ยุคนี้เวลาพูดถึงเรื่องผู้นำหรือเรื่องกลยุทย์ ส่วนใหญ่คนจะนึกถึงศาสตร์ของฝรั่ง ตำรงตำราอะไรทั้งหลายเรียกว่าเป็นตะวันตกแทบทั้งหมดเลย แต่จริงๆ โดยส่วนตัว เราชอบศาสตร์นี้ที่เป็นของตะวันออกมากกว่า โดยเฉพาะของจีน เหตุผลเพราะศาสตร์ตะวันออกไม่เน้นความตายตัว แต่เน้นความลื่นไหลและออกจากนามธรรม เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้ใช้ประสบการณ์ตีความและปรับใช้กันเอง
ซึ่งพอศาสตร์มีความลื่นไหล นั่นแปลว่าคนที่ศึกษาศาสตร์เหล่านี้จะต้องตระหนักเสมอว่า มันไม่มีสูตรตายตัว บางครั้งทำเร็วคือดี บางครั้งทำช้าคือดี บางครั้งเดินหน้าคือดี บางครั้งหยุดคือดี ฉะนั้น ถ้าอยากเป็นผู้นำหรือเป็นนักกลยุทธ์ที่เก่งต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนแผนการได้หลายรูปแบบ
อย่างเรื่องหนึ่งที่เราเพิ่งมาคิดได้ไม่นานคือ เรื่องการมองภาพแบบผู้นำ คือแต่เดิมเราคิดมาตลอดว่า ผู้นำหรือนักกลยุทธ์ที่ดีควรมองภาพใหญ่ (Big Picture) เป็น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นผู้นำองค์กรธุรกิจก็ควรมองสถานการณ์ตลาด สถานการณ์คู่แข่ง สถานการณ์ภายในองค์กร หรือปัจจัยบวกและลบต่างๆ ให้ออก เพื่อมาวิเคราะห์และวางแผนองค์กรได้
เช่นกันกับ ศึกเซ็กเพ็ก ฉากรบชื่อดังในตำนานสามก๊ก เมื่อครั้งที่โจโฉรวบรวมสรรพกำลังคนมหาศาลลงมาทางใต้เพื่อเข้าตีดินแดนของซุนกวน โดยทางซุนกวนมีแม่ทัพใหญ่อย่างจิวยี่คอยดูแล และได้ขงเบ้งจากก๊กเล่าปี่เข้ามาช่วยอีกแรง ในการรบครั้งนี้ ทางโจโฉมีไพร่พลมากกว่า แต่จิวยี่ในฐานะผู้นำและนักกลยุทธ์มองภาพใหญ่ออกว่า ถึงแม้โจโฉจะมีกำลังคนมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดอ่อน จุดอ่อนใหญ่ๆ คือกองทัพทางเหนือของโจโฉไม่คุ้นกับการรบทางน้ำ ซึ่งเป็นงานถนัดของกองทัพทางใต้ อีกทั้งทหารในมือของโจโฉกว่าครึ่งเป็นทหารที่ได้จากการตีดินแดนอื่นมา ฉะนั้น ทหารเหล่านี้ไม่ได้สวามิภักดิ์กับโจโฉสักเท่าไหร่
เมื่อมองภาพใหญ่ออก จิวยี่ก็เลยใช้แผนลอยเรือ 20 ลำที่บรรทุกน้ำมันเข้าไปยังใจกลางค่ายโจโฉ จากนั้นก็อาศัยลมบูรพาที่แรงจัดในคืนนั้นช่วยให้ไฟที่ยิงเข้าไปที่เรือโหมกลายเป็นกองเพลิงเผาค่ายโจโฉจนแตกยับ โดยที่ทางกองทัพของจิวยี่แทบไม่เหนื่อยเลย ซึ่งศึกเซ็กเพ็กเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การมองภาพใหญ่เป็นช่วยให้ผู้นำหรือนักกลยุทธ์คิดแผนแก้เกมหรือสถานการณ์ได้ออก
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็เพิ่งมาเรียนรู้สัจธรรมอย่างหนึ่งผ่านประสบการณ์ว่า ผู้นำหรือนักกลยุทธ์ก็ต้องรู้จักมองภาพเล็กให้ออกด้วยเหมือนกัน! สำหรับ ‘ภาพเล็ก’ ในที่นี้ คืออะไร? งั้นเราขอเล่าแบบนี้แล้วกัน บางครั้งการที่ผู้นำเล่าแผนการทั้งหมดหรือภาพใหญ่ให้ลูกน้องฟังนั้นเป็นเรื่องดี ซึ่งคุณคงพอนึกออก เช่นเวลาผู้นำพูดเรื่องวิสัยทัศน์บริษัท หรือแผนการในอนาคตที่วางไว้เพื่อให้ลูกน้องรู้ว่าองค์กรจะเดินไปทางไหน ลูกน้องจะได้วางตัวได้ถูก
ทว่าบางครั้งผู้นำก็ไม่ควรเล่าหมดทุกอย่าง เหตุผลเพราะธรรมชาติของผู้นำกับผู้ตามนั้นไม่เหมือนกัน สำหรับหลายคนที่เป็นผู้ตามต้องยอมรับว่า พวกเขามีความสามารถในการรับความเสี่ยง แรงกดดัน และความไม่แน่นอนได้น้อยกว่าผู้นำ ฉะนั้น ถ้าขืนผู้นำเล่าทุกอย่างให้ลูกน้องฟัง เช่น เล่าแผนการที่สลับซับซ้อน ผลลัพธ์อาจกลายเป็นลบได้ เพราะเมื่อลูกน้องรู้แผนทั้งหมดก็ตื่นตกใจว่าทำไมมันยุ่งยากจังเลย! นี่ฉันจะทำได้มั้ย! ทำไมมันน่ากลัวแบบนี้! กลายเป็นว่าทีนี้ลูกน้องขวัญหนีดีฝ่อไปหมด
ดังนั้น เรื่องหนึ่งที่ผู้นำหรือนักกลยุทธ์ต้องคิดเสมอด้วยคือ การมองภาพเล็กในแบบของผู้ตาม ว่าง่ายๆ นอกจากจะมองภาพใหญ่ออกว่าจะพาองค์กรหรือทีมทั้งหมดไปทางไหน ก็ต้องคิดให้ได้ว่าควรให้ลูกน้องหรือทีมรู้แค่ไหนคือพอ กล่าวคือถ้ารู้น้อยไป บางทีลูกน้องก็มองภาพไม่ออกเลย แต่ถ้ารู้มากไป ก็อาจสร้างความตื่นตระหนกได้
ในทำนองเดียวกัน หากคุณอยู่ในสถานะของลูกน้อง แล้วเกิดความสงสัยว่า ทำไมเราถึงไม่รู้เรื่องทั้งหมดขององค์กร ก็ขอให้สันนิษฐานไว้ก่อน 2 แบบ คือ 1. ผู้นำของคุณอาจไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าควรทำอะไร หรือไม่อย่างนั้น 2. ผู้นำของคุณต้องการจำกัดการรับรู้ของคุณและลูกน้องคนอื่นๆ เพื่อคุมไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินไป
ซึ่งถ้าคุณอยากเป็นลูกน้องหรือคนทำงานที่เก่ง คุณก็ลองสวมแว่นแบบผู้นำดูว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ว่าง่ายๆ คือ การจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำหรือนักกลยุทธ์ คุณก็ต้องหัดที่จะมองภาพใหญ่ คือคุณไม่ได้จำกัดตัวเองว่าในเมื่อเขาให้ฉันรู้แค่ภาพเล็ก ฉันก็มองแค่ภาพเล็กพอ สิ่งที่ควรทำคือคุณก็สลับมามองภาพใหญ่แบบผู้นำทำ เพราะนั่นคือการฝึกให้คุณมีมุมมองที่ใหญ่กว่าตำแหน่งหรือสถานะของคุณ ซึ่งพอถึงโอกาสหรือจังหวะที่คุณจะได้โชว์ผลงาน การมีมุมมองภาพใหญ่คือสิ่งที่ช่วยให้คุณเข้าตาผู้นำนั่นเอง เพราะอย่าลืมว่า คนที่ผู้นำจะเลือกมาเป็นผู้นำต่อก็คือคนที่รู้จักมองแบบผู้นำ
ดังนั้น ถ้าถามว่า เสน่ห์ของศาสตร์แบบตะวันออกคืออะไร มันคือความไหวพลิ้วของการปรับใช้ ตะวันออกไม่นิยมแยกอะไรเป็นคู่ตรงข้าม (Binary) อย่างชัดเจน แต่มองว่าสองสิ่งสมานเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนหยิน-หยางที่ต่างมีพลังกันทั้งคู่ ฉันใดฉันนั้น คนเป็นผู้นำก็ต้องรู้จักมองแบบผู้นำและผู้ตาม ส่วนคนเป็นผู้ตาม (ที่ดี) ก็ต้องรู้จักมองแบบผู้ตามและผู้นำ
สำหรับใครที่สนใจกลยุทธ์แบบจีน มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำ ซึ่งส่วนตัวเราคิดว่าเป็นหนังสือกลยุทธ์สามก๊กที่ถ่ายทอดมาได้แหลมคมที่สุดเท่าที่เราอ่านมา เล่มนั้นคือ ศิลปะการใช้กลยุทธ์ในสามก๊ก เขียนโดย บุญศักดิ์ แสงระวี