แทบไม่น่าเชื่อว่าการปะทุของภูเขาไฟเพียงครั้งเดียว จะสามารถสร้างผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัวได้ถึง 2 อย่าง นั่นคือมอบความตายให้กับมนุษย์มากกว่าหนึ่งหมื่นคน และมอบชีวิตใหม่ให้กับร่างที่ประกอบสร้างจากเศษซากและชิ้นส่วนของศพ มันคืออสูรกายน่ารังเกียจในวรรณกรรมชื่อ แฟรงเกนสไตน์ จากปลายปากกาของกวีสาววัยเยาว์นาม แมรี เชลลีย์
จากจุดเริ่มต้นถึงวันนี้ เป็นเวลามากกว่า 200 ปี แล้วที่โลกได้รู้จักแฟรงเกนสไตน์ แล้วอะไรคือส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้เรื่องราวอันไม่น่าอภิรมย์นี้กลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ร่วมค้นหาความหมายของการมีชีวิตที่เป็นมากกว่าลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏ และดำดิ่งสู่เบื้องลึกของจิตใจระหว่างมนุษย์และอสูรกายที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน แม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวก็ตาม
ย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1815 ภูเขาไฟแทมโบรา (Mount Tambora) บนเกาะชุมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในขณะนั้นตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้เขม่าควันและเถ้าถ่านจำนวนมหาศาลพวยพุ่งขึ้นกระจายเต็มท้องฟ้า และแผ่ขยายปิดคลุมทั่วบริเวณจนมืดมิดราวกับว่าเป็นม่านสีดำขนาดยักษ์ แม้แต่แสงแดดก็ไม่สามารถสาดส่องทะลุมายังพื้นดินได้ ในช่วงระยะเวลานั้น โลกส่วนหนึ่งถูกปกคลุมด้วยความมืดและบรรยากาศชวนให้รู้สึกอึมครึม โดยเฉพาะพื้นที่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ประกอบกับอุณหภูมิปรับลดต่ำลงเพราะไม่มีแสงแดดคอยให้ความอบอุ่น ทำให้ได้รับการขนานนามว่า ปีที่ไม่มีฤดูร้อน (the year without a summer)
ในเวลาที่คาบเกี่ยวกัน เพอร์ซี บิช เชลลีย์ (Percy Bysshe Shelley) และแมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) คู่รักนักกวีได้เดินทางมาถึงคฤหาสน์ส่วนตัวตามคำเชื้อเชิญของกวีโรแมนติกผู้ยิ่งใหญ่ในขณะนั้นอย่าง ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับทะเลสาบเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหวังให้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนร่วมกันในหมู่เพื่อนนักกวี แต่สภาพอากาศกลับไม่เป็นใจ เพราะผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา ทำให้กวีทั้ง 3 คนไม่สามารถออกไปด้านนอกได้ตามที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก
ดังนั้น ลอร์ด ไบรอน จึงคิดสนุกสร้างกติกาขึ้นมาฆ่าเวลาแก้เบื่อที่ออกไปไหนไม่ได้ด้วยการตกลงกับเพื่อนนักกวีอีกสองคนว่าให้ทุกคนเขียนเรื่องเหนือธรรมชาติที่สยองขวัญมากที่สุดคนละหนึ่งเรื่องเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน แต่ผลปรากฏว่ามีเพียงแมรี เชลลีย์ กวีสาววัย 18 ปี คนเดียวเท่านั้นที่ทำสำเร็จ และเธอได้ตั้งชื่อเรื่องนั้นว่า Frankenstein (or The Modern Prometheus) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ แฟรงเกนสไตน์
ถ้าให้ยกตัวอย่างชื่อที่โด่งดังที่สุดในโลกแห่งสัตว์ประหลาดและอสูรกาย ชื่อของแฟรงเกนสไตน์ น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่อยู่ในคำตอบยอดนิยม เพราะทุกคนคุ้นชินภาพผู้ชายร่างใหญ่ตัวเขียวคล้ำ เดินช้าๆ พูดช้าๆ ทำทุกอย่างด้วยความเชื่องช้าแต่กลับมีพละกำลังมากมาย รวมถึงบนใบหน้าและลำตัวมีรอยแผลจากการเย็บ ส่วนบริเวณคอหรือไม่ก็ขมับทั้งสองข้างมีแท่งเหล็กติดอยู่ แต่ทราบหรือไม่ว่าคำอธิบายลักษณะเหล่านี้ถือเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกับต้นฉบับวรรณกรรมของแมรี เชลลีย์ แต่เป็นความเข้าใจที่สร้างและสั่งสมมาจากแวดวงภาพยนตร์ ซึ่งนำวรรณกรรมชื่อเรื่องเดียวกันนี้ไปดัดแปลงใหม่ทั้งหมดจนแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม ซึ่งถือเป็นเหตุผลด้านความบันเทิง
ในความเป็นจริงแล้วชื่อหนังสือ แฟรงเกนสไตน์ คือชื่อของคนที่สร้างอสูรกายนี้ขึ้นมา ซึ่งมีชื่อเต็มว่า วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ (Victor Frankenstein) เป็นนักศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และประวัติศาสตร์ธรรมชาติ วัย 17 ปี ส่วนผู้ที่ถูกสร้างหรืออสูรกายแท้จริงแล้วไม่มีชื่อ เพราะแมรี เชลลีย์ เรียกมันอย่างธรรมดาว่า มอนสเตอร์
แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้แมรี เชลลีย์ แต่งเรื่อง แฟรงเกนสไตน์ คือการทดลองของ ลุยจี อาโลอีซีโอ กัลวานี (Luigi Aloisio Galvani) แพทย์และนักฟิสิกส์ชาวอิตาลี ผู้ริเริ่มการศึกษาไฟฟ้ากับสิ่งมีชีวิต เขาค้นพบว่าขากบที่ขาดแล้วกลับมาขยับได้อีกครั้งหนึ่งด้วยการกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อขา เขาทดลองใช้คีมแตะไปยังขากบซึ่งวางอยู่บนจานโลหะ ผลลัพธ์ที่ได้คือขากบกระตุกตอบสนองกระแสไฟฟ้าที่ส่งเข้าไป เขาจึงสรุปว่าในตัวกบมีไฟฟ้า และเรียกพลังงานที่ทำให้ขากบกระตุกว่า ไฟฟ้าชีวภาพ (animal electricity) แม้เป็นเพียงการทำให้ซากสิ่งมีชีวิตกลับมาขยับได้อีกครั้ง (และห่างไกลจากนิยามการมีชีวิต) แต่การทดลองชวนประหลาดใจนี้เอง กลับสามารถกระตุ้นเร้าจินตนาการของแมรี เชลลีย์ได้ ซึ่งเธอก็เลือกให้แฟรงเกนสไตน์ใช้ไฟฟ้าในการชุบชีวิตอสูรกาย
แฟรงเกนสไตน์ คือวรรณกรรมที่เล่าเรื่องถึงชีวิต ความคิด ตัวตน ความสัมพันธ์ และความขัดแย้งบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สร้าง (Frankenstein) และผู้ถูกสร้าง (Monster) โดยเฉพาะความทะเยอะทะยานของมนุษย์ที่ต้องการเอาชนะธรรมชาติ ซึ่งแฟรงเกนสไตน์ได้พิสูจน์ให้เห็นหลังจากเหน็ดเหนื่อยพยายามค้นหาวิธีสร้างและฟื้นคืนชีวิตมาโดยตลอด แต่เมื่อทำสำเร็จ ความหวาดกลัว และความวิตกกังวลกลับเข้ามาแทนที่ วินาทีแรกที่เผชิญหน้ากับอสูรกาย เขาเลือกที่จะหนีออกห่างจากสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา และปล่อยมันให้มีชีวิตอย่างยากลำบาก แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็ไม่สามารถหนีไปจากสายตาของอสูรกายที่คอยจับจ้องและเฝ้าดูเขาอยู่ตลอดได้ แล้วเรื่องราวก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นการไล่ล่าระหว่างผู้สร้างและผู้ถูกสร้าง จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตของทั้งคู่ ทุกอย่างในชีวิตของแฟรงเกนสไตน์ถูกทำลายลงจนสูญสิ้นอย่างไม่เหลือชิ้นดี ส่วนชีวิตของอสูรกายก็ไร้ค่าไร้ความหมายใดๆ ไปตลอดกาล
โศกนาฏกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานปรัชญากรีกที่ว่า โดยปกติในวิถีความเป็นมนุษย์ เราทุกคนมักจะถามถึงความหมายของชีวิตของตนเองเสมอ เอาเข้าจริงเราทุกคนแทบจะไม่ต่างกับแฟรงเกนสไตน์และอสูรกาย ภายในตัวตนของเราต่างมีส่วนผสมของทั้งสอง ตั้งแต่กำเนิดซึ่งทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ เราแสวงหาความสำคัญ การได้รับความรักและการยอมรับ ความเอาใจใส่ และการได้เป็นคนสำคัญกับคนอื่นๆ
ความน่าสนใจของ Frankenstein คือมีชื่อรองอีกชื่อว่า The Modern Prometheus หรือ โพรมีธีอุสสมัยใหม่ เป็นความตั้งใจของแมรี เชลลีย์ เพื่อต้องการอ้างอิงถึงปกรนัมกรีกเกี่ยวกับเทพโพรมีธีอุส ผู้ขโมยไฟและสายฟ้าจากเหล่าเทพมาให้มนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความรู้และอำนาจ แม้จะขัดขืนต่อความถูกต้องและต้องโดนลงโทษ แต่ก็ยืนยันที่จะทำให้สิ่งๆ นั้นต่อไป
นอกจากนี้ การสร้างบรรยากาศแบบกอธิก (gothic novel) ก็ช่วยเสริมความหวาดกลัวให้กับวรรณกรรมเรื่องนี้ได้ เนื้อเรื่องแนวกอธิกจึงมักจะมีลักษณะเด่นๆ เช่น ความวิตกกังวล ความน่าสะพรึง สิ่งประหลาดชวนขยะแขยง และความกลัวที่จะถูกลืม องค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้มีสอดแทรกอยู่ในเรื่อง แฟรงเกนสไตน์
รวมถึงมีนักวิจารณ์วรรณกรรมจำนวนไม่น้อย ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ว่า นอกเหนือไปจากความน่ากลัว เรื่องนี้ยังแสดงถึงความอ่อนแอ ภาวะจิตใจที่ไม่มั่นคง ความรู้สึกถวิลหาบางสิ่งบางอย่าง และความน่าสงสารเห็นใจ อาจมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวสุดสะเทือนใจของแมรี เชลลีย์ เพราะเธอสูญเสียแม่เพียงไม่กี่วันหลังจากเธอคลอด และยังสูญเสียลูกถึง 3 คน การที่ผู้สร้างต้องการให้ชีวิตแก่ซากศพที่นอนแน่นิ่ง จึงอาจมาจากความต้องการในส่วนลึกของหัวใจที่หวังเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในแต่ละช่วงชีวิตที่ผ่านมา
เวลาผ่านมาถึง 200 ปี ทุกชีวิตเกิดและสูญสิ้นไปเหมือนกันทั้งหมด แต่ Frankenstein ยังคงอยู่เป็นอมตะ และคอยทำหน้าที่ช่วยเปิดโลกการรับรู้ใหม่ถึงผลลัพธ์จากความคิดนอกกรอบหรือเส้นขอบแห่งศีลธรรม (ethic) ซึ่งเป็นความท้าทายแห่งการมีชีวิต และเป็นบทเรียนสำคัญให้กับทุกคนที่หวังต้องการเอาชนะธรรมชาติ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็คือโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันอวสาน และยังคงอยู่มาถึงวันนี้และวันต่อๆ ไป