David and Goliath

Book Actually | ‘จุดอ่อนแต่สร้างจุดแข็ง’ อ่านหนังสือไม่ค่อยออก แต่ความจำแม่น

คุณเชื่อไหมว่า บทความนี้เขียนโดยคนที่อ่านหนังสือไม่ค่อยออก! เราขอสารภาพตามตรงว่าเราเป็นดิสเลกเซีย (Dyslexia) หรืออาการผิดปกติในการเรียนรู้ทางภาษา ซึ่งกรณีของเรานั้นเป็นปัญหาด้านการออกเสียง เราเลยออกเสียงผิดๆ ถูกๆ เป็นประจำ และมักมีปัญหาในการสะกดคำ เหตุผลเพราะสร้างเสียงขึ้นมาเองในหัวไม่ได้ ถ้าคำไหนไม่คุ้นหรือไม่เห็นมาก่อน ก็จะออกเสียงหรือเขียนไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังทำงานเป็นนักเขียน (ฮาๆ)

     ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอเริ่มด้วยการบ่นและระบายความทุกข์ก่อนว่า กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นดิสเลกเซีย เราเจ็บปวดและอับอายมาหลายปี ครั้งแรกที่จำได้แม่นคือตอนอยู่ ม.1 ตอนนั้นอาจารย์ภาษาไทยให้เขียนเรียงความเกี่ยวกับอะไรก็ได้ เราเลยเขียนเรื่องปลาโลมา จากนั้นอาจารย์ก็ให้นักเรียนออกมาอ่านเรียงความตัวเองหน้าชั้น แล้วเราอ่านได้ดีมาก อาจารย์เลยชื่นชมใหญ่

     แต่ความอับอายครั้งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งอาจารย์คนเดิมสอนเรื่องรามเกียรติ์ แล้วหานักเรียนสักคนมาอ่านบางประโยคในหนังสือที่หน้าชั้น และอาจารย์ก็ดันจำเราได้ เลยบอกให้ลุกออกไปอ่าน แต่ผลกลายเป็นว่าเราอ่านติดๆ ขัดๆ จนอาจารย์ต่อว่าเราต่อหน้าเพื่อนๆ และยังบอกอีกว่านี่ใช่เด็กคนที่อ่านหนังสือวันก่อนได้ยังไง ทำไมอ่านไม่ได้เรื่องขนาดนี้ ยังกับคนละคน

     ซึ่งต่อมาเรามารู้สาเหตุที่แท้จริงว่า ทำไมวันแรกเราถึงทำได้ดี ขณะที่วันที่สองถึงห่วยแตก เหตุผลเพราะวันแรกสิ่งที่เราอ่านเป็นเรียงความที่เราเขียนเอง เราเลยคุ้นกับตัวหนังสือ แต่วันที่สองเป็นการอ่านสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราเลยไม่สามารถอ่านได้ แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ประสาพอจะบอกตัวเองได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราเลยจดจำตัวเองว่าเป็นคนอ่านหนังสือไม่เก่งตั้งแต่นั้นมา และกลัวการออกไปอ่านอะไรต่อหน้าผู้คน

 

     อีกด้านหนึ่ง แม่เราก็ไม่เข้าใจปัญหาการอ่านหนังสือเหมือนกันและคิดไปเองว่าเราเรียนไม่เก่ง จนถึงขั้นซื้อหนังสือประถมมาให้เราอ่านตอนอยู่มัธยม ทว่าตอนอยู่ ม.ปลาย เราตั้งใจเรียนมากและได้คะแนนดีมากเลยทีเดียว จนเกิดความคิดอยากเอนทรานซ์เข้าคณะอักษร จุฬาฯ แต่อย่างที่คุณรู้ว่า การสอบเข้าอักษรต้องใช้คะแนนวิชาหนึ่งแน่นอนคือ วิชาภาษาไทย ซึ่งพาร์ตวรรณกรรม พาร์ตไวยากรณ์เราแทบไม่มีปัญหา แต่มาเจออุปสรรคใหญ่สุดๆ คือพาร์ตสะกดคำ และนั่นทำให้เราต้องคิดหาทางออกให้ตัวเอง

     ตอนนั้น เรารู้ว่าไม่มีทางที่จะบังคับตัวเองให้อ่านออกเสียงได้ทันสอบแน่ๆ เพราะพยายามมาหลายปีแต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น จะต้องหาวิธีใหม่เพื่อให้ได้คะแนนพาร์ตนี้บ้าง ซึ่งวิธีนั้นคือ การจำคำตอบในข้อสอบ กล่าวคือ เราซื้อหนังสือรวมข้อสอบย้อนหลัง 10 ปีมาลองฝึกมือหลายรอบ พอถึงพาร์ตสะกดคำ เราก็ใช้วิธีจำคำตอบที่ถูกต้อง เพราะเดาว่าข้อสอบใหม่คงไม่หนีจากข้อสอบปีก่อนๆ ฉะนั้นถ้าเราจำได้เยอะ แล้วข้อสอบปีนั้นดันออกข้อที่เราจำมา ก็ถือว่ากำไร ซึ่งสุดท้ายเราก็ได้คะแนนดีและสอบติดอักษร จุฬาฯ ทั้งที่ถูกตราหน้ามาตลอดว่าเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออก แต่เราก็ได้เข้าเรียนคณะด้านภาษาที่ดังที่สุดในไทย

     และการเรียนที่อักษรนี่แหละคือจุดที่ทำให้เราได้พบคำตอบ เพราะที่อักษรมีวิชาหนึ่งที่นิสิตทุกคนถูกบังคับให้เรียนคือ วิชาภาษาศาสตร์ (Linguistics) ความเจ๋งของภาษาศาสตร์คือ ช่วยเปิดมุมมองให้เห็นว่าภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารของมนุษย์ มนุษย์สร้างเสียงหรือสร้างอักขระบางอย่างขึ้นมาแล้วตกลงกันว่านี่หมายถึงอันนี้อันนั้นนะ และที่แปลกมากคืออยู่ๆ อาจารย์ก็พูดถึงความสามารถในการออกเสียงของมนุษย์ และมันทำให้เราปิ๊งไอเดียว่า เราควรปรึกษาโรคอ่านหนังสือไม่ออกกับใคร หมอคนนั้นก็คือ “หมอภาษา” ที่คณะนี่เอง

     เราเลยไปพบอาจารย์ภาษาศาสตร์ และเล่าปัญหาการอ่านหนังสือให้ฟัง แล้วคุณรู้ไหม? พออาจารย์ให้คำตอบมา เหมือนเราพบแสงสว่างที่รอคอยมานาน มันปลดล็อกความเข้าใจตัวเองที่ว่าเราเป็นคนหัวไม่ดีไปหมดเลย อาจารย์บอกกับเราว่า สิ่งที่เราเป็นไม่ใช่เราไอคิวต่ำ ไม่เกี่ยวกันเลย แต่เป็นอาการของดิสเลกเซีย หรือความผิดปกติในการเรียนรู้ทางภาษา ซึ่งมีคนเป็นกันเยอะ ในเมืองนอกถือเป็นเรื่องปกติเลยด้วยซ้ำ แต่ในไทย คนที่เข้าใจเรื่องนี้มีน้อย เลยตีความคนที่อ่านหนังสือไม่ออกว่าเป็นคนหัวไม่ดี

     นอกจากนี้ อาจารย์ยังอธิบายกลไกการอ่านหนังสือของเราให้กระจ่างชัดขึ้น จากที่อาจารย์ฟัง อาจารย์บอกว่า เพราะคุณสร้างเสียงขึ้นในหัวไม่ได้ สมองคุณเลยใช้วิธีการเรียนรู้ทางภาษาที่เบบี้กว่านั้นแทน คือ “การจำ” กล่าวคือ ตอนเป็นเด็กน้อย ครูจะสอนให้เด็กอ่านหนังสือด้วยการจำภาพตัวหนังสือ เช่น “ส้ม” ภาพนี้อ่านว่าส้ม แล้วเด็กๆ ก็จะจำภาพและเสียง เวลาเห็นภาพตัวหนังสือที่เขียนว่า “ส้ม” เด็กก็จะดึงความจำที่เป็นเสียงของภาพนี้มาแมตช์ แล้วออกมาเป็นเสียง แต่พอโตขึ้นมาหน่อย โรงเรียนจะสอนไวยากรณ์ โดยเปลี่ยนให้เด็กเริ่มสร้างเสียงเอง โดยเอาพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์มารวมกัน แล้วลองสร้างเสียง ซึ่งปัญหาของเราติดตรงนี้แหละ คือสมองเราไม่สามารถประมวลไวยากรณ์ออกมาเป็นเสียงได้

 

     แต่กลไกธรรมชาติเจ๋งเสมอ เมื่อสมองรู้ว่าออกเสียงไม่ได้ มันก็ดิ้นรนหาวิธีอื่นจนได้ในที่สุด ซึ่งวิธีนั้นคือ กลับไปใช้วิธีอ่านหนังสือแบบเด็กน้อย โดยใช้การจำภาพกับเสียงให้ได้มากที่สุด เช่น พอเราเจอภาพคำ “จุ้ย (ศุ บุญเลี้ยง)” ซึ่งถือเป็นคำที่ยากสำหรับเรา แต่เราจำเสียงคำว่า “ฮวงจุ้ย” ได้ เราก็อ่านชื่อพี่จุ้ยออกแล้ว เพราะคำว่าฮวงจุ้ย (ฮาๆๆ)

     แล้วคุณลองคิดดูว่า การอ่านหนังสือของเราจะมีภาพคำอื่นปนกันอย่างนี้เต็มไปหมด สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวคือ แม้เราจะอ่านหนังสือแบบคนทั่วไปไม่ได้ แต่เราได้ทักษะมหัศจรรย์ใหม่ขึ้นมาแทน นั่นคือความจำและการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ (Convergent thinking) มันทำให้เราเป็นคนจับนู่นจับนี่มาคิดหรือทำอะไรต่อได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนการเขียนหนังสือก็ไม่ยากเลย เราเขียนด้วยคลังคำที่เราใช้วิธีจำนั่นเอง ดังนั้น ถ้าคุณเห็นเราสะกดผิดล่ะก็ ขอให้คิดเลยว่าคำนั้นเราอาจจะจำเสียงหรือภาพไม่แม่น

     อย่างไรก็ตาม หลังจากปลดล็อกการอ่านหนังสือไม่ออกได้แล้ว มุมมองหนึ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนมากคือ เรารักชะตาชีวิตตัวเองมากขึ้น เราไม่เคยเสียใจกับปัญหาหนังสือไม่ออก เรากลับชอบมันด้วยซ้ำ และยังนึกขอบคุณพระเจ้าที่สร้างกลไกทดแทนตามธรรมชาติ มันทำให้เรารู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เสียเปล่า ถ้ามีอะไรที่ขาดไป พระเจ้าจะให้อะไรอย่างอื่นทดแทนเสมอ เช่นกัน คุณอาจมีจุดอ่อนบางอย่าง แต่เชื่อเถอะว่าคุณมีพรสวรรค์ด้านอื่นซ่อนอยู่แน่นอน

     สำหรับใครที่อยากอ่านเรื่องคนเป็นดิสเลกเซียที่ประสบความสำเร็จ มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนถึงชัดเจนมาก คือ David and Goliath: Underdogs, Misffiits, and the Art of Battling Giants โดย Malcolm Gladwell ซึ่งหนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงจุดด้อยอื่นๆ ที่สุดท้ายแกลดเวลล์จะชี้ให้เห็นว่า เพราะจุดอ่อนนี่แหละถึงทำให้เกิดจุดแข็ง

David and Goliath