the101.world จัดงานเสวนา 101 Minute เรื่อง Happy New You คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อใครสักคน โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, จักรพันธุ์ ขวัญมงคล และ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ดำเนินรายการโดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เมื่อ วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2561 ณ Starbucks สาขาสวนเพลินมาร์เก็ต
มาถอดรหัสสเตตัสปณิธานปีใหม่ว่ามันมีความหมายว่าอย่างไร โดยบรรณาธิการของเรา วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
ปีใหม่เป็นเรื่องสมมติ
ในโลกสมัยใหม่ ลัทธิมนุษยนิยมสอนให้เรารู้ถึงความสามารถและศักยภาพของตัวเอง ปีใหม่ในทางศาสนาคือความฉิบหาย วันคืนล่วงไป เราใกล้ความตาย เราใกล้วันพิพากษา แต่ปีใหม่ของสังคมสมัยใหม่ เราต้องไต่เต้าขึ้นไป พัฒนาขึ้นไป เราจึงอยากจะเฉลิมฉลองความสุขความสำเร็จ ศักยภาพของมนุษย์
ปี ค.ศ. 2000 ไปเคานต์ดาวน์ ผู้คนตื่นเต้นกันมากว่าโลกจะแตก ผมไปยืนอยู่ตรงหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ บนเวทีมีการแสดงดนตรีเฉลิมฉลอง พอใกล้วินาทีสิ้นปี คนนับถอยหลัง 10 9 8 7 จนถึง 0 ปุ๊บ ทุกคนไชโยโฮ่ร้อง แต่พอหันไปทางขวามือ บนยอดตึกใบหยกประตูน้ำ เราเห็นนาฬิกาอีกเรือนหนึ่งซึ่งเวลาไม่ตรงกัน ยังเหลืออีกสามวินาทีจึงจะปีใหม่ ตรงนั้นทำให้ผมเข้าใจเลยว่าปีใหม่คือการสมมติ จะดีใจ จะเสียใจ ขึ้นกับตัวเลขนับถอยหลัง มันไม่ใช่ความจริงเลย แต่คือการสมมติตกลงกัน
ช่วงหลังๆ มานี้ พอถึงกลางเดือนธันวาคม เรามักจะเห็นมหกรรมตั้งปณิธานปีใหม่กันในโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าเรามานั่งคิดดีๆ จะพบว่าเหลืออีกแค่ 11 เดือน ก็จะถึงวันปีใหม่อีกครั้งได้เตรียมปณิธานปีใหม่ของปีหน้ากันเอาไว้หรือยัง มนุษย์เป็นสัตว์แห่งนิสัย เราจะมีชีวิตอย่างไร เราจะตายอย่างไร ขึ้นอยู่กับนิสัยของเราล้วนๆ แต่ละวันได้ผ่านพ้นไป เรารู้ตัวว่ามีนิสัยอะไรแย่ๆ มากมายที่ไม่สามารถข้ามพ้นไปได้ เราจึงอยากจะยึดเอาจุดของเวลาที่พิเศษๆ ที่เราใช้ในการเฉลิมฉลองมีความสุข มาเป็นหลักไมล์ในการเริ่มต้นนิสัยใหม่
แต่สิ่งที่ย้อนแย้งมากคือ ในเดือนธันวาคม เรามาตั้งสเตตัสว่าในปีหน้าเราเปลี่ยนแปลงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งที่จริงแล้วมันก็คือการผัดวันประกันพรุ่งเหมือนเดิม เพื่อที่เราจะได้มีนิสัยแบบเดิมต่อไปอีกนิดหนึ่ง ถ้าเราจะเปลี่ยนจริงๆ เราเปลี่ยนตัวเองได้เลย ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอปีใหม่ ไม่ต้องตั้งปณิธานปีใหม่
นิสัยไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนได้ง่าย เพียงแค่เขียนสเตตัสปณิธานปีใหม่ เพื่อบอกว่าปีหน้าฉันจะออกกำลังกาย ปีหน้าฉันจะอย่างนั้นอย่างนี้ นิสัยไม่ได้เปลี่ยนแบบนั้น นิสัยเปลี่ยนแปลงโดยใช้เวลายาวนานมาก เรียกว่า Coming of Age ไม่ใช่ว่าธันวาคมบอกว่าฉันจะเปลี่ยนนิสัย แล้วมกราคมฉันจะเปลี่ยนแปลงได้ มันต้องใช้เวลาเป็นปี เป็นสิบปี วัยเด็กกลายเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเข้าสู่วัยทำงาน วัฏจักรในการเปลี่ยนแปลงนิสัยต้องใช้เวลายาวกว่านั้น
ปณิธานที่อวดกันในโซเชียลมีเดีย
ช่วงเทศกาลปีใหม่เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยตั้งแซะคนที่ชอบตั้งสเตตัสปณิธานปีใหม่ บอกว่า คุณยังไม่เข้าใจอีกหรือว่าตั้งปณิธานไปแล้วก็ไม่ได้อะไร เพราะวันที่สองมกราคมเปิดงานไปคุณก็กรีดร้องกันเหมือนเดิม
มี TED Talk ของ Alain De Botton เขาพูดถึงสิ่งเดียวกันนี้ คือตอนเย็นวันอาทิตย์ คุณจะรู้สึกดาวน์มากๆ ไม่อยากไปทำงานเลย เพราะทุนนิยมบีบให้เราเป็นแบบนั้น เราต่างจ้างกันและกันให้ทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ แล้วก็เรียกเจ้าสิ่งนั้นว่างาน มันแสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลภายในใจ เรื่องที่เราวิตกกังวลในสังคมสมัยใหม่ก็มีไม่กี่เรื่อง ยิ่งคุณหมกมุ่นกับการตั้งสเตตัสปณิธานปีใหม่มากเท่าไร มันก็แสดงให้เห็นว่าคุณกำลังวิตกกังวลภายในใจมากเท่านั้น
นอกจากสเตตัสปณิธานปีใหม่ มันมักจะมีสเตตัสอีกแบบ คือการสรุปความสำเร็จในรอบปี เช่น ถ้าผมจะสรุปรอบปีนี้ ขอบคุณ 101 ที่เชิญมาเป็นวิทยากรตั้งแต่เดือนแรกของปี แล้วก็จะแท็กวิทยากรทุกคน เพราะผมรู้ว่าคนเหล่านี้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อที่สเตตัสของผมจะได้ไปปรากฏบนหน้าวอลล์ของพวกเขา ปีที่ผ่านๆ มา ผมได้รับการแท็กเยอะมากจากเพื่อนที่เขียนสเตตัสสรุปรอบปี ขอบคุณพี่อ๋องอย่างนั้้น ขอบคุณพี่อ๋องอย่างนี้ ผมเห็นเพื่อนคนนี้เป็นนักเขียนชื่อดัง ก็รีบกดรับการแท็ก เพราะเขาอุตส่าห์เมนชั่นถึงเรา มีเพื่อนอีกคนไม่โด่งดังอะไร ก็คิดนิดหนึ่ง รับดีไหม ก็กดรับไปเพราะกลัวว่าเขาจะน้อยใจ
ผมพูดเรื่องพวกนี้ฟังดูเหมือนประชดประชัน แต่จริงๆ แล้วผมพยายามจะแชร์ความรู้สึกนึกคิดภายในใจจริงๆ ออกมาให้ทุกคนได้รู้ได้เห็น ว่าทั้งหมดที่เรากำลังโพสต์และแท็กกันไปมา มันสะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลต่อสถานะทางสังคมของเราเอง คุณกดไลก์ให้ปณิธานของผมเท่าไหร่ คุณรับแท็กขอบคุณของผมเท่าไหร่ มันคือ currency แบบใหม่ที่หมุนเวียนอยู่ในสังคมร่วมสมัย และมันจะยิ่งทำให้เราวิตกกังวลต่อตัวเองมากขึ้นไป แต่ละปีก็จะมีแต่ผู้คนออกมาอวดว่าฉันประสบความสำเร็จแบบนั้นแบบนี้ ในปีหน้าฉันจะปรับปรุงและยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นไปกว่าเดิม เราก็จะยิ่งแข่งขันมากขึ้นไป
เช่น ผมบอกว่าปีที่ผ่านมาเหนื่อยมากเลย วันเสาร์อาทิตย์ต้องมาเดินสายพูดตามงานเสวนาแบบนี้ เหนื่อยมากเลย ปีหน้าผมจะงดแล้ว ไม่ไปพูดตามงานเสวนาแล้ว อยากจะใช้วันเสาร์อาทิตย์อย่างมีคุณภาพกับครอบครัว หรือผมจะบอกว่า ปีที่ผ่านมาเหนื่อยมากเลย เดินทางไปทั่วโลก ปีหน้าผมอยากมีชีวิตสงบสุขอยู่กับบ้านบ้าง คือสเตตัสพวกนี้ มันเป็นการ humblebrag คืออวดตัวด้วยการถ่อมตัว ผมจึงคิดว่าการตั้งสเตตัสปณิธานปีใหม่ มันไม่ได้ให้อะไรกับเราหรอก เพราะมันไม่ใช่อะไรเลย นอกจากการอวด และจะยิ่งทำให้เราต่างคนต่างแข่งขันกัน และกระวนกระวาย วิตกกังวลมากขึ้น
ปณิธานของผม
ปณิธานของผมคือ 1. ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ 2. …
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ผมปล่อยความกระวนกระวายและวิตกกังวล ออกไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมไม่ค่อยเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ไม่งั้น ทุกงานสัปดาห์หนังสือประจำปี ผมจะรู้สึกเป็นทุกข์มากๆ ที่เราไม่มีผลงานอะไรเลย เพราะนักเขียนทั่วฟ้าเมืองไทย จะต้องนำชีวิตการงานของเขามาอวดในโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็จะเปรียบเทียบ อิจฉาริษยา หลังๆ มานี้ New Year New You สำหรับผม คือผมไม่มานั่งเปรียบเทียบความสุขความสำเร็จกับคนอื่นแล้ว มันทำให้ผมสบายใจ
สังคมสมัยใหม่บีบพวกเราให้มุ่งไปสู่คุณค่าชุดเดียว คือคุณค่าในเรื่องงาน เราจะมีคุณค่าเมื่อทำงานได้เยอะ เราจึงต้องแข่งกันทำงาน และปณิธานปีใหม่ก็มักจะเกี่ยวกับความสำเร็จในเรื่องงาน ถ้าคนที่ไม่มีงานทำ คนเกษียณแล้ว คนเหล่านี้จะไม่สามารถหาคุณค่าของตัวเองได้เลย
เหมือนกับในหนัง The Lunchbox มีตัวละครหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏตัวเลยในหนัง เพื่อนบ้านที่อยู่ชั้นบน นอนป่วยอยู่บนเตียง ชีวิตแบบนั้นคือไม่มีคุณค่าเหลืออีกเลยในสังคมทุนนิยม สังคมสมัยใหม่ ในขณะที่หนังทั้งเรื่อง บอกเล่าถึงการหมุนเวียนของปิ่นโตอาหารกลางวัน ปิ่นโตเป็น currency ของสังคมนี้ นางเอกของเรื่องค้นพบคุณค่าของตัวเอง ด้วยการทำอาหารใส่ปิ่นโต แล้วส่งไปหมุนเวียนในระบบนี้
สังคมสมัยใหม่บีบให้เรามีชีวิตยืนยาวเกินไป วิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้เราอายุยืนขึ้น โดยที่เราเกษียณไปแล้ว แต่ยังหาคุณค่าของตัวเองไม่เจอ และเรายังไม่ตายเสียที เราจะอยู่ในสภาวะนั้นนานมาก คือหลังอายุ 60 เป็นต้นไป กว่าจะตายก็ต้องอายุราวๆ 80 ผมเคยคุยเล่นๆ กับภรรยา ว่า เราจะทำงานจนถึงอายุ 55 ปี เก็บตังค์ให้ได้ก้อนใหญ่ แล้วจะออกเดินทางรอบโลก ท่องเที่ยวนาน 5 ปี จนเงินหมดแล้วเราก็จะกลับมาบ้านตอนอายุ 60 แล้วเราจะฆ่าตัวตายพร้อมกัน ตอนนี้่ผมอายุ 40 ตัวเองยังมีคุณค่าอยู่ เพราะทำงานได้ มีเงินเดือน แล้วก็จับจ่ายเงินออกไป
ผมอยากจะเล่าเรื่องแม่ให้ฟังอีกนิดหนึ่ง เขาเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับการทำกับข้าว เพราะเขาเป็นแม่บ้าน ทำงานบ้าน ทำกับข้าวมาทั้งชีวิต เพื่อให้ลูกกิน ให้สามีกิน เพื่อสามีจะได้ไปทำงาน ลูกๆ จะได้ไปโรงเรียน คุณค่าในชีวิตของเขาคือการทำกับข้าว จนถึงจุดที่เขาแก่ชรา ความสามารถในการทำกับข้าวก็ลดลง จนทำกับข้าวเองไม่ไหวอีกต่อไป ผมบอกเขาว่าไม่ต้องทำแล้ว เดี๋ยวจะหกล้มหกลุก
ผมซื้อกับข้าวจากข้างนอกบ้านมาให้เขากิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เขาจะหงุดหงิด โกรธ และคอยวิพากษ์วิจารณ์กับข้าวที่ผมซื้อเข้าไป มันเกินไป เค็มเกินไป สกปรก ไม่สะอาด ไม่น่ากิน คือราวกับว่าเขาอยากจะทำกับข้าวต่อไปเรื่อยๆ เพราะนั่นคือคุณค่าเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตวัย 80 ปีของเขา และนี่คือตัวอย่างของชีวิตเรา ว่าไม่ว่าจะวัยไหน เราก็ต้องค้นหางาน หรือค้นหาอะไรบางอย่าง มาเป็นคุณค่าเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป