กระป๋องอลูมิเนียมทางเลือกที่อาจจะไม่รักษ์โลกพอๆ กับขวดพลาสติก

        ขยะขวดพลาสติกเป็นปัญหาที่โลกกำลังหาทางแก้ไข้ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการนำมารีไซเคิล ผลิตเป็นเส้นใยทอผ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อลดจำนวนขยะที่ย่อยสลายยากนี้ให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงการใช้วัสดุทดแทนเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติกเช่น เปลี่ยนไปใช้ขวดแก้วหรือกระป๋องอลูมิเนียมแทน แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า ‘อลูมิเนียม’ นั้นจะช่วยกู้ความเสียหายในระบบนิเวศน์ได้จริงหรือไม่

อลูมิเนียมอาจจะยังไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในตอนนี้

        กระป๋องอลูมิเนียมอาจช่วยให้ขยะในท้องทะเลลดลงได้ แต่ในด้านของระบบนิเวศน์มันได้สร้างคำถามสำคัญไม่น้อยในเรื่องการผลิตคาร์บอนจำนวนมากออกมาสู่สิ่งแวดล้อม 

        ในกระบวนการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะกว่าการผลิตพลาสติกจำนวนมหาศาล แต่อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออัตราการรีไซเคิลสูงขึ้น ซึ่งต่างกับการรีไซเคิลพลาสติกที่มีความซับซ้อนกว่าอลูมิเนียม โดยข้อมูลของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริการะบุถึงสัดส่วนการนำกระป๋องอลูมิเนียมมารีไซเคิลในสหรัฐอเมริกาโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 68% ซึ่งมากกว่าการรีไซเคิลขยะพลาสติกที่มีอยู่แค่ 3%

        ส่วนการรีไซเคิลกระป๋องอลูมิเนียมทั่วโลกนั้นอยู่ที่ประมาณ 75% เท่านั้น ในขณะเดียวกันการทำเหมืองเพื่อถลุงเอาแร่อลูมิเนียมมาใช้ทำกระป๋องยังมีสัดส่วนอยู่ที่ 25% และหลายประเทศรวมถึงที่ไทยเองไม่มีเหมืองแร่อลูมิเนียม ต้องใช้วิธีการขนส่งวัตถุดิบเข้ามาจึงทำให้ต้นทุนของกระป๋องอลูมิเนียมนั้นเพิ่มขึ้น

วงจรชีวิตในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียม

        ข้อมูลน่าสนใจจาก Wood Mackenzie ที่รายงานว่าหากทั้งโลกมีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นอลูมิเนียมเพียงแค่ 1% ต้องใช้แร่อลูมิเนียมเพิ่มถึง 310,000 ตัน ถึงแม้อลูมิเนียมจะสามารถรีไซเคิลได้ง่ายกว่าพลาสติกก็ตาม แต่ถ้าดูที่ปริมาณความร้อนในการหลอมเหลวอลูมิเนียมเพื่อขึ้นรูปใหม่ต้องใช้พลังงานสูงกว่าการรีไซเคิลพลาสติกมาก 

        ในส่วนการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ Life Cycle Assessment (LCA) แสดงให้เห็นว่าพลาสติกกับอลูมิเนียมนั้นมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ที่สูสีกัน โดยข้อเสียของพลาสติกจะเป็นเรื่องของการที่มันจะกลายเป็นขยะในทะเล เรื่องของไบโอพลาสติก (Bioplastic) และการผลิตจากปิโตเลียม ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถทดแทนได้ ทั้งยังใช้น้ำในการผลิตเยอะกว่าอลูมิเนียม ส่วนกระป๋องอลูมิเนียมนั้นคือเรื่องของ Land use หรือการทำเหมือง การใช้พลังงาน และใช้สารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับชั้นบรรยากาศโอโซน

ก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในปัญหาที่ยังต้องแก้ไข

        นอกจากเรื่องขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ของสิ่งแวดล้อมแล้ว เรื่องที่เราลืมไม่ได้คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน เช่นบทความก่อนหน้านี้ที่พูดถึงเรื่อง นอนอยู่บ้านก็ปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ เรื่องน่ารู้ในการใช้ชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ามองถึงภาพใหญ่ขึ้นอีกนิด ปริมาณคาร์บอนที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ก็มีปริมาณต่อวันที่สูงอยู่เนื่องมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง เป็นต้น 

        อย่างไรก็ตาม ‘อลูมิเนียม’ ก็มีข้อดีมากมายในด้านของสิ่งแวดล้อม เช่น สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อการเก็บรักษาอาหารหรือเครื่องดื่มเพราะอลูมิเนียมนั้นทนทานต่อสภาพของอากาศทั้งเรื่องของความชื้น กลิ่นืและการถูกกัดกร่อนที่ดี ส่วนข้อสังเกตของกระป๋องอลูมิเนียมนั้นก็มีหลายอย่างเหมือนกัน เช่น ราคาต้นทุนที่สูงกว่ากระดาษหรือพลาสติก และเป็นวัสดุที่หายากมากขึ้นทุกวัน แม้ตัวมันเองจะมีความทนทางสูงแต่หากขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ก็อาจมีบางส่วนตามรอยต่อที่มีความเปราะบาง และหากนำไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ก็จะมีต้นทุนในการพิมพ์ฉลากซึ่งมีกระบวนการมากกว่าภาชนะแบบอื่นๆ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั่นเอง 

        สุดท้ายไม่ว่าจะใช้วัสดุอะไรก็ตามการคำนึงถึงผลกระทบและเส้นทางการเดินทางของผลิตภัณฑ์แต่ละแบบนั้นมีความเป็นมาอย่างไร และเราจะใช้งานมันอย่างไรให้คุ้มค่าและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้น้อยที่สุดเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ และการใช้กระป๋องอลูมิเนียมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับเราและโลกได้ เพียงแค่เราใช้งานและส่งต่อมันได้อย่างถูกวิธี ส่วนใครที่อยากรู้เรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและข้อมูลที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ลองเข้าไปติดตามเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก NetZeroCarbon