คุณมีเกมไว้เล่นกับตัวเองไหม? เช่น นับรถสีเหลืองในใจระหว่างรถติด เลือกเหยียบกระเบื้องที่เป็นสีเดียวกันแล้วเดินไปให้ไกลที่สุด ซึ่งถ้าให้เดา โดยมากเกมพวกนี้คงไว้สร้างความบันเทิงสั้นๆ ระหว่างที่คุณเบื่อๆ หรือเหงาๆ แต่ครั้งนี้เรามีเกมใหม่มานำเสนอคุณ และเชื่อเถอะว่า ถ้าคุณลองเล่นเกมนี้ คุณจะได้อะไรใหม่อีกเพียบ
เกมที่ว่านี้ชื่อ ‘เกมดีใจ’ เป็นเกมที่มาจากหนังสือเยาวชนคลาสสิกเล่มหนึ่งชื่อ ‘Pollyanna’ (โพลีแอนนา) เขียนโดย Eleanor Porter ซึ่งนำมาสร้างเป็นละครเวทีและภาพยนตร์มาแล้วหลายครั้ง แน่นอนว่าถ้าใครได้อ่านหรือได้ดูเรื่อง Pollyanna ก็จะต้องรู้จักเกมดีใจ เพราะมันเป็นเกมที่หนูน้อยโพลีแอนนาเล่นกับตัวเองเป็นประจำ และเกมเดียวกันนี้คือสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงกับทุกคนรอบตัวหนูน้อยในที่สุด
เกมดีใจเป็นเกมที่พ่อของหนูน้อยโพลีแอนนาคิดขึ้นมา เนื่องจากครอบครัวของเธอนั้นยากจน หลายครั้งหนูน้อยกับพ่อจึงต้องเขียนจดหมายไปขอให้คนตามโบสถ์ต่างๆ ช่วยส่งสิ่งของมาให้ และมีครั้งหนึ่งที่โพลีแอนนาเขียนไปขอตุ๊กตา แต่เนื่องจากปลายทางไม่มีตุ๊กตา ก็เลยส่งไม้ค้ำยันรักแร้ที่ไว้ใช้พยุงตัวอันเก่าๆ มาให้แทน ซึ่งตอนที่หนูน้อยเห็นไม้ค้ำยัน เธอรู้สึกผิดหวังมาก เพราะมันช่างห่างไกลจากตุ๊กตาที่เธอหวังไว้
จากนั้นพ่อของเธอจึงสอนให้เธอเล่นเกมดีใจ คือให้โพลีแอนนาพยายามหาข้อดีหรือเรื่องน่าดีใจของสิ่งต่างๆ เพราะเกมนี้มีกฎเพียงข้อเดียวคือ ไม่ว่าอะไรก็ตามมีเรื่องน่าดีใจซ่อนอยู่เสมอ และหลังจากนั้นไม่กี่วันโพลีแอนนาก็หาเจอว่าอะไรคือเรื่องน่าดีใจของการได้ไม้ค้ำยัน เธอบอกพ่อเธอว่า เวลาหนูเห็นไม้ค้ำยัน มันทำให้หนูดีใจที่หนูไม่ต้องใช้มันค่ะ มันทำให้หนูดีใจที่หนูเดินได้อย่างอิสระ
และนี่ก็คือคำตอบที่น่าเอ็นดูแต่แฝงด้วยมุมมองที่ลึกล้ำ เพราะโดยทั่วไปไม่มีใครชอบความทุกข์หรือความผิดหวัง ฉะนั้นเวลาคนเราเจอความทุกข์ เรามักมองมันเป็นความโชคร้ายของชีวิต แต่น้อยคนนักที่จะคิดหาวิธีมองหรือรับมือความทุกข์ในเชิงบวก แต่ทว่า ‘เกมดีใจ’ นี่แหละ คือเกมที่ช่วยฝึกให้เราสามารถมองความทุกข์ให้เป็นเรื่องดีได้ เหมือนที่โพลีแอนนาทำ
อย่างเรื่องหนึ่งที่เราอยากมาแบ่งปันให้คุณได้อ่านกัน เป็นเรื่องกลไกธรรมชาติที่เอามาสอนชีวิตได้เลย นั่นคือ เรื่อง ‘การแกล้งตายของต้นไม้’
การแกล้งตายของต้นไม้เป็นกลไกที่น่าสนใจมาก และบ่งบอกได้ชัดว่าต้นไม้นั้นโคตรฉลาด การแกล้งตายเกิดขึ้นเมื่อต้นไม้เจอกับแมลงที่ประดังประเดเข้ามากัดกินมันมากๆ ต้นไม้ก็เลยทำตัวเองให้มีใบแก่เหลือง ให้ลำต้นเหี่ยวเฉา ว่าง่ายๆ คือ ทำให้มันดูเหมือนต้นที่ตายแล้ว เหตุผลก็เพื่อให้แมลงเลิกกินมันและหนีไป โดยระหว่างนั้นต้นไม้ก็จะชาร์จพลังตัวเองใหม่ด้วยการดูดซึมปุ๋ยหรือสารอาหารในดินเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มันแข็งแรงกว่าเดิม และจากนั้นไม่นานต้นไม้ก็จะเลิกแกล้งตาย แล้วกลับมาเขียวสดอีกครั้ง
ทั้งนี้ ต้นที่เคยแกล้งตายจะเป็นต้นที่แข็งแรงกว่าเก่า เพราะมันดูดสารอาหารแร่ธาตุมากขึ้นในช่วงที่มันเจอแมลงกินมันหนักๆ ขณะเดียวกันในช่วงที่มันแกล้งตาย ต้นไม้จะวางแผนและทบทวนว่าถ้ามันจะเกิดใหม่อีกรอบ มันจะต้องเพิ่มอะไรบ้างเพื่อให้มันอยู่รอด ถ้าต้องเจอแมลงหนักๆ แบบนี้อีก เช่น ทำใบให้หนาขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้แมลงกัดใบยากขึ้น หรือคายสารที่มีรสฝาดเพื่อให้แมลงไม่ชอบใบของมัน
พูดอีกอย่างคือ หลังจากต้นไม้เจอปัญหาหรือความทุกข์ที่ประดังประเดเข้ามา ต้นไม้ก็เททุกอย่าง คงอารมณ์ “ไม่เอาแล้วโว้ย พวกมึงไปไกลๆ เลย” แล้วก็หนีไปอยู่กับตัวเองสักพัก ซึ่งคุณคิดว่ามันเป็นวิธีที่คุ้นๆ ใช่ไหม นั่นเพราะคนเราก็ทำแบบนี้เหมือนกันเวลาเราเจอเรื่องหนักถาโถมเข้ามา แต่ที่น่าทึ่งคือ ในช่วงเวลาที่แย่ ต้นไม้จะรีบดูดสารอาหารดีๆ ให้ตัวเอง แถมยังใช้เวลานี้วางแผนและปรับปรุงพัฒนาตัวเองใหม่ ผลที่ได้คือ ต้นไม้กลับกลายเป็นต้นที่แกร่งขึ้นกว่าเดิม หลังจากมันเจอปัญหาหนักๆ
ทีนี้ ลองคิดต่อดูว่า ถ้าต้นไม้สามารถเล่นเกมดีใจได้ คุณว่าต้นไม้จะมองแมลงที่มากัดกินมันอย่างไร?
ตอนนี้เราไม่รู้นะว่าคุณผู้อ่านกำลังเผชิญอะไรกันอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าคุณเจออะไรอยู่ก็ตาม เกมหนึ่งที่เราอยากฝากให้คุณไปลองเล่นดูก็คือ ‘เกมดีใจ’ แน่นอนว่าเกมดีใจมีตั้งแต่เลเวลง่ายๆ ไปจนถึงเลเวลยากๆ เช่น คุณพลาดรถเมล์คันแรก เพราะไปถึงป้ายรถเมล์ช้าแค่สิบวินาที อาจเป็นเลเวลที่คุณสามารถมองหาเรื่องน่าดีใจได้ง่ายหน่อย แต่พอเป็นช่วงที่คุณตกงาน อาจเป็นเลเวลที่คุณต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะคิดออกว่ามันมีเรื่องน่าดีใจตรงไหน แต่เชื่อเถอะว่า ไม่ว่าอะไรก็ตามมีเรื่องน่าดีใจเสมอ
และถึงแม้ปัญหานั้นจะหนักหนาดั่งพายุ แต่จะมีเรื่องน่าดีใจอย่างหนึ่งที่คุณจะได้แน่ๆ เหมือนกับต้นไม้ คือคุณจะแกร่งกว่าเดิมแบบที่ตัวคุณคาดไม่ถึง
คุณคิดเหมือนกันไหม?