ชีวิตเดี่ยว

The Rise of Living Alone | ทำไมคนยุคใหม่จึงเลือกใช้ ‘ชีวิตเดี่ยว’ เปลี่ยวเหงาแบบไร้คู่ครอง

‘ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์’ คำพูดติดปากคุ้นหูที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังไม่เลือนหายไป ประโยคนี้ทำเอาหลายคนเลือกที่จะครองโสด หรือแม้จะมีคนรักอยู่แล้ว แต่ก็เลือกที่จะใช้ ‘ชีวิตเดี่ยว’ เพื่อตัดปัญหารักโรแมนติกกับคู่ครอง อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ก็อาจสร้างผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างมากกว่าที่เราคิด หากไม่มีการเตรียมรับมือที่เพียงพอ

 
การเพิ่มขึ้นของประชากรไทยที่ใช้ชีวิตคนเดียว

     ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคการชะลอตัวของอัตราการเจริญเติบโตของประชากร หลังจากนี้จำนวนประชากรจะคงที่และลดลงในที่สุด โดยการลดลงของประชากรน่าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า สาเหตุหลักมาจากการลดลงของภาวะการเจริญพันธุ์ ทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงตามไปด้วย

     โดยสถานการณ์ด้านประชากรของไทย ณ ปัจจุบันและอนาคตที่กำลังจะมาถึงคือ ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนประชากรวัยทำงาน ที่มีอายุระหว่าง 30-64 ปี จะยังคงเติบโตต่อไปอีกระยะหนึ่งจากนั้นจะเริ่มลดลง ส่วนประชากรวัยเด็กอายุ 15-29 ปี และวัยแรกเกิดถึง 14 ปีนั้น หดตัวลดลงอย่างชัดเจน

     จากตัวเลขเหล่านี้ ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ประชากรไทยที่ใช้ชีวิตคนเดียวจะเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากจำนวนคนที่จะให้ใช้ชีวิตด้วยลดลงแล้ว สภาพแวดล้อมทางสังคม ค่านิยมของยุคสมัย ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเลือกที่จะอยู่คนเดียว มากกว่าต้องหาใครมาเพิ่มภาระการใช้ชีวิตในโลกที่แสนจะยุ่งเหยิงอยู่แล้ว

จำนวนคนที่อยู่คนเดียว

2550 : 2 ล้านคน

2552 : 2.3 ล้านคน

2554 : 2.7 ล้านคน

2556 : 3.3 ล้านคน

2558 : 3.8 ล้านคน

จำแนกตามเพศ

เพศหญิง : 2 ล้านคน

เพศชาย : 1.8 ล้านคน

     บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และอดีตคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนิตยสาร Way กล่าวถึงที่ไปที่มาของสภาพประชากรไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

     “ประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนวัยทำงานที่อยู่ในวัยกลางคนโดยเฉพาะผู้หญิง ตอนนี้สังคมไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เดิมทีถ้าเรามีลูก พ่อแม่เราก็ช่วยเลี้ยง หรือฝากลุงป้าช่วยเลี้ยงได้ แต่สังคมตอนนี้เปลี่ยนไป พอมีลูกก็ไม่รู้จะให้ใครช่วยเลี้ยง ถ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก ก็จะถูกผลักภาระให้ต้องเลี้ยงดูแลพ่อแม่ นี่คือข้อมูลที่เราเริ่มเห็นบ้างแล้วโดยเฉพาะในเขตเมือง

     “การที่ผู้หญิงต้องออกจากตลาดแรงงานกลางคัน เป็นประเด็นน่าสนใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุและการเลี้ยงดูลูก ทำไมผู้หญิงต้องเป็นผู้เสียสละในการออกจากตลาดแรงงาน ทำไมผู้หญิงจึงถูกยัดเยียดบทบาทในการดูแลลูก หรือดูแลพ่อแม่อยู่ฝ่ายเดียว กลายเป็นว่าผู้หญิงต้องทำหน้าที่ทุกอย่าง แต่ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ว่าทำทุกอย่างไม่ไหวแล้ว ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง”

จำแนกตามสถานภาพ

โสด : 1.5 ล้านคน

ม่าย : 1.1 ล้านคน

สมรส : 0.6 ล้านคน

หย่า : 0.6 ล้านคน

จำแนกตามภาค

ภาคเหนือ : 0.7 ล้านคน

ภาคกลาง : 1.3 ล้านคน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : 0.8 ล้านคน

ภาคใต้ : 0.5 ล้านคน

ผลกระทบจากการเลือกใช้ชีวิตคนเดียว

1. จำนวนประชากรลดลง

  • อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือร้อยละ 0.4 ในปี 2558
  • จำนวนประชากรไทยจะลดลงร้อยละ 0.1 ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

2. ตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนแรงงาน

     การลดลงของจำนวนประชากรทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากที่สุดใน AEC ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตต่างๆ ทั้งภาคเกษตร ที่เมื่อเหล่าเกษตรกรอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลงไปตามสังขาร ทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลงตามไปด้วย ภาคอุตสาหกรรมที่เราจะอาศัยกำลังแรงงานเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้อีกต่อไป และภาคบริการที่อาจจะต้องอาศัยนวัตกรรม เทคโนโลยี เข้ามาทดแทนผู้ให้บริการในอนาคต

  • อันดับ 1 ไทย การลดลงของจำนวนประชากร 38.8%
  • อันดับ 2 มาเลเซีย การลดลงของจำนวนประชากร 20.2%

3. กระทบต่อเศรษฐกิจในเชิงมหภาค

     ภาวะการขาดแคลนแรงงานจะทำให้ค่าแรงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและก่อให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เกี่ยวโยงถึงนโยบายแรงงานหรือการปรับตัวของตลาดแรงงาน เพราะระบบการจ้างงานนั้นมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาพกว้าง และที่สำคัญคือพฤติกรรมการใช้จ่ายที่จะเปลี่ยนไปของผู้บริโภค เพราะเมื่อคนเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ก็จะให้ความสำคัญกับการออมมากขึ้น ธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย
 


ที่มา:

โครงการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

https://waymagazine.org/aging_society/

http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635085

http://social.nesdb.go.th/social/Portals/0/Documents/1000_UNFPA_rev_Policy%20Brief%20Thai_200411_69.pdf