เมื่อหลายเดือนก่อน เราเจอน้องๆ นักศึกษากลุ่มหนึ่งยืนถือกล่องขอเรี่ยไรเงินอยู่หน้าสวนสาธารณะ เพื่อเอาเงินไปสร้างห้องสมุดให้โรงเรียนในต่างจังหวัด ระหว่างที่เราเดินผ่านก็ได้ยินว่า น้องๆ มาจากคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พอได้ยินปุ๊บ เราก็คิดในใจว่า นี่ฉันควรเข้าไปจุ้นดีไหมนะ?
เหตุผลที่อยากเข้าไปจุ้น ก็เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวตอนหนึ่งในหนังสือ What I Wish I Knew When I Was 20 ของ Tina Seelig อาจารย์ทีนาเล่าถึงคลาสเรียนของเธอ เธอให้โจทย์นักศึกษาหาเงินด้วยวิธีใดก็ได้จากเงินที่เธอให้กลุ่มละ 5 ดอลลาร์ฯ โดยนักศึกษาทั้งหมดต่างรู้ดีว่าเงินแค่ 5 ดอลลาร์ฯ ไม่พอทำอะไรทั้งนั้น มันจึงเป็นเหมือนโจทย์ให้พวกเขาคิดวิธีหาเงินจากศูนย์นั่นเอง
อาจารย์ทีนาเล่าว่า นักศึกษากลุ่มแรกใช้วิธีเอาแรงไปแลกเป็นเงิน ด้วยการรับจ้างต่อคิวร้านอาหารชื่อดังเพื่อแลกกับค่าจ้าง ส่วนกลุ่มที่สองหาที่เติมลมยางจักรยานมาตั้งรับเติมลมให้เหล่านักศึกษาที่นิยมปั่นจักรยานมาเรียน โดยตอนแรกพวกเขาคิดค่ารับเติมลมทีละ 1 ดอลลาร์ฯ แต่ไปๆ มาๆ พวกเขาปรับมาเป็นรับบริจาคที่เท่าไรก็ได้แล้วแต่จะกรุณา ปรากฏว่าพอเปลี่ยนมาเป็นบริจาค พวกเขาทำเงินได้มากกว่าแบบเดิม
แต่กลุ่มสุดท้าย พวกเขาแทบไม่ได้ทำอะไรเลยในช่วงที่กลุ่มอื่นวุ่นวายกับการหาเงิน แต่ในวันที่นักศึกษาทุกกลุ่มต้องขึ้นมารายงานผลหน้าห้อง นักศึกษากลุ่มที่สามกลับไม่ได้ขึ้นมาพูด แต่เป็นเจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรบุคคล (HR) ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ขึ้นมากล่าวแนะนำบริษัทแทน ทั้งนี้ก็เพื่อชักชวนให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยหัวกะทิสนใจมาทำงานด้วยกัน พูดง่ายๆ คือนักศึกษากลุ่มที่สามเอาเวลาพรีเซนต์หน้าห้องเรียนไปขายให้บริษัทเอกชนนั่นเอง ผลคือนักศึกษากลุ่มนี้ทำเงินได้มากที่สุดคือ 600 ดอลลาร์ฯ แต่ใช้แรงน้อยที่สุด
กลับมาที่น้องๆ นักศึกษาที่ยืนเรี่ยไรเงิน หลังจากเราเดินวนสวนสาธารณะมาแล้วรอบหนึ่ง พลางคิดในใจถึงหนังสืออาจารย์ทีนาและคิดว่าควรจุ้นหรือไม่จุ้นดีนะ? เราก็กลับมาเจอน้องกลุ่มนี้อีกครั้ง ก็เลยตัดสินใจว่า เอาละ ต้องทำอะไรเสียหน่อย อย่างน้อยถ้าน้องสักคนได้ไอเดียหรือมุมมองใหม่ๆ ไปทำอะไรสักอย่างจนออกดอกออกผลก็ถือว่าคุ้มค่าไม่น้อย
เราก็เลยหยิบแบงก์ร้อยขึ้นมายื่นใส่กล่อง แต่ก่อนจะหย่อนเงินลงไป เราพูดกับน้องว่า นี่ไม่ใช่เงินบริจาค แต่ถือเป็นค่าจ้างให้น้องยืนฟังอีบ้านี่พล่ามสัก 3 นาทีละกัน จากนั้นเราก็ถามว่า มีใครเคยอ่านหนังสือ What I Wish I Knew When I Was 20 บ้างไหม แต่น้องๆ ไม่เคยอ่านกัน เราเลยถือโอกาสเล่าเรื่องนักศึกษาทั้งสามกลุ่มของอาจารย์ทีนาให้น้องฟัง และพยายามโยงมาที่กิจกรรมที่น้องๆ ทำอยู่
สิ่งที่เราบอกน้องๆ คือ การที่น้องๆ มายืนเรี่ยไรเงินนั้นมีต้นทุนแฝงอยู่ และดีไม่ดีมันแพงเสียยิ่งกว่าเงินบริจาคที่น้อยนิดเสียอีก ซึ่งต้นทุนที่ว่านี้ก็คือ ‘เวลา’ ‘แรง’ และ ‘ค่าเดินทาง’ ที่ต้องเสีย แน่นอนว่าพอบอกแบบนี้ น้องบางคนก็ดูเหมือนคิดขึ้นได้ว่าจริง! เพราะค่าเดินทางจากมหาวิทยาลัยเพื่อมาเรี่ยไรเงินที่สวนสาธารณะนั้นสูงกว่าเงินที่ได้รับบริจาควันนี้เสียอีก สู้ตัวเองเอาเงินที่ต้องเสียมาใส่ไว้ในกล่องยังจะได้เยอะกว่า
จากนั้นเราก็เล่าต่อว่า ที่สวนสาธารณะแห่งนี้มีกระรอกเยอะ แต่ร้านที่ขายขนมไว้แบ่งให้กระรอกกินนั้นแทบไม่มี ซึ่งถ้าลองปรับไอเดียในคลาสอาจารย์ทีนามาทำดู เช่น แทนที่จะถือกล่องรับเรี่ยไรเงินเปล่าๆ ก็เปลี่ยนเป็นหาขนมกระรอกมายืนขาย แล้วเปิดรับบริจาค ดีไม่ดีจะได้เงินเยอะกว่า หรือการที่น้องตะโกนประสานเสียงกันเพื่อพูดขอเรี่ยไรเงิน ถ้าน้องเอาพลังเสียงตรงนั้นไปใช้ในที่ที่ต้องการเสียง เช่น ในงานแฟร์ที่ร้านค้าอยากได้คนมาช่วยเดินประชาสัมพันธ์เพื่อชวนคนมาที่บูธ ก็ในเมื่อไหนๆ น้องต้องตะโกนอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนมารับจ้างตะโกนประชาสัมพันธ์ขายของก็อาจทำเงินได้มากกว่า เพราะอย่างไรก็ตาม สุดท้ายปลายทางของกิจกรรมนี้ก็เพื่อหาเงินไปสร้างห้องสมุด ฉะนั้น มันไม่ได้จำกัดวิธีการว่าต้องมาจากการยืนเรี่ยไรเท่านั้น
เหตุผลที่เราเล่าเรื่องนี้กับน้องๆ เราไม่ได้มาโชว์เหนืออะไร แต่เราเป็นคนประเภทชอบเห็นคนทำดีแล้วได้ดี คือเราไม่อยากให้น้องๆ ที่อุตส่าห์เหนื่อยมาทำอะไรดีๆ ต้องผิดหวังว่า นี่ฉันเหนื่อยแทบตายแต่กลับไม่ได้อะไร เหมือนมาเหนื่อยฟรี เพราะเรารู้ว่าหลายคนล้มเลิกการทำเรื่องดีๆ ไป เพราะผิดหวังที่ทำดีแต่ไม่เกิดผล ดังนั้น ที่เราบอกน้องๆ แบบนั้นก็เพราะอยากแนะนำให้น้องๆ ได้ลองทำดีแบบมีกลยุทธ์ดูอีกสักตั้ง ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะเกิดผลลัพธ์อีกแบบหนึ่งแน่นอน และอาจนำไปสู่กำลังใจในการทำเรื่องดีๆ ต่อ
ส่วนอีกเหตุผล ก็เพราะเราเสียดายที่น้องๆ เรียนคณะบริหารธุรกิจ แต่กำลังพลาดโอกาสที่จะมองเห็นว่าวิชาความรู้ที่พวกเขาเรียนนั้นสามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องอะไรก็ได้ แม้กระทั่งกิจกรรมนักศึกษาที่พวกเขาทำ เราเลยอยากใช้โอกาสนี้จุดประกายให้น้องๆ ได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เรียน และที่สำคัญคือ เราหวังอยากให้น้องๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนหนังสือมากขึ้น เพราะเมื่อพวกเขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่เรียนนั้นสร้างประโยชน์ได้มากแค่ไหน พวกเขาจะเรียนด้วยอีกความรู้สึกหนึ่ง ไม่ใช่เรียนเพราะเรียนไปอย่างนั้น แต่เรียนเพราะอยากได้อะไรใหม่ๆ ซึ่งถ้าทุกอย่างที่หวังว่านี้เกิดขึ้นจริง เราคิดว่ามันคุ้มค่ามากๆ สำหรับราคาของการเข้าไปจุ้นจ้านและเงินหนึ่งร้อยบาท
และนี่ก็เป็นเรื่องราวของเราที่เกิดขึ้นจากหนังสือ ซึ่งดันตรงกับชื่อหนังสือพอดีคือ What I Wish I Knew When I Was 20 หรือ ‘น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20’ เพียงแต่รอบนี้เราไม่รอให้น้องกลุ่มนี้พูดว่า ‘รู้อย่างนี้’ เพราะเราชิงบอกน้องตอนน้องอายุ 20 เลย ฮ่าๆ