Very Thai Everyday Popular Culture

Book Actually | ป๊อปคัลเจอร์ไทยๆ ที่คนไทยอาจลืมไปว่ามันป๊อป

หลายครั้ง เรามักจะได้ยินคนต่างชาติพูดถึงไทยในแง่สีสันทางวัฒนธรรม พูดให้ตรงหน่อยคือคนต่างชาติมักจะอเมซิงกับข้าวของ ไลฟ์สไตล์ของไทยหลายๆ อย่างที่บ้านเขาไม่มี ยกตัวอย่าง ช้อนกลางในชามก๋วยเตี๋ยว ทิชชูสีชมพู (ที่คนมักไว้เช็ดช้อนส้อมอีกที) รถตุ๊กตุ๊ก ตะเกียบไม้ที่ป้ายสีเขียวสีแดง น้ำแดงไหว้ศาล ท่อน้ำสีฟ้าสดใส รั้วเหล็กดัดลวดลายต่างๆ โต๊ะปูนที่ทาสีให้เหมือนโต๊ะไม้ เป็นต้น

     ซึ่งถ้าจะจำกัดความข้าวของหรือไลฟ์สไตล์เหล่านี้ว่าคืออะไร? ก็สามารถเรียกสั้นๆ ได้ว่า ‘ป๊อปคัลเจอร์’ (Pop culture) หรือวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคุณค่า มีความดีงาม หรือต้องถูกยกย่อง มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่คนจำนวนหนึ่งทำมันขึ้นมา แต่ที่น่าสนใจคือ ป๊อปคัลเจอร์มักเป็นสิ่งที่เจ้าตัวหรือเจ้าของวัฒนธรรมนั้นไม่ทันคิดว่ามันป๊อป เพราะเคยชินจนลืมสังเกต

     อย่างหนังสือเล่มหนึ่งที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ ไลฟ์สไตล์บ้านเราที่คนต่างชาติแปลกใจ แบบที่เราเปิดดูทีไรก็ฮาทุกครั้ง นั่นคือหนังสือชื่อ Very Thai Everyday Popular Culture เขียนโดย ฟิลิป คอร์นเวล-สมิธ

Very Thai Everyday Popular Culture

 

     หนังสือเล่มนี้จริงๆ ออกแบบไว้ให้คนต่างชาติอ่าน กล่าวคือเป็นหนังสือประเภทที่วางขายให้คนต่างชาติที่เดินทางมาไทยเลือกซื้อเลือกอ่านกัน ซึ่งมักวางขายตามร้านหนังสือภาษาอังกฤษในสนามบิน หนังสือแบบนี้ไม่ได้มีแค่ของไทยเท่านั้น แต่ถ้าคุณไปร้านหนังสือที่ต่างประเทศ ในโซนหนังสือภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะในสนามบิน ก็จะมีหนังสือเล่าประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรมประเทศนั้นๆ วางขายแบบนี้เหมือนกัน

     ดังนั้น Very Thai Everyday Popular Culture จึงเป็นหนังสือที่คนไทยไม่ค่อยได้อ่าน เพราะมันออกแบบให้คนต่างชาติอ่าน และอีกอย่างมันเป็นหนังสือที่เล่าสิ่งที่คนไทยรู้กันอยู่แล้ว แต่ความสนุกคือ ถ้าคุณได้อ่านหนังสือที่เล่าเรื่องประเทศตัวเองให้คนนอกอ่าน มันจะทำให้คุณเห็นมุมใหม่ๆ เกี่ยวกับบ้านเมืองเราที่ไม่เคยนึกว่าจะเป็นประเด็นว้าวๆ ได้ด้วย

     ยกตัวอย่างจากในหนังสือ เช่น ศาลพระภูมิ ที่ฝรั่งต่างชาติเวลาเห็นแล้วจะนึกถึงบ้านตุ๊กตาน้ำอัดลมใส่น้ำแข็งในถุงหิ้วพลาสติกยาดอง เสื้อวินมอเตอร์ไซค์สีสดใส หรือกระทั่งรั้วบ้านที่ทำเป็นลวดลายต่างๆ ก็ยังเป็นของแปลกตาด้วยเหมือนกัน เพราะในหลายประเทศ ตามบ้านคนจะไม่มีรั้วกั้นสูงเหมือนบ้านเรา

 

     ทีนี้ การอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ได้เห็นว่าคนต่างชาติแปลกตาแปลกใจกับข้าวของอะไรเท่านั้น แต่สิ่งที่สามารถต่อยอดได้ต่อคือ การตระหนักว่าข้าวของที่พวกเราเห็นจนชินตามีความป๊อปในตัวเอง ซึ่งถ้าคุณบังเอิญทำงานด้านครีเอทีฟแล้วละก็ การมีมุมมองต่อข้าวของแบบนี้นับว่าเป็นแหล่งไอเดียที่ทำให้คุณไปสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้อีกมหาศาล

      ยกตัวอย่าง เครื่องรางที่เป็นแฟชั่นจิวเวลรีไปแล้วอย่าง ‘ไลลา’ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเครื่องรางของขลังแบบไทยๆ มาปรับให้เป็นแฟชั่นจนกลายเป็นสินค้ายอดฮิตถล่มทลาย หรือกระทั่ง ‘แม่มณี’ ของธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ถือเป็นการนำป๊อปคัลเจอร์อย่างนางกวักมาปรับให้มีลุกส์โมเดิร์น กลายเป็นนางกวักหน้าตาจิ้มลิ้มหิ้วหลุยส์วิตตอง หรือล่าสุดที่ห้างบิ๊กซีนำไอเดียสวัสดีวันจันทร์ วันอังคาร ที่เป็นป๊อปคัลเจอร์ของกรุ๊ปไลน์ผู้สูงวัย มาทำเป็นลายเสื้อมัดย้อมสีประจำวัน นี่ก็อีกตัวอย่างหนึ่งเจ๋งๆ เช่นกัน

 

     นอกจากนี้ ในต่างประเทศก็ใช่ว่าจะไม่มีการนำป๊อปคัลเจอร์มาใช้ แบรนด์หนึ่งเลยที่เล่นกับป๊อปคัลเจอร์จนสร้างสีสันใหม่ๆ ออกมาตลอด คือ Supreme ที่หยิบเอาข้าวของป๊อปๆ มาพิมพ์ลายยี่ห้อแล้วขาย เช่น ก้อนอิฐ ชามข้าวหมา ค้อน ตะเกียบ ปืนฉีดน้ำ หรืออีกอันที่เราประทับใจในความบ้าบอคอแตกมากๆ คือพวงกุญแจพระพิฆเนศ ซึ่งถ้าถามว่าอะไรคือเสน่ห์ของ Supreme เรื่องหนึ่งเลยคือการเข้าใจนำป๊อปคัลเจอร์ที่คนเคยชินมาทำให้มันว้าวหรือเซอร์ไพรส์อีกครั้ง ยกตัวอย่างง่ายๆ คุณคงไม่คิดว่าทำไมฉันจะอยากได้ชามข้าวหมา แต่ความเจ๋งคือ Supreme ทำให้ข้าวของที่คุณเฉยๆ กลายเป็นของที่คุณอยากได้

     ดังนั้น ถ้าถามว่าความเจ๋งของการอ่านหรือรับรู้ว่าคนนอกมองวัฒนธรรมบ้านเราอย่างไร? เรื่องหนึ่งเลยคือทำให้เราได้มองข้าวของหรือไลฟ์สไตล์ในมุมที่ไม่เคยคิดมาก่อน บางทีคุณอาจไม่ได้นำมุมมองเหล่านี้ไปทำธุรกิจหรือต่อยอดอะไรต่อ แต่การได้เห็นมุมแบบนี้ก็ทำให้คุณมีเรื่องฮาๆ ไว้คุยกับคนอื่นได้อีก เหมือนที่เราหยิบเรื่องนี้มาเขียนเล่ากับคุณไง