เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อหนังสือเป็นของฝาก เหตุผลเพราะเป็นคนชอบหนังสือ และคิดว่าหนังสือเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ฉะนั้น เวลาเราให้หนังสือใคร ก็เหมือนเราพาเพื่อนใหม่ไปให้เขาคนนั้นรู้จัก และเรามักจะหวังเล็กๆ ในใจเสมอว่า ขอให้เพื่อนใหม่เล่มนั้นมอบเรื่องเด็ดโดนใจให้คนอ่านบ้าง อย่างน้อยสักนิดหนึ่งก็ยังดี
แต่เราก็ไม่ใช่คนให้หนังสือคนซี้ซั้วโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ เพราะเอาเข้าจริงหนังสือคล้ายกับยา แม้จะรักษาโรคหรืออาการเจ็บปวดได้ แต่ข้อเสียคือมันเป็นของขม มันหนา มันต้องใช้เวลาและความตั้งใจในการอ่าน ฉะนั้น เวลาเราเลือกหนังสือให้ใคร เกณฑ์แรกที่ดูคือ มันต้องสนุกและไม่ทรมานคนอ่านจนเกินไป
ล่าสุดเราหาหนังสือไปให้น้องวัยรุ่น ตอนแรกคิดอยู่นานว่าเอาเล่มไหนดี สุดท้ายก็เลือกหนังสือวัยรุ่นเล่มที่ครองแชมป์ขายดีอยู่ในร้านหนังสือไทยหลายปี นั่นคือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เป็นหนังสือแปลจากภาษาเกาหลี เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย คิมรันโด
ความน่าสนใจที่ทำให้เราชอบหนังสือเล่มนี้คือ มันเป็นหนังสือของคนเกาหลีใต้ ประเทศที่มีบริบทการเลี้ยงดูลูกหลานคล้ายกับไทย ถ้าที่ไทยมีค่านิยมอยากให้ลูกหลานสอบติดจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ที่เกาหลีใต้ก็มี ‘SKY’ คือ ม.โซล (Seoul) ม.โคเรีย (Korea) และ ม.ยอนเซ (Yonsei) ซึ่งแน่นอนว่าแค่ค่านิยมเรื่องเดียวก็พอบอกได้เลยว่าที่เหลือเป็นอย่างไร เด็กเกาหลีใต้จนถึงผู้ใหญ่เป็นประสาทกับค่านิยมสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ เด็กเกาหลีเลยต้องฟิตติวหนังสือหามรุ่งหามค่ำ แบกความกดดันว่าต้องสอบเข้า SKY ให้ได้ แล้วพอสอบไม่ได้ ก็เหมือนชีวิตล้มเหลว ส่วนพ่อแม่ก็ไม่มีเรื่องให้ภาคภูมิใจ
ในทำนองเดียวกัน การเลี้ยงดูเพื่อให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่พ่อแม่หวัง เลยไม่ต่างกับของไทย ดังนั้น วัยรุ่นที่คิมรันโดเขียนถึง จึงเป็นวัยรุ่นที่แบกความกดดันและความเจ็บปวดคล้ายกับวัยรุ่นบ้านเราที่ต่างมีความกลัวและคำถามชีวิตที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่
1. ไม่รู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร
เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ จะสังเกตได้ว่า คิมรันโด พูดอยู่ไม่กี่เรื่อง เรื่องหนึ่งเลยคือ การให้ความมั่นใจในการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เหตุผลก็เพราะวัยรุ่นเกาหลีเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ดูแลและวางแผนทุกอย่างมาตั้งแต่เด็ก ฉะนั้น พอถึงวันที่วัยรุ่นต้องคิดหรือทำอะไรเอง ว่าง่ายๆ คือเริ่มใช้ชีวิตตัวเองจริงๆ เช่น เรียนมหาวิทยาลัยหรือเข้าทำงาน พวกเขาหลายคนมักกลัวและงุนงง เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้บอกว่า ต้องทำอย่างไรต่อ เพราะโลกความเป็นจริงมีทั้งความผิดหวัง ความเจ็บปวด ความโหดร้ายที่พ่อแม่อาจไม่ได้เตือนหรือบอกได้ทุกอย่าง นี่คือชีวิตของผู้ใหญ่ คือชีวิตที่ต้องเรียนรู้เอง ตัดสินใจเอง เจ็บเอง และเยียวยาตัวเองเอง วัยรุ่นจึงมักกลัวการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง กลัวว่าตัวเองจะคิดผิด กลัวตัวเองตัดสินใจผิด โดยเฉพาะกลัวความผิดพลาด เพราะคิดว่ามันคือความล้มเหลว
แต่หนังสือเล่มนี้ คิมรันโดจะยกตัวอย่างและข้อคิดมากมายเพื่อยืนยันให้วัยรุ่นมั่นใจในตัวเองและมีแรงใจที่จะใช้ชีวิต
2. ไม่รู้ว่าต้องให้ความสำคัญกับอะไร
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ คิมรันโด ตั้งใจเขียนให้ลูกตัวเอง ดังนั้น หลายบทในหนังสือจึงเป็นเนื้อหาที่เขาหยิบประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีของตัวเขามาสอนลูก ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ คิมรันโด ดูจะเป็นกังวลมากเป็นพิเศษก็คือ กลัวว่าลูกจะซ้ำรอยเดิมกับสิ่งที่เขาเมื่อตอนยังเป็นวัยรุ่นมาก่อนได้ทำพลาดไปแล้ว
เพราะผู้ใหญ่หลายคนมักมารู้ตัวตอนสายว่า ตัวเองใช้ชีวิตไม่คุ้มค่าหรือใช้ชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย เช่น บางคนดับฝันตัวเองกลางคันและใช้ชีวิตอย่างค้างคาใจว่าชีวิตนี้ฉันไม่ได้ทำตามฝัน บางคนใช้ชีวิตโดยหลงลืมคนที่พวกเขารัก บางคนหมดเวลาแทบจะทั้งชีวิตไปกับคนที่ไม่เหมาะกับตัวเอง บางคนจมปลักกับทัศนคติลบๆ จนพลาดโอกาสดีๆ หลายต่อหลายครั้ง เป็นต้น
ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่คนเก่ามักสอนคนใหม่อยู่เสมอคือ อย่าพลาดอะไรบ้าง เพราะเวลาที่พลาดไปแล้วมันน่าเสียดายและเจ็บปวดมาก เช่นกันกับหนังสือเล่มนี้ คิมรันโด พยายามบอกวัยรุ่นว่า พวกเขาควรลงทุนกับอะไร ควรให้ความสำคัญอะไร และควรใช้เวลาและพลังงานไปกับอะไร จะได้ไม่ต้องมาเจ็บปวดเมื่อเป็นผู้ใหญ่ว่า “รู้งี้ ฉันน่าจะ… ไปแล้ว”
3. ไม่รู้จะปลดล็อกความทุกข์ตัวเองอย่างไร
เรื่องใหม่และเรื่องใหญ่ของการเป็นวัยรุ่นคือ พวกเขาค่อยๆ พบสัจธรรมด้านลบบนโลกนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความผิดหวัง การผิดพลาด การรอคอย การถูกปฏิเสธ ความอับอาย ความเคียดแค้น ความสับสน ความไม่ยุติธรรม และสารพัดต่างๆ นานาที่ทำให้ทุกข์ใจ และเมื่อพบเรื่องเหล่านี้ ก็จะเกิดเป็นคำถามในใจว่า พวกเขาควรรับมืออย่างไร พวกเขาควรเข้าใจมันอย่างไร ซึ่งเอาเข้าจริง ไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้นที่ถาม แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังถามด้วยเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้ก็จะสอดแทรกมุมมองที่ช่วยให้คนอ่านได้เห็นอีกมิติของความทุกข์ ซึ่งส่วนตัว เราชอบวิธีอธิบายของ คิมรันโด เพราะเขาไม่ได้บอกว่าวิธีของเขาคือการกำจัดความทุกข์ แต่เป็นการใช้ชีวิตอยู่กับความทุกข์อย่างสันติต่างหาก และจริงๆ ความทุกข์ก็ไม่ได้แย่ เพราะคนเราส่วนใหญ่เติบโตขึ้นจากความทุกข์ ไม่ใช่เพราะความสุขหรือความสำเร็จ
และทั้งหมดนี้ก็คือ ข้อสังเกตและเหตุผลที่เราเลือกหนังสือเล่มนี้ไปฝากน้องๆ วัยรุ่น อย่างแรกคือ คิมรันโด เล่าได้สนุกไม่น่าเบื่อ คือเขียนเป็นตอนสั้นๆ ถัดมาคือ หนังสือเล่มนี้คุยกับวัยรุ่นที่มีพื้นฐานคล้ายๆ กับวัยรุ่นไทย และสาม หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามในใจของวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเราเชื่อว่า ถ้าใครได้หนังสือเล่มนี้ไปเป็นเพื่อนใหม่ อย่างน้อยก็คงได้ข้อคิดอะไรสักอย่างติดชีวิตและติดตัวแน่ๆ