วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

Book Actually | เราอาจไม่ควรคิดถึง ‘ความสำเร็จ’ ถ้าอย่างนั้นควรคิดถึงอะไร?

ถือเป็นความทุกข์ร่วมสมัยของคนยุคนี้ก็ว่าได้ เมื่อเราต่างโตมาในยุคที่พูดถึงแต่ความสำเร็จ หรือคุณจะเถียงว่าไม่จริง ที่ทุกวันนี้คำว่าความสำเร็จกลายเป็นคำสามัญที่มีให้เห็นแทบทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา คอนเทนต์ในโลกออนไลน์ หรือกระทั่งป้าข้างบ้านก็พร้อมจะถามถึงความสำเร็จอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

     การเติบโตมาในยุคที่พูดถึงความสำเร็จ ทำให้ใครหลายคนใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข เพราะคำว่าความสำเร็จกลายเป็นเป้าหมายฝังหัวว่าต้องทำให้ได้ พวกเราเลยได้เป็นสักขีพยานแห่งยุคสมัยที่ผู้คนพยายามแสดงออกถึงความสำเร็จของตัวเองอย่างบ้าคลั่ง โดยทั้งหมดทั้งมวลทำไปเพราะจะได้เป็นที่ยอมรับจากคนอื่น

     เช่น การป่าวร้องผ่านสื่อโซเชียลฯ ว่าพวกเขาได้ทำงานที่นั่นที่นี่แล้วนะ พวกเขาได้ไปเที่ยวตรงนั้นตรงนี้แล้วนะ พวกเขามีชีวิตธรรมดาที่จริงๆ ไม่ธรรมดาแบบนี้แล้วนะ ซึ่งแน่นอนว่าความน่ากลัวของปรากฏการณ์เหล่านี้คือ พวกเราเหมือนหนูถีบจั่นที่ไม่มีวันหยุด พอเราสำเร็จ (หรือบอกใครว่าเราสำเร็จ) ขั้นหนึ่ง เราก็จะถีบตัวเองไปหาความสำเร็จอื่นอีกอย่างไม่รู้จบ มันเลยเป็นชีวิตที่แสนเหนื่อย เพราะไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดคือตรงไหน แล้วเท่าไหร่คือพอ

     อย่างกระทั่งตัวเราเอง เราไม่ปฏิเสธว่าลึกๆ เราก็แสวงหาความสำเร็จเหมือนกัน แต่ทุกครั้งที่ตั้งสติได้ เราพยายามหยุดตัวเองให้รู้เท่าทันความเข้าใจตัวเองว่าทั้งหมดนี้คือเกมที่สังคมกำหนดไว้ ถ้าขืนเราเอาเกมของคนอื่นหรือสังคมมาใส่หัวตลอดเวลา เรานี่แหละที่จะบ้าตายก่อน ดังนั้น เราเลยแสวงหาคำตอบหรือแนวคิดใหม่ๆ ที่พูดถึงทั้งความสำเร็จ และการเป็นอิสระจากการต้องประสบความสำเร็จ เพราะอยากจะรู้ว่าสุดท้ายแล้วเราควรตั้งต้นชีวิตจากอะไรกันแน่?

 

วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

 

     อย่างหนังสือเล่มหนึ่งที่เตือนสติเรื่องนี้ได้ชัดเจนมากคือ วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์สฤณี อาชวานันทกุล เป็นหนังสือที่รวบรวมบทสุนทรพจน์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก กล่าวแก่บัณฑิตในวันจบการศึกษา

     ซึ่งหากจะสรุปใจความของบทสุททรพจน์ส่วนใหญ่ในเล่มนี้เป็นประโยคสั้นๆ อาจพูดได้ว่า นี่คือหนังสือที่ชี้ชวนให้คนฟัง (และคนอ่าน) ได้เป็นอิสระจากการต้องประสบความสำเร็จ แต่ทว่าเมื่อเป็นอิสระแล้ว สุดท้ายมันมักจะประสบความสำเร็จไปเอง

     กล่าวคือ คนที่มาพูดสุนทรพจน์หลายคนพยายามชี้ให้บัณฑิตตระหนักถึงการรู้เท่าทันตัวเองและรู้เท่าทันสังคม โดยเฉพาะการถูกกรอกหูว่าต้องประสบความสำเร็จถึงจะได้รับการยอมรับ ผู้พูดหลายคนเล่าว่า พวกเขาเคยผ่านช่วงชีวิตที่เดินตามสังคมบอก แต่แล้วมันก็ไม่มีความสุข หรือพวกเขาล้มเหลวกับความสำเร็จแบบที่สังคมต้องการ สุดท้ายพวกเขาได้ใช้ชีวิตด้วยการทำตามใจตัวเอง ทำตามสิ่งที่พวกเขาชอบ แล้วกลายเป็นว่าพอทำไปเรื่อยๆ ก็ประสบความสำเร็จไปเอง เพียงแต่ความสำเร็จในที่นี้ไม่ใช่ความสำเร็จแบบแรกที่สังคมบอก แต่เป็นความสำเร็จที่ตามมาทีหลัง หลังจากที่พวกเขารู้จักตัวเองแล้ว

 

     เหมือนกับ เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังอย่าง แฮร์รี พอตเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พูดสุนทรพจน์ เดิมทีชีวิตของเธอคือชีวิตที่สังคมเรียกว่าล้มเหลว คือหย่าร้าง ไม่มีงานทำ และยังประทังชีวิตตัวเองและลูกน้อยด้วยเงินอุดหนุนของทางรัฐ แต่กลายเป็นว่าความล้มเหลวแบบที่สังคมนิยามกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธออยากทำจริงๆ ไม่ใช่เพราะสังคมมาบอก ผลคือเธอกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ

     แต่ถึงกระนั้น ส่วนตัวเราค่อนข้างมั่นใจว่า เจ. เค. โรว์ลิง และใครอีกหลายคนไม่ได้พูดสุนทรพจน์เพื่อเรียกร้องให้คนออกวิ่งไล่ความสำเร็จ โดยการรู้จักตัวเองก่อนและรอคอยว่าความสำเร็จจะตามมาทีหลัง เพราะการคิดแบบนี้ก็เหมือนกับการเอาเรื่องความสำเร็จเป็นตัวตั้งอยู่ดี ในทางกลับกัน สิ่งที่พวกเขาพยายามหมายถึงคือการเป็นอิสระจากกรอบคิดเรื่องความสำเร็จจริงๆ เช่น ไม่ต้องคิดล่วงหน้าหรอกว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ให้คุณค่ากับการเป็นตัวของตัวเองดีกว่า แล้วเรียกสิ่งนั้นความสำเร็จแทน

     การอ่านหนังสือเล่มนี้และการได้ใช้ชีวิตตัวเองมาประมาณหนึ่ง เราค่อยๆ เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งเหมือนที่ผู้พูดสุนทรพจน์กล่าว คือสุดท้ายแล้ว การได้เป็นตัวของตัวเอง การทำอะไรก็ตามเพราะข้างในเรียกร้องให้ทำ ไม่ใช่เพราะสังคมบอกว่าทำสิ มันทำให้เราฉายศักยภาพออกมาโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราไม่ได้อยากจะมาเขียนเพื่อคุยโวอะไรตัวเองนะ

     เพียงแต่นึกย้อนไปในอดีต เส้นทางที่ทำให้เรามาเป็นคอลัมนิสต์หรือมาทำงานด้านคอนเทนต์ทุกวันนี้ มันเริ่มจากอะไรที่เราเองตอนนั้นก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะพามาสู่วันนี้ ตอนนั้นเราเขียนเพราะเป็นงานอดิเรก มีคนอ่านงานเขียนเราอยู่หลักสิบคน แถมยังเป็นแค่วงคนรู้จัก แต่สุดท้ายพอทำไปเรื่อยๆ มันก็กลายมาเป็นวันนี้ไปเอง ซึ่งถามว่าตอนนั้นเรารู้ไหมว่าจะเป็นแบบนี้ เราก็ไม่รู้ และไม่ค่อยได้คิดด้วยว่าต้องสำเร็จ เราแค่ทำเพราะอยากลองทำ

     ซึ่งถ้าคุณได้เห็นหรือได้ฟังเส้นทางชีวิตของใครหลายคน เราเชื่อว่าคุณก็น่าจะเห็นรูปแบบหนึ่งคล้ายกันคือ เริ่มต้นแทบไม่มีใครคิดถึงความสำเร็จเลย ซึ่งการไม่ได้คิดถึงมันเหมือนกับการปลดล็อกตัวเองให้เป็นอิสระจากแรงกดดันภายนอก พอเป็นอิสระก็สามารถทำอะไรได้ลื่นไหลและเป็นธรรมชาติ ต่อมาชีวิตมันก็ไปของมันเอง

 

     และเอาเข้าจริงๆ ในชีวิตเรา เราเจอใครหลายคนที่บอกว่า พวกเขาอยากใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องประสบความสำเร็จอย่างที่สังคมบอก เช่น ได้ทำงานตำแหน่งใหญ่โต ทำงานได้เงินเยอะๆ มีครอบครัวแสนอบอุ่น หรือมีทรัพย์สินมหาศาล พวกเขาแค่อยากชีวิตไปเรื่อยๆ ธรรมดาเท่านั้น และที่น่าแปลกคือ หลายคนบอกว่า แค่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

     ซึ่งพอเราได้ยินแบบนี้ ถึงกับต้องคิดใหม่ว่า หรือว่าความสำเร็จอาจสามารถหมายถึงการที่เราได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น แม้ว่าสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่สังคมบอกว่าล้มเหลวก็ตาม

     ว่าแต่คุณคิดว่าไง?