จุดอ่อน

Book Actually | ‘จุดอ่อน’ ที่อาจไม่ใช่จุดอ่อน

คุณอาจเคยได้ยินเรื่องการต่อสู้ของเด็กเลี้ยงแกะ ‘ดาวิด’ ที่เอาชนะคนยักษ์อย่าง ‘โกลิอัท’ ได้ด้วยความชาญฉลาด คือแทนที่ดาวิดจะเข้าปะทะกับโกลิอัทแบบระยะประชิดเหมือนที่คนอื่นทำ ซึ่งสุดท้ายก็แพ้ราบคาบ เขากลับใช้วิธีที่เขาถนัดอย่างการนำสลิงเหวี่ยงก้อนหินใส่หัวโกลิอัทจนสิ้นลม

     เรื่องของดาวิดกับโกลิอัท (David & Goliath) เป็นเรื่องที่มักถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างของ ‘มวยรอง’ ที่รู้จักเอาความถนัดหรือจุดแข็งของตัวเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แม้ว่าคู่ต่อสู้จะเป็นยักษ์ใหญ่ก็ตามที ซึ่งมันทำให้ใครหลายคนเห็นแสงสว่างหรือความหวังว่า แม้ฉันจะเป็นแค่คนตัวเล็กๆ หรือมีข้อเสียเปรียบ แต่ถ้าฉันรู้จักใช้จุดแข็งตัวเองเป็น มันจะช่วยให้ฉันเอาชนะสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกัน พูดอีกอย่างคือ เรื่องแนวดาวิดกับโกลิอัทนั้นไว้สอนให้คนรู้จักพัฒนา ‘จุดแข็ง’ ของตัวเอง

     แต่สำหรับบทความนี้ เราจะไม่พูดถึงการพัฒนาจุดแข็ง เพราะมันเป็นเรื่องที่พูดถึงบ่อยแล้ว เราเลยอยากชวนคุณ มาดูกันว่า แล้วถ้าเป็น ‘จุดอ่อน’ ล่ะ? มันจะเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะใช้จุดอ่อนให้กลายเป็นข้อได้เปรียบได้

 

จุดอ่อน

 

     อันที่จริง ‘จุดอ่อนหรือจุดแข็ง’ ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัวเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับบริบท ยกตัวอย่างข้อมูลจากหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ Pricing Beauty: The Making of a Fashion Model เป็นหนังสือที่นักสังคมวิทยาชื่อ Ashley Mears แฝงตัวเข้าไปเก็บข้อมูลในวงการนางแบบ ซึ่งหนังสือนี้จะเล่าอย่างละเอียดว่า กว่าหญิงชายแต่ละคนจะก้าวขึ้นมาเป็นนางแบบนายแบบได้นั้นต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง แต่เรื่องหนึ่งที่เราเรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้คือ ในวงการนางแบบ ‘คนมีจุดอ่อน’ นั้นมีข้อได้เปรียบ!

     กล่าวคือ ในวงการนางแบบ จะแบ่งออกเป็น 2 สาย คือ สาย Commercial กับสาย Editorial สำหรับสายแรก คือสายนางแบบที่รับถ่ายงานโฆษณาทั่วไป ซึ่งนางแบบสายนี้จะต้องสวย หุ่นดี สวยแบบพิมพ์นิยมชนิดที่ใครเห็นก็ว่าสวย ส่วนสายที่ 2 คือ Editorial เป็นนางแบบที่มีเป้าหมายจะเป็นซูเปอร์โมเดลเดินบนแคตวอล์ก ได้ขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นชั้นนำ ได้เป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์ไฮเอนด์ต่างๆ

     ทว่าในสาย Editorial เนี่ย มีความแปลกและแตกต่างจาก Commercial ตรงที่ว่า ถ้าเป็นนางแบบสาย Editorial นั้น ยิ่งตามตัวนางแบบมีจุดด้อยหรือมีความแปลก (Exotic) ก็มีโอกาสที่จะโดดเด่นในวงการ ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์โมเดลดังระดับโลกอย่าง เคต มอสส์ ที่หลายคนคงรู้จักดี ซึ่งถ้าว่ากันแล้ว เคตถือว่าตัวเล็กและเตี้ยกว่าไซซ์นางแบบมาตรฐาน แถมผิวยังซีดมากอีกต่างหาก แต่ลักษณะทางร่างกายแบบนี้กลับเตะตาคนในวงการ จนวันหนึ่งเธอก็ถูกดึงมาร่วมงานกับ Calvin Klein และกลายเป็นจุดเปลี่ยนจนเธอโด่งดัง

     หรือคนอื่นๆ เช่น ลารา สโตน ที่มีฟันกระต่ายใหญ่มาก แถมฟันหน้าสองซี่ของเธอยังห่างอีกต่างหาก แต่มันก็แปลกและทำให้เธอเป็นที่จดจำ หรือในช่วงปีสองปีนี้ นางแบบอีกคนที่มาแรงและมีจุดด้อยที่กลายเป็นจุดเด่นอย่างชัดเจนอีกคน คือ วินนี ฮาร์โลว์ นางแบบสาวผิวสีที่เป็นโรคด่างขาว แต่ผิวที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจนนั้นกลับทำให้เธอโดดเด่นแบบสุดๆ

     นอกจากนี้ ในวงการนางแบบสาย Editorial เองก็ไม่ใช่ว่าคนสวยๆ จะไม่เดือดร้อน เพราะมีให้เห็นมากมายที่นางแบบที่หน้าตาสวยแบบพิมพ์นิยมมีปัญหา เลยดิ้นรนให้เนื้อตัวมีจุดแปลกแตกต่างกับเขาบ้าง เช่น นางแบบชาวญี่ปุ่นที่เราชอบ ทาโอะ โอคาโมโตะ จริงๆ พอดูประวัติทาโอะ แต่เดิมเธอคือสาวเอเชียผมยาวที่ดูสวยแบบเรียบๆ แต่เมื่อเธอทำหน้าตาให้แปลกไม่ได้ เธอก็ทำผมให้แปลก คือตัดสินใจหั่นผมเป็นทรงเหมือนหมวกกันน็อก แล้วลุกส์ใหม่ของเธอนี้ก็ไปเตะตา Phillip Lim เข้า จากนั้นเขาก็เลยเลือกทาโอะมาเป็นนางแบบหลักในโชว์ โดยให้นางแบบคนอื่นๆ ทำผมทรงเดียวกับทาโอะ และก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้ทาโอะดังขึ้นมาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเคต

     จากข้อมูลเรื่องนางแบบนี้ มันทำให้เราเห็นสัจธรรมข้อหนึ่งว่า จุดด้อยที่ตัวเราไม่ชอบ บางครั้งอาจไม่ได้แย่เสมอไป แต่กลับดีเสียอีก ถ้าอยู่ในบริบทที่ถูกที่ถูกทาง อย่างในวงการนางแบบสาย Editorial ที่เอ็กซ์ตรีมแบบกลับหัวกลับหางมากว่า ถ้าสวยแบบคนส่วนใหญ่ชอบจะมีปัญหา แต่ไม่ค่อยสวยหรือมีตำหนินี่แหละกลับโดดเด่น

 

     ทีนี้ ถ้าคุณยังรู้สึกว่า เรื่องนางแบบเป็นตัวอย่างที่ไกลตัวเกินไป เราจะยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราภูมิใจสุดๆ

     คือเมื่อเดือนก่อน เราขึ้นไปสอนวิชาการตลาดสร้างสรรค์ให้เกษตรกรที่เชียงราย ในโครงการแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาดของจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมา ราคารับซื้อสับปะรดนั้นตกต่ำมาก เพราะมีการเพาะปลูกมากจนเกินไป บางครั้งราคาตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 60 สตางค์ ขณะที่ค่าจ้างคนเก็บผลกับค่าจ้างขนส่งนั้นสูงกว่าราคารับซื้อ เลยทำให้เกษตรกรตัดใจปล่อยสับปะรดเน่าคาต้นไปอย่างน่าเสียดาย

     ในช่วงเวิร์กช็อปที่เราสอน เราปล่อยให้เกษตรกรได้ลองคิดกลยุทธ์การแปรรูปและทำการตลาด ปรากฏว่ามีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งเสนอขึ้นมาว่า พวกเขาจะนำสับปะรดที่มีรสเปรี้ยวและผลไม่สวยตกเกรดมาแปรรูปเป็นน้ำยาทำความสะอาด เช่น เจลล้างมือ น้ำยาล้างจาน น้ำยาอเนกประสงค์ ซึ่งตอนที่นำเสนอ พี่ๆ เกษตรกรกลุ่มนี้ดีใจมากว่า ต่อไปนี้พวกเขาไม่ต้องทิ้งสับปะรดเปรี้ยวหรือขายไม่ได้ราคาอีกแล้ว แต่จะเอากรดหรือความเปรี้ยวมาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้

     เคสนี้เป็นเคสที่เราประทับใจมาก เพราะไม่ใช่แค่เกษตรกรมีทางออกในการแก้ปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ แต่มันเจ๋งขึ้นไปอีกขั้นตรงที่พลิกเกมอีกตลบหนึ่ง คือเปลี่ยนจุดอ่อน จากรสชาติเปรี้ยวที่ไม่มีใครชอบ หรือผลไม่สวยไม่มีใครรับซื้อ ให้กลายมาเป็นจุดแข็งและสร้างรายได้

 

     จากตัวอย่างสองเรื่องนี้ เราเลยอยากให้คุณได้ลองคิดใหม่ว่า จุดอ่อนไม่จำเป็นต้องเป็นจุดอ่อนเสมอไป เพราะหนึ่ง บริบทที่ต่างกันก็ทำให้จุดอ่อนกลายเป็นจุดแข็งได้เหมือนกัน และสอง ถ้าเรารู้จักมองได้กว้างขึ้น ไม่แน่เราอาจเห็นว่าจุดอ่อนนั้นเป็นจุดแข็งก็ได้ ใครจะรู้