อาบป่า

พาร่างกายไปให้ธรรมชาติเยียวยาผ่านการ ‘อาบป่า (Forest Bathing)’ เทรนด์เขียวใหม่ที่กำลังมา

ถ้าคุณเป็นคนสนใจปรากฏการณ์ทางสังคม คุณน่าจะพอจับกลิ่นได้บ้างว่า เอ๊ะ ทำไมช่วงหลังๆ มานี้เริ่มเห็นคนเดินเทรล ไปปีนเขา หรือไปแคมปิ้งกันมากขึ้น หรือกระทั่งเห็นคนเมืองหันมาสนใจเรื่องป่าอย่างผิดหูผิดตา

ปรากฏการณ์เหล่านี้มีที่มาที่ไปอยู่ ยิ่งถ้าคุณเชื่อว่าสื่อและผู้คนต่างเป็นอิทธิพลทางความคิดต่อกันและกัน กระแสสีเขียวดูจะเป็นไวรัสทางความคิดที่ถูกส่งต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า ไวรัสความคิดไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มักจะมีที่มาที่ไปหรือแนวคิดแบ็กอัพซ่อนอยู่ เช่น แนวคิดรณรงค์พลาสติกมีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นฐาน แนวคิดเรื่องมังสวิรัติมีเรื่องสุขภาพและธรรมชาติเป็นฐาน เป็นต้น

     เช่นกันกับเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป การที่คุณเห็นกิจกรรมคนเมืองดูจะกรีนขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจแปลว่าแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นค่านิยมที่แข็งแรงแล้ว ว่าง่ายๆ คือมันกลายเป็นค่านิยมกระแสหลัก (mainstream) ของสังคม เมื่อเป็นแนวคิดหลักก็จะมีไลฟ์สไตล์ย่อยที่สะท้อนแนวคิดนี้ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นที่อยากกล่าวถึงก็คือ ‘การอาบป่า’ (forest bathing)

     การอาบป่า แค่ชื่อก็ดูเหมือนต้องแก้ผ้ายังไงยังงั้น แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย การอาบป่าคือการเข้าไปในพื้นที่เขียวเพื่อทอดอารมณ์ไปกับธรรมชาติ เปิดให้ผัสสะทุกอณูถูกชโลมด้วยแหล่งพลังสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส กลิ่น รส เสียง พูดอีกอย่างคือการปล่อยให้ตัวเรากลับไปประสาน (reconnect) เป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ เพื่อให้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่แปลกแยกจากธรรมชาติให้ได้ชาร์จพลัง

     แต่พอบอกแบบนี้ คุณอาจรู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย เพราะมนุษย์เราแต่ไหนแต่ไรมาก็มีแนวคิดประสานตัวเองกับธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้คุณเข้าใจถูก ว่าการประสานกับธรรมชาติเป็นวิถีมนุษย์มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ทว่าสิ่งที่มันใหม่คือ การที่แนวคิดนี้ถูกพัฒนาให้เป็น ‘เทรนด์’ และเป็นโครงการอย่างจริงจัง โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น

 

     ต้องขอเล่าแบบนี้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้อุตสาหกรรมไม้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้าง หรือกระทั่งกระดาษ เช่น ที่คนไทยเห็นบ่อยๆ คือบรรจุภัณฑ์ ฉะนั้น ไม้จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทว่า พอถึงจุดที่ญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ไม้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีการนำเข้าไม้จากประเทศอื่น ผลที่ตามมาคือรัฐบาลญี่ปุ่นกังวลว่าคนปลูกไม้ในประเทศจะได้รับผลกระทบจากไม้นำเข้า ดังนั้น ในช่วงปี 1980 ทางรัฐเลยส่งเสริมคนปลูกไม้ด้วยโมเดลเปลี่ยนป่าไม้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงบำบัดสุขภาพ หรือในชื่อญี่ปุ่นว่า ‘Shinrin-Yoku’ ซึ่งก็คือ ‘การอาบป่า’ นั่นเอง

     และอย่างที่รู้กัน ขึ้นชื่อว่าเป็นญี่ปุ่น ทุกอย่างก็ต้องจริงจังและทำให้เป็นรูปธรรม ทางรัฐเลยจัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนาการอาบป่าขึ้นมาโดยตรง และยังเปิดให้มีการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังถึงข้อดีของอาบป่า โดยเฉพาะประโยชน์เชิงการแพทย์ ที่นำโดย Dr. Qing Li ทั้งนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าการอาบป่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ จิตใจ รวมไปถึงการใช้ชีวิตของคนเราอย่างไร เช่น การอาบป่าช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความดัน ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น หรือช่วยให้เกิดไอเดียดีๆ ในการทำงาน เป็นต้น

     นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นก็จัดทำแหล่งธรรมชาติเพื่อการอาบป่าขึ้นมาหลายแห่ง ฉะนั้น สำหรับใครที่ชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น และเห็นว่ามีรูตท่องเที่ยวเดินป่าเยอะเต็มไปหมด ก็ขอให้รู้ว่านั่นเป็นผลพวงจากการโครงการอาบป่านั่นเอง

     ทว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การอาบป่าได้ข้ามฟากจากญี่ปุ่นไปเติบโตในอเมริกาเหนือ ผ่านนักคิดนักวิจัยตะวันตกที่หันมาศึกษาศาสตร์ของการอาบป่า จนต่อมาแนวคิดนี้ก็เติบโตเป็นกระแสของคนทั่วไปที่นิยมไลฟ์สไตล์เข้าป่ามากขึ้น

     ซึ่งถ้าให้สันนิษฐาน ก็เป็นไปได้ว่า เหตุผลที่กระแสการอาบป่าเติบโตเพราะความสุกงอมของผู้คนที่ชินกับแนวคิดธรรมชาติหรือเป็นนิเวศองค์รวมมากขึ้นแล้ว เช่น การกินมังสวิรัติ การตื่นตัวเรื่องสภาพแวดล้อม ภาวะแปลกแยกที่เกิดจากการเติบโตของสังคมเมือง หรือกระทั่งกระแสที่มาก่อนหน้า เช่น มินิมอลลิสม์ (minimalism) ฮุกกะ (Hygge) ซึ่งล้วนแต่เป็นการปูทางให้กระแสเขียวอย่างการอาบป่าแบ่งบานในยุคนี้อย่างง่ายดาย

     ฉะนั้น ก็มีความเป็นไปได้มากว่า อีกไม่นานกระแสการอาบป่า (forest bathing) ก็จะเข้ามาในบ้านเราอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน เพราะปีนี้เริ่มมีสื่อพูดถึงเรื่องนี้เพิ่มขึ้น หรือหันไปดูตามชั้นหนังสือก็มีหนังสือเรื่องนี้ออกมาให้เห็นด้วยเหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน กระแสการท่องเที่ยวอย่างเดินเทรล การแคมปิ้งที่เริ่มบูม ก็เป็นสัญญาณชี้ชัดว่าการอาบป่านั้นมาแล้ว กล่าวคือ รูปแบบกิจกรรมอาบป่าปรากฏในบ้านเราแล้ว เพียงแต่คำหรือคอนเซ็ปต์เพื่อเรียกว่าสิ่งนี้คืออะไรกำลังตามมา

 

     ทีนี้ มาถึงเรื่องสุดท้ายว่า แล้วจะรู้เรื่องนี้ไปทำไม? จริงๆ การรู้ทันปรากฏการณ์หรือรู้ทันเทรนด์อาจไม่ใช่รู้เพื่อทำมาหากินเพียงอย่างเดียว เช่น พอรู้ว่าเทรนด์นี้กำลังมา ก็น่าไปทำธุรกิจแนวๆ นี้ แต่ว่าการรู้ยังช่วยให้เราสามารถคาดคะเนได้ว่า ในอนาคตอันใกล้น่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอาจคึกคักและจริงจังมากขึ้นเพราะได้กระแสอาบป่ามาช่วย หรือไม่แน่ว่าการอาบป่าอาจเป็นจุดหักเหที่ทำให้ขยะรุกเข้าไปในป่ามากขึ้น จากคนที่ไม่รับผิดชอบที่แห่ไปใช้ชีวิตแบบอาบป่า หรืออาจมีแหล่งธรรมชาตินอกสายตาบางแห่งกลายเป็นที่รู้จักจากคนที่ไปอาบป่า ฉะนั้น การรู้ทันกระแสคือการเพิ่มมุมมองและช่วยพยากรณ์อนาคตได้นั่นเอง

 

     ส่วนใครที่สนใจเรื่องการอาบป่า มีหนังสือที่อ่านง่ายและอธิบายให้เห็นภาพชัดเล่มหนึ่งชื่อ Forest Bathing : Discovering Health and Happiness Through the Japanese Practice of Shinrin-Yoku (A Start Here Guide) เขียนโดย Dr. Cyndi Gilbert