได้นะ

        นอกจากคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ปล่อยออกมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น หรือพัดลมในบ้านแล้ว การนั่งๆ นอนๆ ดูซีรีส์ก็ทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้เหมือนกัน โดยจากการวิเคราะห์ของ International Energy Agency (IEA) ได้ประมานการไว้ว่าใน 1 ชั่วโมงของการดูหนังหรือซีรีส์ผ่านช่องทาง streaming ต่างๆ จะมีการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ออกมาที่ 36 kg CO2e ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ก็ตาม แต่ถ้าเอาจำนวนคนดูในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว ก็จะเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่เหมือนกัน 

        ถ้าเราลองเพิ่มกิจกรรมอย่างอื่นเข้าไประหว่างดูซีรีส์ เช่น หยิบช็อกโกแลตแท่งมากินไปด้วย ก็มีตัวเลขของการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน โดยในกระบวนการผลิตดาร์กช็อกโกแลตแท่งขนาด 50 กรัม จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงประมาณ 0.95 kg CO2e หรือเท่ากับเราขับรถพลังงานสันดาปในระยะทาง 4.8 กิโลเมตร และถ้าเป็นช็อกโกแลตนมจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากยิ่งขึ้น 

        แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะตอนนี้มีองค์กรหลายแห่ง เช่น สหภาพยุโรป, Barry Callebaut และ Nestle ได้พัฒนากระบวนการผลิตช็อกโกแลตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตจะมีการระบุจำนวนคาร์บอนไว้บนฉลาก เพื่อให้เราสามารถซื้อช็อกโกแลตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างสบายใจได้ 

อะโวคาโด การเดินทางที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล

        อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกายเราสูง และทำให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของ Food miles หรือระยะทางอาหารที่ถูกขนส่งจากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค ที่มีตัวเลขน่าตกใจอยู่ไม่น้อยด้วยเช่นกัน 

        โดยเส้นทางการปลูกและขนส่งอะโวคาโดนั้น รวมๆ แล้วมีระยะทางที่มากถึง 71 ล้านไมล์ ซึ่งกระบวนการที่กว่าอะโวคาโดจะถึงมือเรานั้นทำให้เกิดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ที่สูงมาก โดยอะโวคาโดจำนวน 2 ลูก สามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 846.36 กรัม ยังไม่นับเรื่องของการเก็บรักษาที่ต้องใช้อุณหภูมิเฉพาะซึ่งต้องใช้พลังงานในการควบคุมบรรยากาศ ส่วนกระบวนการเพาะปลูกนั้นก็ต้องใช้น้ำมากถึง 9.5 พันล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศเม็กซิโกซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของอะโวคาโด เนื่องจากมีการสกัดน้ำในระหว่างการเพาะปลูกเจ้าทองคำสีเขียวของชาวเม็กซิโกนั่นเอง 

        มีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในระยะเวลา 7 ปี การบริโภคอะโวคาโดจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งปัจจุบันจะมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 8 ปอนด์ต่อคน ต่อไปเมื่อความต้องการอะโวคาโดสูงขึ้น อาจจะนำไปสู่การการตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงการเผาและถางป่าเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกอะโวคาโดเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ของโลกด้วย

แค่เปิดใช้ Dark Mode ก็ลดการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้

        Dark Mode คือ ฟังก์ชันการปรับพื้นหลังให้เป็นสีดำ สำหรับคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแทบเล็ตที่ใช้จอแสดงผลแบบ OLED ซึ่งจะทำการดับแสงสว่างในส่วนที่เป็นสีดำซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน ยืดอายุแบตเตอรี่ และถนอมสายตาให้เราด้วย ส่วนผลพลอยได้อีกอย่างคือ เป็นการลด คาร์บอนฟุตพรินต์ง่ายๆ ด้วยตัวเราเองโดยที่ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตประจำวันเลย และแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลายก็มีฟังก์ชัน Dark Mode ในแอพพลิเคชันของตัวเองให้เลือกเปิดใช้งานด้วย เช่น Instagram, Youtube, Facebook, Messenger และ Google เป็นต้น  

        เรื่องราวที่หยิบมาฝากนี้เป็นข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรารู้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาได้โดยไม่ได้ตั้งใจ และหากเราสามารถช่วยกันคนละเล็กละน้อยในการลดการเกิดคาร์บอนฟุตพรินต์ลงได้ ก็จะเป็นผลดีต่อทุกสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้ด้วย ส่วนใครที่อยากรู้เรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและข้อมูลที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ลองเข้าไปติดตามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก NetZeroCarbon