ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในปัจจุบันนั้น ขนาดของพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คน มีแนวโน้มที่จะหดเล็กลงเรื่อยๆ การเชื่อมต่อของผู้คน การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในรูปแบบที่พบเจอเห็นหน้าแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น นี่เป็นโจทย์ที่แสนท้าทายในอนาคตของทั้งเหล่านักออกแบบ และผู้อยู่อาศัย ว่าเราจะค้นหาความสุขบนข้อจำกัดและพื้นที่เล็กๆ กันอย่างไร วันนี้เราจะพาคุณไปเยี่ยมชมหนึ่งโปรเจ็กต์ทดลองที่น่าสนใจจากค่ายรถยนต์เล็กแต่ไอเดียใหญ่อย่าง MINI ที่ได้เปิดตัวนวัตกรรมที่อยู่อาศัยในงาน House Vision 2018 โดยใช้ชื่อ MINI LIVING URBAN CABIN รายละเอียดจะเป็นอย่างไรไปดูกัน
Big Life, Small Footprint
จัดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปีสำหรับงาน House Vision นิทรรศการความเป็นอยู่แห่งอนาคต ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2013 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้แบรนด์สินค้าระดับโลก มาโชว์นวัตกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็ตีโจทย์การอยู่ที่แตกต่างกันไป มีทั้งการนำแนวคิดบ้านอนาคตบนดาวอังคาร การใช้แผงโซลาร์เซลล์มาเป็นแหล่งพลังงานบนหลังคา ฯลฯ
ซึ่งในปีนี้ MINI มาในคอนเซ็ปต์ Big Life, Small Footprint เล่าถึงโจทย์การออกแบบพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นเทรนด์ในยุคต่อไปในอนาคต ที่ปริมาณประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่จะน้อยลง ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคต่อไปที่จะเปลี่ยนไป ป่าคอนกรีตทำให้มนุษย์เราตัดขาดการเชื่อมสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ใน MINI LIVING URBAN CABIN จึงได้ออกแบบโดยใช้แนวคิดว่า จะสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีอยู่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ยังรักษารูปแบบการใช้ชีวิตแบบเดิมได้ด้วย ซึ่งครั้งนี้ MINI ได้ทำงานร่วมกันกับสตูดิโอสถาปนิกของจีน อย่าง PENDA ซึ่งก่อตั้งโดย Dayong Sun และ Chirs Pretch ซึ่งนำบริบทสำคัญทางประวัติศาสตร์จีน ในการนำเอกลักษณ์ของชุมชนโบราณอย่าง Hutong มาตีความใหม่
From Past to Future
Hutong (หูท่ง) คือรูปแบบชุมชนโบราณที่มีอายุกว่า 800 ปี ของประเทศจีน เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368) โดยขุนนางในยุคสมัยก่อนจะได้รับพระราชทานพื้นที่รอบๆ พระราชวังเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ทำให้บนที่ดินจะเกิดซอยต่างๆ ขึ้นมา และตัวบ้านของชนชั้นรากหญ้าเกิดตามขึ้นมา ซึ่งตั้งอยู่ติดๆ กัน หูท่งบางที่มีระยะห่างของตัวอาคารเพียง 40 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้คนต้องเชื่อมต่อและแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ขนาดเล็ก และรูปแบบของหูท่งก็เริ่มขยายออกไปเรื่อยๆ ตามพัฒนาของตัวเมือง ซึ่งในปี ค.ศ. 1986 ประเทศจีนยังมีชุมชนที่เป็นถนนแบบหูท่งกว่า 3,600 สาย โดยเฉพาะในเมืองปักกิ่งซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของวิถีชีวิตของประชาชนทั่วเมือง
แต่การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอยู่อาศัยแบบหูท่งเริ่มหายไป หลังจากประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2000 มีการรื้อถอนที่อยู่อาศัยแบบเก่าในตัวเมืองออกแทบทั้งหมด และเกิดเป็นตึกระฟ้าทั่วเมืองปักกิ่ง ปัจจุบันหูท่งจึงได้อนุรักษ์ไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
โดยใน MINI LIVING URBAN CABIN ดีไซเนอร์ได้ยกคอนเซ็ปต์การอยู่อาศัยดังกล่าว มาพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับเทรนด์การอยู่อาศัยในอนาคต พื้นที่ในเคบิน ขนาด 15 ตารางเมตร ถูกคิดมาเป็นอย่างดีเพื่อมอบประสบการณ์การใช้สอยที่มากกว่าตาเห็น เช่น เตียงนอนที่สามารถสไลด์ออกไปด้านนอกได้ ผนังห้องที่หมุนสลับด้านเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน หรือเพดานสีทองด้านบนของเคบิน ที่สะท้อนภาพบรรยากาศด้านนอก ให้ความรู้เหมือนเราเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งหมดนี้ยืนอยู่บนพื้นฐานความคิด ‘ใช้ทรัพยากรให้น้อย แต่ได้ประโยชน์ที่มากกว่า’ ไม่ต่างกับการออกแบบภายในของรถ MINI ที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่สามารถบรรจุความสุขและความสะดวกสบายของผู้ขับขี่เอาไว้ได้
Tomorrow Is Too Late
ไม่แน่ใจว่าบางแนวคิดที่เราวาดหวังว่าจะทอดยาว และกลายเป็นคำตอบของอนาคต เมื่อมาถึงวันนั้นจริงๆ คำตอบจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ในมุมมองของนักออกแบบไทย ที่เรามีโอกาสร่วมเดินทางไปรับชมนิทรรศการนี้พร้อมกับเขาอย่าง ‘แจ็ค’ – ปิตุพงษ์ เชาวกุล ผู้ก่อตั้ง Supermachine Studio ได้ให้มุมมอง ไว้น่าสนใจมากๆ ว่าอนาคตที่ว่านั้นอาจจะอยู่ไม่ไกลอย่างที่เราคิดแล้ว
“เทรนด์ที่อยู่อาศัยในอนาคตมันไม่มีหรอกที่จะใหญ่ขึ้น มันมีแต่จะเล็กลงๆ เพราะโลกเรามันก็มีเท่านี้ แต่คนมันมากขึ้น โจทย์ที่น่าสนใจก็คือว่า ในพื้นที่เล็กๆ เหล่านี้ เราจะสร้างให้เกิดประสบการณ์ที่ใหญ่กว่าพื้นที่ได้อย่างไร
“คำว่า Big Life สำหรับผมคือการที่นักออกแบบสามารถสร้างโอกาส และความเป็นไปได้ ของสถาปัตยกรรมที่มันเปิดให้คนที่อยู่อาศัยสามารถไปมีประสบการณ์ข้างนอกได้ อันนี้ผมว่ามันสำคัญมากๆ”
เช่นเดียวกันกับสองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง Stu/D/O Architects อย่าง ‘โอ๋’ – อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ / ‘ดิว’ – ชนาสิต ชลศึกษ์ ซึ่งพวกเขาแชร์ความเห็นแนวทางการออกแบบในวันนี้และวันข้างหน้าไว้ว่า
“สิ่งที่น่าสนใจของเคบินหลังนี้ คือการคำนึงถึงเรื่องของบริบทประวัติศาสตร์โดยรอบ เรื่องของผู้คน รวมไปถึงการดึงคาแร็กเตอร์ของเมือง มาเล่าผ่านความทรงจำของคนในพื้นที่ ซึ่งการแบ่งปันและเชื่อมต่อมันเป็นการทำให้คนมาพบปะกัน การที่นักออกแบบสามารถทำให้บ้านสามารถแชร์สิ่งต่างๆ ร่วมกับสังคมกับผู้คน มันเป็นการเปิดตัวเองออกมาก่อน เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น คนอื่นก็จะแชร์ตัวเองออกมาเหมือนกัน และสุดท้ายจะเกิดเป็นคอมมูนิตี้ขึ้นมา”
เรียกว่าเป็นคำถามใหญ่ที่แสนท้าทายในอนาคตว่า เราจะสามารถออกแบบพื้นที่ความสุขในวันที่โลกเล็กลงเรื่อยๆ ได้อย่างไร