มิลเลนเนียล

WHY? | คุยไปเรื่อย แต่ไม่เห็นคบใครสักที! ทำไมหนุ่มสาวชาวมิลเลนเนียลถึงกลัวความสัมพันธ์

หากเทียบกับคนรุ่น Baby Boomers หรือ Gen Xers คนรุ่นมิลเลนเนียล (บุคคลที่เกิดช่วง ค.ศ. 1981-2000) เป็นกลุ่มคนที่แต่งงานหรือมีลูกช้ากว่าคนกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด บางคนก็ดูเหมือนมีคนคุยอยู่ตลอด แต่ไม่ยอมตกลงปลงใจคบใครจริงจังสักที จนนักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า คนสมัยนี้เป็นพวกกลัวการผูกมัด หรือ Commitment-Phobes มาสำรวจกันดีกว่าว่า คนมิลเลนเนียลเป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ และเพราะอะไรถึงทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้น

มิลเลนเนียล

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) เผยว่า สถิติการแต่งงานของคนรุ่นมิลเลนเนียลลดลงเหลือเพียงร้อยละ 70  เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนน้อยลงมากเมื่อเทียบกับ Baby Boomers (ร้อยละ 91), Late Boomers (ร้อยละ 87) และ Gen Xers (ร้อยละ 82) นอกจากนี้ คนกลุ่มมิลเลนเนียลกว่าร้อยละ 25 ยังคาดว่าตัวเองคงไม่มีวันแต่งงานอีกด้วย

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นล่ะ? เรารวบรวมข้อสังเกตที่อธิบายปรากฏการณ์นี้มาทั้งหมด 3 ประการ

1. คนมิลเลนเนียล (ส่วนใหญ่) เป็นพวก ‘SELF-ABSORBED’

จากผลสำรวจดังกล่าว เกินครึ่งของผู้ทำแบบทดสอบยืนยันว่า ตนเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับตัวเอง (Self-absorbed) โดย Jean Twenge นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐซานดิเอโก กล่าวว่า “คนรุ่นนี้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจเจกนิยมและเอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้เป็นเรื่องยากเมื่อต้องมีความสัมพันธ์แบบผูกมัดกับผู้อื่น”

2. โตมาแบบเด็กบ้านแตก

อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญคือ พ่อแม่ส่วนใหญ่ของคนรุ่นมิลเลนเนียล เป็นกลุ่ม Baby Boomers ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการหย่าร้างสูงที่สุดในทุกเจเนอเรชัน คนรุ่นมิลเลนเนียลกว่าร้อยละ 35 จึงเติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ ซึ่งส่งผลให้พวกเขามองการแต่งงานเป็นเรื่องน่าหวาดวิตก และจะต้องพยายามอย่างหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการมีชีวิตคู่ที่ขมขื่นอย่างพ่อแม่ของพวกเขา

3. ตัวเลือกมากไปจนสุดท้ายเลือกใครไม่ได้จริงๆ

นอกจากนี้ การมีเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันหาคู่ยังทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเจอกับอาการ ‘Choice Overload’ หรือมีตัวเลือกมากเกินไป ซึ่งมองเผินๆ อาจเป็นข้อดี แต่แท้จริงแล้วกลับทำให้การเลือกคู่เป็นเรื่องยากกว่าเดิม เพราะจากการทดลองด้านจิตวิทยาจากสถาบันธุรกิจโคลัมเบีย เผยว่า เมื่อเราเข้าร้านสะดวกซื้อ โดยในร้านนั้นมีแยมให้เลือก 6 ชนิด เรามีแนวโน้มที่จะซื้อแยมกลับบ้านมากกว่าในร้านที่มีแยมให้เลือก 24 ชนิด ซึ่งสรุปได้ว่า เมื่อมีตัวเลือกมาก เรากลับมีแนวโน้มที่จะเลือกจริงๆ น้อยลง ไม่ต่างอะไรกับการเลือกคู่ในเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชันต่างๆ ในปัจจุบัน

“ทุกวันนี้ คนรุ่นมิลเลนเนียลกลัวการหย่าร้างมาก มากเสียจนพวกเขาต้องแน่ใจอย่างถึงที่สุด เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกับใครสักคน” – เฮเลน ฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ของความรัก และศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยรัตเจอร์ส, สหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่าชาวมิลเลนเนียลเป็นมนุษย์ที่กลัวความสัมพันธ์ หรือรังเกียจความรักก็อาจจะเป็นการสรุปที่รวดเร็วเกินไป เพราะถึงแม้ว่าคนรุ่นนี้จะแต่งงานช้าและแต่งงานน้อยกว่าคนรุ่นอื่นที่สุด แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีการอัตราหย่าร้างต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970

นักวิชาการอีกกลุ่มจึงตั้งข้อสังเกตว่า แท้ที่สุดแล้วชาวมิลเลนเนียลอาจไม่ใช่พวกกลัวการผูกมัดอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ด้วยสภาพสังคมและบทเรียนจากคนรุ่นพ่อแม่ จึงทำให้พวกเขาเลือกที่จะสานสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตคู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดก็เป็นได้