บริหารเวลา

Book Actually | แค่บริหารเวลาแต่ละวันเป็น ชีวิตก็เปลี่ยน

ปีนี้เป็นปีที่เราทำงานหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะงานราษฎร์ งานหลวง งานพบปะผู้คน เรียกว่ามีธุระแทบทุกวัน แถมวันละหลายงาน จนเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักยังถามว่า เอาเวลาที่ไหนไปทำ? จริงๆ ต้องบอกว่า แต่ก่อนเราไม่ใช่คนแบบนี้และคิดว่าคงทำแบบนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้หนังสือเล่มหนึ่งสอนเราไว้

บริหารเวลา

 

     หนังสือเล่มนี้ คือ คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย โดย ‘พี่แท็ป’ – รวิศ หาญอุตสาหะ ซีอีโอศรีจันทร์ พี่หัวหน้าเก่าเรา เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นชื่อหรืออาจรู้จักกันดี และอาจเคยอ่านหนังสือเล่มนี้กันบ้างแล้ว จริงๆ หนังสือเล่มนี้เล่าหลายเรื่องมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ การตลาด นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การทำงาน แต่เรื่องหนึ่งที่เราประทับใจและเอามาปรับใช้จนกลายเป็นนิสัยทุกวันนี้ คือเรื่อง ‘การบริหารเวลา’

     หัวใจของการบริหารเวลาที่เราเรียนรู้คือ เราควรทำงานหรืออะไรก็ตามให้สอดคล้องกับกลไกร่างกายตัวเองในแต่ละวัน ยกตัวอย่าง เดือนก่อนเราไปพักบ้านน้องคนหนึ่ง และเห็นน้องคร่ำเครียดกับการปั่นวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ก็เลยถามไถ่พูดคุย จึงได้รู้ว่าน้องมักจะเขียนวิทยานิพนธ์ตอนกลางคืน แต่เขียนทีไรก็ไปไม่ถึงไหนสักที สุดท้ายเครียดนอนไม่หลับ กลายเป็นว่าร่างกายยิ่งล้ากว่าเดิม ส่วนงานก็ล่าช้าเข้าไปอีก

     ตอนได้ยินที่น้องบอก เราไม่แปลกใจเลย เพราะแต่ก่อนเราก็ทำแบบนี้เหมือนกัน คือชอบเอางานที่ใช้สมองหนักๆ มาทำตอนกลางคืน เพราะเข้าใจว่ามันเป็นช่วงสงบ เงียบๆ เหมาะกับการทำอะไรที่ใช้สมาธิ แต่ความจริงคือผิด มันสงบก็จริง แต่ว่าเรื่องหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือ กลางคืนเป็นช่วงที่ร่างกายเราล้ามากแล้ว การเค้นสมองหนักๆ ตอนกลางคืนจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีประสิทธิภาพ แถมยิ่งทำยิ่งเป็นการสร้างวงจรอุบาทว์ คือ คิดงานไม่ออก > ฝืนสังขารทำต่อ > เข้านอนดึก > ง่วงเพลียและล้าทั้งวัน > คิดงานไม่ออก เป็นแบบนี้วนไปเรื่อยๆ

     เราได้แนะนำน้องให้รู้จักวิธีบริหารเวลาที่เราเรียนรู้และปรับใช้ คือแบ่งเวลาในแต่ละวันเป็น 4 ช่วง และจัดสรรงานที่เหมาะกับแต่ละช่วงมาทำ คือ

 

1. ช่วงเช้า

     ตามหนังสือ ช่วงเช้าคือช่วงไพรม์ไทม์ เป็นช่วงที่หัวแล่นมากที่สุด แถมพลังงานเยอะมากที่สุด เพราะนอนพักผ่อนมาทั้งคืน เลยเหมาะใช้ทำงานที่ต้องใช้สมองหนักๆ เช่น เขียนหนังสือ เขียนวิทยานิพนธ์ ยกตัวอย่างง่ายๆ บทความนี้ที่คุณกำลังอ่านอยู่ เราก็เขียนในเวลาเช้าเหมือนกัน
ไม่น่าเชื่อว่า ตั้งแต่เราเปลี่ยนเอางานเขียนมาทำตอนเช้า หลายครั้งเราใช้เวลาเขียนไม่ถึงชั่วโมง ผิดกับแต่ก่อนที่เราเอางานมาทำตอนกลางคืน บางทีสองชั่วโมงยังไม่เสร็จก็มีบ่อยๆ แม้แต่พี่แท็ปที่เขียนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นคนเขียนหนังสือตอนเช้าเหมือนกัน อย่างบทความที่พี่แท็ปเขียนลงแฟนเพจ Mission to the Moon ส่วนใหญ่จะเขียนตอนเช้า และคุณเชื่อไหมว่า หลายบทความยาวๆ ของเขาใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงในการเขียนเท่านั้น

     เราเลยอยากมายืนยันว่า อย่าฝืนทำงานกลางคืนเลย สู้รีบเข้านอนแล้วตื่นให้เช้าหน่อยมานั่งปั่นงานจะเวิร์กกว่า เพราะช่วงเช้าสมองแล่นๆ เผลอๆ ไม่ถึงชั่วโมงคุณอาจทำงานเสร็จแล้วก็ได้ ดีกว่าทู่ซี้ฝืนสังขารทำตอนกลางคืน แล้วกลายเป็นลากยาวเป็นสองสามชั่วโมง

 

2. ช่วงสาย

     แน่นอนว่าหลังจากใช้พลังงานและสมองมาสักพัก ก็ต้องล้าเป็นธรรมดา ฉะนั้น ช่วงสายจึงเหมาะกับงานที่ใช้สมองรองลงมา เช่น อ่านหนังสือ ทำสไลด์พรีเซนเทชัน ประชุม เป็นต้น ว่าง่ายๆ คือ อะไรที่ใช้สมองแต่ไม่ได้หนักมาก ไม่ถึงกับต้องเค้นก็ให้มาทำช่วงนี้

     ยกตัวอย่างตัวเรา เรามักจะเอาเวลาตอนสายๆ มาหาข้อมูล เช่น หาข้อมูลเพื่อศึกษาลูกค้า หรือไม่ก็จะเอามาทำพรีเซนเทชันไปเสนอลูกค้าหรือเอาไปสอน เพราะการหาข้อมูลมันเป็นลักษณะใส่ input ให้ตัวเรา เพียงแต่เป็น input ที่ต้องใช้สมาธิในการจดจ่อมากหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเค้นสมองเพื่อสร้าง output ออกมา ในขณะที่การทำพรีเซนเทชันมันเป็นการสร้าง output ออกมา แต่มันเป็นลักษณะของการหารูปภาพ การวางภาพ การกระชับและเลือกคำมาใส่ ซึ่งมันก็ไม่ซับซ้อนและยากเท่ากับการเรียบเรียงประโยคยาวๆ มาเป็นบทความ

 

3. ช่วงบ่ายถึงเย็น

     หลังจากกินข้าวเสร็จ ไม่ต้องบอก ใครก็รู้ว่าท้องตึงหนังตาหย่อน ช่วงบ่ายจึงเป็นช่วงที่ง่วงและล้า ไม่เหมาะจะทำอะไรที่ใช้สมองมาก ฉะนั้น ช่วงบ่ายถึงเย็น เรามักไว้ใช้คุยงาน ติดต่อประสานงาน คุยกับคนอื่นๆ เช็กอีเมล หรือไม่ก็หาอะไรนั่งดูเพลินๆ สนุกๆ แต่ต้องเป็นเวอร์ชันเบาหัว ดังนั้น รูปแบบของสื่อที่เราเลือกดูตอนนี้ก็จะเป็นวิดีโอหรือโพสต์อะไรสั้นๆ หรือไม่ก็ใช้ไถดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนในฟีดเฟซบุ๊ก

     ดังนั้น การบริหารเวลาไม่ได้แปลว่าต้องทำอะไรที่มีสาระอย่างเดียว จะไม่มีสาระเลยก็ได้ แต่ถ้าใช้เวลาถูก คุณก็จะไม่เสียดายเวลา เพราะคุณเสพเรื่องไร้สาระหรือเรื่องเบาสมองในเวลาที่สมองกำลังเบาที่สุด ขณะที่ช่วงที่สมองกำลังมีพลังที่สุด ก็ใช้มันอย่างมีสาระ ซึ่งมันก็ฟังเข้าท่าดี จริงไหม?

 

4. ช่วงค่ำ

     ช่วงค่ำเป็นช่วงที่สมองกลับมาแล่นดีขึ้น เพียงแต่ร่างกายที่ใช้มาทั้งวันนั้นล้าแล้ว สิ่งที่ควรยกมาทำตอนนี้ก็คือ อ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียน หรือทบทวนวันทั้งวันที่ผ่านมา หรือวางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง

     อย่างเราเอง พอสลับเอางานเขียนไปทำตอนเช้า ช่วงค่ำก็เลยว่าง เราก็เลยใช้เวลานี้อ่านหนังสือแทน ซึ่งกลายเป็นว่าอ่านหนังสือได้นานขึ้น ได้เนื้อได้หนังมากขึ้นด้วย เพราะสมองแล่นกำลังดี แต่ก็ไม่ถึงกับมีเรี่ยวแรงคิดอะไรหนักๆ ได้อีก แถมพออ่านหนังสือไปสักพักก็เหมือนกล่อมตัวเองให้ง่วงได้อีกด้วย ก็เลยกลายเป็นว่านอนหลับได้ดีขึ้น และแน่นอนว่า ทุกวันนี้เราพยายามนอนก่อน 4 ทุ่ม เพราะการนอนเวลานี้ทำให้เราไม่รู้สึกอดนอน จะได้ไม่ไปกระทบทำให้วันรุ่งขึ้นของเราพัง

 

     และทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่เราปรับใช้มาจากหนังสือของพี่แท็ป ซึ่งถามว่าเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น? สิ่งที่ได้คือ เราทำงานเร็วขึ้น เช่น แต่เดิมบทความหนึ่งอาจใช้ 4-6 ชั่วโมง แต่พอสลับเวลาใหม่ กลายเป็นว่า 1-2 ชั่วโมงก็เสร็จ เรามีเวลาเหลือไปทำอะไรอย่างอื่นต่ออีก ขณะที่เวลาเหลือที่เราเอามาใช้อ่านหนังสือ ก็กลายเป็นว่าได้ข้อมูลความรู้เพิ่ม บางทีกลายเป็นว่าทำให้งานอื่นเร็วขึ้นต่ออีก เพราะเรามีทุนข้อมูลล่วงหน้ามาก่อนแล้ว ไม่ต้องไปนั่งหาใหม่ ส่วนเวลาล้าๆ ก็ไม่ได้เปล่าประโยชน์ คือยังได้มีเวลาเอนเตอร์เทนตัวเองบ้าง ไม่ให้เครียดไป

     พอรู้ตัวอีกที เราก็กลายเป็นคนที่ทำอะไรหลายอย่างได้แบบไม่น่าเชื่อ เหตุผลไม่ใช่เพราะไปเจอแหล่งพลังงานอะไรใหม่ แต่แค่เปลี่ยนการบริหารเวลาเท่านั้นเอง ใครชอบเคล็ดลับนี้ ก็ลองเอาไปปรับใช้ดู วันหนึ่งคุณอาจพบว่าชีวิตตัวเองเปลี่ยนไปเหมือนเราก็ได้