ก่อนเลือกตั้ง

เลือกตั้ง 2562: 10 ข้อควรรู้ ก่อนออกไปเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้

ถึงเวลาที่เสียงของทุกคนจะมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศ

แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อมูลบัตรเสียและความไม่ราบรื่นจากปัญหาต่างๆ ของการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่สำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ ไม่ว่าคุณจะเคยมีประสบการณ์การเลือกตั้งมาก่อนหรือเลือกตั้งเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการป้องกันสิทธิ์ของตนเอง นอกจากไม่ลืมออกมาใช้สิทธิ์กันแล้ว ก็อย่าลืมศึกษาข้อควรรู้ต่างๆ สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย เพื่อให้หนึ่งคะแนนเสียงของเราไม่กลายเป็นโมฆะและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยในครั้งนี้อย่างแท้จริง

และนี่คือ 10 ข้อที่เราอยากให้คุณรู้ก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง เพื่อความมั่นใจ เพราะอำนาจอยู่ในมือของคุณ

 

ก่อนเลือกตั้ง

01 | กฎใหม่ ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’

     ระเบียบการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 ระบุให้ใช้ ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ ซึ่งหมายถึงหากผู้สมัคร ส.ส. ที่คุณเลือกเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองใด ก็จะมีผลกับสัดส่วนคะแนนของพรรคการเมืองนั้นด้วย โดยคะแนนของพรรคการเมืองจะมีผลต่อโอกาสที่พรรคการเมืองนั้นจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีในอนาคต เพราะฉะนั้น นอกจากศึกษาผลงานของผู้สมัคร ส.ส. ในเขตแล้ว อย่าลืมศึกษานโยบายของพรรคการเมืองที่ผู้สมัคร ส.ส. คนนั้นสังกัดด้วยเพื่อที่เราจะไม่เลือกผิดคนผิดพรรค

 

ก่อนเลือกตั้ง

02 | ศึกษาหมายเลขของผู้สมัครในเขต

     นอกจากนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดียวกันของแต่ละเขตจะมีหมายเลขต่างกัน เพราะฉะนั้น คุณต้องศึกษาหมายเลขของผู้สมัครในเขตของคุณให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า มีความเป็นไปได้สูงที่จะสับสนกับหมายเลขของผู้สมัครในเขตตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านกับผู้สมัครในเขตที่อาศัยอยู่

 

ก่อนเลือกตั้ง

03 | สิ่งที่ต้องเตรียมไปในวันเลือกตั้ง

     ก่อนออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วยคือ บัตรประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ (โดยบัตรนั้นต้องมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน) เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง

 

04 | มีเวลาถึง 5 โมงเย็น

     ถ้าใครติดธุระในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ไม่ต้องรีบร้อนกลับมาให้ทันเลือกตั้งตอน 15.00 น. เหมือนปีก่อนๆ เพราะปีนี้ได้มีการขยายเวลาปิดหีบลงคะแนนต่อไปถึง 17.00 น. ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้ง

 

ก่อนเลือกตั้ง

05 | 5 ขั้นตอนเมื่อไปถึงคูหา

     สำหรับมือใหม่ที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก สามารถปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอนหลักๆ เมื่อไปถึงคูหา ดังนี้

     1) ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้ง

     2) ยื่นบัตรประชาชนและลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

     3) รับบัตรเลือกตั้งพร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาบนต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง

      4) เข้าคูหาลงคะแนน แล้วทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย โดยเลือกผู้สมัครเพียงหมายเลขเดียว หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครรายใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่ลงคะแนน

     5) เมื่อลงคะแนนเสร็จแล้วพับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อยและหย่อนบัตรลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

 

ก่อนเลือกตั้ง

06 | การนับคะแนนและประกาศผล

     การนับคะแนนและประกาศผลการเลือกตั้ง จะเริ่มต้นเมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. โดยจะนับคะแนน ณ คูหาเลือกตั้ง ที่เปิดเผยให้เห็นจนเสร็จสิ้นในครั้งเดียว เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้งที่อาจเกิดจากการขนย้ายหีบบัตร และสามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้รวดเร็ว หลังจากนั้น กกต. เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขต แล้วประกาศผลรวมคะแนนของเขต และปิดประกาศไว้ในสถานที่ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ กกต. ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. หลักเพื่อประกาศและรับรองผลการเลือกตั้ง

 

ก่อนเลือกตั้ง

07 | ไม่ประสงค์ลงคะแนน

     ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย แม้คะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน ในกรณีที่คุณรู้สึกว่าไม่มีผู้สมัคร ส.ส. คนใดเหมาะสมกับตำแหน่งเลย คุณสามารถลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน และหากคะแนนของช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนมีจำนวนมากกว่าคะแนนสูงสุดของผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนั้น จะทำให้การเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นโมฆะ ทุกพรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส. ที่ไม่ใช่คนเดิมมาให้ประชาชนในเขตนั้นเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

 

ก่อนเลือกตั้ง

08 | ทุกเสียงมีความสำคัญ

     อย่าคิดว่าคะแนนเสียงของคุณจะไร้ประโยชน์ แม้ผู้สมัคร ส.ส. ที่คุณเลือกอาจไม่ชนะเลือกตั้งในเขตนั้น เพราะทุกคะแนนเสียงไม่ว่าจะของผู้ชนะหรือผู้แพ้จะถูกนำไปคิดเป็นสัดส่วนของจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงจะมี ซึ่งจะมีผลกับจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หมายความว่าคะแนนเสียงของคุณยังมีความหมายกับโอกาสที่พรรคการเมืองนั้นๆ จะได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นในสภาอยู่ดี

 

ก่อนเลือกตั้ง

09 | แจ้งเบาะแสการทุจริต

     หากพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน สิ่งของ หรือมีการเรียกรับเงินหรือทรัพย์สิน สามารถแจ้งเบาะแส หรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจในพื้นที่หรือรายงานให้ กกต. ทราบ ด้วยตัวเอง หรือโทรศัพท์หมายเลข 1444, 0-2141-8888

 

ก่อนเลือกตั้ง

10 | ยื่นคัดค้านการเลือกตั้ง

     ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง สามารถยื่นคัดค้านการเลือกตั้งต่อ กกต. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศผลเลือกตั้ง กรณีเห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีเห็นว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเกินจำนวนที่ กกต. กำหนด

 


เรื่อง: ธฤษวรรณ แสงโชติช่วงชัย, กรภัทร์ เกียรติจารุกุล ที่มา: www.ect.go.th, www.ilaw.or.th, https://news.thaipbs.or.th