แม้ว่ากาแฟจะเป็นเครื่องดื่มสากลที่ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก แต่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป จากการดื่มเพื่อพลังงานเป็นการดื่มเพื่อความสุนทรีย์ การนั่งชิลในร้านกาแฟกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ส่วนการทำกาแฟให้มีรสชาติอร่อยพร้อมหน้าตาสวยงามน่าประทับใจอย่าง ‘ลาเต้อาร์ต’ หรือศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์ลวยลายจากการเทโฟมนมเป็นจังหวะ จนเกิดเป็นภาพบนผิวหน้าของถ้วยกาแฟ ก็กลายเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับบาริสต้า
สำหรับในประเทศไทย กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคธุรกิจและการบริโภค บาริสต้าจึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยทำให้กาแฟเป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องดื่มแห่งความสุนทรีย์ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ บาริสต้าแต่ละคนต้องผ่านการทุ่มเทฝึกฝนและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา แวดวงบาริสต้าไทยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะด้านลาเต้อาร์ต ซึ่งเกิดจากการสตีมนมจนเกิดเป็นโฟมละเอียด แล้วเทลงในถ้วยกาแฟให้เกิดเป็นลวดลายต่างๆ ตามจินตนาการของบาริสต้า เปรียบเสมือนการเขียนภาพบนผืนผ้าใบของศิลปิน เพราะเป็นการสร้างงานศิลปะที่ต้องอาศัยทั้งทักษะ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ
มาร่วมพูดคุยกับ ‘จุ๊บ’ – ชาลินี พูนลาภมงคล จากซีพี-เมจิ ผู้อยู่เบื้องหลัง CP-Meiji Speed Latte Art Championship เวทีการแข่งขันลาเต้อาร์ตระดับประเทศและ CP-Meiji Barista Camp แคมป์เอ็กซ์คลูซีฟแห่งเดียวในโลก ที่ช่วยยกระดับฝีมือบาริสต้าไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ถึงบทบาทที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างมาตรฐานวงการบาริสต้าในประเทศไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับต้นๆ ของโลก และ ‘แบงค์’ – ศราวุธ หมั่นงาน แชมป์ CP-Meiji Speed Latte Art ปีล่าสุด บาริสต้ารุ่นใหม่ที่เข้าร่วมแคมป์มา 4 ปีซ้อน จนสามารถคว้าแชมป์ในรายการแข่งขันลาเต้อาร์ตระดับนานาชาติมาแล้วหลายเวที
จากหลักการ ecosystem สู่การส่งเสริมและพัฒนาวงการกาแฟไทย
ชาลินี: ซีพี-เมจิให้ความสำคัญกับคำว่า ecosystem หรือระบบนิเวศเชิงธุรกิจ ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำล้วนมีความสำคัญ มีผลกระทบซึ่งกันและกัน เราต้องการให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกันได้ดีและเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหลักคิดที่เรายึดถือมาโดยตลอด และสำหรับแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับกาแฟเรามองว่า กลุ่มธุรกิจกาแฟเป็นลูกค้าหลักของซีพี-เมจิ เพราะกาแฟมีนมเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้รสชาติกาแฟอร่อยขึ้น แล้วร้านกาแฟส่วนใหญ่ในประเทศก็เลือกใช้นมซีพี-เมจิด้วย ธุรกิจกาแฟจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของเรา ซึ่งวิธีที่จะส่งเสริมธุรกิจกาแฟเหล่านี้ได้ นอกเหนือไปจากการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีมีความหลากหลายและได้มาตรฐานแล้ว ก็คือการพัฒนาบุคลากร ซีพี-เมจิจึงเลือกจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถให้กับบาริสต้า
บทบาทบาริสต้า และเรื่องราวของลาเต้อาร์ต
ศราวุธ: เมื่อก่อนคนดื่มกาแฟเพื่อต้องการพลังงาน แต่ตอนนี้วิธีการดื่มเปลี่ยนไป คนให้ความสำคัญกับรสชาติและขั้นตอนมากขึ้น มีบาริสต้าชงให้ดูต่อหน้า กลายเป็นมีความสุนทรีย์มากขึ้น รวมถึงมีการพูดคุยกับคนดื่มด้วย
นอกจากชงกาแฟแล้ว บาริสต้ายังเป็นกระบอกเสียง ผู้เชื่อมระหว่างผู้ดื่มกับกระบวนการก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปลูก คั่ว บด กว่าจะมาเป็นกาแฟหนึ่งแก้วต้องผ่านใครและขั้นตอนไหนบ้าง เป็นการพูดคุยแทนเกษตรกร ทำให้เกิดการสื่อสารกันมากขึ้น เกิดเป็นความเข้าใจ ดังนั้น บาริสต้าที่ดีในความหมายของผมจึงต้องมี 3 สิ่งนี้ อย่างแรกคือ Skill หรือทักษะพื้นฐานในการชงกาแฟ เข้าใจขั้นตอนการชงกาแฟอย่างละเอียด สองคือ Hospitality งานเราคืองานบริการ ต้องทำให้คนดื่มประทับใจมากกว่าการได้แค่ดื่มกาแฟหนึ่งแก้ว ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด ทำให้เป็นขั้นกว่าของการบริการให้ได้ และอย่างสุดท้ายคือ Education คอยแนะนำข้อมูลหรือความรู้เรื่องกาแฟให้คนดื่ม เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน
ส่วนตัวผมสนใจลาเต้อาร์ตอยู่แล้ว เพราะมันคือศิลปะที่กว่าจะสำเร็จเป็นลายบนโฟมนมต้องผ่านทั้งขั้นตอนการคิดลายและความชำนาญในการสตีมนมให้ขึ้นโฟมละเอียดพอดี รวมถึงทักษะการเทขึ้นลาย ดังนั้น ทุกอย่างจึงมีผลต่อลายลาเต้อาร์ต ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำคัญคือนม อุณหภูมิที่ใช้ อุปกรณ์ แก้วกาแฟ เทนนิคและจังหวะการยก ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่บาริสต้าทุกคนต้องหมั่นฝึกฝนและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
ผมมองว่านมคือพระเอกที่สำคัญที่สุดในลาเต้อาร์ต หน้าที่ของบาริสต้าจึงไม่ได้เป็นแค่คนชง แต่ต้องเป็นคนเลือกด้วย ต้องเลือกวัตถุดิบที่ดี เพราะคนดื่มต้องได้รับกาแฟที่ดีที่สุด ถ้าเลือกใช้ของดีจะสามารถชงให้ดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ถ้าเป็นของไม่ดีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่สามารถชงให้ออกมาดีได้ เราต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดด้วย
หัวใจสำคัญของการทำลาเต้อาร์ตให้สมบูรณ์แบบได้ก็คือนม บาริสต้าทุกคนจึงต้องทดลองเก่งเหมือนเป็นนักวิทยาศาสตร์เลย (หัวเราะ) เพราะต้องฝึกสตีมนมจนได้ระดับที่พอดีกับการขึ้นลายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแน่ใจแล้วว่าเทได้ลายสวย และนุ่มละมุนเมื่อดื่ม คือภาพสวยและอร่อยด้วย
จุดเริ่มต้นของ CP-Meiji Barista Camp
ชาลินี: เมื่อซีพี-เมจิตัดสินใจจัดแคมป์ เราก็อยากทำให้ดีที่สุดและต้องแตกต่างไม่เหมือนใคร CP-Meiji Barista Camp จึงเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2015 โดยมีคอนเซ็ปต์คือ Road to Latte Art Champion เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะของบาริสต้า อีกทั้งเพื่อสร้างเส้นทางให้บาริสต้าไทยมุ่งไปสู่การเป็นแชมป์ลาเต้อาร์ตระดับโลก ดังนั้น กูรูที่จะมาอยู่ในแคมป์ของเราก็ต้องเป็นที่สุดด้านลาเต้อาร์ต ซึ่งก็คือคนที่เป็นแชมป์ระดับโลกเท่านั้น การจัดครั้งแรกประสบความสำเร็จมาก เราจึงทำแคมป์ครั้งที่สองต่อ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากบาริสต้าจำนวนมาก เพราะทุกครั้งหลังแคมป์จบลง เราจะถามความคิดเห็นของบาริสต้าที่เข้าร่วมเพื่อพัฒนาแคมป์ต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
ศราวุธ: เมื่อผมเห็น CP-Meiji Barista Camp ผมก็สะดุดตาแค่คำว่า ‘ได้เข้าแคมป์กับแชมป์โลก’ ไม่ได้ดูด้วยซ้ำว่ามีการแข่งขันก่อน (หัวเราะ) ผมก็ต้องพยายามให้เต็มที่มากที่สุด และเชื่อว่าบาริสต้าทุกคนก็อยากเข้าแคมป์ มันเหมือนเรามีไอดอลที่ติดตามผลงานมาตลอด เมื่อเรามีโอกาสก็ต้องคว้าไว้เพราะเราอยากเรียนรู้จากเขาโดยตรง เหมือนกับเอาโรนัลโดมาฝึกซ้อมให้ทีมฟุตบอลไทย ซึ่งเป็นเรื่องยากมากๆ ที่บาริสต้าจะได้ใกล้ชิดและเรียนรู้กับแชมป์ระดับโลกแต่ละคน ตลอดเวลาสองวันเต็ม ซึ่งทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมมีทักษะดีขึ้นมาก
เพราะต่อให้ฝึกซ้อมเอง เราพัฒนาขึ้นก็จริง แต่ช้ามากกว่าการถูกโค้ชโดยคนที่เป็นตัวจริงระดับโลก แล้วแชมป์แต่ละคนจะบอกเราหมดเลยว่าเขาฝึกฝนตัวเองอย่างไรกว่าจะได้แชมป์ ซึ่งถ้าไม่ได้เข้าร่วมแคมป์ก็จะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ตรงนี้เลย นับเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ผมเลยเข้าร่วมแคมป์กับซีพี-เมจิทุกครั้ง ระหว่างเข้าแคมป์ก็มีแต่ความตื่นเต้น เพราะเราอยากเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เก็บเกี่ยวความรู้ทุกอย่าง เป็นความสนุกสนานด้วย
ชาลินี: CP-Meiji Barista Camp รับบาริสต้าทั้งหมด 64 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยสำหรับแคมป์ที่เอาแชมป์ระดับโลกมาสอน เพื่อให้เรียนรู้กันอย่างใกล้ชิดที่สุด แล้วบาริสต้าก็จะได้เข้าเรียนในแต่ละสเตชันของแชมป์แต่ละคน หนึ่งในคนที่เราเชิญมาเป็นกูรู ซึ่งเคยเป็นกรรมการตัดสินเวทีประกวดลาเต้อาร์ตระดับโลกมาแล้ว เขาบอกกับเราว่า ชอบคอนเซ็ปต์ของแคมป์มาก ไม่เคยเห็นที่ไหนลงทุนจัดแบบนี้ เพราะมันไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะการติดต่อแชมป์โลกแต่ละคนแต่ละประเทศให้มาสอน ที่สำคัญบาริสต้าที่มาเข้าแคมป์ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเราสนับสนุนหมดจริงๆ
กว่าจะมาเป็น CP-Meiji Speed Latte Art Championship
ชาลินี: ก่อนเริ่มทำแคมป์ครั้งที่สาม ซีพี-เมจิเพิ่มการแข่งขันที่มีชื่อว่า CP-Meiji Speed Latte Art Championship เข้ามา เพราะต้องการฝึกให้บาริสต้าได้ลงสนามจริง เราเห็นความสำคัญของการแข่งขัน ต้องการให้ประเทศไทยมีการแข่งขันที่เป็นมาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศเหมือนญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือจีน ที่ต่างมีโปรแกรมแข่งขันลาเต้อาร์ตระดับประเทศอยู่แล้ว CP-Meiji Speed Latte Art Championship จึงทำหน้าที่เป็นเวทีให้บาริสต้าได้แสดงฝีมือด้านลาเต้อาร์ตเต็มที่ และที่สำคัญต้องเป็นรายการการแข่งที่มีมาตรฐานระดับมืออาชีพให้การยอมรับ เราจึงให้ความสำคัญในทุกรายละเอียด ทั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน วัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ รวมทั้งสถานที่จัดการแข่งขัน โดยเราศึกษาการแข่งต่างประเทศหลายที่ เพื่อเปิดมุมมองและเกิดไอเดียที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในเวทีของเรา
ศราวุธ: ตอนแข่งกดดันมาก เพราะถ้าแพ้ตกรอบทันที ดังนั้น บนเวทีผิดพลาดไม่ได้เลย ทุกคนจึงเต็มที่ แต่ความสั่นเป็นปัญหาหลักของบาริสต้า เพราะตอนอยู่บนเวทีกับอยู่ที่ร้านเป็นคนละเรื่องกันเลย บนเวทีหัวใจเต้นเร็วมากจนทำให้มือสั่น ทำให้เราเทไม่ได้ ผมก็เลยกลับมาคิดว่าต้องซ้อมหนักก่อนแข่ง ซ้อมเท่านั้นที่จะทำให้เรานิ่งขึ้น เมื่ออยู่บนเวทีเราจะลดความตื่นเต้นลงได้ เรามั่นใจว่าทำได้แน่นอนตามที่ซ้อม เพราะเราซ้อมมากพอ
ชาลินี: บาริสต้าจะเก่งได้ต้องมีเวทีให้ลงสนาม เพราะการได้ลงแข่งเท่ากับต้องมีการฝึกซ้อม มีการคิด จึงเป็นโอกาสให้บาริสต้าพัฒนาตัวเอง อย่างลายที่ใช้ในการแข่งขันก็เป็นลายของแชมป์โลกที่มาสอนบาริสต้าในแคมป์ จึงเป็นความท้าทายในความสนุก ทุกคนต้องสามารถทำได้ทุกโจทย์ เพราะสิ่งที่เราเห็นจากการจัดปีแรก บาริสต้าที่เราเห็นว่าเก่ง พอขึ้นเวที ทุกคนตื่นเต้นหมดเลย ขนาดลายพื้นฐานยังเทเป็นรูปไม่ได้เพราะมือสั่น เราเห็นเลยว่าแม้ทุกคนจะซ้อมหนัก แต่ถ้าไม่ได้ลงสนามจริง หลายคนก็พลาดได้
แต่หลังจากจัดปีถัดๆ มาเห็นได้ชัดว่าทุกคนพัฒนาขึ้น เวทีนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้บาริสต้าผลักดันตัวเองมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บาริสต้าหลายคนประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติหลายเวที นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนแชมป์ในเวทีของเราให้เดินทางไปแข่งในเวทีต่างประเทศ โดยก่อนไปแข่งจริงเราเชิญโค้ชที่มีประสบการณ์ให้มาช่วยสอนและเตรียมความพร้อมให้ด้วย
ศราวุธ: ผมได้ผลิตภัณฑ์นมจากซีพีเพื่อนำมาใช้ฝึกซ้อม เพราะการซ้อมต้องใช้นมเยอะมากๆ การซ้อมมีประโยชน์ตรงที่ทำให้เรารู้จักแก้ปัญหาและพัฒนาทักษะความชำนาญของตัวเอง แล้วถ้าไปเข้าร่วมแข่งขันเวทีต่างประเทศ ซีพี-เมจิก็พร้อมสนับสนุนด้วย ถือเป็นการผลักดันให้บาริสต้าไทยที่มีความสามารถ มีโอกาสได้แสดงความสามารถนั้นให้วงการลาเต้อาร์ตโลกเห็น ผมว่านี่คือความภูมิใจสูงสุดของการเป็นบาริสต้าแล้ว
ชาลินี: จัดมาสองปี ยิ่งปีหลังๆ เราเริ่มเห็นบาริสต้าต่างประเทศให้ความสนใจงานแข่งเรามาก ซึ่งเราก็ยินดีต้อนรับเต็มที่ เพราะเราอยากสร้างเครือข่ายบาริสต้าที่ไปไกลว่าภายในประเทศ เป็นการสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงจากการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ และมิตรภาพระหว่างบาริสต้าด้วยกัน
ศราวุธ: อย่างตอนที่ผมไปแข่งขันบนเวทีโลก ได้เจอเพื่อนบาริสต้าต่างประเทศ ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เขาบอกผมว่าเขาจะสมัครมาแข่งปีนี้ด้วย
ฝากถึงบาริสต้าไทยรุ่นใหม่
ชาลินี: จากการได้พูดคุยกับบาริสต้าที่มีประสบการณ์ สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือทักษะและความรู้พื้นฐานที่แข็งแรง เพราะแคมป์เป็นการต่อยอดความรู้ ทุกคนต้องใฝ่หาความรู้เสมอ อีกเรื่องคือความขยันและความมีวินัยซึ่งเป็นหนึ่งในเคล็ดลับที่สำคัญ หลายคนอาจจะเก่งแต่ไม่มีความสม่ำเสมอ ขาดวินัย ไม่มีความอดทนเพียงพอก็จะไปไม่ถึงเป้าหมาย หลายคนมองที่ผลลัพธ์ แต่ความจริงกว่าบาริสต้าคนหนึ่งจะเป็นแชมป์ระดับโลกได้ เขาผ่านความพยายามอย่างมาก แชมป์โลกหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาซ้อมจนเป็น autopilot ไปแล้ว ซ้อมจนกล้ามเนื้อมือจำได้ และสุดท้าย เราไม่อยากให้กลัวที่จะทดลองสนาม ไม่อยากให้คิดว่าแข่งแล้วต้องชนะอย่างเดียว แต่อยากให้ลงสนามเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จะได้รู้ตัวเองว่ามีอะไรต้องปรับปรุงต่อไป
ศราวุธ: อย่างแชมป์โลกปี 2015 บอกว่า เขาฝึกเทสี่ลาย ลายละสามร้อยแก้ว รวมเป็นพันสองร้อยแก้วต่อวัน บาริสต้าต้องพิสูจน์ตัวเองเสมอ ต้องไม่มองแค่ผลลัพธ์ แต่ให้โฟกัสระยะทาง แล้วเรียนรู้ตรงนั้น ผมอยากให้บาริสต้าไทยได้เข้าร่วมแคมป์ เพราะนี่คือโอกาสเติมเต็มความฝันที่ไม่ได้มีบ่อยๆ ถ้าในประเทศไทยมี CP-Meiji Barista Camp ที่เดียว การที่จะรวมแชมป์โลก 5 คนมาอยู่ในงานเดียวแล้วมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้วยเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ไม่น่าจะเป็นไปได้ด้วยซ้ำ แต่ซีพี-เมจิทำได้ แล้วเมื่อเรากลับออกไป เราจะรู้ตัวทันทีว่านี่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า เราได้ทั้งสังคมและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
มุ่งสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของคนรักกาแฟและลาเต้อาร์ตแห่งเอเชีย
ชาลินี: เป้าหมายของ CP-Meiji Speed Latte Art Championship ที่เราวางไว้คือการเป็นเวทีที่ดีที่สุดของเอเชีย เป็นโปรแกรมที่บาริสต้าในเอเชียรู้จักและให้ความสนใจอยากจะมาเข้าร่วม ถ้าพูดถึงเวทีแข่งลาเต้อาร์ตในเอเชีย แน่นอนว่าอยากให้นึกถึงเวทีนี้ รวมถึงอยากให้นึกถึงประเทศไทยด้วย เพราะเราตั้งใจสร้างเครือข่ายสังคมคนกาแฟที่แข็งแรงให้เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้ในเวทีระดับโลกคนไทยพิสูจน์แล้วว่า บาริสต้าไทยสายลาเต้อาร์ตเก่งระดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเราเชื่อว่าต่อไปวงการกาแฟจะสนุกและคึกคักขึ้นมาก
ศราวุธ: เมื่อเราได้เดินทางไปแข่งต่างประเทศ ก็รู้สึกเหมือนเป็นตัวแทนบาริสต้าที่สร้างชื่อเสียงให้วงการกาแฟประเทศไทยมากกว่า ขนาดผู้จัดการแข่งขันที่ญี่ปุ่นเองก็กล่าวในงานแข่งเลยว่า บาริสต้าไทยเก่งกว่าบาริสต้าญี่ปุ่นแล้วนะ ผมมองได้ว่าบาริสต้าไทยยังพัฒนาไปได้อีกไกล ในรายการแข่งขันระดับโลกก็มีบาริสต้าไทยที่คว้าแชมป์และสร้างชื่อให้กับประเทศด้วย
ชาลินี: วันนี้วัฒนธรรมกาแฟในประเทศไทยเติบโตขึ้น การมีเวทีและแคมป์ระดับนานาชาติในประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บาริสต้าไทยพัฒนาได้เร็ว เราอยากให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายหรือ destination หลักของคนกาแฟ