หากจะสรุปภาพรวมขององค์กรธุรกิจไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาว่า จะใช้คำว่า ‘ฝุ่นตลบ’ ก็คงไม่ผิดนัก ‘Disruption’ มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้วในวันที่ภาคธุรกิจแข่งกันปรับตัวขนานใหญ่ แต่ นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE (Regional Corporate Innovation Accelerator) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมองกระแส Disruption ว่าเป็นโอกาสที่จะดึงสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยองค์กรธุรกิจใหญ่ปรับตัว สร้างนวัตกรรมและพัฒนาคนในองค์กร แทนที่จะมาห้ำหั่นกันเอง
เขาเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศได้มหาศาล ผ่าน 4 แพลตฟอร์มของบริษัท คือ RISE Academy, Rise Accelerator, Rise Experience และ Venture Capital ภายใน 3 ปี มีผู้บริหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทยตบเท้าเข้าร่วมไปแล้วกว่า 1,800 คน ร่วมด้วยสตาร์ทอัพกว่า 1,000 ราย
แต่เขาวางเป้าหมายไว้ไกลกว่านั้น นั่นคือการผลักดันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็น ‘Corporate Innovate Hub’ หรือศูนย์กลางการสร้างนวัตกรรมองค์กรระดับโลก พร้อมปรับจีดีพีของประเทศไทยและระดับภูมิภาคให้เพิ่มขึ้น 1% จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนารูปแบบใหม่ Corporate Innovation Summit 2019 – Asia’s First Experiential Conference ในวันที่ 28-29 มีนาคม 2562
และนี่คือบทสัมภาษณ์ว่าด้วยไอเดียตั้งต้นและเบื้องหลังการทำงานของแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นผู้บริหารที่ฝันใหญ่ และสนุกกับการลงมือทำจริง
จากเด็กเนิร์ด นายแพทย์ สู่ผู้บริหารที่เชื่อมั่นในการเรียนรู้
ผมเรียนจบหมอ เป็นเด็กเนิร์ดที่ชอบการเรียนรู้ แต่ผมว่าวิธีการเรียนในปัจจุบันที่ให้ไปนั่งจดเลกเชอร์ในห้องเรียนมันไม่รอดแล้ว ผมเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้ามหาวิทยาลัยในไทยไม่ปรับตัว ก็ต้องปิด หรือไม่ก็ควบรวมกัน เพราะอยู่ไม่ได้ เวลาเด็กสมัยนี้อยากรู้เรื่องที่สนใจ เขาสามารถฟังคนที่เก่งเรื่องนี้ที่สุดในโลกได้โดยไม่ต้องไปห้องเรียน แต่สิ่งที่ YouTube หรือการเรียนออนไลน์ (Massive Open Online Course – MOOC) ให้ไม่ได้คือ ‘ประสบการณ์’
ธุรกิจขาที่หนึ่งของเราคือ Rise Accelerator เราเป็นสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรแห่งแรกในไทย และตอนนี้ก็เป็นเบอร์หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทำงานในหลายประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
สอง Rise Academy สถาบันสร้างนวัตกรซึ่งแตกต่างจากที่อื่น เพราะเราเน้น Experiential Learning หากจะสอนคนให้เป็นนวัตกร (Innovator) เราต้องสอนผ่านประสบการณ์และการลงมือทำ แค่เอานวัตกรรมข้างนอกเข้ามาใช้ในองค์กรอย่างเดียวไม่พอ คนข้างในต้องเปลี่ยนและเข้าใจด้วย เราให้ผู้บริหารและ Talent ของเขามาสร้างธุรกิจใหม่ร่วมกัน เรียนจบแล้วไม่ใช่แค่ได้ใบรับรอง แต่ได้สินค้าหรือบริการใหม่เลย เราทำส่วนนี้มา 3 ปี มีบริษัทใหญ่ที่ตั้งบริษัทลูก (Spinoff) ออกมาได้สำเร็จ 5 บริษัท ที่สำคัญผู้บริหารที่เข้ามาเรียนกับเรา มาจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มูลค่ารวมกว่า 25% ของตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
Disruption ไม่จำเป็นต้องล้มล้างธุรกิจ แต่ร่วมมือกันได้
วิธีการคิดของประเทศเรา หรือแม้แต่ประเทศอื่นในเอเชีย ไม่เหมือนกับอเมริกา สตาร์ทอัพในอเมริกาเขามาฆ่า มา Disrupt อย่างเดียวเลย แต่มายด์เซตของที่นี่ คือ Collaborate ร่วมด้วยช่วยกัน ไม่อย่างนั้นไม่รอดทั้งคู่ หน้าที่ของเราซึ่งเป็นสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรแห่งแรกของไทยคือ ให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกัน เพราะเราอยู่ในยุคที่ปลาเร็วกินปลาช้า (Economy of Speed) ส่วนปลาใหญ่ดีอยู่แล้ว เพราะได้เปรียบจากการผลิตจำนวนมาก (Economy of Scale)
แต่สิ่งที่ปลาใหญ่กลัวที่สุดไม่ใช่ปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกัน แต่เป็นปลาเล็กที่ว่ายแซงไปเลย การทำงานในองค์กรใหญ่มีลำดับขั้น กว่าไอเดียจะไปถึงซีอีโอก็ต้องผ่านหลายแผนก มันไม่ทัน ขณะที่สตาร์ทอัพเขาทำเสร็จไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นทำไมเราไม่เอาสองกลุ่มนี้มาทำงานร่วมกัน ฝ่ายองค์กรมีเงินทุน ทีมงาน และสินค้าอยู่แล้ว แต่สตาร์ทอัพมีนวัตกรรม ไอเดีย เทคโนโลยี แต่ขาดเงินทุน เพราะรายได้ไม่พอ การทำสตาร์ทอัพจะมีช่วงที่เงินทุนค่อยๆ ลดลง (Valley of Death) เพราะลงทุนไปกับการทำมาร์เกตติ้งและอื่นๆ ถ้าผงกหัวตรงนี้ขึ้นมาได้ก็จะรอด แต่ส่วนใหญ่มักตาย คนหนึ่งต้องการนวัตกรรมกับความเร็ว อีกคนต้องการรายได้และลูกค้า ก็มาจับมือกันสิ
เปลี่ยนวิธีคิดผ่านการลงมือทำ
เรามองตัวเองว่าเป็นสตาร์ทอัพเหมือนกัน หลังจากทำ Rise Academy และ Rise Accelerator มา 3 ปี ก็ต้องเติบโตเร็ว จะได้มี Impact เยอะๆ เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในองค์กรเปลี่ยนเป็น Intrapreneur ซึ่งก็คือผู้ประกอบการในองค์กร หรือนวัตกรได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเยอะ จึงเป็นที่มาของการจัดงานสัมมนา Corporate Innovation Summit 2019 ซึ่งอยู่ในธุรกิจขาที่สามของ Rise คือ Experience เพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 2,000 คนต่อวัน
แต่เราอยากจะจัดงานสัมมนาที่ให้ประสบการณ์จริง ผมไปงานสัมมนามาเยอะมาก และพบว่ามันเหมือนๆ กันหมด ฟัง Keynote Speaker ได้ไอเดียดีๆ แต่พอกลับถึงบ้านก็ลืม ไม่ได้เอามาใช้ในองค์กร เราอยากฆ่าสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป เราเลยต้องรีดีไซน์งานสัมมนาขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่เคยมีใครในเอเชียทำมาก่อนเลย เรียกว่าเป็น Asia’s First Experiential Conference ที่เน้นการลงมือทำ เราเชื่อว่าถ้าเราเล่าให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะผู้บริหารที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ เขาไม่เชื่อหรอกครับ เพราะทำมาหมดแล้ว เราจะเปลี่ยนความคิดเขาได้ต้องผ่านการลงมือทำ งานสัมมนานี้จึงมี 40 เวิร์กช็อปภายใน 2 วัน ผมเชื่อว่างานนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ตอนนี้เรามีทั้งหมด 9 เวที แปลว่าคุณไม่สามารถเข้าร่วมมากกว่า 1 เวที แต่คุณเลือกเรื่องที่คุณสนใจมากที่สุด แล้วเน้นเรื่องนั้นไปเลยได้ ที่พิเศษกว่านั้นเรามีวิทยากรระดับโลกมาทำเวิร์กช็อปด้วย ปกติเขาจะมาพูดแล้วบินกลับเลย แต่เราไม่ยอม เพราะเราอยากเพิ่มโอกาสให้คนเข้าร่วมได้ลงมือทำ เช่น Tom Kelley แห่งบริษัท IDEO ซึ่งพี่ชาย (David Kelly) เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน Stanford d.school ซึ่งเป็นต้นตำรับด้าน Design Thinking เราก็เชิญมาทำเวิร์กช็อปเรื่อง Design Thinking ว่าจะนำไปใช้ในองค์กรได้อย่างไร เป็นครั้งแรกในไทย เรามีวิทยากรที่เข้าร่วมกว่า 100 คน มีบูธของสตาร์ทอัพอีกกว่า 100 แห่งจากทุกทั่วภูมิภาค
Mindset, Skillset, Toolset : 3 สิ่งสำคัญที่องค์กรธุรกิจต้องมี
เราอยากให้ทุกคนที่มางานนี้ได้รับวิธีคิด (Mindset) ทักษะ (Skillset) และเครื่องมือ (Toolset) กลับไปด้วย ทั้งหมดนี้ผมเชื่อว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่วิธีคิดก่อนเลย เริ่มจากระดับซีอีโอก่อน ถ้าทุกวันนี้ซีอีโอยังอยากเน้นการขยายธุรกิจ (Scale) มากกว่าความเร็ว (Speed) ก็อาจจะทำให้องค์กรไปเร็วกว่านี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเขายังรักและหวงแหนแกนหลักธุรกิจของเขา ซึ่งไม่ได้ผิดนะ เพียงแต่เขาต้องคิดด้วยว่ามันจะก้าวหน้าได้อย่างไร มันจะเกิดสิ่งใหม่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น วิธีคิดของซีอีโอในวันนี้ อย่างแรกเขาต้องบอกก่อนว่ามันเป็นเรื่อง Speed over Scale ทำอย่างไรให้องค์กรเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น
อย่างที่สอง เขาต้องกล้าเสี่ยงมากขึ้น (Prefer Risk over Safety) เพราะว่าวันนี้ต้นทุนของนวัตกรรมต่ำลงมากนะครับ ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว คุณต้องมีเงินแสนถึงจะเขียนเว็บได้ แต่วันนี้เด็กที่มหาวิทยาลัยก็เขียนได้แล้วเก็บไว้บนคลาวด์ ไม่ต้องมีเซอร์เวอร์ของตัวเอง ถ้าหากซีอีโอยังคิดแบบเดิม สิ่งที่กำลังทำอยู่อาจจะเจ๊งหมดก็ได้ และเจ๊งเยอะด้วย แต่การลองกับสตาร์ทอัพ อาจทำให้เขาได้วิธีที่ดีกว่า เร็วกว่าก็เป็นได้
อย่างที่สามคือเรื่องความร่วมมือ (Prefer Collaboration over Disruption) มันหมดยุคที่ว่าคนหนึ่งชนะ แล้วอีกคนต้องแพ้ เดี๋ยวนี้มันต้อง win-win กันทั้งคู่ สมมติว่าผมทำงานกับสตาร์ทอัพ แล้วไปกดให้ธุรกิจเขาใกล้ตาย ถ้าเขาตาย คุณจะเหนื่อยเลยนะ เพราะต้องเริ่มต้นใหม่ หาคนใหม่ ถามว่าทำได้ไหมก็ได้ แต่คุณจะขาดความเร็ว เพราะทุกวันนี้คู่แข่งของคุณไม่ได้นอนอยู่ แต่กำลังวิ่งเร็วเหมือนกันกับคุณ
ในสามอย่างนี้ ผมคิดว่าวิธีคิดสำคัญที่สุด ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดได้ ทักษะและเครื่องมือก็จะตามมา
โอกาสใหม่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราเชื่อว่าเรามีเน็ตเวิร์กที่ดีและจี้ถูกจุด บริษัทในสิงคโปร์อยากมาประเทศไทยนะ เพราะจะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 12 เท่า เราช่วยให้บริษัทเหล่านี้เติบโตมากกว่าในประเทศของเขาได้ ที่สำคัญเราไม่ได้แค่ทำงานกับเอกชน เราอยากเปลี่ยนภาครัฐด้วย ก็เลยร่วมมือกับรัฐบาลอีก 20 ประเทศในงานนี้ เป้าหมายของเราคือผลักดันงานนี้ไปสู่ระดับโลก สร้างโอกาสให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมองค์กร เพราะองค์กรในบ้านเราเก่งอยู่แล้ว
ถ้าพูดแบบติดตลกคือ มันเป็นโชคดีในความโชคร้ายที่เราขาดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ประเทศที่มีรัฐบาลแข็งแรงมาก องค์กรเขาจะอยู่ในระดับพอใช้ แต่โชคร้ายที่รัฐบาลเราไม่แข็งแรง ข้อดีคือ 13 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีในภาครัฐ องค์กรเอกชนก็เลยเก่ง เพราะเขาหวังพึ่งรัฐไม่ได้ แล้วทำไมไม่จุดประเด็นตรงนี้ให้เราเป็น ศูนย์กลางของนวัตกรรมองค์กรล่ะ
อย่างปีก่อน 60% ของเงินลงทุนในสตาร์ทอัพของไทยไม่ได้มาจากธุรกิจการร่วมลงทุน (Venture Capital) นะครับ แต่มาจากบริษัทร่วมทุน (Corporate Venture Capital) ขององค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งตอกย้ำว่าเราน่าจะเป็นศูนย์กลางด้านนี้ได้ เพราะมีแต้มต่อเยอะ ผมจึงอยากให้งานนี้ช่วยจุดประเด็นและสร้างจุดแข็งให้ประเทศไทย และดึงองค์กรธุรกิจและภาครัฐจากทั่วโลกเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง
ล้มเหลวเท่ากับเรียนรู้ และจงเรียนรู้ที่จะโต้คลื่น
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจความหมาย ‘Fail Fast’ ว่าเราต้องล้มเหลวเลย ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ มันคือการทดลองแต่น้อยเพื่อจำกัดความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชันเฟซบุ๊ก ทดลองใช้ฟีเจอร์ใหม่ในไทยก่อนอเมริกา เพราะว่าอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ ถ้าเปิดตัวไปแล้วเกิดความผิดพลาด ก็จะเสียหายหนัก เขาเลยทดลองกับประเทศอื่นก่อน ถ้าคนชอบ อีกสองสัปดาห์ค่อยอัพเดต นี่คือ Fail Fast
ผมคิดว่า Fail Fast หรือการล้มเร็ว ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว แต่เราเก็บฟีดแบ็กไว้ก่อนได้สำหรับการทดลองครั้งต่อไป มันอยู่ที่วิธีคิด อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องเสียหายผิดพลาด แต่มองว่า Fail Fast แล้วต้อง Fail Forward ด้วย หมายถึงเราสะดุดล้ม แต่ก็ยังก้าวต่อไปข้างหน้าได้
ถามว่าประเทศไทยจะปรับตัวอย่างไร ที่ผ่านมาเราเห็นว่าเทคโนโลยีเข้ามาในอัตราเร่งที่ไม่ได้น้อยลงไปกว่าเดิมเลย มีแต่จะเร็วขึ้นและมากขึ้นตามลำดับ นี่เป็นความจริงที่ทุกคนต้องยอมรับให้ได้ก่อน ดังนั้น เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องปกติ เป็น New Normal แต่จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหนก็ยากจะคาดเดา
ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราจะแยกเรื่องเทคโนโลยีออกไปได้ และไม่กลัวการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่
สุดท้ายแล้วมันก็วกกลับมาเรื่องทำอย่างไรให้ปรับตัวได้เร็ว ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ บริษัทเฟซบุ๊กมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า “Move Fast and Break Things” ถ้าเคลื่อนตัวเร็ว ก็อาจมีของพังบ้าง แต่สิ่งที่ได้มานั้นคุ้มค่า ดังนั้น การปรับเปลี่ยนประเทศต้องเริ่มจากวิธีคิด ทำอย่างไรให้เราปรับตัวเร็วทั้งองคาพยพ
สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เราพร้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ต้านกระแสอย่างเดียว ทุกวันนี้เป็นเรื่องของการโต้คลื่นมากกว่าต้านคลื่น เราจะโต้คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงโดยที่ไม่โดนซัดหายไปได้อย่างไร แปลว่าเราต้องมีบอร์ดที่ดี ผ่านการฝึกฝน มีทักษะที่ดี ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องเดียวกันกับวิธีคิด แค่คิดว่าจะต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราก็แพ้แล้ว ไม่ต้องต้าน ต้องคิดแบบนี้ถึงจะโต้ไปกับมันได้