มารุโกะ

จิบิมารุโกะจังคือวันวานของวัยเยาว์ที่เราต่างมีร่วมกัน

ข่าวคราวการเสียชีวิตของ ซากุระ โมโมโกะ ผู้เขียนจิบิมารุโกะ นอกจากจะสร้างความสะเทือนใจต่อเหล่าแฟนๆ ของหนูน้อยมารุโกะแล้ว ยังทำให้เราคิดถึงเรื่องราวมากมายที่ถูกเล่าผ่านสายตาของสาวน้อยที่มีคาแร็กเตอร์น่ารักปนแก่นแก้ว ซึ่งแท้จริงแล้วมันสะท้อนชีวิตประจำวันของวัยเยาว์ที่เราทุกคนต่างมีร่วมกัน

มารุโกะ

 

     ซากุระ โมโมโกะ เป็นทั้งนามปากกาของ มิอุระ มิกิ และชื่อจริงของ เจ้าหนูมารุโกะ โดยหลากหลายเรื่องราวของมารุโกะจังได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงในวัยเด็กของตัวเธอเองและคนรอบตัว แรกเริ่มเดิมที จิบิมารุโกะจังเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเขียน ‘เรียงความในรูปแบบของการ์ตูน’ มารุโกะฉบับหนังสือการ์ตูนจึงเต็มไปด้วยข้อความบรรยายความรู้สึกของเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีต่อชีวิตประจำวันของเธอเอง ทำให้มีกลิ่นอายต่างจากฉบับแอนิเมชั่นที่คนไทยคุ้นเคย

     อาจกล่าวได้ว่ามารุโกะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของซากุระ เพราะนอกจากจะวาดจิบิมารุโกะจังในฉบับหนังสือการ์ตูนซึ่งตีพิมพ์ลงในนิตยสารการ์ตูน Ribon ตั้งแต่ปี 1986 – 1996 และฉบับการ์ตูน 4 ช่องที่พิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นหลายฉบับในปี 2007–2011 แล้ว เธอยังมีส่วนร่วมในการเขียนบทบางส่วนของมารุโกะในฉบับแอนิเมชันโทรทัศน์ทั้ง 2 ภาคซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 1,000 ตอน และยังฉายอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้

     นอกจากนี้ซากุระเองยังเป็นคนแต่งเนื้อร้องของเพลง Odoru Ponpokorin (ฉบับภาษาไทยชื่อเพลง ชาลาลา) เพลงเปิดที่เราคุ้นหูเป็นอย่างดี เพลงนี้ยังเคยติดอันดับหนึ่งโอริกอนชาร์ตของญี่ปุ่น และมียอดขายแผ่นซีดีเพลงกว่า 1.9 ล้านแผ่นอีกด้วย

 

 

วัยเยาว์ที่เรามีร่วมกัน

     จิบิมารุโกะจังเป็นเรื่องราวชีวิตประจำวันของเด็กหญิง ป.3 ที่ถูกเล่าผ่านสายตาซื่อๆ ของมารุโกะ เด็กสาวที่ไม่ได้ถูกวาดภาพไว้ให้ดู ‘น่ารัก’ ในสายตาของใครๆ แต่มีนิสัยแบบเด็กๆ ที่ขี้เกียจบ้าง ตรงไปตรงมาบ้าง จนอาจเรียกได้ว่าปากเสีย แต่ก็รักและเป็นห่วงคนรอบตัวในแบบของเธอ ด้วยลักษณะของตัวละครที่ซื่อตรงต่อความเป็นเด็กนี้ ความรู้สึกของมารุโกะที่มีต่อเหตุการณ์ทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่คนดูที่ผ่านวัยเด็กมาย่อมรู้สึกร่วมได้ไม่ยาก

 

มารุโกะ

“หยุดยาว นอนดึก นาฬิการ่างกายรวน ง่วงตั้งแต่ตอนกลางวัน กินข้าวเช้าแล้วก็ล้มลงนอนพร้อมกับปู่ แต่ไหงมารุโกะถึงโดนแม่ดุคนเดียวล่ะ”

 

มารุโกะ
“เพื่อนมีค่า เวลาลอกการบ้าน แต่ก็เขียนไม่ทัน สุดท้ายต้องโต้รุ่งอยู่ดี”

 

มารุโกะ
“เพื่อนยืมตังค์ไม่คืน ทวงก็บอกไม่มี เจออีกทียืนกินหนมเฉยเลย”

 

มารุโกะ
“เป็นพี่น้องก็ต้องมีทะเลาะกันบ้างแหละ แต่มีเรื่องทีไรพ่อแม่ก็เข้าข้างน้อง สรุปที่เราผิดทุกที มารุโกะกับพี่สาวเองก็เคยทะเลาะกันจนจะตัดพี่ตัดน้องเหมือนกันนะ”

 

     ความธรรมดาสามัญในชีวิตของเราต่างถูกฉายซ้ำในโลกของมารุโกะให้เราได้เห็นเสมอ ทาคากิ จุน ผู้กำกับแอนิเมชันมารุโกะยังออกปากเองว่ามารุโกะเป็นตัวละครหลักที่ดูไม่เหมือนตัวละครหลักเลย เธอไม่ได้มีความสามารถอะไรโดดเด่น แล้วก็ไม่ได้สวยสะดุดตา แถมยังขี้เกียจอยู่เป็นนิจ แต่ความธรรมดาสามัญคล้ายคลึงกับตัวเราก็เป็นจุดที่ดึงดูดให้เรารู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์ที่มารุโกะเผชิญได้ไม่ยาก

 

มารุโกะ

วันเวลาที่ถูกหยุดไว้ ยุคสมัยในความทรงจำของเรา

     โลกของมารุโกะดำเนินไปในช่วงทศวรรษ 1970 ยุคสมัยที่เด็กเติบโตมาจากครอบครัวใหญ่ ในบ้านของมารุโกะเองก็มีทั้งปู่ ย่า พ่อ แม่ และพี่สาว โดยบทบาทของแต่ละคนนั้นมีความชัดเจนตามยุคสมัย เช่น แม่ที่ทำหน้าที่เลี้ยงลูก ทำกับข้าว และดูแลบ้าน พ่อออกไปทำงานแทบจะตลอดเวลา ผู้ใหญ่ในบ้านอย่างปู่จึงกลายเป็นคนสนิทที่คอยคุย เล่น และสั่งสอนหลานด้วยความรู้ต่างวัย ในขณะเดียวกันก็พบเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หลานนำมาให้ด้วยเช่นกัน

     มารุโกะ

“เรามักเห็นมารุโกะอยู่กับคุณปู่โทโมะโซอยู่เสมอ คุณปู่เองเคยสอนมารุโกะจังแต่งกลอน ถึงเจ้าหนูจะแต่งมั่ว แต่คุณปู่ที่ทั้งรักทั้งหลงหลานก็ยังอดชมไม่ได้อยู่ดี”

 

     นอกจากนี้ยุคสมัยของมารุโกะเป็นยุคที่เทคโนโลยีในครัวเรือนกำลังตั้งไข่ และความบันเทิงยังไม่หลากหลาย ศูนย์กลางของบ้านจึงเป็นโทรทัศน์หนึ่งเครื่องที่ทุกคนใช้ร่วมกัน เป็นทั้งสถานที่และกิจกรรมร่วมของครอบครัว

     ก่อนที่ยุคสมัยจะเปลี่ยนให้ครอบครัวของเรามีขนาดเล็กลง และทุกคนต่างมีหน้าจอเป็นของตัวเอง ไม่ว่าอดีตนั้นจะดีหรือร้าย แต่นั่นก็ยังคงเป็นอดีตของเราซึ่งบางครั้งก็ชวนให้หวนหา จึงไม่น่าแปลกใจว่าแฟนของมารุโกะกลุ่มหนึ่งนั้นไม่ใช่เด็กแต่เป็นผู้หญิงวัยทำงานด้วย

 

มารุโกะ

 

มารุโกะในต่างแดน

     ในประเทศญี่ปุ่น จิบิมารุโกะจังฉบับหนังสือการ์ตูนทั้ง 16 เล่มเองก็มียอดขายรวมกว่า 32 ล้านฉบับ และแอนิเมชันเองก็เคยมีเรตติ้งการรับชมทางโทรทัศน์สูงถึง 39.8% มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ 4 ครั้ง และผลิตเป็นซีรีส์ฉบับคนแสดงอีก 3 ชุด นอกจากนี้มารุโกะฉบับแอนิเมชันยังได้รับการเผยแพร่อีกในหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน เวียดนาม ไต้หวัน และไทย สำหรับประเทศไต้หวันนั้น มีการผลิตซีรีส์มารุโกะฉบับคนแสดงของไต้หวันพร้อมเพลงเปิดในภาษาของตัวเองอีกด้วย

     สำหรับประเทศไทยเองก็เคยมีการนำมารุโกะมาเผยแพร่ในหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งฉบับหนังสือการ์ตูนโดย NED Comics ในชื่อ ‘เด็กหญิงเป๋อแหวว จิบิมารุโกะจัง’ ฉบับแอนิเมชั่นเองก็เคยฉายทั้งทางช่อง 3 ช่องทรูสปาร์ก และช่องเวิร์คพอยท์ ส่วนฉบับซีรี่ส์คนแสดงมีฉบับปี 2007 ของญี่ปุ่น ในชื่อ ‘หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง’ ฉายทางช่อง Thai PBS และฉบับคนแสดงของไต้หวัน ชื่อ ‘หนูนี่แหละ…มารุโกะจัง’ ทางช่องเวิร์คพอยท์

 

มารุโกะ

 

ชีวิตที่ไม่สิ้นสุดของซากุระ โมโมโกะ

     ทางทีมงาน Sakura Production ได้ประกาศข่าวการเสียชีวิตของซากุระ โมโมโกะ ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท และ Line Blog ของผู้เขียนในวันที่ 27 สิงหาคม 2018 พร้อมลงข้อความบางส่วนของซากุระ โมโมโกะ จากนิทรรศการ ‘โลกของซากุระ โมโมโกะ’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการตีพิมพ์มารุโกะครั้งแรกไว้ว่า

“ตลอด 30 ปี มีทั้งเรื่องร้ายและดีเกิดขึ้นมากมาย แต่ฉันก็ผ่านคืนวันเหล่านั้นมาอย่างมีความสุขได้ในฐานะนักเขียน แค่ขอบคุณทุกคนคงยังไม่พอ”

 

มารุโกะ

     ทั้งนี้ ทีมผู้ผลิตได้ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่าทีมงานมีความตั้งใจที่จะผลิตจิบิมารุโกะจังในฉบับแอนิเมชั่นต่อไป ถึงแม้ผู้เขียนจะเสียชีวิตลงแล้วด้วยวัยเพียง 53 ปี แต่ตัวตนของซากุระ โมโมโกะจะยังคงอยู่ในผลงานของเธอ ในตัวของซากุระ โมโมโกะ ที่มีชื่อเล่นว่ามารุโกะจัง

 

มารุโกะ

อ้างอิง: www.animenewsnetwork.com, www.asiaone.com, www.japantimes.co.jp, www.kotaku.co.ukhttps://lineblog.me/sakuramomoko, www.pashplus.jp