นับเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ประเทศไทยอยู่ในสุญญากาศทางการเมือง หลัง คสช. ทำรัฐประหาร และแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้สโลแกน ‘คืนความสุข’ และคำติดปาก ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’
แต่ตลอดรายทางของโร้ดแม็ปที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่หลายคนรอคอยนั้นก็มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย มีการรอ มีหวัง ผิดหวัง มีหวังใหม่ และผิดหวังอีก ด้วยการเลื่อนเลือกตั้งถึง 4 ครั้ง!!
ในที่สุดในวันที่ 24 มีนาคมนี้ เราในฐานะประชาชนก็จะได้เลือกตั้งตามสิทธิของตัวเองเสียที a day BULLETIN จึงอยากพาย้อนกลับไปสำรวจว่ากว่าจะเดินถึงวันนี้ มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในบริบทการเมืองไทยที่ผ่านมา
2557
22 พฤษภาคม 2557
คสช. ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลในขณะนั้น โดยแต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพลเอกประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวที่ถามว่า อีกนานเท่าไหร่ถึงจะมีการเลือกตั้งว่า “เมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ” และ “ผมไม่มีคำตอบ ยังไม่ได้กำหนดเวลา”
27 พฤษภาคม 2557
เทย์เลอร์ สวิฟต์ ยกเลิกคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร โดยได้โพสต์ในทวิตเตอร์ของเธอว่า “ฉันอยากส่งความรักของฉันให้แฟนๆ ในประเทศไทย ฉันเศร้าเป็นอย่างมากเกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่ถูกยกเลิก” โดยนับตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน เธอออกอัลบั้มไปแล้ว 2 อัลบั้ม และมีเวิลด์ทัวร์ไปแล้วถึง 3 ครั้ง
6 มิถุนายน 2557
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกซิงเกิลแรก ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ โดยมีท่อนที่ทุกคนในประเทศจำติดปากอย่าง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ก่อนจะตามมาอีก 7 ซิงเกิลในระยะเวลาเกือบๆ 5 ปี
23 กันยายน 2557
วาทะทุ่มโพเดียมของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลังถูกนักข่าวถามในประเด็นที่ว่า ตัวเขาอยากเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งบ้างไหม ก่อนจะตอบออกไปว่า “เดี๋ยวทุ่มนี่ใส่เลย”
2558
10 กุมภาพันธ์ 2558
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยระหว่างเยือนญี่ปุ่น หลังถูกนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ร้องขอให้คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็วว่า “เรากำลังวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปีนี้ (2558) หรือต้นปีหน้า (2559) ผมสัญญาว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้นในประเทศไทยให้ได้”
6 กันยายน 2558
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ถูกลงมติไม่เห็นชอบโดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่คะแนน 135 ต่อ 105 เสียง ทำให้การเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไป
“ทุกอย่างเป็นไปตามโร้ดแม็ป” —พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
28 กันยายน 2558
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมหารือทวิภาคีกับ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยกล่าวถึงการเลื่อนเลือกตั้งว่า เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ คสช. จึงต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายใน 30 วัน และจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 180 วันก่อนเปิดให้มีการลงประชามติ และคาดว่าจะเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2550
2559
7 สิงหาคม 2559
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ผ่านประชามติที่คะแนน 16.8 ล้านเสียง ท่ามกลางประเด็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เห็นต่างก่อนหน้านี้ และเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2550 หลังจากนั้นต้องบวกเวลาอีก 8 เดือนเพื่อร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ การเลือกตั้งจึงถูกเลื่อนออกไปอีก
2560
6 เมษายน 2560
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2 ตุลาคม 2560
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว โดยยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2561
“ผมไม่ได้มองหรือดีลการเมืองกับใคร เพราะผมไม่ใช่นักการเมือง” —พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (28 พ.ย. 2560)
10 ตุลาคม 2560
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวก่อนการประชุมว่า ประมาณเดือนมิถุนายน 2561 จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้ง
2561
3 มกราคม 2561
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับสื่อมวลชนหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ตนเป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร อาจมีนิสัยทหารติดมาบ้าง และยืนยันว่า ตนไม่ใช่ทหาร นับเป็นการยอมรับว่าตัวเองเป็นนักการเมืองครั้งแรก หลังเคยปฏิเสธมาถึง 8 ครั้งก่อนหน้านี้
25 มกราคม 2561
สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบกับกรรมาธิการเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปถึงต้นปี 2562
2 มีนาคม 2561
พรรคพลังประชารัฐยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งกับ กกต. โดยมีการคาดการณ์ว่าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคจะเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีเสียงวิจารณ์ว่านี่คือหนทางสืบทอดอำนาจของ คสช.
“ผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร” — พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (6 ม.ค. 2561)
11 ธันวาคม 2561
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ ม.44 ปลดล็อกพรรคการเมืองให้สามารถหาเสียงได้
2562
23-24 มกราคม 2562
ประกาศใช้ พรฎ. ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ก่อนที่ กกต. จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส. แต่ละเขต เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2019
4-8 กุมภาพันธ์ 2562
รับสมัคร ส.ส. แต่ละพรรคแจ้งเสนอชื่อผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในวันที่ 8 ก่อนค่ำคืนเดียวกันจะมีพระบรมราชโองการต่อกรณีดังกล่าวเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์
11 กุมภาพันธ์ 2562
กกต. ประกาศรายชื่อแคนดิเดตนายกจาก 45 พรรค โดยไม่มีชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ
13 กุมภาพันธ์ 2562
หลังจาก กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อวันที่ 12 ช่วงบ่ายวันที่ 13 ก็ได้มีการยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการ
15 กุมภาพันธ์ 2562
ประกาศรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเข้ารับเลือกตั้งเป็น ส.ส.
18 กุมภาพันธ์ 2562
ทนายความของพรรคอนาคตใหม่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคอีกสองคนกำลังจะถูกทำสำนวนส่งอัยการภายในวันที่ 22 กรณีถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ฐานผิดมาตรา 14 (2) พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ กรณีการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์ คสช. ซึ่งจะมีผลต่อคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกและ ส.ส. ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
GOAL!
– 17 มีนาคม 2562 เลือกตั้งล่วงหน้า (4-16 มีนาคม เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร)
– 24 มีนาคม 2562 เลือกตั้งทั่วไป
– 9 พฤษภาคม 2562 วันสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง