ออฟฟิศซินโดรม

ปวดคอหรือหลังอาจมีความเสี่ยง เข้าใจโรคออฟฟิศซินโดรมจากมุมมองของนักกายภาพบำบัด จุฬาฯ

ทำไมอาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดหลัง จึงเป็นเรื่องน่ากลัว ก็เพราะอาการปวดเมี่อยเหล่านี้อาจถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งๆ ที่มันคือสัญญาณเตือนครั้งสุดท้ายจากร่างกาย ซึ่งพยายามบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม โรคใกล้ตัวยอดนิยมของคนเมืองที่มีสาเหตุมาจากไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน

     รู้เท่าทันโรค หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และเข้าใจโรคออฟฟิศซินโดรม กับศาสตราจารย์ ดร. ประวิตร เจนวรรธนะกุล หัวหน้าหน่วยวิจัยการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงบทบาทของนักกายภาพบำบัด บุคคลสำคัญผู้ทำหน้าที่รักษาและฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากโรคออฟฟิศซินโดรม

 

ออฟฟิศซินโดรม

 

ปวดคอ ปวดหลัง โรคออฟฟิศซินโดรมที่คนเมืองมีร่วมกัน

     “นักกีฬาต้องเตรียมร่างกายก่อนแข่งขัน ผมอยากให้มองว่าคนทำงานก็เป็นนักกีฬา (Industrial Athletes) เหมือนกัน และสิ่งที่น่ากลัวคือทุกคนทำงานหนักแต่กลับไม่ได้เตรียมร่างกายเหมือนนักกีฬา ขนาดนักกีฬาเตรียมร่างกายอย่างดี ยังอาจมีโอกาสบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในขณะแข่งขันได้ แต่สำหรับคนทำงานในออฟฟิศเอง หากทำงานหักโหมเกินไป ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ตั้งชื่อโรคนี้ว่า โรคคาโรชิ (Karochi Syndrome) แปลว่า Death from Overwork คือการทำงานมากจนเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการเป็นโรคหลอดเลือดในสมองแตก หรือโรคหัวใจวาย”

     “ทุกวันนี้คนโหมทำงานหนักแต่ไม่เคยเตรียมร่างกายกันเลย ทำให้บาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิตได้ จริงๆ โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นคำกว้างๆ มีอาการป่วยหลายๆ โรครวมกัน เช่น คุณผู้หญิงเวลานั่งประชุมนานแล้วกลั้นปัสสาวะทำให้เป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ ซึ่งเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมชนิดหนึ่ง ซึ่งอาการที่คนทำงานออฟฟิศเป็นกันเยอะคือ อาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดหลัง และมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายสักที”

     “สรุปคือโรคออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนทำงานออฟฟิศที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม รวมถึงการนั่งทำงานเป็นเวลานานจนแทบจะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดโรคเครียด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ไมเกรน โรคอ้วน โรคระบบทางเดินหายใจ โรคทางตา เอ็นและเส้นประสาทอักเสบ โรคปวดคอและหลังเรื้อรัง”

     “ถ้าถามว่าคนในประเทศไทยเป็นกันมากไหม ได้มีการสำรวจอาการปวดในทุกส่วนของร่างกายในรอบปีที่ผ่านมา ผลคือ 62% ตอบว่ามี นั่นหมายความว่า 6 ใน 10 คนจะมีปัญหาปวดคอ ปวดแขน ปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคออฟฟิศซินโดรม เมื่อลงรายละเอียดไปอีกจะพบว่า จุดที่คนปวดมากที่สุดคือบริเวณคอและหลัง ซึ่งเป็นแนวกระดูกสันหลังทั้งหมด”

 

 

โรคออฟฟิศซินโดรมส่งผลเสียมากกว่าความเจ็บป่วยทางร่างกาย

     “โรคออฟฟิศซินโดรมส่งผลเสียทางเศรษฐกิจแบบที่หลายๆ คนก็คาดไม่ถึงอีกด้วย มีข้อมูลทางเศรษฐกิจโดยเก็บจากคนทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ พบว่า ในหนึ่งปีประเทศไทยสูญเสียเงินกว่า 50,000 ล้านบาทไปกับปัญหาโรคออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ แบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลแค่ 5,000 ล้านบาท อีก 45,000 ล้านบาทเป็นค่าเสียหายจากการทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ”

     “ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในอีกไม่นาน ไทยมีผู้สูงอายุจำนวนมาก แต่มีคนเกิดน้อยลง คนทำงานก็น้อยลง แล้วคนที่ทำงานในออฟฟิศซึ่งใช้ทักษะสูงจะเป็นคนกลุ่มแรกที่หาคนมาทดแทนไม่ได้ ต้องจ้างทำงานต่อไป อายุ 60 ปีแล้วอาจจะยังไม่ได้เกษียณด้วยซ้ำ สังคมผู้สูงอายุจึงทำให้หลายๆ อาชีพต้องทำงานหนักขึ้น จนป่วยกระเสาะกระแสะได้ ประเทศก็ต้องเอาภาษีไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่เหลือเงินไปพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ปัญหาเรื่องสุขภาพส่งผลกระทบกับประเทศได้มากกว่าที่คุณคิด”

 

พฤติกรรมเนือยนิ่ง ตัวเร่งร่างพัง 

     “สิ่งที่ทุกคนเป็นเหมือนกันหมดคือการมีไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เรียกว่า พฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือ Sedentary Lifestyle เน้นการนั่ง เพราะเสพติดความสะดวกสบาย ไม่ค่อยขยับ ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางกาย อ้วนมากขึ้น เจ็บป่วยเป็นโรคง่ายขึ้น เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมกันมากขึ้นด้วย ร่างกายจะสึกหรอลงทั้งระบบ ไม่ใช่แค่หัวใจ แต่รวมถึงกระดูกและกล้ามเนื้อด้วย ทุกคนกำลังประสบปัญหาครั้งใหญ่ที่ทำให้ร่างกายในหลายๆ ระบบอ่อนแอลง โดยเฉพาะระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทั้งๆ ที่ทุกคนสามารถป้องกันได้ก่อน”

 

นั่งให้ถูกท่าชะลอการเกิดออฟฟิศซินโดรม     

     “การปวดคอ ปวดหลังที่เกิดขึ้น มักมีปัญหามาจาก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นประสาท และกระดูกสันหลัง เช่น นั่งทำงานในท่าทางที่ไม่ดี การจัดท่าในทำงานออฟฟิศควรจะต้องมีการปรับให้เหมาะกับตัวเราเอง สิ่งแรกคือขอบบนของจอคอมพิวเตอร์ต้องอยู่ระดับเดียวกับสายตา สองคือเก้าอี้นั่งต้องปรับระดับสูงต่ำได้ และต้องปรับให้ได้ความสูงพอดี โดยข้อสะโพกงอ 90 องศา ข้อเข่างอ 90 องศา และเท้าวางแนบลงบนพื้น สามคือเก้าอี้ต้องมีเบาะพิงหลัง เพราะถ้าไม่มี กล้ามเนื้อหลังจะทำงานหนัก นอกจากนี้ ต้องนั่งตัวตรงเพื่อรักษาแนวกระดูกสันหลังไม่ให้เสียหาย สี่คือเก้าอี้ควรจะมีที่พักแขน แม้จะไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา แต่ต้องมีการวางแขนพักบ้างเพื่อผ่อนคลาย สุดท้ายคือตำแหน่งที่วางคีบอร์ด ไม่ควรวางติดขอบโต๊ะ ต้องวางเข้าไปค่อนข้างลึกจนมีพื้นที่โต๊ะเหลือสำหรับวางข้อมือ เพราะจะช่วยลดการทำงานของกล้ามเนื้อคอและบ่าได้อย่างมาก สุดท้าย ของทุกชิ้นบนโต๊ะก็ต้องวางอย่างสัมพันธ์กับความถี่การใช้งาน หยิบบ่อยๆ ให้เอาวางไว้ใกล้ตัว ป้องกันไม่ให้หลังทำงานมากเกินไป รูปแฟนก็วางไว้ไกลๆ ได้ (หัวเราะ)”

     “ถ้าทำตามคำแนะนำนี้ สุขภาพกระดูกและกล้ามเนื้อโดยรวมจะดีขึ้น ยิ่งคนที่เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เช่น คนที่เคยผ่าตัดหรือประสบอุบัติเหตุ ยิ่งต้องดูแลตัวเองมากๆ แต่คนทั่วไปก็อย่านั่งหลังงุ้ม ควรนั่งตัวตรง จัดท่าให้ดี ควรขยับร่างกายบ่อยๆ อย่างน้อย 10 ครั้งต่อชั่วโมง จากการวิจัยพบว่า การขยับตัวเท่ากับการออกกำลังกาย ถ้าขยับ 10 ครั้งต่อชั่วโมงหรือมากกว่า จะช่วยไม่ให้ปวดหลัง นั่งในออฟฟิศก็ขยับได้ ไม่ถึงกับต้องลุกขึ้นเต้นหรอกนะ (หัวเราะ) แต่อย่านั่งนิ่งๆ ก็พอ มันไม่ดี”

 

ออฟฟิศซินโดรม

 

ขยับ ยืด เดิน พิชิตโรคออฟฟิศซินโดรม

     “Offfiixercise เป็นท่าออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม มาจากคำว่า offfiice และ exercise มารวมกัน เน้นการยืดกล้ามเนื้อคอ บ่า และหลัง หรือถ้าไม่ชอบออกกำลังกาย ขอแนะนำให้เดินครับ ผลการวิจัยพบว่า คนทำงานออฟฟิศถ้าได้เดินถึงระดับหนึ่งจะไม่ปวดคอ ลดความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) โรคหัวใจ (Heart Disease) ปวดคอ และปวดหลัง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องขยับมากกว่านี้ ยิ่งเดินน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งมีสิทธิ์ปวดคอ ปวดหลังมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้ายิ่งเดินเยอะ โอกาสปวดคอ ปวดหลังก็จะยิ่งลดลง เราควรเดินประมาณ 10,000 ก้าวต่อวัน”

     “แต่ถ้าสำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาปวดคอ ปวดหลังเรื้อรัง ผมแนะนำให้มาพบนักกายภาพบำบัดเลยจะดีกว่า น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ได้ตรงจุด จากนั้นค่อยป้องกันด้วยการดูแลตัวเอง จะเดินหรือออกกำลังกายก็ตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ”

     “หลายคนถามว่าโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นแล้วเป็นอีกได้ไหม คำตอบคือได้ ก็เหมือนเป็นหวัด เป็นแล้วก็กลับมาเป็นอีกได้ ไม่มีโรคไหนเป็นอีกไม่ได้ถ้าเราไม่ดูแลตัวเองให้ดี”

 

ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม

 

ฟื้นฟูร่างกายกับคลินิกกายภาพบำบัด จุฬาฯ เพื่อประชาชน

     “คลินิกกายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการมาร่วม 20 ปีแล้ว คลินิกนี้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้คำปรึกษา ตรวจและรักษาทางกายภาพบำบัดโดยอาจารย์และนักกายภาพบำบัดแก่ประชาชนทั่วไป ที่นี่เราแบ่งการตรวจรักษาเป็น 3 ด้าน คือหนึ่ง ด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ครอบคลุมการดูแลรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาและการใช้ชีวิตประจำวัน โรคออฟฟิศซินโดรม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงอย่างในผู้สูงอายุ สองคือ ด้านผู้ป่วยเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งเน้นการกระตุ้นพัฒนาการในเด็กให้กลับไปเท่าเดิมหรือใกล้เคียงปกติสมวัยมากที่สุด และสุดท้ายคือด้านระบบประสาท เน้นดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์คินสัน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคทางระบบประสาทอื่นๆ”

     “ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บส่วนหนึ่งจะเริ่มต้นพบแพทย์ก่อน เมื่อแพทย์ให้การดูแลรักษามาระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นแพทย์จะส่งต่อให้ไปทำกายภาพบำบัด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บอาจพบนักกายภาพบำบัดโดยตรงเลยก็ได้”

 

ออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรม

 

     “สำหรับการรักษานอกจากการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ทันสมัย เช่น เครื่องดึงกระดูกสันหลัง เครื่องอัลตร้าซาวน์ เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อหรือเพื่อลดปวด ร่วมกับการรักษาทางกายภาพ เช่น การดัดดึงกระดูกสันหลัง และการรักษาด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมแล้ว คลินิกกายภาพบำบัดยังให้ความสำคัญที่การฝึกให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บเข้าใจสภาวะของตัวเองที่เป็นอยู่ จากนั้นจึงให้ความรู้เพื่อฝึกการเคลื่อนไหวและฟื้นฟูร่างกายให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีที่สุดเท่าที่สภาวะร่างกายจะเอื้ออำนวย ซึ่งคลินิกกายภาพบำบัดนี้เปิดบริการสำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ เรามีนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญคอยให้การรักษาและคำแนะนำ จริงๆ การทำกายภาพบำบัดเป็นการรักษาที่ต้องการความต่อเนื่อง เพื่อผลการรักษาที่ดี ยิ่งรู้ตัวเองเร็วเท่าไรยิ่งรักษาและป้องกันได้เร็ว ก่อนที่ทุกอย่างจะรุนแรงไปมากกว่านี้”​

 

ออฟฟิศซินโดรม

 


คลินิคกายภาพบำบัด

หน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ชั้น 3 คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เวลาทำการในเวลาราชการ: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.

เวลาทำการนอกเวลาราชการ: วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 16.00-19.30 น. / วันเสาร์ เวลา 08.30-19.30 น. / วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.00 น.

สอบถามและนัดหมาย: โทร. 0-2218-1100