PTSD

PTSD กับผู้รอดชีวิตจากวิกฤติ: การช่วยเหลือเยียวยาโดยไม่คาดคั้นเอาความ

เพียงชั่วข้ามคืน ความยินดีอย่างท่วมท้นกำลังไหลบ่าสู่โซเชียลมีเดีย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนๆ เช้านี้คือทุกคนต่างแชร์คลิปที่เต็มไปด้วยความปีติตื้นตัน บัดนี้ 13 ชีวิตถึงมือของหน่วยกู้ภัยแล้ว อีกโพสต์หนึ่งก็เป็นภาพการทำงานอย่างขยันขันแข็งของทีมข่าวและอาสาสมัครที่มาจากทั่วมุมโลก ทุกคนต่างมุ่งสู่พื้นที่เพื่ออัพเดตสถานการณ์และสอบถามจากผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำ เช่นเดียวกับเราที่เฝ้าหน้าจอโทรศัพท์ตาไม่กะพริบ

     หลังจากนี้พื้นที่บริเวณถ้ำหลวงคงจะยิ่งหนาแน่นจากผู้คนทั่วสารทิศที่คลายจากความวิตกกังวลจนทำให้นอนไม่หลับมาเป็นเวลาร่วม 10 วัน ก็ได้แต่หวังว่าจะเหตุการณ์ครั้งนี้จะผ่านไปได้ด้วยดี โดยไม่มีการกรูเข้าไปคาดคั้นเอาเรื่องราวจากผู้รอดชีวิตที่สะท้อนให้เห็นความห่วงใยแต่ไร้ซึ้งความรู้ในการเยียวยาอย่างถูกวิธี

 

10 วันที่ไม่ได้เจอโลกภายนอก

     ลองนึกถึงบรรยากาศในถ้ำร่วม 10 วันที่ผ่านมา ที่สร้างทั้งความกดดันและความเครียด ทั้ง 13 ชีวิตต้องอยู่ในสภาพชื้นแฉะ หนาวเย็น ทนหิวโหยโดยไม่มีอาหารตกถึงท้อง ทั้งยังมืดมิดจนพอที่จะทำให้จิตใจเกิดหวาดหวั่นต่ออันตราย เพราะไม่รู้ว่าชีวิตจะอยู่รอดจนถึงวันที่มีคนเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่

     หลังการช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพร่างกายที่บอบช้ำ อ่อนเพลีย แถมยังมีภาวะเสี่ยงของการติดเชื้อบางประเภทซึ่งต้องได้รับการดูแลควบคุมอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามร่างกายซ่อมแซมไม่นานก็หาย แต่บาดแผลในใจของผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ซึ่งนับว่าเลวร้ายที่สุดในชีวิตยังคงอยู่ และอาจจะมีความรุนแรงในระดับที่ส่งผลให้เขาในเวลานี้มีภาวะทางใจที่ผิดเพี้ยนไปก่อนที่จะเข้าถ้ำจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือเผชิญกับอาการเจ็บป่วยจากความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD)

 

ภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD)

     PTSD คือรูปแบบของอาการหวาดวิตกกังวลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มักจะเกิดกับบุคคลที่ผ่านการถูกคุกคามหรือเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ อุบัติเหตุทางรถยนต์ ทหารที่ผ่านสมรภูมิรบ การก่อการร้าย หรือภัยพิบัติธรรมชาติ ฯลฯ

     ผู้ที่เผชิญภาวะ PTSD มักจะมีอาการร่วมกันคือ นอนไม่หลับ เห็นภาพเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความภูมิใจในตัวเองตกต่ำลง กลายเป็นคนที่มีบาดแผลฝังใจ หรือมักจะมีอารมณ์ไม่ดี  เช่น คนที่เคยจมน้ำในทะเล เมื่อเห็นทะเลหรือเข้าใกล้น้ำก็จะเห็นภาพเหตุการณ์จมน้ำของตัวเองตามมาหลอกหลอน

     เมื่อ PTSD เริ่มเป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ราวทศวรรษ 1980 กระบวนการเยียวยาที่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่เผชิญภาวะเช่นนี้ก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้รูปแบบของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ไอเดียของมันคือการเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต ผ่านการพูดถึงบาดแผลในใจและการค้นหาที่มาของความกลัว

 

การรักษาอย่างไม่ถูกวิธีคือการซ้ำเติมผู้ป่วย

     เหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 11 กันยายน 2001 คือจุดเริ่มต้นที่นำวิธีการเยียวยารักษาโดยให้ความสำคัญกับภาวะ PTSD ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การไปซักไซ้ผู้ผ่านเหตุการณ์จะยิ่งซ้ำเติมให้เขาตกลงไปอยู่ในหล่มของความหวาดวิตกมากขึ้น ดังนั้นหลังจากความรุนแรงเพิ่งผ่านไป ผู้คนที่รอดชีวิตจะถูกนำไปบำบัดรักษาอย่างถูกวิธี โดยไม่มีสื่อหรือคนรอบตัวไปคาดคั้นเรื่องราวที่พวกเขาเพิ่งผ่านมา

     ญี่ปุ่นคือประเทศที่เผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างบ่อยครั้งและรุนแรงที่สุด แต่เป็นประเทศมีกระบวนการในการเยียวยาผู้ผ่านความสูญเสียอย่างเป็นระบบ ซึ่งให้ความสำคัญกับการระวังต่อการเยียวยาที่อาจจะก่อให้เกิดอาการ PTSD ดังนั้นจะไม่มีการสอบถามหรือซักไซ้จากผู้รอดชีวิต แต่จะเป็นกระบวนการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

     การเยียวยามีเป้าหมายหลักๆ อยู่ 3 อย่างคือ รักษาอาการป่วย ฝึกทักษะในการจัดการกับมัน และฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตัวเอง ทั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งวิธีที่เลือกใช้ในการรักษา นักบำบัด สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยด้วย การบำบัดต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและให้ระยะเวลาที่เหมาะสมเป็นสำคัญ

 

5 ตัวอย่างของกระบวนการช่วยเหลือเยียวยา

01 Cognitive Processing Therapy

     กระบวนการที่ช่วยในการตรวจสอบความคิดของคุณที่มีต่อบาดแผลในจิตใจ และการแสวงหาหนทางในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน

     นับเป็นวิธีบำบัดโดยการพูดและเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ผู้เข้าบำบัดเล่าให้ฟังว่าสิ่งที่ผ่านไปนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร ทั้งนี้นักบำบัดจะเป็นผู้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เลวร้ายเหล่านั้นมันอยู่เหนือการควบคุมของคุณ เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับ

 

02 Prolonged Exposure Therapy

     การเยียวยาโดยพาไปเผชิญหน้ากับความกลัว หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิธีการแบบ ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’

     หากคุณหวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะย้ำเตือนถึงฝันร้ายของคุณ ให้ลิสต์สิ่งที่พยายามหลีกหนีออกมา แล้วค่อยกลับไปเผชิญหน้าทีละอย่าง เพื่อให้คุณได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับมัน

     นักบำบัดมักใช้วิธีให้คุณเล่าเรื่องที่สร้างบาดแผลทางจิตใจคุณออกมา แล้วนำเทปที่อัดเสียงคุณขณะเล่าให้กลับไปเปิดฟังที่บ้าน

 

03 Eye Movement Desensitization and Reprocessing

     คุณอาจจะไม่จำเป็นจะต้องบอกประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณแก่นักบำบัด

     ในทางกลับกันคือให้คุณคอยฟังสิ่งที่เขาพูดหรือคอยสังเกตสิ่งที่เขาทำ ซึ่งวิธีการนี้เป็นวิธีการรักษาโดยพาคุณไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่เป็นด้านบวก เพื่อให้คุณไม่มัวโฟกัสอยู่กับบาดแผลทางจิตใจ

 

04 Stress Inoculation Training

     วิธีการนี้เป็นชนิดหนึ่งของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ซึ่งคุณสามารถทำได้ด้วยตัวเองในกลุ่มบำบัดของคุณ ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านไปแล้ว แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงหลังจากคุณจัดการกับความเครียด เช่นการควบคุมตัวเอง การแก้ปัญหา และการสื่อสารกับผู้อื่น ฯลฯ

     คุณอาจจะได้รับข้อความหรือเทคนิคการหายใจเพื่อที่จะหยุดความคิดแง่ลบโดยการทำให้ร่างกายและจิตใจของคุณผ่อนคลายมากขึ้น พร้อมกับเพิ่มทักษะในการรับมือกับความเครียด

 

05 Medications

     สมองของคนเราเวลาที่ถูกคุกคามจาก PTSD จะต่างไปจากภาวะปกติ ความสมดุลของเคมีในสารสื่อประสาทได้รับการกระทบอย่างรุนแรง หรือการถูกกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองแบบพร้อมต่อสู้ ซึ่งอาจจะทำให้คุณมีอาการหลุดไปจากภาวะปกติ สิ่งที่ต้องทำคือการพยายามที่จะควบคุมหรือลดอุณหภูมิความรู้สึกลงหรือลบมันออกไปให้หมด

     การกินยาจึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้หยุดคิดและหยุดตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว รวมถึงเวลาที่คุณอยู่ในฝันร้ายหรือเกิดภาพเดิมซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งยาอาจจะช่วยให้คุณมีมุมมองในด้านบวกต่อชีวิตและความรู้สึกมากขึ้น

     โดยปกติยาที่กินจะมีหลายตัว ส่วนใหญ่จะทำงานกับสารเคมีในสมองที่มีความสัมพันธ์กับความกลัวและความวิตกกังวล โดยในการเลือกกินยาแต่ละตัวนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

 


ที่มา: www.webmd.comwww.ncbi.nlm.nih.gov, www.newscientist.com